วัคซีนไข้เลือดออก หนึ่งในความหวังคนไทย เพื่อเตรียมพร้อมสู่การรับมือไข้เลือดออก
แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกอาจจะดูเงียบหายไป ไม่ได้เป็นข่าวครึกโครมเหมือนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จนทำให้หลายคนนิ่งนอนใจและคิดว่าช่วงนี้คงไม่มีโรคไข้เลือดออกเกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว “สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศยังน่าเป็นห่วง” เนื่องจากเป็นโรคที่มีการระบาดทุกปี อีกทั้งข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังพบว่า สถานการณ์ของไข้เลือดออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่า โดยในปี พ.ศ. 2558 มีรายงานผู้ป่วยเพียง 4,783 ราย มากสุดในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคเหนือ และกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในชุมชนเขตเมือง ทั้งที่ไม่ใช่อยู่ในช่วงฤดูการระบาด ทำให้หลายคนเกิดความกังวลว่าในช่วงฤดูฝนของปีนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกอาจจะมีการระบาดมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสภาวะโลกร้อนที่ทำให้ลูกน้ำยุงลายเติบโตเป็นตัวเต็มวัยได้เร็ว ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 11,616 ราย สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี พ.ศ. 2558 ที่พบ 5,971 ราย เสียชีวิต 4 ราย โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในภาคกลาง 5,928 ราย รองลงมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,492 ราย ภาคใต้ 1,861 ราย ภาคเหนือ 1,335 ราย
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเกี่ยวกับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าชุมชนเขตเมืองยังมีอัตราป่วยสูง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่มีผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศ รวม 2,730 ราย ขณะที่ต่างจังหวัดแนวโน้มผู้ป่วยเริ่มลดลง จากความร่วมมือของประชาชน ชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคในลักษณะประชารัฐอย่างเข้มข้น ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน รอบบริเวณบ้าน และชุมชนของตนเอง ไม่ให้มีภาชนะขังน้ำที่มีลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ 3 เก็บ คือ เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งเพื่อไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะ เศษอาหารไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และเก็บน้ำปิดฝาภาชนะให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทำต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคที่มาจากยุงลาย 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทั้งนี้ได้กำชับให้ทุกจังหวัดส่งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสาธารณสุขช่วยกระตุ้นประชาชนในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และสำรวจลูกน้ำยุงลาย ตลอดฤดูร้อนไปจนถึงกลางเดือนเมษายนก่อนจะเข้าฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงโอกาสทองในการควบคุมป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง หากไม่ได้รับการควบคุมป้องกันโรคที่เข้มข้น คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในปี พ.ศ. 2559 ประมาณ 160,000-170,000 ราย
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายจัดรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยจาก 3 โรคร้ายจากยุงลายคือ ไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยรณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนทุกคนดำเนินมาตรการ 3 เก็บ 5 ส. ซึ่ง 3 เก็บ คือ เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะ เศษอาหารไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และเก็บน้ำปิดฝาภาชนะให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ และ 5 ส. คือ สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ สร้างนิสัย ทั้งในที่ทำงาน บ้าน โรงพยาบาล โรงเรียน โรงงาน วัด ดำเนินการพร้อมกันทั้งประเทศอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง 2 เดือน ตั้งแต่วันวาเลนไทน์ถึงสงกรานต์ทุกวันศุกร์ เพื่อลดจำนวนยุงก่อนถึงช่วงการระบาดในฤดูฝน โดยสาเหตุที่เน้นการรณรงค์ช่วงหน้าแล้ง เพราะถือว่าเป็นช่วงเวลาทอง ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2559 นี้เป็นช่วงที่ยุงเตรียมการระบาด ต้องรีบกำจัดให้หมดไป เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนที่ยุงจะระบาด จะเป็นการลดการเกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และลดการแพร่ระบาดโรคที่เกิดจากยุงได้ ทำเป็นประจำทุกวันศุกร์ในที่ทำงาน และกลับไปทำที่บ้านในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้ประชาชนปราศจากโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากยุงลาย
“ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขยังคงมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง โดยให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศรณรงค์ให้ประชาชนดำเนินการตามมาตรการ 3 เก็บ 5 ส. ป้องกัน 3 โรคจากยุงลาย ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นในพื้นที่ 6 โรง คือ โรงพยาบาล โรงเรือน โรงงาน โรงแรม โรงเรียน และโรงธรรม หากพบให้ใช้มาตรการ 3-3-1-5-14 ได้แก่ แจ้งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วภายใน 3 ชั่วโมง ทีมสอบสวนโรคลงสอบสวนโรคภายใน 3 ชั่วโมง และดำเนินการควบคุมโรค พ่นยาฆ่ายุงลายในรัศมี 100 เมตร ภายใน 1 วัน เพื่อให้การควบคุมป้องกันโรคได้ผล ไม่กระจายไปในวงกว้าง โดยประเมินจากค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย ภายใน 5 วันต้องเป็นศูนย์ คือไม่พบลูกน้ำยุงลายและไม่พบผู้ป่วยรายใหม่หลัง 14 วัน ซึ่งขณะนี้ดำเนินการอย่างเข้มข้นทุกพื้นที่ นอกจากนี้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “พิชิตลูกน้ำยุงลาย” ซึ่งช่วยประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคจากยุงลาย มีข้อมูลที่สำรวจความชุกชุมของลูกน้ำยุงลายในบ้าน มีฟังก์ชันการรายงานผู้ป่วยให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ลงพื้นที่สำรวจ เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดการระบาด ขณะนี้ในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์สามารถโหลดใช้งานได้แล้วในเพลย์สโตร์ ในส่วนของระบบไอโอเอสกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา หากมีข้อสงสัย สามารถโทรศัพท์สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง”
อย่างไรก็ตาม นอกจากมาตรการในการเฝ้าระวัง รณรงค์ป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกของหน่วยงานสาธารณสุขแล้ว อีกหนึ่งความหวังของคนไทยทุกคนในการป้องกันตนเองจากโรคไข้เลือดออกคือ “วัคซีนไข้เลือดออก” ซึ่งล่าสุดทีมวิจัยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถสร้างแอนติบอดีจากมนุษย์สำหรับรักษาไข้เลือดออกได้
รศ.นสพ.ดร.พงศ์ราม รามสูต หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออกจัดเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า 2 ใน 5 ของประชากรโลกมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเดงกี และพบว่าประชากรประมาณ 100 ล้านคนทั่วโลกติดเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ป่วยจำนวนถึง 500,000 รายที่เป็นโรคไข้เลือดออกชนิดรุนแรงที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตถึง 20,000 รายต่อปี ในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกยังไม่มียาหรือวัคซีนที่เฉพาะ การรักษาโรคไข้เลือดออกใช้การรักษาตามอาการ
ทีมวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในโลกในการสร้างแอนติบอดีจากมนุษย์ (NhuMAb) โดยคัดเลือกจากเซลล์ของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกระยะเฉียบพลัน และผู้ป่วยระยะฟื้นไข้ เป็นแอนติบอดีที่สามารถยับยั้งไวรัสไข้เลือดออกเดงกีได้ครบทั้ง 4 สายพันธุ์ ได้ทดสอบในหนูและลิง พบว่า NhuMAb สามารถเพิ่มการรอดชีวิตของหนู และสามารถทำลายไวรัสไข้เลือดออกเดงกีในกระแสเลือดของลิงได้หมดภายใน 2 วัน โดยได้ดำเนินการวิจัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จดสิทธิบัตรมาแล้วใน 10 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาให้ใช้ได้ในมนุษย์ คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้จริงภายในระยะเวลาอันใกล้นี้
หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยแอนติบอดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า NhuMAb ที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นประโยชน์กับการรักษาโรคไข้เลือดออกเป็นอย่างมาก เพราะยังคงไม่มียารักษาเฉพาะ รวมทั้งใช้ลดความรุนแรงของอาการป่วยจากไข้เลือดออกได้ NhuMAb จึงเป็นอีกหนทางในการช่วยเหลือผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วโลกที่ต้องการได้ยารักษา และไม่อยากป่วยเป็นไข้เลือดออกชนิดรุนแรง
สำหรับความคาดหวังของคนไทยที่จะได้รับการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกว่าจะมีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยหรือไม่ และเราควรฉีดหรือไม่ ในเรื่องนี้นั้น รศ.นพ.ชูเกียรติ ศิริวิชยกุล หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิหนึ่งในทีมวิจัยวัคซีนไข้เลือดออก ได้กล่าวไว้ในการจัดเสวนาความรู้สู่ประชาชน ครั้งที่ 1 เรื่อง ความหวังคนไทย...วัคซีนไข้เลือดออก ฉีดหรือไม่ฉีด ว่า โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งมี 4 ชนิดคือ ไวรัสเดงกี 1 ไวรัสเดงกี 2 ไวรัสเดงกี 3 และไวรัสเดงกี 4 โดยมียุงลายบ้านตัวเมียเป็นพาหะนำเชื้อ โดยชนิดที่รุนแรงจะเกิดขึ้นได้ร้อยละ 17 จากภาวะช็อกจนเกิดผลแทรกซ้อนต่าง ๆ และทำให้เสียชีวิตในที่สุด ทั้งนี้การพัฒนาวัคซีนเดงกี เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487-2499 โดย Walter Reed Army Institute of Research (WRAIR) ได้พัฒนาวัคซีนจากเชื้อสายพันธุ์ที่ 1 และ 2 โดยเตรียมในสมองหนูและทดสอบในคน พบว่าปลอดภัยและสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ต้องระงับไปเพราะลิงที่ใช้ทดสอบบางตัวมีอาการอัมพาต หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2515 WRAIR พัฒนาวัคซีนใหม่ โดยใช้ไวรัสสายพันธุ์บริสุทธิ์ แต่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี
ในส่วนของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2523 ศ.เกียรติคุณ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้คัดเลือกไวรัสที่แยกได้จากผู้ป่วย หลังจากนั้นเพาะเลี้ยงให้อ่อนฤทธิ์ลงและทดสอบในผู้ใหญ่ไทย พบว่าปลอดภัยและสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี ต่อมามหาวิทยาลัยมหิดลทำข้อตกลงกับบริษัท Pasteur Merieux ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Aventis Pasteur ให้ทำการพัฒนาวัคซีนเพื่อการผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยวัคซีนได้ถูกศึกษาในอาสาสมัครผู้ใหญ่และเด็กไทย พบว่าสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี แต่มีผลข้างเคียง เช่น ไข้ค่อนข้างมาก จึงไม่ได้มีการพัฒนาต่อ หลังจากนั้นบริษัท Aventis Pasteur ได้พัฒนาวัคซีนใหม่ โดยใช้ไวรัสไข้เหลืองเป็นแกน แล้วใส่สารพันธุกรรมของไวรัสเดงกีส่วนที่ควบคุมการสร้างเปลือกไวรัสเข้าไป ได้วัคซีนลูกผสมที่มีเปลือกเป็นไวรัสเดงกี แต่แกนเป็นไวรัสไข้เหลือง เรียกย่อ ๆ ว่า CYD ซึ่งอ่อนฤทธิ์ลงมาก
