ล้างระบบคอร์รัปชัน สร้างธรรมาภิบาลระบบจัดซื้อยา

บรรยายใต้ภาพ 1. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์, 2. นพ.วชิระ เพ็งจันทร์, 3. ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล

ล้างระบบคอร์รัปชัน  สร้างธรรมาภิบาลระบบจัดซื้อยา

กลไกระบบยาของประเทศนับเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบสุขภาพที่มีการใช้งบประมาณในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากข้อมูลงานวิจัยพบว่า มูลค่ายาเพื่อการบริโภคตามราคาใน Price list สูงถึง 138,482,077,858 บาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 35 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาเกินความจำเป็นโดยเฉพาะยาที่มีราคาสูง และปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อทุกระบบคือ ปัญหาคอร์รัปชัน ทั้งความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อยาของโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ หรือแม้แต่การรั่วไหลของยาบางประเภทออกนอกระบบ จนทำให้เป็นช่องโหว่ของระบบสุขภาพที่ส่งผลให้เกิดการใช้งบประมาณจำนวนมาก

จากปัญหาดังกล่าว ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีนโยบายเร่งด่วนเรื่องการจัดการปัญหาการคอร์รัปชันภายในกระทรวงสาธารณสุข และได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบธรรมาภิบาล และเกณฑ์จริยธรรมการจัดซื้อจัดหายาและวัสดุต่าง ๆ ขึ้นมาดูแลเรื่องการจัดซื้อจัดหายา เวชภัณฑ์ เวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา วัสดุทางการแพทย์ และห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ โดยมี นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน และมีคณะกรรมการเป็นผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกระดับ และมอบหมายให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยงานสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการเพื่อการแก้ปัญหาดังกล่าว และเตรียมความพร้อมกับการตรวจสอบทั้งจากองค์กรภายในและภายนอก อย่างองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย เพื่อความโปร่งใส

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเดินหน้าแผนงานโครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา เพื่อลงสู่การปฏิบัติซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว รวม 11 แผนงาน/โครงการ เริ่มดำเนินการแผนงานตามมาตรการระยะเร่งด่วน 4 เรื่อง ได้แก่ การสร้างความสมานฉันท์ พัฒนาระบบบริการที่ดีขึ้น เช่น การเพิ่มจุดบริการ เวลาบริการ ยามาตรฐานเดียวกันทุกแห่ง เป็นต้น การสร้างขวัญกำลังใจ และสร้างระบบธรรมาภิบาล ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป

โดยมาตรการระยะเร่งด่วนมี 4 เรื่อง ได้แก่ 1. ร่วมสร้างกระบวนการสมานฉันท์ มอบให้กรมสุขภาพจิต ผู้ตรวจราชการกระทรวง 12 เขตบริการสุขภาพ และกรุงเทพฯ 2. พัฒนาระบบบริการให้ดียิ่งขึ้น ได้แก่ เพิ่มจุดบริการ และเพิ่มเวลาบริการ ลดเวลารอคอย ลดการปฏิเสธการส่งต่อ การแพทย์ฉุกเฉินคุณภาพ ผู้สูงอายุ/ผู้พิการได้รับการฟื้นฟูสภาพในโรงพยาบาลทุกแห่ง ได้รับยามาตรฐานเดียวกัน มอบให้ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดูแลรับผิดชอบ โดยในเรื่องการพัฒนาระบบยาได้มอบให้ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการกระทรวง ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งได้ปรึกษากับสถาบันรับรองมาตรฐานสถานพยาบาลด้วยว่า จะพัฒนาให้เป็นมาตรฐานของโรงพยาบาลได้หรือไม่ รวมทั้งเรื่องจริยธรรมด้วย 3. การสร้างขวัญกำลังใจ ทั้งระบบค่าตอบแทนที่เป็นธรรม การจัดสรรตำแหน่งเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการ และการให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับผลกระทบ มอบให้ นพ.สุเทพ วัชรปิยานันท์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับผิดชอบ และ 4. สร้างระบบธรรมาภิบาลและกลไกเฝ้าระวัง ตรวจสอบถ่วงดุล มี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับผิดชอบ และ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้กำกับดูแล

