ออกกำลังกายแล้วปวดกล้ามเนื้อ จะทำอย่างไรดี
ในยุคที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ มีการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพและออกกำลังกายกันมากขึ้น ไม่ว่าจะการปั่นจักรยาน วิ่ง ฟุตบอล โยคะ หรือการเข้าฟิตเนส ฯลฯ เพื่อฟิตร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ แต่กลับพบว่าหลายคนเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อหลังจากการออกกำลังกาย ซึ่งสาเหตุอาจเกิดได้จากออกแรงกล้ามเนื้อบริเวณนั้นมากเกินไป หรือไม่มีการวอร์มร่างกายก่อน ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการบาดเจ็บ
นพ.ภาคย์ภูมิ ภูมิเจริญ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลราชเวชเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สาเหตุของการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อมีหลายสาเหตุ สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ การบาดเจ็บโดยตรง เช่น การกระแทกที่กล้ามเนื้อ การยืดของกล้ามเนื้อมากเกินไป ทำให้เกิดการช้ำหรือฉีกขาด และการบาดเจ็บทางอ้อม กล้ามเนื้อก็เปรียบเหมือนเครื่องยนต์ที่ต้องการเชื้อเพลิง หากเลือดไม่มาเลี้ยง หรือไม่เพียงพอต่อความต้องการก็จะเกิดอาการบาดเจ็บ หากนานก็จะเกิดการตายของกล้ามเนื้อได้ สำหรับการออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมในตอนนี้มีทั้งการวิ่ง การปั่นจักรยาน หรือเล่นฟุตบอล จะเน้นการใช้กล้ามเนื้อส่วนล่างเป็นหลัก และส่วนที่ใช้งานตลอดอาจเกิดอาการบาดเจ็บได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณที่ใช้ออกแรงต้านกับแรงดึงดูดของโลก ได้แก่ บริเวณสะโพกด้านหลังหรือก้น บริเวณส่วนหน้าของต้นขา และกล้ามเนื้อน่องส่วนด้านหลังของขา นอกจากนี้ยังต้องระวังการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการเล่นกีฬาที่สามารถเกิดการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้ออื่น ๆ ได้ รวมถึงอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้โดยไม่คาดคิดได้เช่นกัน
สำหรับอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อที่เป็นบ่อยสุดคือ ปวดตรงบริเวณกล้ามเนื้อ ปวดมากขึ้นตอนที่พยายามจะใช้กล้ามเนื้อมัดนั้น ๆ และปวดมากขึ้นอีกเมื่อมีการยืดกล้ามเนื้อมากเกินไป เช่น หากบาดเจ็บกล้ามเนื้อส่วนหน้าต้นขาจะปวด โดยปวดไม่มากหากอยู่นิ่ง ๆ แต่ปวดมากหากพยายามเหยียดเข่าให้ตรง และปวดมากกว่านั้นหากมีการดัดเข่าให้งอพับมาก ๆ ซึ่งกล้ามเนื้อส่วนหน้าต้นขาจะถูกยืดในท่านั้น หากอาการบาดเจ็บรุนแรง เช่น มีการฉีกขาดกล้ามเนื้อมัดนั้น ๆ ก็จะเกิดอาการอ่อนแรง ซึ่งทำให้เดินหรือขยับตัวลำบากมากขึ้น
นพ.ภาคย์ภูมิ กล่าวต่อว่า จริง ๆ แล้วเราควรจะเริ่มตั้งแต่การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อคือ สวมอุปกรณ์ป้องกันข้อต่อ ใส่รองเท้าที่จำเพาะต่อกีฬาแต่ละชนิด และที่สำคัญควรอบอุ่นร่างกาย ยืดกล้ามเนื้อก่อนการเล่นกีฬา เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ ลดปัญหาของกล้ามเนื้อที่ยืดมากเกินไป นอกจากนี้จะช่วยขยายตัวของหลอดเลือด เพิ่มเลือดไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อ แต่หากการบาดเจ็บเกิดขึ้นแล้ว ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อช่วยลดอาการบาดเจ็บไม่ให้รุนแรงได้ โดยมีหลักการว่า “พัก ยก และ ผ้า เย็น” หมายถึง “พัก” ขยับบริเวณที่บาดเจ็บให้น้อยที่สุด เพื่อลดการบาดเจ็บซ้ำซ้อน “ยก” ยกบริเวณบาดเจ็บให้สูงขึ้น ลดอาการบวมและอักเสบ “ผ้า” พันผ้า หรืออุปกรณ์เสริมบริเวณบาดเจ็บให้อยู่นิ่ง และลดการบวม และ “เย็น” ประคบเย็นบริเวณบาดเจ็บเป็นเวลา 10-15 นาที ทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการบีบนวด การประคบร้อน หรือทายาที่ร้อนบริเวณบาดเจ็บในช่วง 48 ชั่วโมงแรก ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น ปวดและบวมมากขึ้นได้
หากมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้น และมีความจำเป็นต้องใช้ยา สามารถแบ่งยาออกเป็น 2 ประเภท คือ ยาใช้ทาภายนอกและยารับประทาน โดยการใช้ยาทาภายนอกชนิดเย็น หรือการประคบเย็นหลังบาดเจ็บประมาณ 3 วัน เมื่ออาการอักเสบเริ่มลดลงแล้ว สามารถใช้ยาที่มีความร้อนหรือการประคบร้อนช่วยได้ ส่วนยารับประทานนั้น ได้แก่ ยาแก้ปวดทั่วไป ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาแก้ปวดทั่วไป เช่น พาราเซตามอล สามารถลดอาการปวดได้ปานกลาง แต่เนื่องจากฤทธิ์ยาไม่รุนแรง หลังจากรับประทานมักจะยังมีอาการปวดอยู่ จึงมักใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นที่ออกฤทธิ์ได้เร็วและแรงกว่า และควรระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีปัญหาทางตับ ส่วนยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์สามารถช่วยลดอาการอักเสบ อาการปวด และจำกัดบริเวณที่บาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้ โดยทั่วไปการใช้ยาในกลุ่มนี้สามารถเกิดผลข้างเคียงระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ แต่ในปัจจุบันยาลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์รุ่นใหม่ที่เรียกว่า กลุ่ม coxib ช่วยลดอาการปวดและอาการอักเสบอย่างจำเพาะมากกว่ารุ่นเก่า ๆ และเกิดผลระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่าเดิม
ดังนั้น การใช้ยาข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อลดโรคต่าง ๆ ที่อาจจะตามมาจากการใช้ยาผิด