“รู้ทันปัญหาการใช้ยาของวัยรุ่น” หนึ่งปัญหาของการใช้ยาในทางที่ผิด
ยาโปรโคดิล (procodyl) และยาทรามาดอล (tramadol) ยากลุ่มแก้แพ้ และแก้ปวดที่มีความจำเป็นต่อการรักษาโรคที่ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้นโดยไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปถึงโรงพยาบาล เนื่องจากผู้ป่วยสามารถหาซื้อได้เองตามร้านยาทั่วไป แต่ใครจะคิดว่ายาที่ก่อประโยชน์ในการรักษาอาการเจ็บป่วยนี้กลับมีกลุ่มวัยรุ่นนำมาใช้แบบผิดวิธีกันอย่างแพร่หลาย และทำให้เกิดเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เพื่อสร้างความตระหนักในการใช้ยาอย่างถูกต้องและปลอดภัย หน่วยเวชศาสตร์ผู้ป่วยนอกเด็กและวัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ร่วมกับศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมแถลงข่าว “ปัญหาที่พบจากการใช้ยาโปรโคดิล (procodyl) และยาทรามาดอล (tramadol) ในหมู่วัยรุ่น” เนื่องจากขณะนี้มีเด็กและวัยรุ่นนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ
อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร อาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้เด็กมัธยมมีการใช้ยาที่ใช้ในการรักษาโรคอื่น ๆ แต่นำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ยาโปรโคดิล และยาทรามาดอล ผสมยาแก้ไอและน้ำอัดลมกินกันในหมู่วัยรุ่นจำนวนมาก โดยตัวยาสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาใกล้โรงเรียน ลักษณะการกินคือ การชักชวนกันในบรรดาเพื่อน ๆ มาจับกลุ่มกินกัน โดยสถานที่ที่นิยมกินกันคือ สถานศึกษา บ้านเพื่อน โดยขณะนี้โรงพยาบาลรามาธิบดีมีผู้ป่วยวัยรุ่นอายุน้อยกว่า 15 ปี มาเข้ารับการรักษาด้วยอาการชัก หมดสติ แล้วจำนวน 4 ราย โดยทุกรายได้ให้ประวัติตรงกันว่า ยานี้กินกันอย่างแพร่หลายในโรงเรียน โดยบางรายได้กินยาทรามาดอลแผงละ 10 เม็ด สูงถึง 11 แผง ผสมยาโปรโคดิลขวดใหญ่ และน้ำอัดลม 1 ลิตร กินกับเพื่อนขณะนั่งเรียนพิเศษตอนเย็น ผู้ป่วยมีอาการชักเกร็งและหมดสตินานประมาณ 4 นาที จึงถูกนำส่งโรงพยาบาล
บางรายกินยาทรามาดอลสูงถึง 45 เม็ด ผสมน้ำอัดลม 300 ซี.ซี. มีอาการชักเกร็งกระตุก ไม่รู้สึกตัวก่อนมาโรงพยาบาล และบางรายมาด้วยเป็นลมหมดสติ ให้ประวัติว่ากินยาโปรโคดิลสม่ำเสมอ แต่วันที่เกิดเหตุมีรุ่นพี่นำยาเม็ดสีขาวมาให้กิน 3 เม็ด ไม่ทราบตัวยา ตรวจปัสสาวะพบยากล่อมประสาทและยานอนหลับกลุ่ม Benzodiazepines ที่น่าสนใจคือ เด็กวัยรุ่นเล่าว่าขณะไปซื้อยาก็ใส่ชุดนักเรียนไปแต่คนขายยาก็ขายยาให้ ไม่ได้มีการถามชื่อ หรืออาการที่ต้องใช้ยา ผู้ป่วยเชื่อว่าร้านขายยาทราบว่านักเรียนซื้อไปเพื่อเสพยา โดยสาเหตุที่วัยรุ่นนิยมใช้ยากลุ่มนี้มีสาเหตุจากหลายปัจจัย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสมองของวัยรุ่นที่มีความอยากรู้อยากลอง ไม่ได้คิดรอบด้านเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากเพื่อนที่ชักชวน และวัยรุ่นไม่มีทักษะชีวิต อีกส่วนเกิดจากการที่วัยรุ่นเข้าใจว่ายาเหล่านี้ไม่ใช่ยาเสพติด ปลอดภัย ยาหาซื้อได้ง่าย และขาดการดูแลจากโรงเรียนและผู้ปกครอง แต่สาเหตุที่สำคัญที่สุดซึ่งคนไข้ทุกรายพบตรงกันคือ วัยรุ่นบอกว่าใช้ยากลุ่มนี้เพื่อทำให้รู้สึกมึน ๆ งง ๆ ส่วนหนึ่งเพื่อความสนุก แต่อีกส่วนก็เพื่อคลายความทุกข์จากความเครียดในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากครอบครัว โรงเรียน ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ เพื่อน โดยพบว่าหลายคนมีโรคซึมเศร้า วิตกกังวลเป็นพื้นฐาน และหลายคนมีความนับถือตัวเองที่ต่ำ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการขาดการเลี้ยงดูที่เหมาะสม
ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ยาแก้แพ้ยี่ห้อโปรโคดิลประกอบด้วยตัวยาสำคัญคือ promethazine hydrochloride มีข้อบ่งใช้คือ บรรเทาอาการแพ้ เป็น H1-antihistamine ซึ่งเป็นสารเคมีพวก amine อยู่ในกลุ่ม phenothiazines มีฤทธิ์ทำให้ง่วง มึนงง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่วัยรุ่นนำมาใช้ จึงอาจนำมาใช้ช่วยให้มึนงง เมา ๆ นอนหลับ ใช้ป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน และมีฤทธิ์คล้าย atropine ชักหมดสติ รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาน้ำเชื่อมใส สีม่วง รสหวาน ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด
ส่วนยาทรามาดอลเป็นยาแก้ปวดที่ใช้บำบัดอาการปวดขั้นปานกลางถึงรุนแรง มีประโยชน์ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดจากโรคต่าง ๆ ซึ่งใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ แล้วไม่สามารถบรรเทาอาการปวดได้เพียงพอ รวมทั้งมีฤทธิ์กดการทำงานของระบบประสาทและมีผลทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุข (euphoria) ได้ด้วย การออกฤทธิ์นี้เหมือนกับการออกฤทธิ์ของยามอร์ฟีน (morphine) แม้ว่าทรามาดอลจะมีความแรงน้อยกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า เดิมเชื่อว่ายานี้ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษเหมือนกับมอร์ฟีน แต่ในปัจจุบันเริ่มมีผู้ติดยานี้แล้ว และหากได้รับยาขนาดสูงจะทำให้หมดสติและหยุดหายใจได้ นอกจากนี้ยาทรามาดอลยังเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทที่ชื่อ serotonin และ norepinephrine การเพิ่มขึ้นของ serotonin จากการใช้ยาทรามาดอลเกินขนาด (เช่น ครั้งละ 3-4 เม็ด) อาจส่งผล กลืนลำบาก มือสั่น มีไข้ กล้ามเนื้อเกร็งตัวอย่างมาก หรืออาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น สับสน ประสาทหลอนและหวาดระแวง ส่วนการเพิ่มขึ้นของ norepinephrine อาจทำให้ใจสั่น ปวดศีรษะ กระตุ้นระบบประสาท และทำให้ชักได้ ปัจจุบันการใช้ยาเหล่านี้เพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับยา promethazine ผสมทรามาดอลลงในน้ำดื่ม เช่น น้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้แล้วดื่มเพื่อให้เกิดมึนเมา ดังนั้น ในกรณีที่นักเรียนนำยาทรามาดอลไปใช้ในทางที่ผิด นั่นคือใช้ยาโดยไม่ได้มีความจำเป็น รวมทั้งอาจใช้ครั้งละหลาย ๆ เม็ดต่อเนื่องกันหรืออาจเอาไปใช้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก็อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบประสาท เช่น ทำให้รู้สึกสบายและเคลิบเคลิ้มสุขได้เร็วและแรง แต่ถ้ามากไปก็จะกดระบบประสาทอย่างมากจนชักและไม่รู้สึกตัวได้ รวมถึงอาจมีผลกระทบกับการทำงานของสมองถ้าใช้ในระยะยาว
นพ.ศักดา อาจองค์ หน่วยระบาดวิทยาและทีมงานสื่อของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก กล่าวว่า ขณะนี้พบความชุกของการใช้ยาผิดประเภทในหมู่วัยรุ่นในกรุงเทพฯ สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เพราะเป็นโรงเรียนที่รองรับเด็กในชุมชนแออัดหลายแห่ง ผู้บริหารโรงเรียนหลายแห่งต้องขอวิงวอนให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยดูแลในการควบคุมการจำหน่ายและเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ผ่านสื่อสาธารณะ นอกจากนั้นเด็กนักเรียนยังให้ข้อมูลอีกว่าพวกเขารับรู้เรื่องยาเหล่านี้พร้อมวิธีการปรุงยาจากในอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีเว็บไซต์ เฟซบุ๊ค ที่ปลุกเร้าเด็ก ๆ ให้สนใจ อยากลองเสพยาเหล่านี้ด้วยเสียงเพลง นอกจากนี้ยังมี Youtube สอนการผสมยาอีกด้วย ทั้งนี้ นพ.ศักดา อาจองค์ และทีมงานสื่อได้ตรวจสอบในอินเตอร์เน็ตพบข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ทั้งที่มาของสูตรลีน สูตรโปร ปัจจุบันก็ยังเข้าถึงได้โดยง่าย เนื้อเพลงและทำนองเพลงก็น่าตื่นเต้นเร้าใจ ฟังแล้วน่าทดลองเสพ จึงอยากฝากทางเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนช่วยกันสอดส่องดูแลและควบคุมสื่อประเภทนี้ด้วย
