เกาะกระแสการปฏิรูปประเทศกับการพัฒนาร้านยาสู่ GPP
การส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทางเภสัชกรรมชุมชน และการเผยแพร่ความรู้ทางด้านเภสัชกรรมชุมชนแก่สมาชิกถือเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของการจัดตั้งสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ประกอบกับความจำเป็นที่เภสัชกรชุมชนในยุคปัจจุบันจะต้องมีความรู้และความสามารถในด้านวิชาการให้แข็งแรง (ตามหลักสูตรการเรียนการสอน) และจะต้องติดตามความรู้ต่าง ๆ ของโรคและยาที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ให้ทันยุคทันสมัย โดยประเด็นสำคัญในเรื่อง หลักวิธีปฏิบัติที่ดีทางเภสัชกรรมชุมชน (Good Pharmacy Practice) หรือที่ทุกคนคุ้นเคยเรียกกันว่า GPP เนื่องจาก GPP เป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติและมีรายละเอียดมากมาย การอ่านและตีความตามภาษากฎหมายเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร จึงมักจะมีคำถามตามมาอยู่ตลอดว่า ได้ หรือไม่ได้ ได้แค่ไหน อย่างไร และยิ่งต้องใช้เวลา 8 ปี ในการพัฒนาร้านยา จึงทำให้ทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าแต่ละปีจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง และเป็นไปตามขั้นตอนอย่างไร เกณฑ์การตรวจ GPP ตรวจโดยใคร มีมาตรฐานอย่างไร
ด้วยเหตุนี้ ในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2558 ของสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา นอกจากจะมีการแถลงผลงานของสมาคมฯ ในรอบปี พ.ศ. 2558 พร้อมรับรองผลการเลือกตั้งกรรมการสมาคมฯ วาระปี พ.ศ. 2559-2561 แล้ว ทางสมาคมฯ ยังได้จัดหัวข้อการเสวนาที่น่าสนใจคือ “กระแสการปฏิรูปประเทศกับการพัฒนาร้านยาสู่ GPP” โดยมี ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนประเทศ, ภก.วินิต อัศวกิจวิรี สำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, ภก.ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี อุปนายกสภาเภสัชกรรม และ ภก.วราวุธ เสริมสินสิริ สำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นผู้ดำเนินรายการ
ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนประเทศ กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศในเบื้องต้นว่า หลังจากมีการยุบสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และมีการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลได้วางวาระการขับเคลื่อนทั้งหมดที่ 1 ปี 8 เดือน รวมถึงมีการกำหนดยุทธศาสตร์ทิศทางนโยบายปฏิรูปของประเทศถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติในอีก 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้รัฐบาลทำหน้าที่โดยกำหนดว่าถ้าเรื่องไหนมีระยะยาวมากให้ผลักดันในรูปแบบของกฎหมาย แต่ถ้าเรื่องไหนสามารถปฏิรูปได้ ภายใน 1 ปี 6 เดือนก็จะผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้เป็นหลักประกันในการดำเนินงานต่อไป โดยในส่วนของสาธารณสุขมีการวางแผนการปฏิรูปในเรื่องหลัก ๆ ได้แก่ เรื่องยา โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์เรื่องยาแห่งชาติ การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรแห่งชาติ รวมถึงการปฏิรูประบบบริการสุขภาพของประเทศไทย ทั้งด้านการเงินการคลัง และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าจะต้องมีการปรับระบบอย่างไรที่จะให้ระบบนี้ดำเนินต่อไปได้ นอกจากนี้ยังมีการวางระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่สามารถเข้ารับการรักษาฟรีได้ทุกโรงพยาบาล รวมถึงด้านกำลังคนด้านสุขภาพ การสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนให้รู้จักดูแลตนเอง เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยภายใน 10 ปี รวมถึงโรคอุบัติใหม่/อุบัติซ้ำ รวมถึงโรคใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น โรคติดต่อจากคนสู่สัตว์ หรือจากสภาพแวดล้อมว่าเราจะมีวิธีป้องกันอย่างไร เนื่องจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลในปัจจุบันของเรายังไม่มั่นคงและยั่งยืน ดังนั้น สิ่งที่เรานำเสนอคือ การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือ กสช. คุมนโยบายสุขภาพระดับประเทศ
ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในส่วนของเภสัชกร เราอยากให้สังคมให้ความสำคัญกับวิชาชีพเภสัชกร เราต้องทำที่ตัวเราเองก่อน ทำให้สังคมเห็นประโยชน์ของเภสัชกร โดยตัวเราเองในฐานะเภสัชกรจะต้องทำอะไร และมีการปรับตัวอย่างไรถ้าระบบบริการมีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้สิ่งที่เน้นตรงกันระหว่าง สปท. กับกระทรวงสาธารณสุขคือ Primary Care Cluster คือเน้นการบริการปฐมภูมิเป็นหลัก ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ที่ให้ความสำคัญกับหน่วยบริการที่ใช้การดูแลรักษาเป็นทีมในรูปแบบสหวิชาชีพ ซึ่งในทีมจะต้องมีเภสัชกรช่วยดูแลด้วยเป็นการดูแลในระดับชุมชน เพียงแต่ว่าระบบการเรียนการสอนทางเภสัชศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องยาเรามีความรู้มากมาย แต่ในการดูแลบริการชุมชน เราก็ต้องย้อนกลับมาถามตัวเองด้วยว่า เรามีความสามารถมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ในส่วนของ Secondary Medical Care Cluster ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับอำเภอ ปัจจุบันจะพบปัญหาในเรื่องของความแออัด ในระยะยาวอาจต้องมีหน่วยงานเอกชน เช่น คลินิกแพทย์ หรือร้านยา เข้าไปร่วมด้วย ซึ่งถ้าร้านยากลายมาเป็นส่วนหนึ่งในระบบหลักประกันสุขภาพ ก็จะช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาล และร้านยาก็จะมีบทบาทมากขึ้น
ทั้งนี้ด้านการพัฒนายุทธศาสตร์เรื่องยาแห่งชาติ รวมถึงระบบสมุนไพรและแพทย์แผนไทยแห่งชาติ ก็จะต้องมีเภสัชกรเข้าร่วมด้วย เนื่องจากการพัฒนาสมุนไพรเป็นยามีความเป็นไปได้ในประเทศไทย เนื่องจากการพัฒนายานวัตกรรมใหม่ ๆ ในประเทศไทยยังเป็นไปค่อนข้างยาก ทิศทางเรื่องสมุนไพรและแพทย์แผนไทย รวมถึงการดูแลสุขภาพดีเป็นทิศทางของประเทศที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะด้านยาเท่านั้น ในเรื่องของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ประเภทอาหารเสริม และเครื่องสำอางก็เป็นที่ได้รับความสนใจ เพียงแต่ในวิชาชีพของเรายังไม่มีการสอน เพื่อรองรับในส่วนนี้ ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านี้คือภูมิปัญญาไทยที่มีทั้งดีและไม่ดี เพราะฉะนั้น ภาระหน้าที่ของเภสัชกรคือ นำสิ่งที่ดีที่ถูกต้องมาทำให้ชัดเจน และบอกสังคมให้รับรู้สิ่งที่เป็นจริง สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่ดี เนื่องจากพวกเราไม่มีความชำนาญในเรื่องนี้ แต่ถ้าเราไม่เริ่มก็จะยิ่งไม่ชำนาญ และอาจถูกวิชาชีพอื่นมาทำแทน เราจึงต้องมีหลักสูตรรองรับเรื่องพวกนี้ รวมถึงปรับเปลี่ยนแนวคิดและปฏิรูปการศึกษา ยอมรับและทุ่มเทศึกษาว่าอะไรจะได้ประโยชน์จริง เพราะผมเชื่อว่าทุกอย่างมีประโยชน์ โดยเฉพาะถ้าเรานำสิ่งที่ถูกต้องมาสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพื่อไม่ให้ถูกหลอกจากสิ่งเหล่านี้ ดังนั้น ประเด็นเรื่องของยาไทย แพทย์แผนไทย เภสัชกรก็ต้องเข้าใจ โดยสิ่งที่เราทำได้คือ การช่วยพัฒนาตำรับยาแผนไทยให้ใช้ได้ดี เนื่องจากตำรับยาแผนไทยมีศักยภาพที่ดี