ออกประกาศคุ้มครอง “ศิลาจารึกวัดโพธิ์” ตำรายาชาติ ด้านการแพทย์แผนไทย
ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระอุดรคณารักษ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และ ภก.ปรีดา ตั้งตรงจิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนนวดแผนโบราณวัดโพธิ์ ร่วมแถลงข่าวผลการขับเคลื่อนด้านการคุ้มครองตำรับยา ตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ
นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศใช้กฎกระทรวงว่าด้วยเรื่อง ประกาศกำหนดตำรับยาและตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา จากประกาศดังกล่าว กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และคณะอนุกรรมการคุ้มครองตำรับยาและตำราการแพทย์แผนไทย ได้เดินหน้าขับเคลื่อนด้านกฎหมายในเชิงปฏิบัติด้วยการสังเคราะห์ กลั่นกรอง ตรวจสอบรายการตำรับยาและตำราที่เข้าข่ายตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงที่เคยประกาศใช้ โดยดำเนินการจัดทำข้อมูลจากรูปแบบดั้งเดิม เช่น ตำรับตำราในศิลาจารึก ในคัมภีร์ใบลาน ในสมุดข่อย สมุดดำ นำมาสังคายนา ถ่ายทอดความรู้จากศิลาจารึกเป็นภาษาไทยที่ใช้ในปัจจุบัน จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มเผยแพร่ เพื่อใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงเชิงวิชาการและใช้พิทักษ์สิทธิ์ภูมิปัญญาของชาติสู่การต่อยอดเชิงเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และระบบสุขภาพ
โดยประกาศการคุ้มครอง ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามแล้วเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เป็นรายการชุดความรู้ในศิลาจารึกของวัดโพธิ์ ซึ่งประกอบด้วยแผนชุดความรู้เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทยจำนวน 380 แผ่น (จากศิลาจารึกความรู้แขนงต่าง ๆ จำนวน 1,440 แผ่น) ซึ่งในแผ่นความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยจะเป็นเรื่องของ ตำรายา ตำราการนวดไทย เป็นต้น รวมตำรับยา ตำราการแพทย์แผนไทยจำนวน 1,061 รายการ ประกอบด้วยองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยแผนต่าง ๆ เช่น แผนแม่ซื้อว่าด้วยเรื่องแม่และเด็ก แผนฝีว่าด้วยเรื่องโรคฝีต่าง ๆ แผนนวดว่าด้วยเรื่องแนวเส้นและจุดต่าง ๆ บนร่างกาย เป็นต้น ซึ่งประกาศคุ้มครองดังกล่าวรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน
จากกลไกทางกฎหมายดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยสามารถปกป้องคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมบัติของชาติไว้ และนำมาใช้ประโยชน์ทางสุขภาพและเศรษฐกิจได้อย่างถูกต้อง สำหรับตำรับยาแผนไทยของชาติ ในศิลาจารึกวัดโพธิ์มีตำรับยาสำคัญ ๆ ได้แก่ กลุ่มรักษาโรคมะเร็ง โรคเรื้อน โรคฝี ธาตุพิการ ผู้สนใจสามารถขออนุญาตนำตำรับยาของชาติใช้ประโยชน์ได้ โดยติดต่อที่ กองคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและพื้นบ้านไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 0-2591-7007
“ประกาศคุ้มครองนี้มีผลคือ หากจะนำองค์ความรู้นี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือทำการวิจัยต่อยอดความรู้ จะต้องทำเรื่องขออนุญาตจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกก่อน และต้องระบุว่านำความรู้มาจากแหล่งใดเพื่อป้องกันการละมิดลิขสิทธิ์ โดยผลประโยชน์ที่ได้จากการทำพาณิชย์ต้องมีการจัดสรรเป็นผลประโยชน์ของประเทศด้วย แต่ถ้าเป็นการใช้งานเพื่อสาธารณประโยชน์ก็ไม่มีปัญหา” นพ.สุริยะ กล่าว
พระอุดรคณารักษ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กล่าวขอบคุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ช่วยผลักดันให้เกิดการประกาศคุ้มครองตำรับยาและตำราการแพทย์แผนไทย หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยแห่งแรก คือ วิทยาลัยการแพทย์แผนโบราณวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของไทย เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ได้รับการสืบทอดมาแต่โบราณกาล จนเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมโลกมาช้านาน องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศรับรองขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เป็นความภาคภูมิใจแก่คนไทยทุกคนเป็นอย่างยิ่ง
ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งอีกเรื่องคือ รัฐบาลได้ถวายพระราชสมัญญานามแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็น “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย” และให้มี “วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ” คือวันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี
ด้าน ภก.ปรีดา ตั้งตรงจิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนนวดแผนโบราณวัดโพธิ์ กล่าวว่า การนวดถือเป็นภูมิปัญญาไทยอย่างหนึ่ง โดยองค์ความรู้เรื่องการนวดที่สำคัญคือ เรื่องเส้นประธานสิบ ซึ่งเป็นเส้นหลักสำคัญของวิชาการนวดไทย ปัจจุบันได้รับความนิยมและยกย่องจากทั่วโลก เฉพาะที่โรงเรียนนวดแผนโบราณวัดโพธิ์ มีผู้สนใจมาเรียนการนวดราวปีละ 3,000-5,000 คน ประมาณร้อยละ 30-40 เป็นชาวต่างชาติจาก 135 ประเทศ