เทคโนโลยีการทำเลสิกไร้ใบมีดแบบแผลเล็ก (ReLEx LASIK)
ปัญหาสายตานับเป็นอุปสรรคสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันมากมายของใครหลาย ๆ คน ในปัจจุบันมีความพยายามในการคิดค้นและผลิตนวัตกรรมที่ทันสมัยขึ้นมาเพื่อถนอมสายตาและรองรับการแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติในรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแว่นสายตา คอนแทคเลนส์ การผ่าตัดแก้ไขปัญหาสายตา หรือการทำเลสิก ซึ่งในปัจจุบันมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ‘การทำเลสิกไร้ใบมีดแบบแผลเล็ก’ Refractive Lenticule Extraction หรือ (ReLEx) โดยการใช้แสงเลเซอร์เพิ่มความแม่นยำและความปลอดภัยมากขึ้น ทำให้แผลมีขนาดเล็กลง ลดปัญหาผิวกระจกตาถลอก ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้มีข้อดีกว่าแบบเดิมคือ การฟื้นตัวของแผลเร็วกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม
พญ.โสมสราญ วัฒนะโชติ ผู้อำนวยการศูนย์จักษุกรุงเทพ และศูนย์เลสิกกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ภาวะสายตาผิดปกติเป็นผลของกำลังการรวมแสง (Refractive Power) ของตาไม่พอดีกับความยาวลูกตา ทำให้การรวมแสงของตาตกไม่พอดีที่จอประสาทตา และเกิดเป็นภาวะสายตาผิดปกติ (Refractive Errors) ที่สามารถแยกออกเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ คือ สายตาสั้น สายตาเอียง สายตายาวโดยกำเนิด และสายตายาวตามอายุ ส่วนวิธีการแก้ไขนั้นก็สามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพร่างกาย งบประมาณ รวมถึงความชื่นชอบส่วนบุคคล หนึ่งในนั้นก็คือ การใส่แว่นสายตา (Spectacles) ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายมายาวนาน มีความปลอดภัยสูงแต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ความไม่สะดวกในการเล่นกีฬา การประกอบอาชีพบางประเภท เช่น แอร์โฮสเตส รวมถึงปัญหาด้านบุคลิกภาพ ในส่วนของการใส่คอนแทคเลนส์ (Contact Lenses) ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยมไม่แพ้การใส่แว่นสายตา แต่หากไม่ดูแลให้ดีอาจก่อให้เกิดปัญหาการติดเชื้อที่กระจกตา นอกจากนี้การใส่คอนแทคเลนส์ยังอาจมาพร้อมกับปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น อาการแพ้คอนแทคเลนส์หรือน้ำยาล้างเลนส์ รวมถึงข้อจำกัดในการทำกิจกรรมบางประเภท เช่น การว่ายน้ำหรือการอยู่ในที่ที่มีฝุ่นควันมาก เป็นต้น ส่งผลให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยหันมาพึ่งวิธีการผ่าตัดภาวะสายตาผิดปกติ (Refractive Surgery) ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมานานหลายสิบปี ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ ทั้งยังมีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ป่วย เริ่มตั้งแต่การกรีดกระจกตา (RK หรือ Radial Keratotomy) ไปจนถึงการใช้ Excimer Laser ขัดผิวกระจกตาโดยตรงที่เรียกว่า Photorefractive Keratectomy (PRK) ในบรรดาวิธีการรักษาภาวะสายตาผิดปกติทั้งหมดจะพบว่า ‘การทำเลสิก’ ถือเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมาก ทั้งยังปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
พญ.ธารินี เสงี่ยมพรพาณิชย์ จักษุแพทย์ ศูนย์เลสิกกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า การทำเลสิกเป็นการผ่าตัดแก้ไขสายตาที่ประเทศไทยเรานำมาใช้แล้วราว 2 ทศวรรษ ซึ่งผลที่ได้นอกจากผู้ป่วยจะสามารถใช้ชีวิตโดยปราศจากแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ โดยวิธีการทำก็จะมี 2 ขั้นตอนหลัก ๆ คือ การแยกชั้นกระจกตาเพื่อเปิดออกให้มีลักษณะคล้ายฝา โดยเหลือขั้วเอาไว้ด้านหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะใช้เลเซอร์ที่เรียกว่า Excimer Laser ซึ่งเป็นเลเซอร์ที่ไม่ทำให้เกิดความร้อน แม่นยำและอ่อนโยนต่อดวงตา ยิงลงไปเพื่อแก้ไขสายตา ในอดีตการแยกชั้นกระจกตาจะใช้เครื่องแยกชั้นกระจกตา Microkeratome ซึ่งเป็นใบมีดชนิดพิเศษแยกชั้นกระจกตาส่วนบนเพื่อเปิดขึ้นเป็นฝากระจกตา ต่อมาในระยะหลังเริ่มมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา ทำให้เราสามารถแยกชั้นกระจกตาด้วยเลเซอร์ โดยใช้เครื่อง Femtosecond Laser ซึ่งเป็นที่มาของเลสิกไร้ใบมีด (FemtoLasik) ที่มีความแม่นยำ ด้วยการใช้เลเซอร์ทุกขั้นตอน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดภาวะแทรกซ้อนและลดการระคายเคืองหลังผ่าตัด ช่วยให้แผลหายเร็วกว่าการทำเลสิกแบบเดิม ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้การแยกชั้นกระจกตาสามารถทำได้อย่างปลอดภัยและแม่นยำภายในเวลา 17-20 วินาที โดยเลเซอร์จะโฟกัสลงไปใต้ผิวกระจกตาด้วยความแม่นยำ และจะสแกนไปตามความโค้งของกระจกตา มีการสัมผัสที่อ่อนโยน ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตาในระหว่างการผ่าตัด สามารถลดความคลาดเคลื่อนของการแยกชั้นกระจกตา ลดปัญหาผิวกระจกตาถลอก กระจกตาที่แยกได้มีความเรียบ ใช้เวลาในการผ่าตัดโดยรวมเฉลี่ยข้างละ 15 นาที นอกจากนี้กระจกตายังสมานตัวเร็ว ช่วยย่นระยะเวลาของการพักฟื้นได้ในอีกทางหนึ่ง
พญ.ธารินี กล่าวว่า นอกจากวิธีที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นแล้ว ได้มีการพัฒนาการรักษาด้วยเลสิกกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีการต่อยอดของนวัตกรรมเลสิกขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งคือ การทำเลสิกไร้ใบมีดแบบแผลเล็ก หรือ ReLEx (Refractive Lenticule Extraction) เป็นเทคโนโลยีในการรักษาภาวะสายตาผิดปกติที่ช่วยแก้ไขภาวะสายตาสั้นและเอียง โดยการปรับเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาด้วยเลเซอร์ทำให้แผลมีขนาดเล็กลง โดยใช้ Femtosecond Laser แยกชั้นกระจกตาเป็นเลนส์ในเนื้อกระจกตา และนำเลนส์นั้นออกผ่านแผลเล็กเพื่อปรับความโค้งกระจกตาให้เหมาะสม โดยมีหลักการเดียวกันกับการผ่าตัดด้วยวิธี ReLEx : SMILE (Small Incision Lenticule Extraction) เป็นการผ่าตัดแผลเล็ก โดยการยิง Femtosecond Laser จะแยกชั้นกระจกตาให้เป็นเลนส์ในเนื้อกระจกตา คล้าย FemtoLasik แล้วนำเนื้อกระจกตาที่เป็นเลนส์นั้นออก หลังจากนั้นจึงปิดฝากระจกตาให้กลับสู่สภาพเดิม ผ่านแผลกระจกตาซึ่งมีขนาดเล็ก 2-5 มิลลิเมตร สำหรับผลดีของการรักษาด้วยวิธี ReLEx คือ ไม่มีการกดทับกระจกตาของเครื่องมือในขั้นตอนการผ่าตัด กระจกตาหลังการรักษามีความแข็งแรง เพราะ ReLEx เป็นการผ่าตัดที่รบกวนกระจกตาน้อยที่สุด แผลมีขนาดเล็ก (Minimally Invasive Refractive Surgery) ความโค้งกระจกตาหลังการรักษามีรูปร่างดี ลดโอกาสการเกิดปัญหาการมองเห็นในที่แสงน้อย มีความแม่นยำสูง สามารถกำหนดตำแหน่งการปรับความโค้งกระจกตาได้ตามต้องการ ลดโอกาสการเกิดภาวะถดถอยของสายตาหลังการผ่าตัดในระยะยาว ลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ หลังการรักษาได้ดีขึ้น
สำหรับคุณสมบัติโดยรวมของผู้ที่ประสงค์จะทำเลสิกนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และมีค่าสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี ไม่ต้องการสวมใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ อาจเนื่องมาจากการประกอบอาชีพ การทำกิจวัตรประจำวันหรืองานอดิเรกที่ไม่สะดวกสบาย ไม่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ไม่มีโรคของกระจกตาหรือโรคตาอย่างรุนแรง เช่น จอประสาทตาเสื่อม ตาแห้งอย่างรุนแรง รวมถึงโรคทางร่างกายที่มีผลต่อการสมานแผล เช่น โรค SLE ทั้งยังต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในการผ่าตัดด้วยวิธีเลสิกอย่างละเอียด ตลอดจนมีความคาดหวังที่ถูกต้อง “เรื่องของความเข้าใจและความคาดหวังของผู้ป่วยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำเลสิก ผู้ป่วยต้องมีทัศนคติที่ดี และมีความคาดหวังที่ถูกต้อง เพราะการรักษาทุกอย่างย่อมมีความเสี่ยง แต่เราสามารถเลือกได้ว่าจะเสี่ยงมากหรือพยายามควบคุมตัวแปรต่าง ๆ การเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรักษาก็ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราสามารถลดความเสี่ยงหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้”