สเตียรอยด์...ปัญหาร้าย บ่อนทำลายสุขภาพคนไทย

1.ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี  2.ภก.ประพนธ์ อางตระกูล  3.ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ  4.ภก.เด่นชัย ดอกพอง  

สเตียรอยด์...ปัญหาร้าย บ่อนทำลายสุขภาพคนไทย

ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นยาที่มีประโยชน์อย่างมากในวงการแพทย์ สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยของร่างกายได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุมทุกอาการเจ็บป่วย ซึ่งด้วยประโยชน์ดังกล่าวทำให้มีผู้ไม่หวังดีลักลอบผสมในยาชุด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณหรือสมุนไพร ซึ่งมีผลเสียหรือโทษต่อร่างกายอย่างน่าสะพรึงกลัวเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จึงได้ร่วมกับมูลนิธิหมอชาวบ้าน ชมรมเภสัชชนบท เครือข่ายรณรงค์การใช้สเตียรอยด์ให้ปลอดภัยและเหมาะสม และภาคีเครือข่าย จัดมหกรรมการจัดการปัญหายาสเตียรอยด์ที่ไม่เหมาะสมในระดับชาติ เพื่อสะท้อนสภาพปัญหาและสร้างความตระหนักในสังคมต่อการจัดการปัญหาการใช้สเตียรอยด์อย่างไม่เหมาะสม เสนอแนะเชิงนโยบายทั้งในระดับชาติและในระดับพื้นที่ เพิ่มศักยภาพเครือข่ายในการเฝ้าระวังและจัดการปัญหาการใช้สเตียรอยด์อย่างไม่เหมาะสม ตลอดจนพัฒนาความร่วมมือกับภาคียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการผลักดันยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาและการเฝ้าระวังปัญหา

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา กล่าวว่า มีการนำยาสเตียรอยด์มาใช้ทางยามาอย่างยาวนาน จากผลที่ออกฤทธิ์ได้ชะงัดและครอบจักรวาลทำให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด นำไปสู่การลักลอบนำมาจัดเป็นยาชุดผสมในยาโบราณ มีการรณรงค์เรื่องปัญหาการผสมสเตียรอยด์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 เมื่อกลุ่มศึกษาปัญหายาพบการระบาดของยาชุด ซึ่งมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ด้วย ได้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่การแก้ไขพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ให้เพิ่มเรื่องยาชุดผิดกฎหมาย มีความพยายามโดยหลายหน่วยงานในการรณรงค์ประกาศนโยบายทั้งกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เครือข่ายด้านสุขภาพ มหาวิทยาลัย เป็นต้น

จากข้อมูลการสำรวจพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาสเตียรอยด์สูงถึง 853 ล้านเม็ดต่อปี หรือเฉลี่ย 8-13 เม็ด/คน/ปี ซึ่งนับเฉพาะยารับประทานคือ Dexamethasone และ Prednisolone โดยพบสเตียรอยด์ปลอมปนอยู่ในยาเม็ด ยาลูกกลอน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยาสมุนไพร ยาน้ำ เครื่องดื่มน้ำผลไม้บางชนิด ครีม เครื่องสำอาง เป็นต้น ส่วนใหญ่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 20 จังหวัด รวมทั้งภาคอื่น ๆ ด้วย โดยรถเร่ขายยาจะเป็นแหล่งกระจายใหญ่สู่หน่วยอื่น ๆ และมีความสัมพันธ์กับวิทยุชุมชนที่เป็นแหล่งโฆษณาและจำหน่ายเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีแหล่งกระจายยาทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน ร้านขายของชำ อสม. คลินิก โรงพยาบาล ร้านขายยา หรือแม้แต่วัด

“การแก้ปัญหาดังกล่าวจะต้องแก้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งต้องทำงานต่อเนื่อง โดยต้นน้ำจะต้องมีการควบคุมที่วัตถุดิบ การกำหนดรูปลักษณ์ยาสเตียรอยด์ให้มีรูปแบบเดียวที่แสดงให้รู้ว่าเป็นสเตียรอยด์ ควบคุมการกระจายยาสเตียรอยด์อย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและปรับปรุงมาตรการทางกฎหมาย รวมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูลและช่องทางการส่งต่อข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ โดยต้องประมวลภาพรวมและส่งข้อมูลกลับพื้นที่ กลางน้ำต้องมีการดำเนินงานร่วมกันในพื้นที่ทั้งศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในการเร่งสำรวจปัญหาในพื้นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด การดำเนินงานตามกฎหมาย โรงพยาบาลชุมชนในการร่วมเร่งสำรวจผู้ป่วย การจัดทำคลินิกสำหรับผู้ติดสเตียรอยด์ทั้งหมด ต้องประสานงานกันในระดับพื้นที่ และปลายน้ำต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภค และให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูล การตรวจการปลอมปนสเตียรอยด์อย่างทั่วถึง” ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าว