นอกจากนี้ได้ให้กรมและกองทุนสรุปแผนงบประมาณปี 2557 และปี 2558 ภายในวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งงบประมาณในปี 2557 ขณะนี้ใช้ไปแล้วร้อยละ 60 ส่วนอีกร้อยละ 40 ที่ยังเหลืออยู่ โดยเฉพาะงบดำเนินการ ได้มอบให้ไปสรุปแผนงาน/โครงการ และแผนการจัดสรรงบประมาณไปยังภูมิภาค เพื่อพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ และเสนอหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยาพิจารณา ส่วนแผนงบประมาณในปี 2558 จะพิจารณาว่าสอดคล้องกับทิศทางที่หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยามอบนโยบายไว้ และแผนงบประมาณที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะหารือกับสำนักงบประมาณ

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้กำกับดูแลการสร้างระบบธรรมาภิบาล และกลไกเฝ้าระวัง ตรวจสอบถ่วงดุล กล่าวว่า การสร้างระบบธรรมาภิบาลและกลไกเฝ้าระวัง ตรวจสอบถ่วงดุล ได้มีการลงนามในคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 582/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบธรรมาภิบาล และเกณฑ์จริยธรรมการจัดซื้อจัดหายาและวัสดุต่าง ๆ 1 ชุด รวม 53 คน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมี นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการ เป็นผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกระดับ มีหน้าที่พัฒนาข้อเสนอในการกำหนดระเบียบ กลไก ขั้นตอนการขับเคลื่อน การจัดทำแผน และแนวทางปฏิบัติของโรงพยาบาลและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งการประกาศเกณฑ์จริยธรรมการขายและการจัดซื้อจัดหายา วัสดุทันตกรรม วัสดุการแพทย์ วัสดุวิทยาศาสตร์การแพทย์ วัสดุสำนักงาน และจัดกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้บริหาร และข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอผลต่อผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขให้แล้วเสร็จใน 3 เดือน หลังจากนั้นจะออกเป็นระเบียบและประกาศใช้เป็นกรอบการปฏิบัติของสถานบริการทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกกรมวิชาการในปี พ.ศ. 2558

โดยระเบียบที่จะดำเนินการประกาศใช้มีทั้งหมด 3 ระเบียบ ได้แก่ 1. ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจัดซื้อจัดหายา เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาต่าง ๆ รวมถึงวัสดุสำนักงาน 2. ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเกณฑ์จริยธรรมที่เกี่ยวข้อง และ 3. ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่าย หรือเกี่ยวกับเงินสวัสดิการ ซึ่งสถานพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการให้บริการแก่ผู้ป่วยและประชาชนปีละประมาณ 40,000 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 ระเบียบนี้จะแสดงถึงความโปร่งใส ตรงไปตรงมา และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและระบบราชการ เป็นการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สอดคล้องกับสภาพปัญหาในพื้นที่

ทั้งนี้ในการจัดระบบติดตามประเมินผล และการรายงานผลความคืบหน้าหรือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้วางไว้ 5 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบประมวลผล การกำกับ ในระดับจังหวัด ระดับเขต ระดับกรม 2. มีการกำหนดเป้าหมายของสถานบริการ โดยเน้นความประหยัด ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย 3. การจัดทำแผนประจำปี การอนุมัติแผนประจำปี ให้นายแพทย์สาธารณสุขอนุมัติ และแจ้งผู้ตรวจราชการรับทราบ 4. การมอบอำนาจการปรับแผนประจำปี และ 5. การทำรายงานทุกไตรมาส และการสรุปผลประจำปี

