ผู้สูงวัยเสี่ยงโรคหัวใจ

ผู้สูงวัยเสี่ยงโรคหัวใจ

โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นปัญหาสำคัญของคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเจอความผิดปกติของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจากการตรวจสุขภาพประจำปีโดยไม่เคยมีอาการแสดงมาก่อน ซึ่งถือเป็นความโชคดีที่ได้รับการรักษาตั้งแต่ต้น แต่บางรายไม่เคยตรวจหาความผิดปกติจนกระทั่งเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ภาวะหัวใจล้มเหลวอันเกิดจากไขมันและหินปูนเกาะสะสมตามทางเดินหลอดเลือดจนตีบหรืออุดตันได้

นพ.ดำรงค์ สุกิจปัญญาโรจน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด สถาบันหัวใจเพอร์เฟคฮาร์ท โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันมักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่น ๆ โดยจะพบว่ามีอัตราการเกิดโรคหัวใจสูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น (ผู้ชายอายุน้อยกว่า 55 ปี, ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี, มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันมาก่อน หรือสตรีวัยหมดประจำเดือน) ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าวัยอื่น ๆ สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงได้นั้นจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการหนาตัวของผนังหลอดเลือด ซึ่งอาจจะเป็นผลจากมีไขมันไปเกาะหรือมีพังผืดอันเป็นผลมาจากความเสื่อมหรือมีปัจจัยอื่น ๆ ไปกระตุ้นให้เกิดภาวะหนาตัวขึ้น ทำให้เลือดไหลผ่านไม่สะดวก เป็นผลให้หัวใจขาดเลือดได้ ปัจจัยที่ว่านี้ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ไขมันในเลือดผิดปกติ และความเครียด

อาการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมักจะมีอาการเจ็บหน้าอกตรงบริเวณเหนือลิ้นปี่ขึ้นมาเล็กน้อย เจ็บแน่น ๆ บริเวณหน้าอกเหมือนมีอะไรมาบีบรัด หรือมีของหนัก ๆ มาทับอกอยู่ อาจมีอาการร้าวไปที่บริเวณไหล่ซ้ายและแขนซ้าย หรือร้าวไปที่กรามทั้ง 2 ข้าง และมักจะเป็นเมื่อออกกำลังกายหรือใช้แรงงานหนัก ๆ เพราะช่วงนั้นหัวใจจะต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น แต่เลือดไปเลี้ยงไม่ได้เพราะว่ามีหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบอยู่ อาการที่เป็นอยู่จะต้องนานเป็นนาทีขึ้นไป การวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบมีการสวนหัวใจหรือการฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ เป็นการฉีดสารทึบรังสีดูช่องทางเดินของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ เป็นกระบวนการที่ล่วงล้ำร่างกายเพียงเล็กน้อย แต่ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินได้ว่าหลอดเลือดเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบตันบ้างหรือไม่ กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงเพียงใด ลิ้นหัวใจเปิดปิดได้ดีเพียงใด อีกทั้งยังสามารถวัดความดันภายในหัวใจและส่วนต่าง ๆ ของหัวใจได้ด้วย อีกวิธีคือ การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Coronary CT Angiography) เป็นวิธีการตรวจหัวใจเพื่อดูเส้นเลือดของหัวใจว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือความผิดปกติอื่น ๆ ของหลอดเลือดหัวใจบ้างหรือไม่ รวมถึงใช้ติดตามผลการรักษาภายหลังการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งผู้ที่เข้ารับการตรวจวิธีนี้จะได้รับสารทึบรังสีเพื่อให้ได้ภาพเอกซเรย์ที่ดีที่สุด
สำหรับแนวทางรักษา นพ.ดำรงค์ กล่าวว่า การรักษาโรคหัวใจทำได้หลายวิธี ถ้าผู้ป่วยมีอาการน้อยและหลอดเลือดตีบไม่มากก็สามารถรักษาด้วยยาได้ โดยที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องช่วยในการปรับปรุงพฤติกรรมประจำวัน คือ งดบุหรี่ ลดอาหารมัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมระดับน้ำตาล (ถ้าเป็นเบาหวาน) ระดับคอเลสเตอรอล และความดันโลหิต แต่ถ้ามีอาการหรือตีบมากก็อาจรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ โดยการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจแบบไม่ต้องผ่าตัดมีดังนี้ การทำบอลลูนขยายหลอดเลือด ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหารุนแรงมีเพียง 1 ใน 1,000-1 ใน 2,000 ราย ปัจจุบันนี้เป็นการทำหัตถการแบบผู้ป่วยนอกคือ มาเช้ากลับเย็น หรือแค่พัก 1 คืนในโรงพยาบาล ไม่มีแผลผ่าตัด ไม่ต้องพักฟื้นอีกเป็นเดือน ในการทำผ่าตัดพบว่า มีปัญหาตีบตันของหลอดเลือดใหม่อีกได้คือ ใน 10 ปี ถ้าใช้หลอดเลือดดำที่ขามาต่ออาจพบว่าผู้ป่วยกว่าครึ่งที่จะมีปัญหาตีบตันของหลอดเลือดอีก แต่หลอดเลือดแดงจากที่แขนหรือหลอดเลือดที่ทรวงอกก็มีอัตราการตีบของเส้นเลือดที่ผ่าตัดจะมีเพียงร้อยละ 10-20 โดยที่โอกาสตีบตันของหลอดเลือดที่ผ่าตัดภายใน 1 ปีจะมีประมาณร้อยละ 2-5 อัตราการตีบซ้ำหรือตีบกลับคืน แต่สำหรับผู้ป่วยที่ทำบอลลูนจะพบการตีบซ้ำได้ประมาณร้อยละ 20-30 ถ้าใส่ขดลวดร่วมด้วยแล้ว การตีบจะลดลงเหลือประมาณร้อยละ 10 แต่ถ้าใช้ขดลวดแบบเคลือบยา ซึ่งเป็นวิวัฒนาการใหม่แล้ว การตีบซ้ำจะเหลือเพียงร้อยละ 2-5 หรือต่ำกว่า และมักทราบภายใน 1 ปี

ปัจจุบันมีการนำขดลวดเคลือบยามาใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น โดยรักษาการตีบแบบหลายจุด และหลายเส้นได้ ซึ่งได้ผลดีใกล้เคียงกับการผ่าตัดบายพาสซึ่งเป็นทางเลือกแก่ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการผ่าตัด ผู้ป่วยไม่ต้องพักฟื้นนาน ไม่ต้องเจ็บตัวหลังผ่าตัด ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอัมพฤกษ์หรืออัมพาตมากเท่ากับการผ่าตัด ลดอัตราเสี่ยงจากการผ่าตัดได้มาก และล่าสุดมีการศึกษาจากต่างประเทศที่เรียกว่า "อาร์ท 2 (ARTS II) เปรียบเทียบการรักษาด้านการผ่าตัดกับการใช้ขดลวดเคลือบยาในผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบหลาย ๆ เส้น (ซึ่งเดิมต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น) เกือบ 1,000 รายพบว่า ผลการรักษาทั้ง 2 วิธีให้ผลดีเหมือนกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้น การใช้ขดลวดเคลือบยาจึงเป็นทางเลือกอีกวิธีหนึ่งสำหรับผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดตีบหลายเส้นที่ไม่ต้องการเสี่ยงจากการผ่าตัด ผู้สูงวัยควรดูแลสุขภาพตนเองให้ห่างไกลจากโรคหัวใจได้ด้วยการออกกำลังกาย และควรเลือกรับประทานอาหารที่ไม่มีคอเลสเตอรอลสูง หมั่นตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อป้องกันและรักษาได้อย่างทันท่วงที สำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว การออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคหัวใจ นอกจากช่วยให้ร่างกายโดยรวมแข็งแรงแล้ว ยังพบว่าสามารถลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ด้วย ควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 20 นาที ควรเป็นการออกกำลังกายแบบเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตลอดเวลา เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ เป็นต้น นพ.ดำรงค์ กล่าวทิ้งท้าย