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย. ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาสเตียรอยด์มาโดยตลอด แต่ต้องยอมรับว่าในอดีตเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมยังไม่เป็น Real time คือข้อมูลการนำเข้าเคมีภัณฑ์ การผลิต การกระจายผลิตภัณฑ์ยาสำเร็จรูป กำหนดให้มีรายงานทุกปี ทำให้กว่าจะรู้ถึงจำนวนที่แท้จริง ยาก็กระจายไปหมดแล้ว ในขณะนี้ทาง อย. จึงแก้ปัญหาที่ระบบการรายงานที่เป็น Real time ตั้งแต่ขั้นตอนการนำเข้าจนถึงการจำหน่าย โดยการนำเข้า ผู้นำเข้าจะต้องแจ้งปริมาณและลงรายงานในระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อนำเข้ามาแล้วจะต้องจำหน่ายให้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบัน หรือกระทรวง ทบวง กรม เท่านั้น ส่วนผู้ผลิตยาจะต้องจัดทำรายงานการผลิตว่าผลิตได้เท่าไร และรายงานการขายไปยังสถานพยาบาล หรือร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตจำนวนเท่าไร ดังนั้น ในขณะนี้ระบบจะเป็นผู้บริหารจัดการข้อมูลการนำเข้า การผลิต การใช้ยา ซึ่งจะสามารถรู้ข้อมูล ข้อเท็จจริงได้ทันเหตุการณ์ ในแต่ละจังหวัดจะสามารถเปิดดูข้อมูลได้ว่าร้านขายยา สถานพยาบาล โรงพยาบาลในจังหวัดนั้น ๆ ซื้อสเตียรอยด์ไปปริมาณเท่าไร

ในขณะเดียวกันยังมีการออกกฎกระทรวง ซึ่งสามารถทำให้ อย. ประกาศกำหนดตัวสัญลักษณ์ไว้บนเม็ดยาได้ ว่าคือยาสเตียรอยด์ รวมทั้งกำหนดเรื่องของการที่จะบังคับช่องทางการจำหน่ายไว้ด้วย หากว่ามาตรการที่กำหนดไว้ในระยะที่หนึ่งยังไม่สามารถควบคุมประเด็นปัญหาของสเตียรอยด์ไว้ได้ก็อาจจะกำหนดเรื่องช่องทางการจำหน่ายยาสเตียรอยด์ให้จำหน่ายได้เฉพาะสถานพยาบาลหรือคลินิกเท่านั้น

นอกจากการควบคุมและป้องกันปัญหาการนำเข้าและการผลิตสเตียรอยด์ที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ในส่วนของการลักลอบนั้น ทาง อย. ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานติดตามผู้ลักลอบนำเข้าตัววัตถุดิบสเตียรอยด์ รวมถึงการนำตัวเคมีภัณฑ์ไปขายในโรงงานผลิตยาบางแห่งที่รับทำยาเม็ดสเตียรอยด์แล้วนำไปขายนอกระบบ รวมถึงกรณีที่นำเข้าตัวเคมีภัณฑ์เข้ามาแล้วนำไปขายเป็นการทั่วไปให้แก่ผู้ที่ไม่ประสงค์ดีที่นำไปผสมในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทั้งหลาย โดยหน่วยงานดังกล่าวจะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะกองบังคับการตำรวจปราบปรามคดีคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อมีการดำเนินการจับกุม หากเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตที่อยู่ภายใต้กฎหมายที่ทาง อย. ควบคุมอยู่ นอกจากจะมีการลงโทษทางกฎหมายแล้ว อย. จะใช้มาตรการทางปกครองในการลงโทษเพิ่มเติมเข้าไปด้วย โดยมีการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขายยา หรือผลิตยา ซึ่งสามารถพักใช้ใบอนุญาตได้ครั้งละ 120 วัน รวมทั้งยังได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับกรมศุลกากรในเรื่องการนำมาตรการทางด้านภาษีเข้าไปดำเนินการด้วย

“ขณะนี้นโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเน้นในเรื่องการโฆษณา รวมถึงกรณีผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตราย เราถูกเน้นให้ทำการบ้าน ต้องรายงานความคืบหน้าทุกวัน ซึ่งในส่วนนี้ทาง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำหนังสือสั่งการลงไปในทุกจังหวัดให้เข้มงวดในประเด็นเหล่านี้ รวมทั้งยังมีนโยบายให้เน้นเรื่องการทำงานในระดับพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยในปีงบประมาณถัดไปจะเพิ่มงบประมาณให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่มากขึ้น” ภก.ประพนธ์ กล่าว

ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพมีสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานและเป็นธรรมด้วยการส่งเสริม พัฒนา กำกับ สถานพยาบาลเอกชน และผู้ประกอบโรคศิลปะให้มีคุณภาพมาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลและกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ ตลอดจนกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพัฒนาระบบดำเนินการด้านการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้รับบริการด้านสุขภาพจากสถานพยาบาลเอกชน นอกจากนี้ยังมีกองทุนสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชนซึ่งให้การสนับสนุนการทำงานของ อสม. และจะกำหนดให้การเฝ้าระวังและจัดการปัญหาสเตียรอยด์เป็นบทบาทหนึ่งของ อสม. ในอนาคต

“ปัจจุบันในประเทศไทยมี อสม. ประมาณ 1,040,000 คน โดย 1 คนจะดูแล 10-15 ครอบครัว ซึ่งในอนาคตทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะมีการกำหนดให้ อสม. ทั้งหมดมีหน้าที่เฝ้าระวังและจัดการปัญหาเรื่องของสเตียรอยด์ และในภาคประชาชนสามารถร้องเรียนปัญหาการใช้สเตียรอยด์อย่างไม่เหมาะสมได้ผ่านทางสายด่วน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โทรศัพท์ 0-2193-7999 ตลอด 24 ชั่วโมง” ทพ.อาคม กล่าว

ภก.เด่นชัย ดอกพอง โรงพยาบาลขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า การได้รับสเตียรอยด์ของประชาชนในชนบทเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจากยา ได้แก่ โรคทางเดินอาหาร โรคไต คุชชิ่งซินโดรม ภาวะช็อก การแก้ปัญหาที่ผ่านมามุ่งเน้นไปจัดการกับแหล่งกระจายยา แต่ระบบการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับสเตียรอยด์ยังมีน้อย จึงได้พัฒนาแนวทางการค้นหา คัดกรอง วินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้อง โดยการมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน คือ อสม. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลชุมชน (สหวิชาชีพ) การทำงานเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2552 ผลการทำงานในพื้นที่ ต.ศรีตระกูล ซึ่งมีจำนวน 7 หมู่บ้าน หลังจาก อสม. ทำการค้นหาผู้ที่มีประวัติได้สเตียรอยด์ในช่วงเวลา 3 เดือน พบผู้ที่มีประวัติสงสัยได้รับสเตียรอยด์จำนวน 137 คน จากการรับประทานยาชุด 32.47% ยาฉีดจากคลินิก/สถานพยาบาล 27.92% ยาต้ม/ยาหม้อ 17.53% ยาลูกกลอน 15.58% และยาจากรถเร่ 6.49% ซึ่งผู้ป่วยจำนวน 137 คนดังกล่าวเดินทางไปรับการคัดกรองที่ รพ.สต.บ้านโนน จำนวน 78 คน พบว่ากลุ่มนี้มีผู้ที่มีลักษณะคุชชิ่งซินโดรม 4 คน จึงได้ส่งต่อมาที่โรงพยาบาลขุขันธ์ แพทย์ตรวจวินิจฉัยว่ามีอาการคุชชิ่งซินโดรม 3 คน Adrenal insufficiency 1 คน