นอกจากนี้ยังได้หารือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย อาทิ องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย มูลนิธิเพื่อคนไทย และโครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเป็นองค์กรที่จะพัฒนารูปแบบการดำเนินงานการต่อต้านการทุจริตทั้งภาคราชการ ซึ่งเป็นฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง และภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ดำเนินการรับจ้างหรือจัดหา เพื่อสร้างกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นองค์กรต้นแบบในเรื่องระบบคุณธรรมในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จะร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสนับสนุนในการวางระบบ ระเบียบวิธีการในการกำกับติดตาม และเป็นคนกลางในการประสานความร่วมมือทั้ง 2 ฝ่าย ให้ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยมีหลายหน่วยงาน อยู่ระหว่างการดำเนินการ เช่น กรมบัญชีกลาง กระทรวงคมนาคม เป็นต้น

“การดำเนินการสร้างคุณธรรม หลักการสำคัญคือ ฝ่ายราชการและเอกชนต้องมีข้อตกลงทำงานร่วมกัน โดยยึดหลักคุณธรรม และมีบุคคลที่ 3 คือ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มีส่วนร่วมในการตรวจสอบในทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีการเรียกรับเงิน หรือการได้มาซึ่งสัญญาโดยมิชอบ โดยมี ดร.มานะ นิมิตมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมอยู่ในคณะกรรมการ เพื่อร่วมกันจัดทำกรอบรายละเอียดความร่วมมือดังกล่าวภายใน 1 เดือน และจะลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 เพื่อเริ่มดำเนินการตามข้อตกลงในปีงบประมาณ 2558 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป” นพ.วชิระ กล่าว

.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า กลไกระบบยาของประเทศนับเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบสุขภาพที่มีการใช้งบประมาณในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลงานวิจัยเรื่องกลยุทธ์การกำหนดและควบคุมราคา : ก่อนขาย (หลังขึ้นทะเบียนยา) เมื่อคัดเลือกเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ และโดยผู้จ่ายค่ายารายใหญ่ของ รศ.ดร.ชะอรสิน สุขศรีวงศ์ พบว่า มูลค่ายาเพื่อการบริโภคตามราคาใน Price list สูงถึง 138,482,077,858บาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 35 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เป็นผลมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาเกินความจำเป็นโดยเฉพาะยาที่มีราคาสูง ปัญหาความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อยาของโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ หรือแม้แต่การรั่วไหลของยาบางประเภทออกนอกระบบจนทำให้เป็นช่องโหว่ของระบบสุขภาพที่ส่งผลให้เกิดการใช้งบประมาณจำนวนมาก

สวรส. จึงได้ระดมนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องธรรมาภิบาลและการอภิบาลระบบต่าง ๆ มาช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูล และสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายในการเสริมสร้างการอภิบาลระบบยาของประเทศ โดยเฉพาะประเด็นการจัดซื้อยา ระหว่างนี้ สวรส. ได้เร่งดำเนินงานวิจัยเรื่องการสังเคราะห์ข้อเสนอเพื่อเสริมสร้างการอภิบาลระบบยา ซึ่งจะเป็นงานวิชาการที่สำคัญในการสะท้อนช่องว่างปัญหาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาการจัดการระบบยาของประเทศต่อไป โดยทำการศึกษาในมิติต่าง ๆ อาทิ เรื่องระเบียบ มาตรฐานขั้นตอนการทำงานที่ส่งผลต่อโครงสร้างการบริหารยาทั้งระบบ การศึกษาองค์กรที่มีบทบาทในการกำกับดูแลระบบการบริหารจัดการยาและการกำหนดนโยบายระบบยาของประเทศ กลไกการตรวจสอบความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบยา ศึกษากระบวนการบริหารจัดการยาจากกรณีศึกษาต่างประเทศ เป็นต้น

.นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า คณะวิจัย นำโดย รศ.ดร.วุฒิสาร ตันไชย จากสถาบันพระปกเกล้า และ ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำหลักธรรมาภิบาล (Governance) มาใช้ในการศึกษาตลอดจนการสังเคราะห์ข้อมูลที่เน้นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมเข้ามาร่วมพิจารณาและสร้างแนวทางการบริหารจัดการอย่างสร้างสรรค์และเห็นพ้องต้องกัน ตลอดจนการเปิดโอกาสสำหรับทางเลือกในการบริหารงานที่กว้างขวางขึ้นไปกว่าการเน้นเฉพาะบทบาทของหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว โดยผลงานวิจัยชิ้นนี้จะทำให้เราเห็นข้อมูลระบบการบริหารจัดการยาทั้งวงจรในปัจจุบันที่สามารถนำมาวิเคราะห์และจัดลำดับความเสี่ยงในระบบการบริหารจัดการยา รวมทั้งเป็นฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบายที่สะท้อนกับความเป็นจริงในระดับปฏิบัติได้ ซึ่งงานวิจัยจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดเผยผลการวิจัยได้ในเร็ว ๆ นี้

อย่างไรก็ตาม นอกจากการสร้างระบบธรรมาภิบาลเพื่อกำจัดปัญหาคอร์รัปชันแล้ว ทางกระทรวงสาธารณสุขยังมีนโยบายที่จะคืนความสุขให้แก่ประชาชนที่สอดคล้องกับ Road map ของ คสช. โดยนโยบายที่จะขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมทันที ได้แก่

1. การรวมใจปรองดองสมานฉันท์ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน มีความหวังร่วมกัน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่มคือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่มีจำนวน 800 กว่าราย จะเป็นกลุ่มแรกในการเข้าเยียวยา กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีความคิดเห็นขัดแย้งทางการเมือง กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มผู้ดูแลเยียวยาประชาชน และกลุ่มที่ 4 คือประชาชนทั่วไป ที่จะลงไปทำความเข้าใจซึ่งจะมีการทำงานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด โดยจะมีกรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลจิตเวช ทำงานร่วมกับศูนย์สุขภาพจิตทั้ง 12 เขต

2. ยาเสพติด ซึ่งสอดคล้องกับคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 41/2557 โดยเฉพาะการบำบัด ฟื้นฟู และสร้างภูมิคุ้มกัน ได้แก่ การเตรียมความพร้อมหน่วยและทีมบำบัดรองรับผู้เสพ ผู้ติด สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลและมีระบบการส่งต่อ มีการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เชี่ยวชาญยาเสพติด เพื่อติดตามช่วยเหลือผู้บำบัดและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในชุมชน และพัฒนารูปแบบการสร้างภูมิคุ้มกันเชิงรุก อาทิ สื่อให้เห็นโทษพิษภัยของยาเสพติดที่ร้ายแรงด้านการแพทย์ หลักสูตรโรงเรียนพ่อแม่เพื่อเพิ่มทักษะในการดูแลลูกหลาน โดยต้องเห็นเป็นรูปธรรมภายใน 30 วัน

3. ให้สถานพยาบาลทุกแห่งจัดบริการที่ดีกว่าเพื่อประชาชน ประเด็นหลัก คือ 1. ประชาชนมาใช้บริการต้องได้พบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ทุกราย มีระบบให้คำปรึกษาและดูแลระหว่างส่งต่อ พร้อมจัดช่องทางด่วนสำหรับผู้ป่วย 6 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุ ทารกแรกเกิด หญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง และผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด 2. ผู้ป่วยที่มารับบริการต้องรอไม่นาน ซึ่งโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะต้องมีการปรับการให้บริการผู้ป่วยเพื่อลดระยะเวลารอคอย ได้แก่ ขยายเวลาบริการนอกเวลาราชการ ปรับตารางการให้บริการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ขยายจุดบริการออกนอกโรงพยาบาลให้เพียงพอ เป็นต้น และ 3. ผู้ป่วยที่อยู่ใกล้หรือไกลจะได้รับการรักษาและยาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ได้รับยาชนิดเดียวกันที่มีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน โดยทางกระทรวงสาธารณสุขจะติดตามและกำกับ ทั้งระบบรายงานปกติและระบบที่จะไปสำรวจเพิ่มเติม