“วัคซีนนี้ได้รับการศึกษาเป็นลำดับจากสัตว์ทดลองจนถึงระยะที่ 1, 2 และ 3 ในคน (รวมทั้งเด็กไทย) พบว่าปลอดภัยและสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีและป้องกันโรคได้ นอกจากนี้ยังมีวัคซีนเดงกีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาโดยบริษัทวัคซีนอื่นอีก แต่ยังไม่สำเร็จ”
สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีน CYD พบว่า สามารถป้องกันไวรัสเดงกี ครอบคลุม 4 สายพันธุ์ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 60% แต่เมื่อดูเฉพาะสายพันธุ์พบว่า ป้องกันสายพันธุ์ที่ 2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคในคนไทยค่อนข้างบ่อยได้เพียง 36.8% ซึ่งต่ำกว่าสายพันธุ์อื่น ทั้งนี้ในคนที่มีอายุต่ำกว่า 9 ปี จะป้องกันได้ร้อยละ 44.6 แต่สำหรับคนที่มีอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป จะสามารถป้องกันได้ร้อยละ 65.6 โดยวัคซีนตัวนี้จะป้องกันได้ดีในโรคติดเชื้อเดงกีรุนแรงที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล ป้องกันได้ร้อยละ 60.3 แต่สำหรับในคนที่มีอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไปสามารถป้องกันได้ร้อยละ 80.8 แต่ในคนที่มีอายุต่ำกว่า 9 ปี จะป้องกันได้เพียงร้อยละ 56.1 โดยผลข้างเคียงของวัคซีนที่พบจะมีอาการเหมือนกับการฉีดวัคซีนทั่วไป คือปวด บวมแดง ทั้งนี้ประสิทธิภาพของวัคซีน CYD สามารถป้องกันโรคติดเชื้อเดงกีใน 25 เดือนแรก หลังฉีดได้ร้อยละ 60.3 ซึ่งวัคซีนตัวนี้ได้รับการจดทะเบียนในประเทศเม็กซิโก ฟิลิปปินส์ และบราซิล เมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 โดยจดทะเบียนใช้ในกลุ่มอายุ 9-45 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่วัคซีนสามารถป้องกันโรคได้ดีกว่า ซึ่งวัคซีนตัวนี้จะต้องฉีด 3 ครั้ง ห่างกันทุก 6 เดือน และจากการศึกษาติดตามเป็นระยะเวลา 5 ปี ในระยะที่ 2 ในประเทศสิงคโปร์พบว่า ผู้ฉีดวัคซีนมีภูมิคุ้มกันลดต่ำลงมาก บางคนเกือบหาไม่เจอ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเนื่องจากประเทศสิงคโปร์ไม่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกจึงทำให้ไม่มีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ เราจึงต้องทำการศึกษาต่อไปว่าจะต้องมีการกระตุ้นภายหลังจากฉีด 3 เข็มแรกไปแล้วหรือไม่
รศ.นพ.ชูเกียรติ กล่าวต่อว่า ในส่วนของประเทศไทย วัคซีนตัวนี้ได้ยื่นขอจดทะเบียนที่ประเทศไทย โดยจดทะเบียนใช้ในกลุ่มอายุ 9-45 ปี กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว และในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งถึงแม้ว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่พบบ่อย และเป็นโรคที่สำคัญโรคหนึ่งในคนไทยที่ยังไม่มียารักษาก็ตาม แต่การพิจารณาในเรื่องของวัคซีนก็ยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ราคา งบประมาณของรัฐบาลที่มีอยู่ ตลอดจนประสิทธิภาพของวัคซีนซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาคงต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการฉีดวัคซีนด้วย ซึ่งไม่ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะตัดสินใจอย่างไรก็ตาม คงพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และสำหรับตัวเราเอง การที่จะฉีดวัคซีนหรือไม่คงต้องพิจารณาในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งในเรื่องของความปลอดภัย ความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ รวมถึงเรื่องของราคา ถ้าวัคซีนมีราคาแพงมากก็ต้องดูว่ามีวิธีป้องกันวิธีอื่นที่ดีกว่าหรือไม่ เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันโรคได้ 100% โดยวัคซีนที่กำลังจะจดทะเบียนสามารถป้องกันโรคได้ประมาณ 66% และป้องกันโรครุนแรงที่ต้องนอนโรงพยาบาลได้ประมาณ 81% ในคนที่มีอายุ 9 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 45 ปี