จากการสำรวจโดยเปรียบเทียบระหว่างปี พ.ศ. 2552 กับปี พ.ศ. 2557 พบว่า ยาชุดจากร้านขายของชำที่มีสเตียรอยด์ลดลงอย่างมากจนแทบไม่พบ แต่ส่วนใหญ่จะพบ NSAIDs แทน ในคลินิก สถานพยาบาล พบยาเม็ดสเตียรอยด์น้อยลง เนื่องจากการควบคุมและการตรวจที่เข้มข้น แต่สิ่งที่ต้องลงลึกไปดูคือยาฉีด ซึ่งตรวจสอบได้ยาก คลินิกกระดูกบางแห่งมีการฉีดยาสเตียรอยด์ผสมยาชาเข้าข้อให้ผู้ป่วย คลินิกและสถานพยาบาลหลายแห่งมีการจ่ายยาสเตียรอยด์แต่ไม่ลงข้อมูลใน OPD card ยาลูกกลอนยังมีการปนเปื้อนรุนแรงเหมือนเดิม ยาจากรถเร่มีจำนวนมาก แต่ระยะหลังมีการหันไปใส่ NSAIDs แทน ขณะนี้ที่ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เปิดด่านช่องสะงำ ซึ่งเป็นด่านชายแดน ทำให้มีการลักลอบนำเข้าทั้งยาเสพติด สเตียรอยด์ โดยเป้าหมายของการกระจายยาจะอยู่ที่เจ้าอาวาส หากเจ้าอาวาสใช้แล้วดีก็จะบอกต่อ ทั้งนี้จังหวัดที่พบยาสเตียรอยด์บ่อยครั้งคือ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ส่วนอุบลราชธานี ชัยภูมิ และเลย มีอยู่จำนวนหนึ่ง และขณะนี้ใน จ.ร้อยเอ็ด พบว่ามีการกระจายยาผ่านทางพระที่มาเรี่ยไรเงินด้วย

สำหรับผู้ที่มักตกเป็นเหยื่อของยาสเตียรอยด์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากความหวังอันสูงสุดของผู้สูงอายุมีด้วยกัน 3 เรื่อง คือ แก่แล้วไม่ปวดตามตัว แก่แล้วกินข้าวได้ และแก่แล้วนอนหลับดี ซึ่งยาสเตียรอยด์สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ทั้งหมด โดยเริ่มแรกมักจะเริ่มจากมีอาการปวดเล็กน้อย เมื่อได้รับประทานยาสเตียรอยด์ก็จะรู้สึกดีขึ้น จึงเริ่มรับประทานบ่อยขึ้นและในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งเป็นธรรมชาติของอาการติดยาสเตียรอยด์ หากไม่ได้รับประทานจะมีอาการปวด นอนไม่หลับ รับประทานอาหารไม่ได้ ผู้ป่วยมักจะเข้าใจว่าเป็นอาการของโรค ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเป็นอาการของการติดยาสเตียรอยด์ ในท้ายที่สุดจะเกิดภาวะกระดูกพรุน เบาหวาน ต้อกระจก และอาการซึม บางคนรู้สึกหงุดหงิดเมื่อไม่ได้รับประทานยา

“บุคลากรทางด้านสุขภาพโดยทั่วไปจะรู้อยู่แล้วว่าปัญหาจากสเตียรอยด์คือ หน้ากลม ตัวอ้วน แผลในกระเพาะ แต่สิ่งที่ยังไม่ค่อยรู้คือภาวะช็อก คือในร่างกายจะมีต่อมหมวกไตที่สามารถสร้างสเตียรอยด์ ซึ่งสเตียรอยด์นี้จะช่วยรักษาสมดุลเกลือแร่ ความดัน ของร่างกาย แต่เมื่อผู้ป่วยได้รับสเตียรอยด์จากภายนอกเข้าไป ต่อมนี้จะแฟบลง และผลิตสเตียรอยด์น้อยลง (Adrenal insufficiency) หากผู้ป่วยหยุดรับยาสเตียรอยด์จากภายนอกเข้าไปในร่างกาย ร่างกายไม่สามารถสร้างสเตียรอยด์ได้เหมือนเดิม หากร่างกายเกิดภาวะเป็นไข้ ติดเชื้อ ท้องเสียมาก ๆ หรือจะต้องผ่าตัดจึงเกิดภาวะช็อกได้ ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการให้ผู้ป่วยหยุดยาสเตียรอยด์ กระบวนการรักษาต้องรวดเร็ว ข้อมูลต้องทันเวลา เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการคุชชิ่งซินโดรมจะต้องมีการติดปั๊ม OPD card ว่าเกิดอาการคุชชิ่งซินโดรมจากการได้รับยาสเตียรอยด์ จะได้มีการเฝ้าระวังอาการช็อกขณะนอนโรงพยาบาล รวมทั้งมีการทำ Pop-up จะได้มีการระวังในการจ่ายยา เหมือนทำในผู้ป่วยแพ้ยา หากมีการแอดมิดจะต้องมีการระบุว่า เฝ้าระวังสเตียรอยด์ ซึ่งสหวิชาชีพต้องช่วยเตือนแพทย์ด้วยว่าเคสนี้ต้องให้สเตียรอยด์ ต้องระวังภาวะช็อก และต้องตรวจถี่ขึ้น”

ในส่วนของการคัดกรองผู้ป่วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ให้ข้อมูลการใช้ยาสเตียรอยด์ เมื่อพบผู้ป่วยมีอาการคุชชิ่งซินโดรมก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเกิดจากการใช้ยาสเตียรอยด์ ต้องพิจารณาว่าเกิดจาก Primary คือมีโรคภายในร่างกายบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการคุชชิ่งซินโดรมได้ หรือ Secondary คือการได้รับยาสเตียรอยด์จากภายนอก หากพบคุชชิ่งซินโดรมที่เกิดจาก Secondary ถ้ามีประวัติชัดสามารถรักษาได้ทันที แต่หากผู้ป่วยไม่มีอาการคุชชิ่งซินโดรมแต่มีประวัติได้รับยาสเตียรอยด์ ควรตรวจแล็บเพิ่มเติม เช่น Blood sugar, Electrolyte, Complete Blood Count โดยเฉพาะกรณีผู้ที่จะเข้าผ่าตัดต้องดูอย่างละเอียด นอกจากนี้เป็นที่ชัดเจนว่าถ้าผู้ป่วยได้รับ Prednisolone มากกว่า 20 มก./วัน ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ จะเป็น Adrenal insufficiency เกือบจะแน่นอน รวมทั้งผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์ในระบบอย่างเปิดเผย เช่น รูมาตอยด์, inflammatory bowel, Polymyalgia Rheumatica แต่สำหรับโรคหอบหืดเรื้อรัง แม้จะมีการให้ยาสเตียรอยด์ แต่เป็นการให้ในโด๊สขนาดสูงเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ในทางวิชาการแล้วไม่ได้ทำให้เกิด Adrenal insufficiency ถ้าได้รับการดูแลที่ดี

“ผู้ติดยาสเตียรอยด์ที่มีอาการคุชชิ่งซินโดรมถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อในโรงพยาบาล ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องถูกเฝ้าระวังด้วยระบบการควบคุม ป้องกันการติดเชื้อเทียบเท่าสถานะกับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับคีโม ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดี ผู้ป่วยเอดส์ ส่วนผู้ป่วยที่มารักษาในโรงพยาบาลด้วยระบบการค่อย ๆ ถอนยาออกนั้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยสามารถหายได้โดยไม่ต้องกลับไปรับประทานยาสเตียรอยด์และไม่ต้องทนทุกข์กับอาการติดยา เช่น ปวด อ่อนเพลีย กินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ แต่ต้องใช้เวลา โดยจะต้องมีฝ่ายเภสัชกรรมติดตามเพื่อดูแลอาการ” ภก.เด่นชัย กล่าว

ล่าสุด กพย. ได้ร่วมมือกับมูลนิธิหมอชาวบ้านในการจัดทำแอพพลิเคชั่น “เรื่องเล่าสเตียรอยด์ (Know Steroid)” ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับสเตียรอยด์ในแง่มุมต่าง ๆ และแจ้งเบาะแสของผลิตภัณฑ์ที่พบสเตียรอยด์ และยังมีเครือข่ายซึ่งสามารถติดตามข่าวสารสเตียรอยด์ได้ที่ www.facebook.com/steroidsocial นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการพัฒนาชุดตรวจสเตียรอยด์โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่ยังมีราคาสูง และหาซื้อได้ยากมาก ทั้งนี้กำลังอยู่ในช่วงเจรจาให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่องค์การเภสัชกรรมเพื่อให้มีราคาถูกลง และประชาชนเข้าถึงชุดตรวจได้ง่ายขึ้น