เรื่องไม่เบาของคนเป็นเบาหวาน

เรื่องไม่เบาของคนเป็นเบาหวาน

ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป เต็มไปด้วยความเร่งรีบ ส่วนใหญ่มักจะละเลยเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การนอน การทำงาน ทำให้ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายทำให้เกิดโรคต่าง ๆ สูงขึ้น และค่อย ๆ สะสม เพิ่มทวีคูณ ซึ่งจากสถิติพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และสูงเป็นอันดับ 1 เลยคือ โรคเบาหวาน อีกทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นที่น่าสังเกตว่าสัดส่วนของผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเพิ่มสูงขึ้นพอ ๆ กับภาวะโรคอ้วนลงพุง และยังมีแนวโน้มพบมากในเด็กอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เนื่องจากเด็กไทยเผชิญความอ้วน ซึ่งคนส่วนใหญ่จะป่วยเป็นโรคนี้แบบไม่รู้ตัว แล้วมักจะปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา รู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อผ่านมาสักระยะแล้ว โรคเบาหวานจึงเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบของคนไทยที่เราไม่ควรเบาใจหรือมองข้ามมันไปได้เลย

พญ.วชรพรรณ อัสนุเมธ อายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า โรคเบาหวานเป็นภัยเงียบที่กำลังคุกคามคนไทย ซึ่งสาเหตุของโรคเกิดจากภาวะที่มีความผิดปกติของการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน หรือความผิดปกติของการทำงานของอินซูลิน อันส่งผลกระทบทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) หากร่างกายต้องเผชิญกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานจะส่งผลให้เกิดภาวะ แทรกซ้อนทั้งในระยะเฉียบพลัน (acute) และระยะเรื้อรัง (chronic) ตามมาได้ บุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงคือ กลุ่มผู้ที่อายุเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะมากกว่า 40 ปี จะเริ่มมีภาวะดื้อต่ออินซูลินเพิ่มมากขึ้น จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานได้ง่าย ดังนั้น จึงแนะนำให้ตรวจคัดกรองระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะไม่มีอาการหรือไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานก็ตาม เพื่อให้การรักษาได้อย่างมีประสิทธิผลและลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคตได้ดีขึ้น นอกจากนี้ได้มีการแนะนำให้ตรวจคัดกรองระดับน้ำตาลในเลือดในกลุ่มบุคคลที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี แต่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้

• ภาวะอ้วนหรืออ้วนลงพุง มีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 25 กิโลกรัม/ตารางเมตร, เส้นรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตรในชาย หรือ 80 เซนติเมตรในหญิง

• มีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน

• มีประวัติการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือคลอดบุตรน้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม

• ความดันโลหิตสูงกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท

• มีไขมันความหนาแน่นสูง (HDL: ไขมันดี) น้อยกว่าหรือเท่ากับ 35 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือไขมันไตรกลีเซอไรด์มากกว่าหรือเท่ากับ 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

• ตรวจพบมีความผิดปกติของน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานกลูโคส (OGTT) หรือมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารสูงกว่าปกติ (FBS > 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร)

• มีประวัติเป็นถุงน้ำที่รังไข่จำนวนมาก (Polycystic ovarian syndrome)

• มีประวัติหรือเป็นโรคหลอดเลือดแดงตีบ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานทำให้เกิดความพิการจากการผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ หรืออาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันส่งผลต่อการเกิดอันตรายต่อชีวิตได้ ภาวะแทรกซ้อนสามารถแบ่งเป็น 2 ชนิดหลัก คือ

1. โรคแทรกซ้อนเฉียบพลัน หากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากประกอบกับภาวะขาดน้ำ (จากระดับน้ำตาลในเลือดสูง) จะทำให้เกิดภาวะหมดสติ ภาวะเลือดเป็นกรดได้ ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 อาจมาด้วยอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องอืด หมดสติได้ หรือในผู้ป่วยเบาหวานอาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

2. โรคแทรกซ้อนชนิดเรื้อรัง อาจก่อให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดขนาดเล็ก เช่น ไต ตา เส้นประสาท และหลอดเลือดขนาดใหญ่ เช่น หัวใจ สมอง โอกาสเกิดตาบอดมากกว่าคนปกติ 25 เท่า, ไตวาย 20 เท่า, หลอดเลือดหัวใจตีบ 2-4 เท่า, อัมพาต 5 เท่า

พญ.วชรพรรณ กล่าวเสริมว่า การควบคุมอาหารเพื่อควบคุมความสมดุลระหว่างภาวะโภชนาการกับน้ำหนักตัวให้เป็นไปตามที่ต้องการ หากผู้ป่วยมีน้ำหนักมากควรควบคุมปริมาณพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวัน โดยการจำกัดพลังงานที่ได้มาจากโปรตีนร้อยละ 10-20 ของพลังงานทั้งหมด และพลังงานจากไขมันให้น้อยกว่าร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมด (น้อยกว่าร้อยละ 10 ของไขมันอิ่มตัว) ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายที่จะช่วยในควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้น โดยช่วยในการเพิ่มระดับความไวของอินซูลินซึ่งช่วยในการลดระดับน้ำตาลในเลือด อีกทั้งยังทำให้ระดับไขมันอยู่ในเกณฑ์ปกติได้ดีด้วย

ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานควรรับประทานยาหรือฉีดอินซูลินอย่างสม่ำเสมอ โดยถูกเวลาและขนาดที่แพทย์แนะนำ รวมทั้งควรมีการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน โดยการตรวจสุขภาพเป็นประจำ มีการควบคุมไขมันในเลือดและความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม