สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) จัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2558 “เกาะกระแสการปฏิรูปประเทศกับการพัฒนาร้านยาสู่ GPP”
สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) มีกำหนดจัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2558 ในวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแถลงผลงานและกิจกรรมของสมาคมฯ ในรอบปีที่ผ่านมา พร้อมกับจัดบรรยายพิเศษในหัวข้อวิชาชีพเภสัชกรรมให้แก่สมาชิก
ภญ.เพ็ญทิพา แก้วเกตุทอง ประธานคณะกรรมการจัดงานฯ สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทางเภสัชกรรมชุมชน และการเผยแพร่ความรู้ทางด้านเภสัชกรรมชุมชนแก่สมาชิก ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของการจัดตั้งสมาคมฯ ประกอบกับความจำเป็นที่เภสัชกรชุมชนในยุคปัจจุบันจะต้องมีความรู้ความสามารถในด้านวิชาการให้แข็งแรง (ตามหลักสูตรการเรียนการสอน) และจะต้องติดตามความรู้ต่าง ๆ ของโรคและยาที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ให้ทันยุคทันสมัย สมาคมฯ จึงต้องมีบทบาทในการสนับสนุนด้านวิชาการใหม่ ๆ ให้แก่สมาชิกอย่างต่อเนื่อง ต้องสร้างความร่วมมือกับภาคการศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์แทบทุกมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมี MOU กับสมาคมฯ มานาน และมีความชัดเจนในการร่วมกันผลักดันด้านวิชาการต่าง ๆ แก่สมาชิกฯ ในหลาย ๆ เรื่อง อาทิเช่น การจัดหลักสูตรนวัตกรรมสำหรับเภสัชกรชุมชน ความร่วมมือในการพัฒนา Web Base Learning เป็นต้น
ล่าสุด สมาคมฯ ได้เตรียมความพร้อมสำหรับจัด งานประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2558 ซึ่งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยเป็นงานประชุมใหญ่ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งนอกจากจะเป็นไปตามที่กำหนดอยู่ในข้อบังคับการจัดตั้งสมาคมฯ แล้ว ยังเป็นโอกาสที่สมาชิกจะได้รับทราบการทำงานของสมาคมฯ ในช่วงปีที่ผ่านมา รวมทั้งยังได้มีโอกาสมาพบปะพูดคุยกัน ชมบู๊ธผลิตภัณฑ์และรับความรู้เรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญ ๆ ของวิชาชีพ
“หัวข้อการประชุมที่ทางสมาคมฯ คัดเลือกมา ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นเรื่องที่เป็นประเด็นของวิชาชีพในเวลานั้น ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับวิชาชีพ หรือแนวทางของวิชาชีพที่จะก้าวไป หรือบางเรื่องที่ควรมีการอธิบายหรือทำความเข้าใจ เพื่อให้การทำงานของเภสัชกรชุมชนเป็นไปด้วยความมั่นใจและถูกต้องตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งประเด็นตอนนี้ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ GPP นั่นเอง ส่วนหัวข้อบรรยายในห้องย่อยก็จะได้จากคำแนะนำของสมาชิกที่ให้ไว้ในระหว่างการประชุมวิชาการแต่ละเดือน และนำมาคัดเลือกโดยให้กรรมการทุกคนของสมาคมฯ ลงคะแนนคัดเลือก” ภญ.เพ็ญทิพา กล่าว
