Iron supplement

อ.ภก.สิกขวัฒน์ นักร้อง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

Iron supplement

ธาตุเหล็กเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งเป็นส่วนประกอบของโปรตีนชนิด "ฮีโมโกลบิน" ที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง และชนิด "ไมโอโกลบิน" ในกล้ามเนื้อ โดยโปรตีนเหล่านี้ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนจากปอดไปยังเซลล์ร่างกายประมาณร้อยละ 70 ของธาตุเหล็กที่มีอยู่ในฮีโมโกลบิน นอกจากนี้ยังเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ต่าง ๆ หลายชนิดในสมอง และมีบทบาทในการทำงานของเม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นกลไกต้านทานโรค

ผลของการขาดธาตุเหล็ก(1)

- มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด และถ้าเสียเลือดมากในการคลอดอาจถึงแก่ชีวิต
- ผลต่อแม่ ไม่มีกำลัง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ลูกคลอดออกมาจะตัวแดงเหมือนเด็กแรกคลอดทั่วไปแต่มีธาตุเหล็กสะสมน้อยจึงเริ่มมีอาการซีดเร็ว
- ผลต่อน้ำหนักทารกแรกคลอดต่ำ และมีพัฒนาการช้า เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย

- ผลเสียด้านสรีรวิทยาของเด็ก

  • ภาวะซีดทำให้มีการนำและสะสมออกซิเจนในเลือดน้อยลง

  • กระบวนการทางชีวเคมีในร่างกายกระทบกระเทือน ส่งผลต่อขีดความสามารถในการทำงาน

  • ส่งผลต่อกระบวนการในร่างกายเกี่ยวกับการส่งสัญญาณของเส้นประสาทต่าง ๆ

  • ส่งผลต่อการสร้างสารทางพันธุกรรมบางอย่าง

  • มีการเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กปกติในช่วงอายุเดียวกัน

- ผลเสียด้านพฤติกรรมของเด็ก

  • มีพัฒนาการต่อการเรียนรู้ช้ากว่าเด็กปกติในช่วงอายุเดียวกัน

  • มีอาการเฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้นในการเรียน ไม่มีสมาธิ เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร

สาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก(1)

- การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอกับภาวะที่ร่างกายต้องการธาตุเหล็กที่สูงขึ้น เช่น เด็กในวัยเจริญเติบโต หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
- การรับประทานอาหารที่มีตัวขัดขวางการดูดธาตุเหล็ก เช่น แคลเซียม ไฟเตท ออกซาเลท
- รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีต่ำ เพราะธาตุเหล็กจะดูดซึมได้เมื่อมีอาหารที่มีวิตามินซีสูง
- การมีภาวะสูญเสียเลือดอย่างเรื้อรัง เช่น โรคพยาธิปากขอ โรคแผลในกระเพาะอาหาร การมีเนื้องอกในระบบทางเดินอาหาร หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีประจำเดือนมาก การคลอดบุตรและการแท้งบุตร

 

ตารางที่ 1 ปริมาณธาตุเหล็กที่ควรได้รับต่อวัน(2)

Information about this iron-supplement-oral-route-parenteral-route

Persons

U.S. (mg)

Canada (mg)

Infants birth to 3 years of age

6–10

0.3-6

Children 4 to 6 years of age

10

8

Children 7 to 10 years of age

10

8–10

Adolescent and adult males

10

8–10

Adolescent and adult females

10–15

8–13

Pregnant females

30

17–22

Breast-feeding females

15

8–13

รูปที่ 1 ตัวอย่างอาหารเสริมธาตุเหล็ก(3)

ชนิดของยา ขนาด และวิธีใช้
ยาเสริมธาตุเหล็กมี 2 รูปแบบคือ เกลือเฟอร์รัส (ferrous salts) และเกลือเฟอร์ริก (ferric salts) โดยปกติแล้วเกลือเฟอร์รัสถูกดูดซึมในทางเดินอาหารได้ดีกว่าเกลือเฟอร์ริก นอกจากนี้ยาเสริมธาตุเหล็กอาจอยู่ในรูปแบบของเกลือหลายชนิด เช่น เฟอร์รัสฟูมาเรท (ferrous fumarate), เฟอร์รัสซัลเฟท (ferrous sulfate), เฟอร์รัสกลูโคเนท (ferrous gluconate), เฟอร์ริกแอมโมเนียมซิเตรท (ferric ammonium citrate) และไอรอนไฮดรอกซีโพลีมอลโทสคอมเพลกซ์ (iron hydroxide polymaltose complex) เกลือของธาตุเหล็กแต่ละชนิดมีปริมาณธาตุเหล็กแตกต่างกัน หากขนาดยาที่ให้มีปริมาณธาตุเหล็กที่เพียงพอ อัตราการสร้างฮีโมโกลบินก็จะไม่ขึ้นกับชนิดของเกลือของธาตุเหล็ก(4) ตัวอย่างที่มีใช้และปริมาณธาตุเหล็กที่ได้รับ(5) ได้แก่

