เภสัชกรรมไทย ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

เภสัชกรรมไทย ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

          ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความมั่นคงมากขึ้น แข่งขันกับภูมิภาคอื่นได้ และให้อาเซียนเป็นฐานการผลิต การเคลื่อนย้ายสินค้า การบริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี แน่นอนว่าจะต้องกระทบกับประเทศไทยไม่มากก็น้อย จากประเทศที่มีประชากรประมาณ 66 ล้านคน อยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก จะกลายเป็นประชาคมอาเซียนที่มีประชากรประมาณ 583 ล้านคน คิดเป็น 9% ของโลก มี GDP ประมาณ 1,275 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2% ของ GDP ของโลก และต่อไปจะมีการรวมเป็นอาเซียน + 3 คือ มีจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เข้ามาร่วมด้วย และเป็นอาเซียน + 6 คือ มีอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เข้ามาร่วมด้วย โดยประชากรจะกลายเป็นครึ่งหนึ่งของโลก มี GDP เป็น 22% ของโลก

            การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยในส่วนของการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรี ซึ่งปัจจุบันมี 7 สาขาวิชาชีพที่ได้มีการทำข้อตกลงยอมรับร่วม หรือ MRA เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสาขาวิชาชีพทางด้านสาธารณสุขประกอบด้วยแพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาล แต่ผลกระทบเชื่อว่าจะขยายวงกว้างไปทั้งองคาพยพทางด้านสาธารณสุข โดยวิชาชีพเภสัชกรก็คงหลีกหนีไม่พ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทางเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้จัดงานเภสัชวิชาการ พ.ศ. 2556 และประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2555 ในหัวข้อ “ประชาคมอาเซียนกับกระบวนทัศน์ใหม่ในวิชาชีพเภสัชกรรม AEC 2015 and the Paradigm Shift in Pharmacy Profession” ณ โรงแรมวิเซอร์ สวีทส์ สุขุมวิท 20 

ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี พ.ศ. 2558 จากประเทศไทยประเทศเดียวจะขยายไปเป็นกลุ่ม 10 ประเทศ แน่นอนว่าจะต้องเกิดทั้งผลดีและผลเสีย ซึ่งถือว่าประเทศไทยมีการเตรียมตัวช้ามาก โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรี หากในปี พ.ศ. 2558 เริ่มมีการเคลื่อนย้าย ส่วนใหญ่จะมองว่าประเทศไทยจะเสียอะไร ทั้งที่ในความเป็นจริง ประเทศไทยก็มีสิทธิที่จะได้เหมือนกัน เช่น จากประเทศไทยมีประชากร 66 ล้านคน เมื่อเข้าสู่ AEC ก็จะขยายเป็นมีประชากร 583 ล้านคน ซึ่งจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย มีความคุ้มทุนมากขึ้น หากพื้นฐานเข้มแข็ง แต่ถ้ามองในระดับของผู้ประกอบวิชาชีพ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือ จะมีการเคลื่อนย้ายบุคลากร ซึ่งจะต้องกระทบต่อการประกอบวิชาชีพอย่างแน่นอน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ ถ้าประเทศไทยมีฐานที่เข้มแข็งก็จะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้

“AEC จะมีผลกระทบต่อวิชาชีพเภสัชกร น่าจะอีกประมาณ 5 ปี ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของประเทศสมาชิกทั้งหมด ระหว่างนี้จะเป็นเวลาสำหรับการเตรียมตัวอุดจุดอ่อน และเสริมจุดแข็งของประเทศไทย”

            ปัจจุบันประเทศไทยมีคณะเภสัชศาสตร์ 19 คณะ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน 5 แห่ง และของรัฐ 14 แห่ง สามารถผลิตเภสัชกรได้ประมาณ 1,500-2,000 คนต่อปี ถือเป็นการผลิตเภสัชกรเพื่อทำงานภายในประเทศเท่านั้น ยังไม่มีการผลิตเฉพาะเพื่อไปทำงานยังต่างประเทศเหมือนกับประเทศฟิลิปปินส์ที่ผลิตพยาบาลเพื่อไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าสาขาเภสัชกรรมของประเทศอาเซียน ยังไม่มีประเทศไหนที่มีการผลิตเภสัชกรเพื่อไปทำงานประเทศอื่น ขณะที่ในประเทศยังขาดแคลนอยู่

ทั้งนี้ในประเทศไทย เภสัชกรจะต้องผ่านการสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจากสภาเภสัชกรรม ซึ่งแตกต่างกับระบบในประเทศอาเซียนอื่น รวมทั้งการทำงานเป็นระบบใบสั่ง ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่มีความเป็นอิสระสูงกว่ามาก เชื่อว่าถ้าเภสัชกรจากต่างประเทศที่เข้ามาประกอบวิชาชีพเปิดร้านยาน่าจะพึงพอใจมากกว่า เนื่องจากเป็นอิสระ ไม่จำเป็นต้องรอใบสั่ง และที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยกีดกันเภสัชกรจากต่างประเทศ 

            ในปัจจุบันประเทศไทยปรับหลักสูตรเภสัชศาสตร์เป็น 6 ปี เน้นการพัฒนาสมรรถนะผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมเฉพาะสาขามากขึ้น บางมหาวิทยาลัยปรับเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ หรือหลักสูตร 2 ภาษา ที่ผ่านมาประเทศสิงคโปร์มารับสมัครเภสัชกรของไทยไปทำงานทุกปี แสดงให้เห็นว่าคุณภาพและมาตรฐานของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับ มีการขอใบรับรองการประกอบวิชาชีพเพื่อไปสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่ไปสอบที่สหรัฐอเมริกา แสดงว่าภาพรวมเภสัชกรไทยมีการเคลื่อนย้ายออกส่วนหนึ่ง แต่การเคลื่อนย้ายเข้ามาไม่ชัดเจน

            ประเด็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นหากมีการเคลื่อนย้ายเภสัชกรอย่างเสรีในประเทศอาเซียนคือ หากเทียบมาตรฐานหลักสูตรเภสัชศาสตร์ของประเทศไทยกับประเทศในอาเซียนแล้ว ประเทศอื่นส่วนใหญ่จะเป็นหลักสูตร 4+1 คือเรียน 4 ปี Internship 1 ปี แล้วสอบใบประกอบวิชาชีพ แต่ของประเทศไทยเป็นหลักสูตร 6 ปี คือเรียน 5 ปี Internship 1 ปี แล้วสอบใบประกอบวิชาชีพ มีเพียงประเทศอินโดนีเซียที่มีทั้งหลักสูตร 5 ปี และ 6 ปี นั่นคือมาตรฐานของประเทศไทยสูงกว่า ซึ่งจะเป็นปัญหาเมื่อรวมเป็น AEC ว่าจะใช้มาตรฐานไหน จะให้เภสัชกรจากประเทศอาเซียนที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยต้องศึกษาเพิ่มเติมหรือไม่

            การตัดสินใจเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายผู้ประกอบวิชาชีพจะแยกอิสระจากผลประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศ หรือความเป็นอิสระของสาขาวิชาชีพแต่ละประเทศมากน้อยเพียงใด เนื่องจากการเปิด AEC ไม่ได้เริ่มมาจากภาคสาธารณสุข หรือฝ่ายสุขภาพ แต่เริ่มจากภาคเศรษฐกิจเป็นหลัก การเจรจาในสาขาย่อยอย่างเภสัชกร แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ จุดสุดท้ายจำเป็นจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านอื่นอีกหรือไม่

