การประชุมเภสัชกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 8 “Thailand and AEC: ASEAN Harmonization for better outcome”
เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพเภสัชกรรม จัดการประชุมเภสัชกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 8 หรือ 8th THAILAND PHARMACY CONGRESS ชู Theme “Thailand and AEC: ASEAN Harmonization for better outcome” ระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) บางนา กรุงเทพฯ
ภก.ธีระ ฉกาจนโรดม อดีตนายก และกรรมการที่ปรึกษาเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ด้วยจุดมุ่งหมายในการพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ เครือข่ายองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมจึงได้ประสานความร่วมมือในการจัดการประชุมเภสัชกรรมแห่งชาติ โดยมีเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้ประสานงานกลางในการจัดประชุมทุก 2 ปี ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544 และจัดติดต่อกันมาแล้ว 7 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 ภายใต้ Theme “Thailand and AEC: ASEAN Harmonization for better outcome” เน้นการผสานวิทยาการทางเภสัชกรรมในภูมิภาคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สู่การสร้างเสริมสุขภาพที่ดีกว่าในระดับสากล
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมนั้น 1. เพื่อเน้นการมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นการทำความดีเพื่อพ่อ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 87 พรรษา 2. เพื่อให้เภสัชกรก้าวทันประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อวิชาชีพเภสัชกรรมทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก 3. เพื่อเป็นเวทีให้เภสัชกรในสาขาต่าง ๆ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาสาขาวิชาชีพเภสัชกรรมของตนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง และ 4. เพื่อสร้างเสริมความสามัคคีของเภสัชกรในเครือข่ายองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม และเตรียมความพร้อมสู่การจัดประชุม FAPA 2016 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมระหว่างวันที่ 9-14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
โดยกิจกรรมภายในงานเป็นการประชุมวิชาชีพเภสัชกรรมในสาขาต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การ “เพิ่มพูนวิทยาการ สานวิชาชีพเภสัชกรรม เพื่อประชาชน” การจัดแสดงนิทรรศการผลิตภัณฑ์ โปสเตอร์วิชาการ และผลงานของคณะเภสัชศาสตร์ และสมาคมเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม เกี่ยวกับผลงานวิจัย เภสัชผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพ เพื่อแสดงความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมยาและวิชาชีพเภสัชกรรม การประกาศเกียรติคุณ “เภสัชกรดีเด่น” ตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการคัดเลือกเภสัชกรดีเด่นกำหนด และการพบปะสังสรรค์เพื่อสร้างเสริมความสามัคคีของเภสัชกรในงานราตรีเภสัชกรรม (Pharmacy Night)
ภก.ธีระ กล่าวอีกว่า เนื่องจากต้องการดึงความสนใจของเภสัชกรให้มาเข้าร่วมการประชุมให้มากที่สุด ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 500 คน ตลอดทั้ง 2 วัน จึงมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย โดยในวันแรกจะเป็นการเสวนา “แลหลังมองหน้าสภาวิชาชีพ” ระหว่างนายกเภสัชกรรมและหัวหน้าทีมผู้สมัครสมาชิกสภาเภสัชกรรม ซึ่งจะมาแสดงวิสัยทัศน์ว่าวิชาชีพเภสัชกรรมจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่ AEC การเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษ “บูรณาการระบบสุขภาพ ภายใต้บริบทประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” โดย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในการประชุมวิชาการนานาชาติ The 15th Asian Conference on Clinical Pharmacy (ACCP 2015) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-26 มิถุนายน ที่ผ่านมา ก็ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่กำลังได้รับความสนใจ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้จะเป็นการเฉพาะเจาะจงในแง่ของวิชาชีพเภสัชกรรม
นอกจากนี้ยังมีการประชุมอภิปราย Access to Quality Healthcare ในหลายหัวข้อ ได้แก่
- Sustainability of Thailand National Health Security System in Connection with AEC โดย นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิทย์ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งจะเป็นการเปิดมุมมองของทั้ง 2 ท่านที่สะท้อนเกี่ยวกับการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยที่กำลังจะเป็นโมเดลให้แก่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
- Procurement through E-bidding โดย ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย), นางสาวพรวิลัย เดชอมรชัย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการจัดซื้อ จัดจ้าง ภาครัฐ และ ภก.วิชิต ตั้งจิตติพร หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช
- Drug Registration on through E-submission โดย นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, ภญ.มาลินี อุทิตานนท์ นายกสมาคมเภสัชกรรมทะเบียนและกฎหมายผลิตภัณฑ์ (ประเทศไทย) (RAPAT), ภญ.บุษกร เลิศวัฒนสิวลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) และ ภก.เชิญพร เต็งอำนวย นายกสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA)
- Custom Clearing through E-clearance โดย ดร.สมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร และ ภก.ปานศักดิ์ ปราโมกข์ชน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลและสารสนเทศ
“ขณะนี้หลาย ๆ ระบบในหน่วยงานราชการกำลังเข้าสู่ยุคของอิเล็กทรอนิกส์ มีการใช้ E-bidding ตามร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …. ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งจะทำให้ระบบจัดซื้อต่างออกไปจากเดิม แล้วในแง่ของการจัดซื้อยาจะมีผลดี ผลเสีย และผลกระทบอย่างไร รวมถึงการที่ อย.นำ E-submission มาใช้ในการยื่นคำขอผลิตภัณฑ์สุขภาพ และ E-clearance ในการนำเข้า-ส่งออกยาของกรมศุลกากร”
ส่วนในวันที่สองจะเป็นการประชุมอภิปราย “ทิศทางการศึกษาเภสัชศาสตร์” มุ่งเน้นการพัฒนาบัณฑิตให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ด้วยความร่วมมือของ 19 คณะเภสัชศาสตร์ จาก 19 สถาบันที่รวมตัวจัดตั้งศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทยขึ้น โดย ภญ.ผศ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ ประธานศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย จะมาพูดถึงบริบททางด้านการศึกษา พร้อมด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย), ภญ.โศรดา หวังเมธีกุล นายกสมาคมเภสัชกรการอุตสาหกรรม (ประเทศไทย), ภญ.ช้องมาศ นิติศฤงคาริน นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย), ภญ.รศ.ดร.โพยม วงศ์ภูวรักษ์ ประธานการศึกษาเภสัชศาสตร์ สภาเภสัชกรรม และ “การบูรณาการวิชาชีพเภสัชกรรมในทศวรรษหน้า” โดย ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ, ภญ.โศรดา หวังเมธีกุล และ ภญ.ช้องมาศ นิติศฤงคาริน พร้อมสรุปเชิงบูรณาการระหว่างสาขาวิชาชีพเภสัชกรรม
ภก.ธีระ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกหัวข้อเป็นไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้ เชื่อว่าจะสร้างความตื่นตัวให้วงการวิชาชีพเภสัชกรรมมากขึ้น อยากให้เภสัชกรทั่วประเทศมาอัพเดทความรู้ทั้งในสาขาความเชี่ยวชาญของตนและในสาขาอื่น ๆ ว่าวิทยาการความก้าวหน้าในปัจจุบันมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และแนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเภสัชกรทุกคน และการประชุมครั้งนี้ยังเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการประชุม FAPA 2016 ในธีม “Integrating Asian Pharmacy Wisdom for Better Global Health” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) บางนา กรุงเทพฯ อีกด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0-2712-1627-8, 0-2391-6243 E-mail: pharmathai2000@yahoo.com หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมทาง www.thaipharma.net