  • เฟอร์รัสซัลเฟท ชนิดเม็ด เม็ดละ 300 มิลลิกรัม มีเหล็ก 60 มิลลิกรัม ชื่อการค้า เช่น เฟอร์-อิน-ซอล (Fer-ln-sol), ซอร์บิเฟอร์ (Sorbifer) เฟอร์รัสซัลเฟท (Ferrous sulfate) รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง

  • เฟอร์รัสกลูโคเนท (Ferrous gluconate) ชนิดเม็ด เม็ดละ 300 มิลลิกรัม มีเหล็ก 36 มิลลิกรัม ชื่อการค้า เช่น เฟอร์กอน (Fergon), เฟอร์ราล (Ferral) รับประทานครั้งละ1-2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง

  • เฟอร์รัสฟูมาเรท (Ferrous fumarate) ชนิดเม็ด เม็ดละ 200 มิลลิกรัม มีเหล็ก 60 มิลลิกรัม ชื่อการค้า เช่น เฟอร์ซามาล (Fersamal), โทเลอรอน (Toleron) รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง

  • ไอรอนไฮดรอกซีโพลีมอลโทสคอมเพลกซ์ (iron hydroxide polymaltose complex) หรืออาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เฟอร์ริกไฮดรอกไซด์โพลีมอลโทสคอมเพลกซ์ (ferric hydroxide polymaltose complex) เป็นสารประกอบเชิงซ้อนของเฟอร์ริกไฮดรอกไซด์และไอโซมอลโทส (isomaltose) การทำเป็นสารประกอบเชิงซ้อนลักษณะนี้จะช่วยเพิ่มการดูดซึมของธาตุเหล็ก เช่น Eurofer-iron

  • ชนิดฉีด มีชื่อในทางการค้า เช่น อิมเฟอรอน (Imferon) ประกอบด้วยเหล็ก 50 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร เจ็คโตเฟอร์ (Jectofer) ประกอบด้วยเหล็ก 50 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร

การให้ยาที่มีส่วนประกอบของเหล็กควรให้ก่อนอาหาร เพราะถูกดูดซึมได้ดีขณะท้องว่าง แต่ถ้ามีการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารมากก็อาจให้พร้อมอาหารหรือหลังอาหาร โดยปกติธาตุเหล็กถูกดูดซึมได้ดีในสภาวะที่เป็นกรด เนื่องจากเหล็กอยู่ในสภาพที่ละลายได้ดี โดยถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenum) แต่เนื่องจากในลำไส้เล็กส่วนต้นมีความเป็นกรดน้อย ดังนั้น สารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น วิตามินซี หรือกรดแอสคอร์บิก (ascorbic acid) จึงช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก สูตรของธาตุเหล็กชนิดรับประทานบางสูตรจึงมีการเติมวิตามินซีเพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึมของเหล็ก(4)

การให้เหล็กในผู้ป่วยที่มีโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นหลังได้รับยานาน 2 วัน และระดับฮีโมโกลบินจะเพิ่มสูงขึ้นหลังได้รับธาตุเหล็กนาน 1 สัปดาห์ และภายหลังผู้ป่วยหายซีดแล้ว ควรให้ธาตุเหล็กต่ออีกอย่างน้อย 3 เดือน ส่วนใหญ่โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กจะหายได้โดยเหล็กชนิดรับประทาน แต่จะให้เหล็กชนิดฉีดเฉพาะในรายที่ไม่สามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้ดี เช่น โรคระบบการดูดซึมเสีย (Malabsorption) ภายหลังการผ่าตัดกระเพาะอาหาร, การผ่าต่อกระเพาะอาหารกับลำไส้ส่วนกลาง (Gastrojejunostomy)(5)
อาการที่ไม่พึงประสงค์ของเหล็กชนิดรับประทาน(5)
ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเดิน ซึ่งอาจแก้โดยเริ่มให้เหล็กรับประทานขนาดน้อย ๆ ก่อน แล้วจึงเพิ่มมากขึ้นหรือเปลี่ยนเป็นใช้เกลือของเหล็กในรูปอื่น

เอกสารอ้างอิง

1. ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กคืออะไร. http://nutrition.anamai.moph.go.th/temp/main/view.php?group=1&id=603

2. Iron Supplement (Oral Route, Parenteral Route). http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/iron-supplement-oral-route-parenteral-route/description/drg-20070148

3. http://www.healthcastle.com/sites/default/files/imagecache/article-lead-image-570x200/iron_pills_480.jpg

4. Oral iron supplements (ธาตุเหล็กชนิดรับประทาน). http://folicacidandpregnancy.blogspot.com/2010/09/oral-iron-supplements.html

5. http://www.healthcarethai.com/ยาที่เกี่ยวกับเลือด