และหลายอย่างใช้ได้จริงแต่อธิบายไม่ได้ เพราะเราไม่มีภูมิดั้งเดิมมา อีกทั้งถ้าเราไม่มีการถ่ายทอดต่อไป ความรู้ทั้งหลายจะหายไปหมด บทบาทของเภสัชกรจึงต้องเปลี่ยนไป แม้กระทั่งเภสัชกรร้านยา เพราะเราต้องไม่ลืมว่า เราคือเภสัชกร และบทบาทของเภสัชกรก็มีหน้าที่คุ้มครองประชาชน ซึ่งสิ่งที่ยากของพวกเราคือ เราจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลระหว่างการให้บริการ กับการควบคุมกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจให้ก้าวไปได้ด้วยดี ภารกิจของเภสัชกรเรามีเรื่องของธุรกิจกับเรื่องการคุ้มครองประชาชน เราจะต้องสร้างสมดุลในส่วนของเราด้วยการนำองค์ความรู้มาใช้ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ การให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้บริโภค ในอนาคตถ้าทำได้ดีจะเป็นจุดแข็งของวิชาชีพ
ภก.วินิต อัศวกิจวิรี สำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การปฏิรูประบบสาธารณสุขด้านความมั่นคงของยาจะเกี่ยวข้องกับพวกเราที่เป็นร้านยา รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เราดูแล ซึ่งขณะนี้ในหลายภาคส่วนให้ความสนใจและทำคือ ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ นอกจากนี้จะทำอย่างไรที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมยาบ้านเรา ซึ่งหน่วยงานที่กำกับดูแลคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการปฏิรูปอย่างไร ทั้งนี้ในส่วนความมั่นคงเกี่ยวกับยา ทางทฤษฎีจะมี 4 เรื่องคือ 1. availability ได้แก่ ความพร้อมใช้งาน 2. accessibility ได้แก่ การเข้าถึง 3. affordability ความสามารถในการจ่าย และ 4. stability ได้แก่ ความยั่งยืน ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับพวกเราหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของผลิตภัณฑ์จะทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัย คนเข้าถึง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์พวกนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่ได้มองเฉพาะแค่เพียงเรื่องของยาหรือวัคซีนใหม่ ๆ แต่มองถึงนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของพวกเรา เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์พวกนี้เข้าถึงและเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพของผู้บริโภค สิ่งนี้จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับพวกเราในอนาคตอันใกล้ รวมทั้งในเรื่องของราคา เรื่องของการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล เรื่องเหล่านี้จะมีผลกระทบกับร้านยา ไม่ว่าจะโดยทางตรง หรือทางอ้อม โดยเฉพาะเรื่องของเชื้อดื้อยา พวกเราในฐานะเภสัชกรจะเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างไร แม้ว่าเรื่องนี้ดูแล้วอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ก็เป็นสิ่งที่พวกเราต้องคิดเผื่อไว้ เพราะในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอาจจะมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ประเด็นสั้น ๆ ที่คุยกัน 2 เรื่องคือ 1. ทำอย่างไรที่จะปฏิรูปเพื่อให้เกิดการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพและปลอดภัย และ 2. ในเรื่องของความมั่นคง คือทำอย่างไรที่จะสามารถพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องของยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงเมื่อมีการเปิดอาเซียนแล้วเราจะสามารถยืนในตลาดการแข่งขันได้อย่างไร ทั้งนี้ในเรื่องของการเข้าถึงยา เรามองว่าจะทำอย่างไรที่จะปรับการขึ้นทะเบียนต่าง ๆ ให้มีความรวดเร็วมากขึ้น โดยในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้ รวมถึงกลไกในเรื่องของการจัดการเมื่อเกิดปัญหาวิกฤติ ยกตัวอย่างที่ผ่านมา เมื่อเกิดวิกฤติการณ์น้ำท่วม ทำให้ยาโดยเฉพาะน้ำเกลือขาดตลาดทันที เราจึงต้องมีการเตรียมการเนื่องจากโลกทุกวันนี้ไม่มีอะไรแน่นอน
ภก.วินิต กล่าวเพิ่มเติมในส่วนการเปลี่ยนแปลงของ อย. ในขณะนี้มี 2 เรื่อง ได้แก่ 1. การปรับกระบวนทัศน์การขึ้นทะเบียน อนุมัติ อนุญาต ผลิตภัณฑ์ เพราะถ้ามุ่งแต่ตั้งรับ หรือเข้มงวดกับการขึ้นผลิตภัณฑ์ยาใหม่ ๆ โอกาสของยาใหม่ ๆ ที่จะออกสู่ท้องตลาดคงต้องใช้เวลานานมาก ซึ่งบางครั้งกว่าที่ยาจะนำออกมาสู่ท้องตลาดอาจไม่ทันกับสถานการณ์ และ 2. การถ่ายโอนภารกิจการประเมินวิชาการ และจัดตั้งองค์การมหาชน เนื่องจาก อย.เองไม่สามารถทำงานทุกเรื่องให้ทันได้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง GPP อาจมอบหมายให้หน่วยงานอื่นมาช่วยดูแล เพื่อให้อย.ได้เป็น SMART Regulation ในการส่งเสริมเศรษฐกิจและคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งผู้ประกอบการก็คือพวกเราเองที่ต้องตามกระแสให้ทัน โดยถ้าเป็นไปตามนโยบายเรื่องระบบประกันสุขภาพจะมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องท้าทายที่ร้านยาจะแสดงศักยภาพการบริการเพื่อเข้ามารองรับกับระบบหลักประกันสุขภาพ เราจึงต้องเริ่มคิดเตรียมพร้อม ไม่ใช่ปล่อยให้สถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เกิดก่อนแล้วจึงค่อยมาปรับตัวเพราะอาจจะไม่ทันการณ์
นอกจากนี้การพึ่งพาตนเองของร้านยา เราต้องเน้นพวกนวัตกรรมใหม่ ๆ การที่เราจะพึ่งพาตนเองได้อุตสาหกรรมยาที่บ้านเราต้องเข้มแข็ง ไม่ใช่คิดแต่เฉพาะเรื่องราคาเป็นหลัก ดังนั้น แนวคิดเรื่องพวกนี้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่ว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่อุตสาหกรรมยาพัฒนาขึ้นอยู่ได้ โดยให้พวกเขาได้รับผลประโยชน์พอสมควร รวมถึงการพัฒนากลไกในการขับเคลื่อนมาสนับสนุนส่งเสริม ตรงนี้เป็นสิ่งที่เรากำลังมองอยู่ว่าจะพัฒนากลไกระดับชาติเพื่อจะปฏิรูปเฉพาะแค่ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพ ขณะนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงไป เรื่องของ cell therapy ยาชีววัตถุคล้ายคลึง (Biosimilars) เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เราก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้มากขึ้น เราจะเข้าใจแต่เรื่องของยาเคมีไม่ได้ และถ้าเป็นเรื่องของสมุนไพรขณะนี้ก็มีการพยายามส่งเสริมให้นำสมุนไพรมาใช้ในรูปของการรักษาโรคและดูแลสุขภาพ เพราะต่อไปเราจะได้ยินคำว่า Natural Health Products บ่อยขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์พวกนี้เราต้องช่วงชิงให้จำหน่ายในร้านยาหรือทั่วไป สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มเตรียมการ เพราะในอนาคตพวกเราจะเจอความหลากหลายมากขึ้น อย่ามองแค่เฉพาะเรื่องของยา แต่ให้มองผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์พวกเวชสำอาง ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ จะเกิดขึ้น ดังนั้น เราจะต้องเตรียมตัวรองรับกับนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงระบบหลักประกันสุขภาพ การดูแลสุขภาพของระบบสาธารณสุขที่เปลี่ยนไป
