เดินหน้าต่อต้านเชื้อดื้อยา ตระหนักใช้ยาปฎิชีวนะก่อนสายเกินไป

เดินหน้าต่อต้านเชื้อดื้อยา ตระหนักใช้ยาปฏิชีวนะก่อนสายเกินไป

ในยุคที่ต้องมีการพึ่งพายาเมื่อเกิดการเจ็บป่วย ยาต้านจุลชีพเป็นยากลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการรักษาโรคติดเชื้อ แต่ปัญหาเกี่ยวกับการดื้อต่อยาต้านจุลชีพ หรือยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ก็เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงจากข้อมูลรายงานของสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 67 ยังได้มีการหยิบยกพิจารณาเกี่ยวกับการดื้อยาต้านจุลชีพ และตระหนักว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) จะต้องมีบทบาทนำในการควบคุมการดื้อยาต้านจุลชีพ เนื่องจากว่าขณะนี้ทั่วโลกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากการเกิดการดื้อยาต้านจุลชีพ หรือยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการดื้อยานี้ได้คุกคามความยั่งยืนของระบบสาธารณสุขและยังส่งผลต่อการรักษาโรคติดเชื้อต่าง ๆ ก่อให้เกิดเป็นผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสุขภาพอันเนื่องมาจากการดื้อยา โดยเฉพาะพัฒนาการของแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนและมีความจำเป็นมาก เพราะจะทำให้เกิดเป็นภาระอันใหญ่หลวงแก่นานาประเทศทั้งที่มีรายได้น้อย ปานกลาง และสูง จึงมีความจำเป็นที่ทุกประเทศจะต้องให้ความใส่ใจทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่การพัฒนายาต้านจุลชีพตัวใหม่ ๆ มีโอกาสค่อนข้างจำกัด

จากการตระหนักถึงปัญหาเชื้อดื้อยาที่ลามไปทุกภาคส่วน แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จึงได้จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ วันรู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาปฏิชีวนะ: เป้าหมายการทำงานในอนาคต (Antibiotic Awareness Day: A Way Forward in Combating ABR) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักวิชาการไทยและอาเซียนร่วมกันจับตาการใช้ยาปฏิชีวนะในทุกภาคส่วน ทั้งที่ใช้ในสถานพยาบาล ในชุมชน และในห่วงโซ่อาหาร ทั้งการเลี้ยงสัตว์ (ปศุสัตว์และประมง) และการเพาะปลูกพืชเกษตร เนื่องจากพบว่าเกิดปัญหาเชื้อดื้อยาอยู่ในระดับที่น่าตกใจ เช่น รายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (Antimicrobial Resistance: Global Report on Surveillance 2014) สะท้อนความรุนแรงของปัญหา และในที่สุดได้มติสมัชชาองค์การอนามัยโลกของปีนี้ว่าด้วยเรื่องเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ จึงเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนต้องมาร่วมใจในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบ

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า จากปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพที่แพร่หลายกว้างขวางและรุนแรงมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนที่ได้มีการจัดลำดับปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเป็นหนึ่งใน 21 หัวข้อที่มีความสำคัญของอาเซียนที่ต้องเร่งทำแผนรองรับ โดยในวาระหลังปี พ.ศ. 2558 (ASEAN Post-2015 Health Development Agenda) ที่มี AEC เต็มรูป กพย. และ สสส. จึงร่วมมือกับหลายภาคส่วนในการระดมนักวิชาการไทยและอาเซียนร่วมประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อเดินหน้าจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา สร้างความตระหนักในการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ตลอดจนมีการรณรงค์เพื่อยกระดับการเฝ้าระวังปัญหาเชื้อดื้อยา การถ่ายทอดประสบการณ์ในการแก้ปัญหาของภูมิภาค ตลอดจนการวางแผนปฏิบัติการของเครือข่ายประชาสังคมในอาเซียนเพื่อจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งในประเทศไทยปัญหาการนำยาปฏิชีวนะมาใช้รักษาโรคพืชและผสมอาหารในสัตว์โดยอ้างว่าเพื่อรักษาโรคนั้น กฎหมายได้เปิดช่องเอาไว้ แต่ที่เป็นปัญหาคือ ไม่มีใครมาทำตามหลักเกณฑ์ มานั่งตรวจสัตว์ทีละตัวว่าตัวนี้ควรใช้ยาอะไรในการรักษาเพราะยุ่งยากลำบาก เนื่องจากเขาทำเป็นระดับอุตสาหกรรม คือเลี้ยงจำนวนมาก เกษตรกรก็จะอาศัยฉีดพ่นไปทั่ว ผสมอาหารก็อาศัยผสมอาหารให้สัตว์กินไปทีเดียว อ้างว่าเพื่อการรักษาป้องกันโรคไว้ก่อน การจัดงานในวันนี้ก็เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงปัญหา เพราะหากต้องการให้ยาปฏิชีวนะใช้ไปได้นาน ๆ ก็ต้องใช้ให้น้อยที่สุดและเหมาะสมที่สุด ประเด็นสำคัญคือ ต้องสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคเสียก่อนเป็นด่านแรก ไม่ใช่ใช้ยามาช่วยป้องกันการเจ็บป่วย

นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ดูแลผู้ได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่า 45 ล้านคน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาเชื้อดื้อยา จึงได้สนับสนุนมาตรการหรือโครงการซึ่งจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนผ่านกองทุนต่าง ๆ ของ สปสช. โดยเฉพาะเรื่องเกณฑ์คุณภาพ เรื่อง P4P ต่อการใช้ยาปฏิชีวนะในสถานพยาบาล มีการกำหนดเป้าหมายลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็นในโรงพยาบาลทุกระดับ ทำให้เกิดความระมัดระวังในการใช้ยาปฏิชีวนะในสถานพยาบาลมากขึ้น ทั้งนี้ สปสช. เป็นผู้ประมูลโดยใช้ข้อมูล 18 แฟ้มที่โรงพยาบาลส่งตามระบบปกติ

“การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาต้องดำเนินการในหลายส่วน ที่สำคัญคือ ต้องสร้างจิตสำนึกในการใช้ยาให้เหมาะสมทั้งในระดับวิชาชีพ ประชาชน และนานาชาติ โดยเฉพาะประชาชนในเรื่องของการรับประทานยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่ง โดยพบว่าคนที่รับประทานยาได้ครบทั้งหมดตามที่แพทย์สั่งมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ซึ่งการรับประทานยาไม่ครบจำนวนบ่อยครั้งก็จะส่งผลให้เชื้อดื้อยาได้ นอกจากนี้ยังต้องเร่งกำจัดยาปลอมด้วย โดยเฉพาะบริเวณแถบชายแดนทั้งลาว กัมพูชา ซึ่งมีการผสมยาปฏิชีวนะไม่ได้ขนาด หรือน้อยเกินไปก็จะทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา อย่างไรก็ตาม แนวทางหนึ่งที่ สปสช. จะเร่งดำเนินการคือ การผลักดันร้านขายยาคุณภาพของกระทรวงสาธารณสุขให้เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรับยาที่ร้านขายยาโดยไม่จำเป็นต้องไปรอคิวที่โรงพยาบาล ซึ่งประเด็นนี้เคยเสนอเข้าสู่บอร์ด สปสช. ไปแล้ว แต่มีปัญหาเรื่องมุมมองของบางหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้เป็นเรื่องที่ดี จะมีการเสนอเข้าสู่บอร์ด สปสช. อีกครั้งหลังช่วงปีใหม่ พ.ศ. 2558”

นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2557 กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเป็น 1 ใน8 ประเด็นสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศ และมีนโยบายในการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ได้แก่ นโยบายแห่งชาติด้านยา พ.ศ. 2554 และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 โดยได้ดำเนินการร่วมกับหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา มหาวิทยาลัย และอื่น ๆ นอกจากนี้ประเทศไทยได้มีความร่วมมือกับองค์กรนานาชาติและประเทศต่าง ๆ ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค เช่น เวทีความมั่นคงทางสุขภาพของโลก (Global Health Security Agenda: GHSA) เวที Foreign Policy and Global Health (FPGH) และเวที (Global Health ที่นำโดย WHO/FAO/OIE) โดยมีการยกร่าง Global Action Plans on AMR ของ WHO ที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาใน WHO ครั้งที่ 68 ในปีหน้า

“การดื้อยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะเป็นปัญหาสำคัญของทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยประสบปัญหามากกว่าสหรัฐอเมริกาและยุโรปอย่างชัดเจน โดยในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการดื้อยาถึง 38,000 คนต่อปี จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 67 ล้านคน จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาโดยร่วมมือกัน 3 ภาคส่วนคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นต้น เพราะปัจจุบันพบการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์จนทำให้เกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อม และเกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อต่อยาปฏิชีวนะตามมา เมื่อคนรับประทานเข้าไปก็ก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นควรจำกัดให้ใช้ยาดังกล่าวกับมนุษย์ก่อน และจะมีทางออกอื่นอะไรในการช่วยเหลือเกษตรกร”

ด้าน Dr.Richard Brown ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก ยังได้รายงานบทบาทขององค์การอนามัยโลกในการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาว่า มีสำนักงานภูมิภาค 2 แห่ง คือ SEARO และ WPRO ที่ทำงานร่วมกับประเทศในอาเซียน และร่วมผลักดันนโยบายการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมประเทศไทยในการเป็นผู้นำผลักดันเรื่องเชื้อดื้อยาในทุกระดับ ทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค

นอกจากแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ที่ได้จัดประชุมวิชาการนานาชาติ “วันรู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาปฏิชีวนะ: เป้าหมายการทำงานในอนาคต” เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงปัญหาการดื้อยา ด้าน พญ.พรพรรณ กู้มานะชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และแพทย์จากสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อควรรู้เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในชีวิตประจำวันด้วยว่า ยาปฏิชีวนะ หรือแอนติไบโอติก (Antibiotic) เป็นยารักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโดยทั่วไปแล้วหมายถึงเชื้อแบคทีเรีย ปัจจุบันมีการใช้คำอื่นทดแทน คือยาต้านจุลชีพ หรือยาต้านจุลินทรีย์ (Antimicrobial) โดยยากลุ่มนี้จะใช้เมื่อแพทย์ให้การวินิจฉัยหรือคาดว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ในสังคมไทยประชาชนทั่วไปมักเรียกยากลุ่มนี้เป็นยาแก้อักเสบ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าการใช้ยานี้จะทำให้โรคที่เป็นอยู่หายเร็วขึ้น เพราะยาจะไปรักษาหรือแก้การอักเสบซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ยาปฏิชีวนะที่เป็นที่คุ้นเคยและผู้ป่วยมักซื้อใช้เอง ได้แก่ อะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin), อ็อกเมนติน (augmentin), นอร์ฟล็อกซาซิน (norfloxacin), เตตร้าซัยคลิน (tetracycline), อะซีโทรมัยซิน (azithromycin) เป็นต้น

เหตุใดจึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้เนื่องจากยาทุกชนิดมีทั้งประโยชน์ในการรักษาโรคและมีโทษจากผลข้างเคียงของยา นอกจากนี้ยังเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการแพ้ยาทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และเมื่อใช้ไม่ถูกต้องจะก่อให้เกิดโทษต่อผู้ป่วย ได้แก่ 1. ต้องได้รับผลข้างเคียงจากยาไม่ว่าจะเป็นอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เวียนศีรษะ 2. โรคไม่หาย 3. อาจเกิดการแพ้ยาที่ไม่จำเป็นต้องใช้ 4. เชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นซึ่งมีอยู่ได้ในร่างกายเป็นปกติดื้อต่อยาที่ใช้ ข้อสำคัญคือ ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินค่ายา สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยานี้

