จัดประชุมวิชาการเภสัชอุตสาหกรรม ครั้งที่ 11

เภสัชอุตสาหกรรม ม.มหิดล
จัดประชุมวิชาการเภสัชอุตสาหกรรม ครั้งที่ 11
อัพเดท “นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร” เตรียมก้าวสู่
AEC

          ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมวิชาการเภสัชอุตสาหกรรม ครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร” เตรียมพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ด้านการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมยา ตลอดจนเครื่องสำอางและอาหารเสริมจากสมุนไพรให้มีความเข้มแข็งในด้านตำรับ เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และมีศักยภาพในการผลิตยาจากสมุนไพรที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค พร้อมต่อยอดพัฒนาการแพทย์แผนไทยให้มีความยั่งยืน โดยการประชุมวิชาการในครั้งนี้ได้กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 29-31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ณ ห้องประชุมคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

          สมุนไพรไทยในบทบาทของยานับว่ามีความโดดเด่นมากที่สุด เห็นได้จากความเชื่อมโยงกับการแพทย์แผนโบราณและคุณภาพชีวิตของประชาชนมาเป็นเวลาช้านาน แม้ว่าเทคโนโลยีการผลิตในภาคอุตสาหกรรมสมุนไพรของประเทศไทยจะยังไม่เข้มแข็งมากนักก็ตาม โดยในปัจจุบันมีสถานที่ผลิตยาแผนโบราณที่ได้รับการรับรองมาตรฐานตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตยาเพียง 15 แห่ง จากทั้งหมด 1,117 แห่ง ในขณะที่หากประเทศไทยไม่พร้อม การเปิดตลาดการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) จะส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพผลิตยาจากสมุนไพร อุตสาหกรรมยาจากสมุนไพรให้มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และคุณภาพมาตรฐานระดับสากลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

            แม้ว่าปัจจุบันทางภาครัฐจะพยายามส่งเสริมและให้การสนับสนุนการใช้ยาจากสมุนไพร แต่สมุนไพรไทยก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ยามากนัก ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย แพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรและกระบวนการผลิตยาจากสมุนไพรให้มีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากลถือเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ และที่สำคัญยังเป็นการส่งเสริมการใช้ยาจากสมุนไพรไทยทดแทน และลดการนำเข้ายาแผนปัจจุบันอีกด้วย

          รศ.ดร.ภก.สมบูรณ์ เจตลีลา หัวหน้าภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทางภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรมได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรให้มีความเข้มแข็งในด้านเทคโนโลยีเท่าเทียมกับประเทศสมาชิกอาเซียน และมีศักยภาพในการผลิตยาจากสมุนไพรที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาที่มีคุณภาพมาตรฐาน นอกจากนี้ยังเป็นการต่อยอดพัฒนาการแพทย์แผนไทยให้มีความยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการจัดการประชุมวิชาการเภสัชอุตสาหกรรม ครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร”

          รศ.ดร.ภก.สมบูรณ์ กล่าวต่อว่า “การประชุมวิชาการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตยาจากสมุนไพรให้แก่เภสัชกร นักวิจัย นักวิชาการ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ในด้านการวิจัยและการพัฒนาการผลิตและการประกันคุณภาพ ส่งเสริมให้มีการร่วมมือทางวิชาการและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างคณาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยกับเภสัชกร นักวิจัย นักวิชาการ รวมทั้งบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร และเพื่อเพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสมุนไพรของประเทศในด้านการวิจัยและพัฒนาการผลิต และการประกันคุณภาพ”

            สำหรับหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจ ในวันแรกจะเป็นเรื่องของการอัพเดทสภาพปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย เทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการผลิตสารสกัดสมุนไพร และการประเมินคุณสมบัติทางเคมีฟิสิกส์สำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ในวันที่สองจะเป็นเรื่องของนาโนเทคโนโลยีสำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร เทคโนโลยีการห่อหุ้มและการควบคุมการปลดปล่อยสารสำคัญจากสมุนไพร และเครื่องจักรทันสมัยในการผลิตยาจากสมุนไพร และในช่วงบ่ายของวันที่สามจะเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการในเรื่องเทคโนโลยีการอบแห้งแบบพ่น เทคโนโลยีการเคลือบยาเม็ดสมุนไพร ลิโพโซมสมุนไพร และบรรจุภัณฑ์บ่งชี้ร่องรอยการแกะที่แนะนำสำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งในการประชุมเชิงปฏิบัติการ วิทยากรที่รับหน้าที่ให้ความรู้ในแต่ละหัวข้อล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นพิเศษ

          “การประชุมในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่เภสัชกร นักวิจัย นักวิชาการ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้สามารถนำความรู้จากวิทยาการ นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการวิจัยและพัฒนาการผลิต และการประกันคุณภาพไปส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากยิ่งขึ้น ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันทั้งในส่วนของภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมทั้งผลักดันให้ยาสมุนไพรมีมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ส่งผลให้มีโอกาสเป็นที่ยอมรับในกลุ่มประชาคมอาเซียน และเป็นประโยชน์ในการป้องกันและรักษาในด้านแพทย์ทางเลือก” รศ.ดร.ภก.สมบูรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

            ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุมวิชาการเภสัชอุตสาหกรรม ครั้งที่ 11 สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 0-2644-8695 หรือ 0-2644-8678-91 ต่อ 5402 และสมัครออนไลน์หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.pharmacy.mahidol.ac.th เปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง 12.74 หน่วยกิต