ด้าน ภก.ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี อุปนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า การปฏิรูปของรัฐบาลที่พวกเราต้องรู้ ได้แก่ การปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องของพระราชบัญญัติยา พระราชบัญญัติทรัพย์สินทางปัญญา ร่างพระราชบัญญัติค้าส่ง-ค้าปลีก พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ พ.ศ. ... เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยเปิดตลาดให้แก่ร้านยาในการให้คำปรึกษาด้านยาแก่คนไข้ที่มาใช้บริการ หรือการนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรออกจำหน่ายทั่วโลกผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมไม่มีการเอาเปรียบ นอกจากนี้การที่รัฐบาลได้ลงนามตามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) หรือบางทีก็เรียกกันคุ้นเคยว่า เขตการค้าเสรี ทำให้เราถูกบังคับด้วยสังคมโลก ในส่วนของตลาดยา กระแสในโลกออนไลน์ (Social Network) การให้คำปรึกษาในเรื่องของยา ตลอดจนการจัดซื้อจัดจ้างอาจจะมีการใช้ระบบ IT เข้ามาช่วยดูแลโดยตรวจเช็กข้อมูลจากบัตรประชาชน เพื่อให้ง่าย สะดวก และปลอดภัย ทั้งนี้ในเรื่องของการแข่งขันทางการค้า การเข้ามาของคู่แข่งที่เป็นพวกเราต้องแข่งขันเอง หรือเป็นการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ Chain Drug Store ที่กำลังขยายธุรกิจเข้ามาร่วมแข่งขัน พวกนี้จะเกิดเร็วมากขึ้นเรื่อย ๆ ตรงนี้จึงอยู่ที่เราที่จะต้องพัฒนา โดยเฉพาะในเรื่องของ IT ที่จะมีส่วนเข้ามาช่วยสนับสนุน ถือเป็นการปฏิรูปร้านยาภายในประเทศ โดยบางเรื่องก็เป็นการปฏิรูปประเทศไปพร้อม ๆ กัน
“ดังนั้น อันดับแรกเราจึงต้องรู้จักตัวเองก่อน ทั้งนี้เป้าหมายในเรื่องของ Health Care ในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมด จัดร่างขึ้นโดยประเทศสิงคโปร์ มีหลักใจความสำคัญ ได้แก่ สินค้ายาต้องได้มาตรฐานสากล และให้มีการลงทุนเข้าออกในอาเซียนได้อย่างเต็มที่ โดยสามารถถือหุ้นได้ 70% สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว ซึ่งถ้าพวกเขาไม่สบายและมาพึ่งบริการร้านยา เราจะมีระบบดูแลหรือไม่ ในเรื่องนี้คิดว่าไม่เกิน 10 ปี คงต้องเกิดขึ้น และถ้ามีใครคิดก่อนก็จะได้เปรียบ ทั้งนี้ในส่วนของร้านยาจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นร้านยาสมัยใหม่ และต้องมีเภสัชกรร้านยาสมัยใหม่ที่จะนำระบบ E-commerce เข้ามาดูแลในเรื่องของการให้คำปรึกษาเรื่องยา รวมถึงกระแสการให้บริการสั่งซื้อทางระบบออนไลน์เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งในระบบการค้าและการบริการ เนื่องจากประชาชนเข้าถึงได้ง่าย เราจึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ด้วย เพราะถ้ามีกรณีปัญหาเกิดขึ้นเราจะได้รู้ว่าควรทำอย่างไร หรือควรจะจัดส่งอย่างไรเพื่อความรวดเร็วและปลอดภัย ทำให้เราสามารถให้คำปรึกษาและจำหน่ายยาได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งหมดนี้คือเรื่องของการแข่งขันที่เราจะต้องดูข้อบังคับทางด้านกฎหมายควบคู่ไปด้วย”
ภก.ดร.นิลสุวรรณ กล่าวย้ำถึงการเตรียมพร้อมของเภสัชกรในการเปิดตลาดเสรีทางการค้าด้วยว่า ในอนาคตถ้าเภสัชกรผ่านหลักเกณฑ์เป็นสาขาวิชาชีพที่ 9 เภสัชกรก็สามารถแลกเปลี่ยนเคลื่อนย้ายการทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ถึง 10 ประเทศ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ขณะนี้เราพร้อมที่จะเดินทางไปสู่จุดนี้หรือไม่ ทั้งนี้เราต้องมองย้อนไปที่ระบบการศึกษา ซึ่งขณะนี้ทุกประเทศในอาเซียนยังขาดแคลนเภสัชกรจำนวนมาก เราจึงต้องมาดูว่า จะวางแผนเกี่ยวกับระบบการศึกษาในวิชาชีพเภสัชกรรมอย่างไรจึงจะเหมาะสม รวมถึงตัวเภสัชกรก็ต้องปฏิรูปตัวเองโดยเฉพาะเรื่องของภาษา ซึ่งขณะนี้ถึงเวลาหรือยังที่พวกเราต้องเตรียมพร้อมสู่การปฏิรูปที่จะเกิดขึ้น โดยตัวเราเองต้องมองเตรียมพร้อมไปด้วยไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของร้านยา หรือเภสัชกร