รู้เท่าทันโรคอหิวาต์เทียม

รู้เท่าทันโรคอหิวาต์เทียม

จากกระแสข่าวครึกโครมเกี่ยวกับการพบเชื้ออหิวาต์เทียม (Vibrio parahaemolyticus) ที่ปนเปื้อนมาในเลือดไก่ในข้าวมันไก่นั้น ทำให้หลายคนวิตกกังวลและตื่นตระหนกมากจนไม่กล้ารับประทานข้าวมันไก่ ทำให้หลายร้านค้าได้รับผลกระทบอยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรู้จักว่าโรคอหิวาต์เทียมคืออะไร พญ.อุษณีย์ รัตนทรงชัย อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลปิยะเวท ให้ความรู้กับเราว่า เชื้อ Vibrio parahaemolyticus เป็นแบคทีเรียแกรมลบรูปแท่ง อยู่ในตระกูลเดียวกับอหิวาตกโรค แต่เป็นคนละสายพันธุ์ ชอบอาศัยอยู่ในน้ำทะเลและน้ำกร่อย พบได้ในกุ้ง หอย ปู ปลา และปูหลายชนิด และอย่างที่บอกว่าเชื้ออหิวาต์เทียมมักพบในอาหารทะเล ดังนั้น การพบเชื้อนี้ในเลือดไก่จึงถือเป็นครั้งแรกของโลก จึงสร้างความฉงนให้วงการแพทย์มากทีเดียว และต้องตรวจสอบต่อไปว่า เชื้ออหิวาต์เทียมไปปนเปื้อนในเลือดไก่ได้อย่างไร คาดว่าต้นตอการปนเปื้อนมาจากโรงงานเชือดไก่ในพื้นที่ที่ระบาด

รายงานจากประทศญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน อินเดีย และหลายประเทศทางเอเชียพบว่า โรคอาหารเป็นพิษมีสาเหตุจากเชื้อ V. parahaemolyticus ได้บ่อย การติดเชื้อส่วนมากเกิดจากการรับประทานอาหารทะเลดิบหรือไม่ได้ปรุงสุก มีส่วนน้อยที่ได้รับเชื้อเข้าทางบาดแผลเมื่อลงน้ำทะเล ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อทางผิวหนังร้อยละ 34 นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อในกระแสโลหิตร้อยละ 5 เมื่อคนรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อนี้เข้าไปจะทำให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้หนาวสั่น มักพบอาการปวดบริเวณลำตัวร่วมด้วย โดยทั่วไปจะแสดงอาการภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากได้รับเชื้อ โดยปกติอาการต่าง ๆ จะหายได้เองภายใน 3 วันโดยไม่ต้องรักษา บางรายอาจเกิดอาการเฉียบพลันและรุนแรงจนเกิดภาวะช็อก อัตราเสียชีวิตน้อยกว่า 1 ต่อ 1,000 เมื่อเกิดอาการท้องเสียสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้โดยการรับประทานเกลือแร่เพื่อป้องกันการขาดน้ำ และรับประทานอาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊กหรือแกงจืด เป็นต้น แต่ถ้าใน 1-2 วัน อาการไม่ดีขึ้นควรรีบมาพบแพทย์ทันที ไม่ควรซื้อยาหยุดถ่ายมารับประทานเองเพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกายซึ่งอาจจะเป็นอันตรายได้ ควรมาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจดูอาการ และสั่งยาที่เหมาะสมกับอาการ

การป้องกันควรรับประทานอาหารทะเลที่ทำให้สุกและยังร้อน ๆ อยู่ สำหรับผู้ที่ชอบรับประทานข้าวมันไก่ ยังสามารถรับประทานได้ตามปกติ แต่ควรเลือกรับประทานข้าวมันไก่ที่สุก ทำใหม่ ๆ รับประทานทันที หลีกเลี่ยงการรับประทานข้าวมันไก่บรรจุกล่อง ไม่ควรรับประทานเลือดไก่ หรือถ้าอยากรับประทานจริง ๆควรต้มให้สุกก่อนด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 75 องศาเซลเซียส ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15 นาที ซึ่งสามารถฆ่าเชื้ออหิวาต์เทียมได้ 100% ส่วนผู้ประกอบการร้านค้า ก่อนนำเลือดไก่ออกมาจำหน่ายหรือเสิร์ฟให้ลูกค้ารับประทานก็ควรเอามาปรุงสุกอีกครั้งก่อนจำหน่าย เพราะส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเลือดไก่ที่ขายตามท้องตลาดนั้นสุกอยู่แล้ว จึงไม่นิยมนำมาต้มซ้ำอีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด เพราะเลือดไก่จะไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคที่ถูกวิธี ดังนั้น ควรต้มก่อนจำหน่ายอีกครั้ง ควรแยกอาหารสุกและดิบออกจากกัน รวมทั้งแยกอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร เช่น แยกเขียงและมีดสำหรับหั่นเลือดไก่และเนื้อไก่ออกจากกัน หากมือเป็นแผลก็ไม่ควรมาสับไก่ขาย ไม่ทิ้งวัตถุดิบให้ค้างมื้อ และควรสวมถุงมือพลาสติกทุกครั้งที่สับไก่สำหรับเสิร์ฟให้แก่ลูกค้า

ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงโรคอาหารเป็นพิษ ท้องร่วง ท้องเสียนั้น แนะนำให้ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” และควรรับประทานอาหารและดื่มนำ้ที่สะอาดถูกสุขอนามัย ไม่รับประทานอาหารที่มีแมลงวันตอม หากปรุงอาหารสุกแล้วแต่ยังไม่รับประทานทันที ควรมีฝาชีครอบและนำมาอุ่นให้ร้อนอีกครั้งก่อนจะรับประทาน ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยจากโรคอาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง และอหิวาตกโรคได้