เมื่อไรที่ต้องใช้หรือไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อแพทย์ให้การวินิจฉัย หรือคาดว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น หมายความว่าก่อนใช้ยาปฏิชีวนะต้องพบแพทย์ และต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด พบว่ากลุ่มโรค 3 กลุ่มที่ไม่จำเป็นและไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ แต่มีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะสูงมาก ได้แก่ 1. ไข้หวัด เจ็บคอ 2. ท้องเสีย 3. แผลเลือดออก โดยกลุ่มโรคเหล่านี้มากกว่าร้อยละ 80 ไม่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ ประคับประคอง และการให้คำแนะนำผู้ป่วย เช่น ดื่มน้ำมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ ยาแก้ไอในไข้หวัดเจ็บคอ การใช้ยาลดอาการท้องอืดและการดื่มน้ำเกลือแร่กรณีท้องเสีย และในกรณีแผลเลือดออก การดูแลรักษาแผลตามที่แพทย์นัดและป้องกันไม่ให้แผลโดนน้ำเป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด เป็นต้น แต่พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มักร้องขอยาปฏิชีวนะเมื่ออาการเป็นนานกว่า 3-7 วัน เมื่อเสมหะหรือน้ำมูกเป็นสีเขียวข้น หรือถ้าเป็นกลุ่มท้องเสียก็จะขอยาปฏิชีวนะเมื่อยังมีอาการถ่ายเหลวหลายครั้งเกิน 2 วัน หรือเบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตัว หรืออาการไข้ที่ยังไม่หาย ยิ่งไปกว่านั้นการซื้อยาเองตามร้านขายยาก็ง่ายมาก อีกทั้งผู้ขายยาที่ไม่ใช่แพทย์ก็จะจ่ายยาให้ตามที่ผู้ป่วยต้องการ จึงทำให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นกันเป็นวงกว้าง

ควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจโดยละเอียดและให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว และผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยควรแจ้งแก่แพทย์ทุกครั้งหากเคยมีประวัติแพ้ยา ยาปฏิชีวนะมีทั้งในแบบรับประทานและแบบฉีด ผู้ป่วยควรซักถามทำความเข้าใจเกี่ยวกับยาที่ต้องใช้ ได้แก่ 1. ต้องได้รับยานานเท่าไร 2. ต้องรับประทานยาอย่างไร ก่อน หรือหลังอาหาร 3. มีข้อห้ามอย่างไรระหว่างใช้ยานี้ เช่น ห้ามใช้ยาใดร่วม ห้ามรับประทานนมหรืออาหารชนิดใด เป็นต้น 4. ยาที่จะได้รับมีผลข้างเคียงอย่างไร หากเกิดอาการใดขึ้นที่ควรต้องรีบมาพบแพทย์ เป็นต้น เมื่อผู้ป่วยใช้ยาปฏิชีวนะแล้วต้องใช้ต่อเนื่องจนครบตามที่แพทย์พิจารณา บ่อยครั้งพบว่าผู้ป่วยหยุดใช้ยาเมื่ออาการดีขึ้นซึ่งจะมีผลเสียอาจทำให้โรคกลับเป็นซ้ำหรือเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ยังรักษาไม่หายดี

ข้อควรระวังที่สำคัญคือ อาการแพ้ยา หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยา ได้แก่ ผื่นทุกชนิด ปากบวม ตาบวม แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี้ด ควรรีบหยุดยาและมาพบแพทย์ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอนานเพียงเพื่อกลับไปพบแพทย์คนเดิมและไม่ควรปรับยาเอง ข้อสำคัญผู้ป่วยต้องนำยาที่รับประทานอยู่ทั้งหมดพร้อมซองหรือชื่อยาไปให้แพทย์ด้วย ไม่ควรนำไปแต่เม็ดยา หากเป็นยาฉีดก็ให้นำใบนัดฉีดยาซึ่งจะมีชื่อยาไปให้แพทย์ด้วย

ปัจจุบันมีความพยายามให้ความรู้ประชาชนและแพทย์ทั่วไป เพื่อให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลเพื่อลดผลเสียและความสิ้นเปลืองจากการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น