The 1st International Conference on Herbal and Traditional Medicine ครอบคลุมทุกมิติ...สมุนไพรและยาแผนโบราณ

ภาพประกอบ 5 ภาพ

1. ผศ.ดร.วนิดา ไทรชมภู

2. ผศ.ดร.สมศักดิ์ นวลแก้ว

3. ผศ.ดร.ภก.เมธิน ผดุงกิจ

 

The 1st International Conference on Herbal and Traditional Medicine

ครอบคลุมทุกมิติ...สมุนไพรและยาแผนโบราณ

 

ในปัจจุบันการนำสมุนไพรมาใช้ดูแลสุขภาพกำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายของสมุนไพรเป็นอย่างมาก แต่กลับมีงานวิจัยในประเทศไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้น การจัดประชุมวิชาการจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านสมุนไพรระหว่างนักวิจัยอย่างกว้างขวาง นำไปสู่การผลิตผลงานวิจัยด้านสมุนไพรที่มากขึ้น

สำหรับการจัดประชุมวิชาการเกี่ยวกับสมุนไพรในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเน้นถึงการนำสมุนไพรไปใช้ในด้านพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างอื่นที่มิใช่ยา เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น การวิจัยสมุนไพรเพื่อนำมาใช้เป็นยาและการวิจัยที่เป็นตำรับยาดั้งเดิมยังมีน้อย ดังนั้น การส่งเสริมให้มีการวิจัยสมุนไพรในรูปแบบสารสกัดหรือการวิจัยในรูปแบบยาแผนโบราณจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

คณะเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, คณะเภสัชศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร มหาวิทยาลัยขอนแก่น, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้มีแนวคิดที่จะร่วมกันส่งเสริมให้มีการวิจัยสมุนไพรเพื่อเป็นยามากขึ้น โดยได้จัดทำโครงการประชุมนานาชาติที่เน้นการพัฒนาสมุนไพรเพื่อใช้เป็นยา หรือ The 1st International Conference on Herbal and Traditional Medicine (HTM-2015) ระหว่างวันที่ 28-30 มกราคม พ.ศ. 2558 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออร์คิด จ.ขอนแก่น เพื่อเป็นเวทีการนำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้ของนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยในรายละเอียดของการประชุมได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ภก.เมธิน ผดุงกิจ, ผศ.ดร.สมศักดิ์ นวลแก้ว และ ผศ.ดร.วนิดา ไทรชมภู คณะกรรมการจัดการประชุม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นผู้ร่วมให้ข้อมูล

The 1st International Conference on Herbal and Traditional Medicine (HTM-2015) เป็นการประชุมนานาชาติที่มีความน่าสนใจและมีความสำคัญต่อเภสัชกรเป็นอย่างมาก เพราะในปัจจุบันกระแสการใช้สมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมีมากขึ้น เนื่องจากเมื่อโลกมีความเจริญทางด้านเทคโนโลยี ความกลัวทางด้านสารเคมีสังเคราะห์ก็เริ่มมีมากขึ้นด้วย ประชากรโลกจึงได้หันมาใส่ใจในด้านสุขภาพตนเองและความปลอดภัยในการบริโภคยาหรือสมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหารมากขึ้น เภสัชกรในฐานะที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านเภสัชกรรม และเกี่ยวข้องกับพืชสมุนไพรและยาแผนโบราณ (Herbal and traditional medicine) ทั้งในด้านการผลิตให้มีคุณภาพ การดูแลการใช้ รวมทั้งการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงจำเป็นต้องมีความรู้ที่ทันสมัยด้านพืชสมุนไพรและยาแผนโบราณในทุกมิติ

เพื่อให้ครอบคลุมองค์ความรู้ในด้านสมุนไพรและยาแผนโบราณในทุกมิติ จึงมีการกำหนด Topics ดังนี้ 1. พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน (Ethnobotany) เป็นการศึกษาหรือวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพืชท้องถิ่นกับชุมชน 2. เคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (Natural product chemistry) เป็นการศึกษาหรือวิจัยเกี่ยวกับสารเคมีซึ่งเป็นสารอินทรีย์จากสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ รวมทั้งสมุนไพร 3. ฤทธิ์ทางชีวภาพและพิษวิทยา (Biological activity and toxicity) เป็นการศึกษาหรือวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางชีวภาพและด้านพิษวิทยาของสมุนไพร เพื่อที่จะเสาะแสวงหาสมุนไพรที่มีศักยภาพที่จะนำมาพัฒนาเป็นยารักษาโรคต่อไป 4. การศึกษาด้านคลินิก (Clinical study) เป็นการศึกษาหรือวิจัยของสมุนไพรที่นำมาทดสอบในคน เพื่อหาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสมุนไพร 5. การตั้งตำรับยาสมุนไพร (Herbal drug formulation) เป็นการศึกษาหรือวิจัยด้านการพัฒนาตำรับยาสมุนไพร เพื่อให้ได้ยารูปแบบที่เหมาะสมและมีความคงตัว 6. การควบคุมคุณภาพ (Quality control) เป็นการศึกษาหรือวิจัยด้านการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานด้านสมุนไพร ทั้งในด้านวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพร 7. เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เป็นการศึกษาหรือวิจัยเพื่อนำความรู้ทางด้านต่าง ๆ ของวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับสิ่งมีชีวิตหรือชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิต ในที่นี้จะเน้นด้านการใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการพัฒนายาจากสมุนไพร 8. เภสัชเศรษฐศาสตร์ (Pharmacoeconomics) เป็นการศึกษาหรือวิจัยโดยการประยุกต์ความรู้ในด้านเศรษฐศาสตร์มาใช้ในด้านสมุนไพร เพื่อให้มีการคัดเลือกยาจากสมุนไพรได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือมีความคุ้มทุน เป็นต้น และ 9. ความรู้ด้านอื่น ๆ (Miscellaneous) เป็นการศึกษาหรือวิจัยด้านอื่น ๆ ที่ไม่เข้าข่ายในข้อ 1-8

ในส่วนของหัวข้อในการบรรยายทั้งหมดตลอด 3 วัน มีความน่าสนใจและหลากหลาย ตัวอย่างเช่น Natural Products and Traditional Knowledge in Asia: Opportunities and Challenges เป็นการบรรยายถึงคุณค่าของความรู้ทางด้านผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและการแพทย์แผนโบราณในทวีปเอเชีย (ซึ่งแตกต่างจากวิธีคิดและองค์ความรู้จากซีกโลกตะวันตก) ว่ามีโอกาสและความท้าทายมากน้อยขนาดไหนในการนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านสุขภาพ ทั้งการรักษาโรค ป้องกันโรค และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ Quality Control of Herb Medicines BY Fingerprinting Using Monoclonal Antibody เป็นเทคนิคหนึ่งในการควบคุมคุณภาพ โดยใช้เทคนิคทางด้านแอนติบอดี (ระบบภูมิคุ้มกัน) ซึ่งเป็นวิธีควบคุมคุณภาพสมุนไพรแบบใหม่ แตกต่างจากการควบคุมคุณภาพที่เราใช้กันอยู่ทั่วไป ซึ่งมักจะใช้วิธีการวิเคราะห์ทางเคมี วิธี monoclonal antibody นี้เป็นวิธีที่มีความไวสูง และมีความจำเพาะ สามารถตรวจสอบและวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในสมุนไพรที่มีปริมาณน้อยมากได้แม่นยำและรวดเร็ว Integrated Research on Kaempferia parviflora for Development of Health Product กรณีศึกษาของการวิจัยแบบครบวงจรในกระชายดำ ตั้งแต่การศึกษากระชายดำสายพันธุ์ต่าง ๆ การเตรียมเป็นสมุนไพรวัตถุดิบ การควบคุมคุณภาพของสารสกัด การทดสอบความเป็นพิษ การทดสอบฤทธิ์ จนถึงการเตรียมเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพในที่สุด และ Ethnobotany and Its Role in Drug Development พฤกษศาสตร์พื้นบ้านและความสำคัญของพฤกษศาสตร์พื้นบ้านเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นยา

กลุ่มเป้าหมายซึ่งได้แก่ อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปทั้งในและต่างประเทศจะได้รับความรู้จาก Keynote Speakers และ Invited Speakers ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่บรรยายมุ่งเน้นเฉพาะด้านการใช้สมุนไพรเป็นยาโดยตรง รวมทั้งแนวคิดการเสริมฤทธิ์ของยาสมุนไพรในตำรับเป็นที่ยอมรับมากขึ้น อาทิ Prof.Dr.Krisana Kraisintu Dean of the Faculty of Oriental Medicine, Rangsit University, Thailand  Prof.Dr.Yukihiro Shoyama Faculty of Pharmaceutical Science, Nagasaki International University, Japan  Prof.Dr.Veronika Butterweck School of Life Sciences, Institute for Pharma Technology, University of Applied Sciences Northwestern, Switzerland  Prof.Dr.Chayan Picheansoonthon Associate Dean for Administration, Faculty of Medicine, Mahasarakham University, Thailand  Assoc.Prof.Dr.Pharkphoom Panichayupakaranant Faculty of Pharmaceutical Sciences, Prince of Songkla University, Thailand  Assoc.Prof.Dr.Wanchai De-Eknamkul Faculty of Pharmaceutical Sciences, Chulalongkorn University, Thailand  Prof.Dr.Bungorn Sripanidkulchai Center for Research and Development of Herbal Health Products, Khon Kaen University, Thailand  Assoc.Prof.Dr.Mayuree Hantrakul Tantisira Faculty of Pharmaceutical Sciences, Burapha University, Thailand  Assist.Prof.Dr.Seiichi Sakamoto Graduate School of Pharmaceutical Sciences, Kyushu University, Fukuoka, Japan  Assoc.Prof.Dr.Hiroyuki Tanaka Graduate School of Pharmaceutical Sciences, Kyushu University, Fukuoka, Japan และ Assoc.Prof.Dr.Tomifumi Miyamoto Graduate School of Pharmaceutical Sciences, Kyushu University, Fukuoka, Japan ถือเป็นไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การจัดการประชุมวิชาการ HTM มีแผนที่จะขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพหลัก และช่วยกันกำหนดแนวทางในการวิจัยสมุนไพรเพื่อตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพของโลก ซึ่งจะช่วยให้การวิจัยสมุนไพรมีทิศทางที่ชัดเจน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ ช่วยลดปัญหาการวิจัยที่ซ้ำซ้อน ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการวิจัย และเกิดการวิจัยร่วมกันระหว่างหน่วยงานในการพัฒนายาจากสมุนไพร

ท้ายนี้ คาดหวังว่าจะมีผู้สนใจในการวิจัยสมุนไพรเพื่อใช้เป็นยา มีผลงานวิจัยสมุนไพรและข้อมูลของสมุนไพรที่ใช้เป็นยามากขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิดและองค์ความรู้ใหม่ ๆ ระหว่างนักวิจัย และประชาชนมีการตื่นตัวต่อการใช้สมุนไพรเป็นยามากขึ้น จึงอยากขอเชิญชวนให้เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย หรือผู้ที่สนใจทั่วไปเข้าร่วมประชุมวิชาการในครั้งนี้ นอกจากจะได้อัพเดทความรู้ทางด้านวิชาการเกี่ยวกับการนำสมุนไพรมาใช้เป็นยาแล้ว ยังมีโอกาสที่จะสร้างเครือข่ายนักวิจัยหรือผู้สนใจด้านสมุนไพรทั่วโลก รวมทั้งนิสิต/นักศึกษาปริญญาโทที่เขียน proceeding งานวิจัยและสามารถตีพิมพ์ในวารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ฉบับเพิ่มเติม สามารถใช้ประกอบเพื่อขอจบการศึกษาได้ด้วย

อัตราค่าลงทะเบียนตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.. 2557 สำหรับคนไทย 5,000 บาท นิสิต/นักศึกษาไทย 3,000 บาท ชาวต่างชาติ 300 US Dollars นักศึกษาต่างชาติ 200 US Dollars สำหรับผู้มีใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม และแจ้งเลขที่ใบประกอบวิชาชีพที่โต๊ะลงทะเบียน สามารถเก็บสะสมหน่วยกิตสำหรับการศึกษาต่อเนื่องที่เข้าร่วมตลอดการประชุมวิชาการจำนวน 12.45 หน่วยกิต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์/โทรสาร 0-4375-4360 หรือ www.htm2015.com