            นอกจากนี้เภสัชกรไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มีความต้องการไปทำงานในประเทศอาเซียนมากนัก เนื่องจากวัฒนธรรมแตกต่างกันค่อนข้างมาก ส่วนเภสัชกรในประเทศอาเซียนน่าจะอยากมาทำงานในประเทศไทย เนื่องจากปรับตัวง่ายทั้งอาหาร ภาษา และคนไทยไม่รังเกียจชาวต่างชาติ การเป็นอยู่สบาย กฎหมายไม่มาก รายได้น้อยกว่าแค่สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน เท่านั้น

            ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่คาดหวังว่าจะเห็นจากเภสัชกรไทยคือ สมรรถนะของเภสัชกรไทยจะเป็นเลิศและเก่งกว่าประเทศอื่น ซึ่งจะทำให้เป็นที่ต้องการจากประเทศในอาเซียน และประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษา เพราะหลักสูตรของประเทศไทยมีมาตรฐานสูง มีการพัฒนาการศึกษาที่ดี เหมือนสมัยก่อนที่ฟิลิปปินส์เป็นผู้นำการศึกษา แต่ปัจจุบันประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการศึกษาได้ ซึ่งปัจจุบันมีประเทศรอบ ๆ ด้านมาศึกษาในประเทศไทยพอสมควรอยู่แล้ว เช่น ภูฏาน เป็นต้น นอกจากการประกอบวิชาชีพเภสัชกรแล้ว ทางด้านการบริหารธุรกิจ เภสัชกรของไทยควรจะมีความสามารถในการบริหารจนเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทข้ามชาติได้ เนื่องจากเมื่อเข้าสู่ AEC แล้ว บริษัทที่ยืนอยู่ได้คงเป็นบริษัทใหญ่ ๆ ไม่ใช่บริษัทเดี่ยว ๆ ของไทย ซึ่งปัจจุบันแม้ว่าจะมีเภสัชกรหลายท่านเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทข้ามชาติ แต่ส่วนใหญ่เป็นความสามารถส่วนบุคคลมากกว่า น่าจะมีระบบส่งเสริมที่ทำให้เภสัชกรไปอยู่ตรงจุดนั้นได้ด้วย

            เมื่อรวมเป็น AEC หากมองดู Worst case แล้วปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขคือ ร้านยา ปัจจุบันมีร้านยาในประเทศไทยประมาณ 10,000 ร้าน แต่มีเภสัชกรประจำร้านยาเพียง 3,000 ร้านเท่านั้น ซึ่งจะเป็นช่องที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายบุคลากรเข้ามาในประเทศ แม้ว่าบุคลากรต่างชาติเหล่านี้จะต้องปรับตัว ทั้งเรื่องกฎระเบียบ และที่สำคัญทางด้านภาษา แต่การเรียนรู้ภาษาไทยก็ง่ายกว่าการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ดีในเชิงวิชาชีพก็จะทำให้ร้านยาของไทยมีเภสัชกรประจำอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนภาพให้ร้านยาเป็นเรื่องของการประกอบวิชาชีพ ไม่ใช่กลายเป็นเรื่องปกติที่ร้านยาไม่มีเภสัชกร ทั้งนี้เชื่อว่าในภาคโรงพยาบาล จะมีการเคลื่อนย้ายบุคลากรเภสัชกรต่างชาติเข้ามาง่ายกว่า เนื่องจากนโยบาย Medical Hub เพื่อรองรับชาวต่างชาติ ซึ่งเภสัชกรต่างชาติเหล่านี้จะทำงานในโรงพยาบาลง่ายกว่าการมาอยู่ร้านยาโดยตรง และเชื่อว่าปัจจุบันมีการนำเข้าบุคลากรจากต่างประเทศอยู่แล้ว แต่มาภายใต้เงื่อนไขว่าต้องมีเภสัชกรไทยอยู่ด้วยจึงไม่ค่อยมีปัญหามาก เภสัชกรต่างชาติเหล่านี้จะสามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่เป็นชาวต่างชาติได้ดีกว่า

            ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ AEC หากมองเฉพาะวิชาชีพเภสัชกรแล้ว เภสัชกรจะต้องยืดหยุ่นและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการสร้างเภสัชกรแต่ละคนจะเห็นผลชัดเจนเมื่อเวลาผ่านไป 7-10 ปี จึงจะทราบว่าผลผลิตที่ออกมาได้ผลอย่างที่หวังหรือไม่ หากไม่ได้ต้องปรับหลักสูตรแล้วผลิตใหม่ ซึ่งก็จะทราบผลในอีก 10 ปีให้หลัง กว่าจะเห็นผลกระทบแต่ละรอบต้องใช้เวลานาน ดังนั้น ในกระบวนการศึกษาจึงต้องมีความยืดหยุ่นที่จะปรับตัวเองได้โดยไม่ต้องรอเป็นรอบ ๆ โดยการจะทำให้เภสัชกรมีสมรรถนะ หรือยืดหยุ่นที่จะรับสถานการณ์ที่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติอย่างการผลิตไปอยู่ร้านยาหรือโรงพยาบาล ซึ่งประเทศไทยก้าวเข้าสู่ AEC ในประเทศจะต้องมีการแข่งขันสูงขึ้น และต้องมีการปรับตัวเมื่อไปทำงานยังต่างประเทศ ซึ่งกระบวนการเรียนการสอนให้เกิดสิ่งเหล่านี้ อาจารย์ผู้สอนถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะปรับการเรียนการสอนมากกว่าจะไปปรับที่หลักสูตร หากมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะผลิตเพื่อส่งออกไปทำงานประเทศอื่นก็ต้องปรับกระบวนการสอน กระบวนการคิด พัฒนาภาษาอังกฤษ และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของประเทศอื่น แต่ถ้ารู้แต่ว่า AEC ปี พ.ศ. 2558 แต่ยังผลิตเหมือนเดิม ก็เหมือนกับไม่ได้เตรียมตัวที่จะรับผลกระทบทั้งหลาย

            สำหรับผลกระทบที่เกี่ยวกับวิชาชีพเภสัชกรมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาที่จะต้องมาคิดว่าจะผลิตส่งออกไปหรือไม่ หรือจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาให้ประเทศอื่นเข้ามาเรียน หรือจะให้เภสัชกรไทยไปเรียนในประเทศอื่นในอาเซียน วัตถุดิบกับผลิตภัณฑ์ยา ต้องยอมรับว่าการนำเข้า-ส่งออกจะยิ่งมากขึ้นเมื่อเข้า AEC แล้ว เพราะกำแพงภาษีลดลง เมื่อก่อนอาจจะต้องระวังยา Generic จากอินเดีย แต่เมื่อเข้า AEC จะต้องถี่ถ้วนกับประเทศที่เป็นฐานผลิตยาใหญ่อย่างประเทศอินโดนีเซียด้วย แต่ในภาพรวมไม่ได้มีผลเสียเพียงอย่างเดียว ยังมีผลดีคือ ยาจะมีการแข่งขันกันมากขึ้น ราคาก็จะถูกลง ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะต้องสร้างหลักประกันให้แก่เภสัชกรไทยในเรื่องมาตรฐานของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยาด้วย รวมทั้งผลกระทบเกี่ยวกับสถานประกอบธุรกิจยา อย่างร้านยา หรือโรงงานผลิต จะมีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติมากขึ้นด้วย

ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือการเข้าสู่ AEC ของสภาเภสัชกรรมว่า สิ่งที่สภาเภสัชกรรมเตรียมการไว้คือ ติดตามดูเรื่องข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ของสภาวิชาชีพอื่นอย่างแพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร มีการเคลื่อนไหวไหลลื่นแค่ไหน และจะต้องมีการกำหนดอะไรเพิ่มเติมจาก MRA ของแพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาลหรือไม่ แต่ตามหลักการแล้ว หากวิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ และพยายาล กำหนดได้แค่ไหน เภสัชกรก็คงกำหนดไม่ได้มากกว่านั้น เหมือนเป็นมาตรฐานอาเซียนในบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ขณะนี้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อเตรียมความพร้อม มีการศึกษาเพื่อดูว่าจะเกิดผลกระทบตรงจุดไหนบ้าง และควรเตรียมตัวในจุดไหนบ้าง แม้จะมีระยะเวลาอันสั้น แต่ก็คิดว่าบางจุดจะปรับตัวได้ก่อน ถ้าดูภาพคร่าว ๆ ในการทำ MRA สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การพัฒนาระบบการศึกษาต่อเนื่อง ปัจจุบันยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร ยังไม่ถึงกับเป็นสภาพบังคับ ซึ่งต้องพยายามทำเรื่องระบบการศึกษาต่อเนื่องให้เข้มแข็ง และชัดเจนขึ้น

            อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เชื่อมั่นคือ สมรรถนะของเภสัชกรไทยว่าเป็นผู้ที่มีสมรรถนะดี เป็นที่ต้องการของต่างประเทศ หากต้องการจะออกไปทำงานในประเทศอาเซียนก็ทำได้ไม่เป็นอุปสรรค ขณะนี้ก็มีความเข้มงวดในการรับรองสถาบันการศึกษา โดยสภาเภสัชกรรมมีหน้าที่ในการเห็นชอบในหลักสูตรว่ามีความชัดเจนหรือไม่ มีคุณภาพในการผลิตแค่ไหน เชื่อว่าสถาบันที่ผลิตเภสัชกรในประเทศไทยมีคุณภาพในระดับหนึ่งตามที่สภาเภสัชกรรมต้องการ โดยจะมีการประสานกับคณะเภสัชศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการปรับการเรียนการสอน แม้ว่าจะมีการปรับหลักสูตร แล้วก็ยังมีบางคนไม่เชื่อว่าสมรรถนะที่ได้จะสูงขึ้นจริง ๆ เนื่องจากกระบวนการเรียนการสอนของเภสัชกรถ้าเทียบกับแพทย์แล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นหลักสูตร 6 ปี แต่สมรรถนะก็ยังต่ำกว่า เพราะต้องยอมรับว่านักศึกษาแพทย์ตั้งแต่ปี 3-4 มีการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง คือเรียนจริงจากผู้ป่วย แต่เภสัชกรกว่าจะเรียนด้วยผู้ป่วยจริงก็เป็นปีที่ 6 แล้ว ซึ่งอาจจะปลูกฝังไม่ทันภายใน 1 ปี ทางสภาเภสัชกรรมจะไปหารือกับคณะเภสัชศาสตร์ต่าง ๆ ว่าจะปรับอะไรได้บ้าง เพื่อให้นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ได้ปฏิบัติทางวิชาชีพในโรงพยาบาลหรือร้านยาตั้งแต่ปี 3-5 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าทักษะพื้นฐานของเภสัชกรจะดีขึ้น ไม่ใช่ไปเร่งในปีสุดท้าย นอกจากนี้จุดเด่นของประเทศไทยอีกเรื่องหนึ่งคือ การฝึกอบรมในระดับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีวิทยาลัยเภสัชบำบัดดำเนินการอยู่ เป็นจุดแข็งที่ทำให้ประเทศไทยน่าจะเป็นจุดศูนย์กลางในการอบรมให้แก่เภสัชกรทั้งภูมิภาคได้

            ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมมองว่า AEC ยังมีผลกระทบต่อวิชาชีพเภสัชกรไม่รุนแรงและชัดเจนมากนัก แต่ก็จำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมในหลาย ๆ เรื่อง ประเทศไทยมีจุดเด่นหลายจุด แต่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีครั้งนี้ได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง สิ่งที่ต้องระวังคือ เภสัชกรจากต่างประเทศมีการเคลื่อนย้ายเข้ามาแน่นอน โดยเฉพาะในส่วนของเภสัชกรชุมชน ซึ่งจะเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เข้ามาได้มากที่สุด”