ทั่วโลกเผชิญปัญหา เชื้อมาลาเรียดื้อยา “อาร์ติมิซินิน” สูงขึ้น

ทั่วโลกเผชิญปัญหา เชื้อมาลาเรียดื้อยา “อาร์ติมิซินิน” สูงขึ้น

กระทรวงสาธารณสุขไทย ร่วมกับองค์กรมาลาเรียนานาชาติ จัดประชุมคณะกรรมการแก้ไขโรคมาลาเรียระดับโลก เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางแก้ไขปัญหาในแต่ละประเทศ เพื่อกวาดล้างให้มาลาเรียหมดไปจากโลกภายในปี พ.. 2583 เผยสถานการณ์มาลาเรียล่าสุดทั่วโลกปีละ 207 ล้านราย เสียชีวิตกว่า 600,000 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลง แต่ปัญหาที่น่าห่วงคือ พบเชื้อดื้อยา “อาร์ติมิซินิน” สูงขึ้นถึงร้อยละ 10 มากที่สุดที่ประเทศกัมพูชา จึงต้องเร่งหาทางควบคุมเพื่อป้องกันเชื้อดื้อยาแพร่กระจาย

.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมคณะกรรมการบริหารองค์กรระหว่างประเทศอาร์บีเอ็ม เพื่อแก้ไขปัญหาโรคมาลาเรียทั่วโลก (Roll Back Malaria Partnership: RBM) ครั้งที่ 27 ซึ่งในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขไทยร่วมกับองค์กรมาลาเรียนานาชาติเป็นเจ้าภาพ โดยมี ดร.ฟาตูมาทา นาโฟ-ทราโอเร ผู้อำนวยการใหญ่อาร์บีเอ็ม เป็นประธานการประชุม มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจากประเทศในทวีปแอฟริกา เอเชียใต้ อเมริกาใต้ และตัวแทนจากเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงและนักวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุขไทยเข้าร่วมประชุมประมาณ 120 คน เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางการแก้ไขปัญหาโรคมาลาเรียทั่วโลกให้เป็นในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกับบริบทแต่ละประเทศ โดยตั้งเป้ากวาดล้างโรคนี้ให้หมดไปจากโลกภายในปี พ.ศ. 2583

.นพ.รัชตะ กล่าวว่า โรคมาลาเรียเป็นปัญหาสาธารณสุขประจำภูมิภาคเขตร้อนมากว่า 100 ปี จากรายงานขององค์การอนามัยโลกล่าสุดในปี พ.ศ. 2555 พบผู้ป่วยมาลาเรียทั่วโลก 207 ล้านราย เสียชีวิต 627,000 ราย อันดับ 1 คือ ทวีปแอฟริกา มีผู้ป่วยร้อยละ 80 รองลงมาคือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สายพันธุ์ที่พบมากที่สุดคือ สายพันธุ์พลาสโมเดียมไวแว็กซ์ (Plasmodium vivax) ร้อยละ 80 รองลงมาคือ สายพันธุ์พลาสโมเดียมฟาลซิฟารั่ม (Plasmodium falciparum) มียุงก้นปล่องเป็นตัวแพร่เชื้อ จากการประเมินสภาพปัญหาพบว่า จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มลดลงทุกประเทศ แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ พบปัญหาเชื้อดื้อยาที่ใช้รักษาได้ผลดีมากคือ ยากลุ่มอาร์ติมิซินินและอนุพันธ์อาร์ติมิซินิน พบได้เฉลี่ยร้อยละ 10 ในบางประเทศ พบมากที่สุดที่ประเทศกัมพูชา ผู้ป่วยที่ติดเชื้อชนิดนี้แล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายด้วยยาสูตรปกติได้ โอกาสเสียชีวิตจะสูงขึ้น และอาจแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทำให้ปัญหาหวนกลับมาแพร่ระบาดได้อีก ซึ่งขณะนี้ไทยพบปัญหานี้เช่นกัน แต่ไม่เกินร้อยละ 10 สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานยาไม่ครบสูตร

.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาเชื้อมาลาเรียดื้อยา ไม่สามารถจัดการได้เองโดยลำพังในประเทศ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมปัจจัยการแพร่ระบาดได้ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายประชากร และยุงก้นปล่องที่อยู่ในป่าเขา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างกลไกการดำเนินงานร่วมกับประเทศต่าง ๆ ที่ประสบปัญหานี้อย่างจริงจังและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งชาวไทยและต่างประเทศ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการป้องกันควบคุมโรคจากแหล่งทุนอื่น ๆ อาทิ กองทุนโลก (Global Fund) องค์กรยูเสด (USAID) ซึ่งประเทศไทยมีระบบการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาตามแนวชายแดนมาอย่างต่อเนื่อง และได้พัฒนาแนวทางรักษาในรายที่ดื้อยาอาร์ติมิซินิน โดยขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการทดลองใช้ยาสูตรแก้ปัญหาดื้อยาที่องค์การอนามัยโลกแนะนำและใช้มาหลายพื้นที่แล้ว ซึ่งเป็นสูตรผสมระหว่างยา 3 ชนิด ได้แก่ อาร์ติซูเนต เมฟโฟควิน และไพรมาควิน พบว่าได้ผลดี นอกจากนี้ยังได้มีการใช้ยาสูตรอื่น ๆ ซึ่งจะทำการประเมินผลในปลายปีหน้า และจะนำผลการศึกษาเข้าที่ประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านมาลาเรียเพื่อพิจารณาบรรจุเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติใช้รักษาผู้ป่วย โดยยาชนิดนี้จะใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่มีจำหน่ายในคลินิกหรือร้านขายยาทั่วไป เพื่อควบคุมการใช้โดยแพทย์ ป้องกันการดื้อยา

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีโครงการอบรมแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา พม่า เวียดนาม ใน 2 หลักสูตร ได้แก่ การจัดการโรคมาลาเรียภาคสนาม [Management of Malaria Field Operations 2010 (MMFO)] และหลักสูตรการรักษาผู้ป่วยโรคมาลาเรียที่มีอาการรุนแรง (Severe Case Management) ดำเนินการโดยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีชื่อเสียงมาก รวมถึงประเทศไทยยังมีความพร้อมร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ เพื่อสร้างเป้าหมายในการป้องกันและกำจัดโรคมาลาเรียให้หมดไป

ทั้งนี้ สถานการณ์มาลาเรียในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2557 สำนักระบาดวิทยารายงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 พบว่ามีผู้ป่วยมาลาเรียสะสมรวม 26,940 ราย เป็นชาวไทย 20,612 ราย และต่างชาติ 6,328 ราย พบในพื้นที่ชายแดน โดยลดลงกว่าปี พ.ศ. 2556 ประมาณร้อยละ 17 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 23 ซึ่งติดเชื้อจากการเข้าไปหาของป่า และเป็นเกษตรกร จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 10 อันดับแรกคือ อุบลราชธานี ยะลา ตาก สงขลา สุราษฎร์ธานี นราธิวาส ศรีสะเกษ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี และเพชรบุรี มีผู้ป่วยรวมกัน 17,843 ราย คิดเป็นร้อยละ 66 ของผู้ป่วยทั้งประเทศ