ภญ.เพ็ญทิพา กล่าวเพิ่มเติมถึงประเด็นสำคัญในเรื่อง GPP ว่า เนื่องจาก GPP เป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ ประกอบด้วยรายละเอียดมากมาย การอ่านและตีความตามภาษากฎหมายเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร และมักจะมีคำถามตามมาอยู่ตลอดว่า ได้ หรือ ไม่ได้ ได้แค่ไหน อย่างไร และยิ่งต้องใช้เวลา 8 ปี ในการพัฒนาร้านยา จึงทำให้ทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าแต่ละปีจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างและเป็นไปตามขั้นตอนอย่างไร เกณฑ์การตรวจ GPP ตรวจโดยใคร มีมาตรฐานอย่างไร วิทยากรแต่ละท่านจะมาเล่าให้ฟังว่าการนำร้านยาไปสู่ GPP มีความเป็นมาอย่างไร แล้วไปเกี่ยวกับกระแสการปฏิรูปประเทศอย่างไร แล้วทำไมต้องทำ ถ้าไม่ทำจะเป็นอย่างไร ใครได้ประโยชน์ ทางออกของผู้ที่ได้รับผลกระทบควรเป็นอย่างไร ซึ่งอยากให้สมาชิกทุกท่านได้รับฟัง และเตรียมคำถามที่ข้องใจเพื่อมาสอบถามได้ภายในงาน (มีบู๊ธของ อย.มาด้วย)
นอกจากประเด็นสำคัญในเรื่อง GPP แล้ว ยังมีหัวข้อการบรรยาย Satellite Symposium ให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเลือกเรื่องที่สนใจเข้าฟัง สามารถเลือกได้ท่านละ 1 เรื่องเท่านั้น เนื่องจากเป็นการบรรยายพร้อมกันในช่วงเที่ยง ทั้ง 3 เรื่องล้วนแล้วแต่มีความน่าสนใจ ได้แก่ เรื่องสิว โรคภูมิแพ้ และศาสตร์ชะลอวัย ดังนี้
1. Acne Vulgaris Treatment and Management in Community Pharmacy: Update ACNE treatment Southeast Asia Guideline
2. Optimized Allergic Rhinitis Management
3. ศาสตร์ชะลอวัยและการประยุกต์ใช้ทางเภสัชกรรม
ไม่เพียงเท่านั้น ในปีนี้จะมีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ ซึ่งก็จะได้เห็นว่าใครเป็นใครบ้างในชุดใหม่ของกรรมการสมาคมฯ ที่สมาชิกจะต้องออกเสียงรับรองเพื่อให้เป็นกรรมการโดยสมบูรณ์
ส่วนไฮไลท์ที่สุดน่าจะเป็นเรื่อง “กระแสการปฏิรูปประเทศกับการพัฒนาร้านยาสู่ GPP” ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ๆ และบอกได้เลยว่าพลาดไม่ได้เป็นอย่างยิ่ง
ในส่วนของวิทยากรที่บรรยายในงานประชุมครั้งนี้ วิทยากรที่สำคัญที่สุดของวิชาชีพคือ ศ.(พิเศษ) ดร.ภก.สุมนต์ สกลไชย นายกสภาเภสัชกรรม และ ภก.วินิต อัศวกิจวิรี ผู้อำนวยการสำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า แต่ละท่านนั้นมีความโดดเด่นและมีความสำคัญต่อวิชาชีพเภสัชกรรมชุมชนของเราอย่างไร
ทั้งนี้จำนวนผู้ลงทะเบียนในปีนี้น่าจะสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ดูได้จากกระแสตอบรับการจองมาในขณะนี้ โดยคาดว่าจำนวนสมาชิกฯ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของงานประชุม รวมถึงเภสัชกรที่สนใจจะเข้าร่วมงานทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 800 คน โดยทุกท่านจะได้รับความรู้ ทั้งวิชาการและเรื่อง GPP ที่หาฟังไม่ได้จากที่อื่น ต้องมาฟังที่งานประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2558 ที่นี่ที่เดียว
“อยากจะเรียนทุกท่านว่าอย่าลังเลอยู่เลย เพราะปีนี้เรื่องกระแสการปฏิรูปประเทศกับการพัฒนาร้านยาสู่ GPP เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ สำหรับวิชาชีพเภสัชกรชุมชนของเรา ทุกท่านไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง แล้วพบกันที่งานในวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา นะคะ” ภญ.เพ็ญทิพา กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0-2713-5262-3 โทรสาร 0-2713-5541 E-mail: thailand.cpa@gmail.com Line ID: cpathailand หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.pharcpa.com