ด้าน ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากปัญหาการนำยาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ติดตามแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง มีทั้งบทลงโทษและการควบคุม ทั้งนี้ยาแต่ละชนิดมีทั้งด้านที่เป็นประโยชน์ที่ใช้รักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วย และอาจก่อให้เกิดโทษหากมีการนำไปใช้ในทางที่ผิด ล่าสุดที่พบปัญหาเยาวชนนำ “ยาโปรโคดิล” และ “ยาทรามาดอล” มาใช้ผิดวัตถุประสงค์จากการใช้เป็นยารักษาโรคด้วยการนำไปทำให้เกิดอาการมึนงงและเมา อย.ขอชี้แจงว่า ยากลุ่มแก้แพ้และแก้ปวดเป็นยาที่รักษาโรคพื้นฐานของสังคมไทย เช่น ไข้หวัด แพ้อากาศ เมารถ เมาเรือ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น จึงเป็นยาที่ประชาชนควรสามารถเลือกรับบริการได้จากร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรเป็นผู้ให้คำแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้อง เพื่อลดภาระและความแออัดของโรงพยาบาล การนำยามาใช้ในทางที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ดี แต่หากนำมาใช้ในทางที่ผิดก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ทั้งนี้ที่ผ่านมายาทั้ง 2 ชนิดยังคงต้องให้มีบริการในร้านขายยาแผนปัจจุบันเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในการรักษาโรคพื้นฐาน
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด อย.ได้ควบคุมการจำหน่ายยาน้ำแก้ไอ ยาแก้แพ้ โดยให้ผู้รับอนุญาตผลิตยาและผู้รับอนุญาตนำเข้ายาจำกัดปริมาณการจำหน่ายไปยังร้านขายยาได้จำนวนไม่เกิน 300 ขวด/แห่ง/เดือน และขายได้ไม่เกิน 3 ขวด/คน โดยจะต้องขายให้เฉพาะผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ เช่น มีอาการน้ำมูกไหล แพ้อากาศ เมารถ เมาเรือ ส่วนยาแก้ปวดจะกำหนดให้ร้านขายยาสามารถซื้อขายได้ไม่เกิน 1,000 แคปซูล/เดือน ห้ามขายให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี และขายได้ครั้งละไม่เกิน 20 แคปซูล ที่สำคัญยาดังกล่าวต้องไม่จำหน่ายให้แก่เด็กที่จะนำไปใช้ในทางที่ผิด รวมถึงจะต้องทำบัญชีซื้อขายยาทุกครั้งด้วย นอกจากนี้ยังให้ผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ต้องส่งข้อมูลนำเข้าวัตถุดิบยาสำเร็จรูปที่ผลิตได้และปริมาณที่ขายผ่านระบบออนไลน์มาให้ อย.ทราบ โดยทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก็จะได้รับทราบข้อมูลพร้อมกับ อย.ด้วย ทำให้แต่ละจังหวัดสามารถตรวจสอบข้อมูลปริมาณการซื้อขายยาจากร้านขายยาในจังหวัดของตนได้
ภก.ประพนธ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ อย.อยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์เพื่อทบทวนมาตรการควบคุมการใช้ยากลุ่มดังกล่าวอยู่ โดยอาจกำหนดให้ต้องขายในร้านขายยาคุณภาพที่มีเภสัชกรอยู่ควบคุมการขายตลอดเวลาที่เปิดร้าน อย่างไรก็ตาม อย.มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านขายยาอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ามีการซื้อขายยาในทางที่ผิด นอกจากจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ก็จะถูกพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 120วันด้วย ซึ่งในช่วงต้นปี พ.ศ. 2558-ปัจจุบัน มีร้านขายยาที่กระทำผิดกฎหมายถูกพักใช้ใบอนุญาตไปแล้วกว่า 40 ร้าน ทั้งนี้การแก้ปัญหาดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมควรร่วมมือกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยเริ่มต้นจากสถาบันครอบครัวที่ควรสร้างความอบอุ่น รับฟังปัญหาของเด็กพร้อมให้คำแนะนำที่ถูกต้อง สถาบันการศึกษาในการให้ความรู้ ทัศนคติและพฤติกรรมที่เหมาะสม หากิจกรรมให้เด็ก ๆ ทำยามว่าง เป็นต้น หากผู้ใดต้องการแจ้งเบาะแสร้านขายยาที่มีพฤติกรรมขายยาในทางที่ผิดสามารถแจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556 หรือ Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด