การรักษากระดูกหักแบบใหม่สไตล์ “รถไฟฟ้าใต้ดิน”

การรักษากระดูกหักแบบใหม่สไตล์ “รถไฟฟ้าใต้ดิน”

กระดูกหัก คือการเสียความต่อเนื่องอย่างใดอย่างหนึ่งของกระดูก ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมาน ไม่สามารถทำงานหรือเคลื่อนไหวได้ตามปกติ บางคนอาจต้องกลายเป็นผู้พิการ การรักษาที่ดีที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถช่วยผู้ป่วยให้กลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม หรือป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบริการดูแลรักษาและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยกระดูกหัก ไม่ว่าจะเป็นภาวะกระดูกหักที่เกิดจากอุบัติเหตุ ภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ รวมทั้งการแก้ไขความผิดปกติในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษากระดูกหักมาแล้วให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ศูนย์กระดูกและข้อกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ยกระดับความก้าวหน้าด้านการรักษากระดูกหักด้วยเทคนิคการรักษากระดูกหักแบบใหม่สไตล์ “รถไฟฟ้าใต้ดิน”

นพ.สุทร บวรรัตนเวช ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์กระดูกและข้อกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันภาวะกระดูกหักมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาวะกระดูกหักจากอุบัติเหตุ และภาวะกระดูกหักที่เกิดจากโรคกระดูกพรุน ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้พบปัญหากระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าการรักษาผู้ป่วยกระดูกหักเป็นหน้าที่หลักของศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์โดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยส่วนหนึ่งยังคงประสบปัญหาภายหลังการรักษา เช่น กระดูกติดผิดรูป กระดูกไม่ติด เกิดความพิการ มีอาการเจ็บปวด หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนเดิม ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยไม่ครบถ้วน การรักษาที่เกินความจำเป็น (Over treatment) หรือการรักษาที่น้อยกว่าที่สมควร (Under treatment) ซึ่งอาจเกิดจากศัลยแพทย์ขาดทักษะหรือความชำนาญ นอกจากนี้ปัญหาส่วนหนึ่งยังเกิดจากอุปกรณ์ในห้องผ่าตัดไม่พร้อม รวมทั้งวัสดุยึดตรึงกระดูกหักไม่ได้มาตรฐาน จึงเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันแล้วว่า การรักษากระดูกหักเป็นอนุสาขาหนึ่งของศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ (Orthopedic trauma) เนื่องจากการรักษากระดูกหักที่มีความสลับซับซ้อนให้ได้ผลการรักษาที่ดีนั้น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ต้องศึกษาและฝึกฝนเพิ่มเติมจนมีทักษะและความชำนาญในการดูแลรักษาผู้ป่วยเพื่อให้เกิดผลการรักษาที่ดีที่สุด ให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจกรรมได้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุด

นพ.สุทร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ได้พัฒนาไปสู่แนวทางใหม่ในการรักษาโรคกระดูกหักได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก โดยหลักการของ AO คือ การจัดกระดูกให้เข้าที่ตามกายวิภาค การยึดตรึงกระดูกโดยวัสดุอุปกรณ์ที่มั่นคง การผ่าตัดที่ไม่ทำลายเส้นเลือดและทำให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อจากการผ่าตัดให้น้อยที่สุด ภายหลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถเคลื่อนไหวได้ทันที นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคนิดการผ่าตัด เชื่อมกระดูกหักแผลเล็ก ซึ่งให้ผลสำเร็จในการผ่าตัดสูงและช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่สำคัญเทคนิคการผ่าตัดเชื่อมกระดูกแนวใหม่นี้สามารถแก้ปัญหากระดูกหักได้ทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่กระดูกไหปลาร้า กระดูกรยางค์ส่วนบนและส่วนล่างไปจนถึงข้อเท้า ศูนย์กระดูกและข้อกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นศูนย์รักษาเฉพาะทางด้านกระดูกและข้อครบทุกส่วนของร่างกาย มีแพทย์ออร์โธปิดิกส์ครบทุกอนุสาขา (Hand and Microsurgery, Pediatric orthopedic, Bone tumor, Foot & Ankle, Hip & Knee, Ortho trauma) จึงเปิดเป็นศูนย์รักษาเฉพาะทางด้านกระดูกหักเพื่อให้การบริการดูแลรักษาผู้ป่วยกระดูกหัก ภายใต้ชื่อ “ศูนย์รักษากระดูกหักกรุงเทพ” โดยใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัย (C-arm, High quality Swiss implants) ครบทุกเทคนิคการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยกระดูกหักแต่ละประเภท เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่มีมาตรฐานสูง และมีผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ โดยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกหักตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ศูนย์รักษากระดูกหักกรุงเทพ ยังเล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกสะโพกหัก ซึ่งมักมีโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนสูง “ศูนย์รักษากระดูกหักกรุงเทพ” จึงจัดโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะ (Geriatric Hip Fracture Co Management Program) เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง รวดเร็ว และคลอบคลุม   

นพ.วัชระ พิภพมงคล ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ศูนย์รักษากระดูกหักกรุงเทพ กล่าวเสริมว่า กรณีผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ นอกจากจะพบกระดูกหักแล้ว ยังพบความเสียหายของเยื่อหุ้มกระดูก เส้นเลือดและเนื้อเยื่อโดยรอบถูกทำลาย กระดูกเกยกัน หรือโค้งงอ ทำให้เจ็บปวดอย่างมากและไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ดังนั้น การผ่าตัดรักษากระดูกหักจากอุบัติเหตุด้วยการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว และกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ทั้งนี้วิธีการรักษาภาวะกระดูกหักจะพิจารณาตามความเหมาะสมและความรุนแรงที่เกิดขึ้น อาทิ การใช้เหล็กแกนสอดในโพรงกระดูก การใช้โครงเหล็กยึดตรึงกระดูกจากภายนอก การใช้เหล็กแผ่นและสกรูเพื่อยึดตรึงกระดูกหัก เป็นต้น นอกจากนี้การรักษาในปัจจุบันไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การดามกระดูกแต่เพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับการลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นบริเวณที่กระดูกหัก รวมถึงอันตรายต่อร่างกายโดยรวมด้วย (Damage control) โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุและมีการบาดเจ็บในหลายระบบ (Polytrauma) ปัจจุบันศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ได้นำเทคนิค “การผ่าตัดยึดตรึงกระดูกแบบแผลเล็ก” หรือ Minimally Invasive Plate Osteosynthesis (MIPO) หรือการผ่าตัดรักษากระดูกหักแบบ “รถไฟฟ้าใต้ดิน” มาใช้ในการรักษา โดยมีอุปกรณ์เครื่องมือช่วยในการยึดตรึงกระดูก แล้วใช้อุปกรณ์เฉพาะในการทำทางเพื่อสอดเหล็กแผ่นใต้ชั้นกล้ามเนื้อตามตำแหน่งที่หัก โดยวางเหล็กแผ่นอยู่เหนือกระดูก จากนั้นจึงเปิดแผลเล็ก ๆ เพื่อยึดกระดูกด้วยสกูรด้านบนและด้านล่างของตำแหน่งที่หัก เทคนิคนี้ทำให้ไม่จำเป็นต้องเปิดแผลยาว จึงช่วยให้เนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ และระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณเยื่อหุ้มกระดูกบอบช้ำน้อยที่สุด ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว กระดูกติดเร็ว มีแผลขนาดเล็กสวยงาม และลดภาวะแทรกซ้อน เช่น กระดูกติดช้า และการติดเชื้อ อีกทั้งแพทย์ได้นำเครื่องเอกซเรย์ฟลูโอโรสโคป (Fluoroscope) ที่ทำให้เห็นภาพเอกซเรย์ได้ทันทีในขณะผ่าตัดเข้ามาช่วยในการจัดแนวกระดูกและวางตำแหน่งของวัสดุยึดตรึงกระดูกเสริมความแม่นยำขณะผ่าตัดอีกด้วย

ด้าน นพ.บุณยรักษ์ วิสุทธิผล ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ศูนย์รักษากระดูกหักกรุงเทพ กล่าวเสริมว่า นอกจากอุบัติเหตุแล้ว ภาวะกระดูกหักยังอาจมาจากสาเหตุอื่น เช่น ภาวะกระดูกพรุน ซึ่งผู้ป่วยจะไม่มีอาการและใช้ชีวิตปกติเหมือนคนทั่วไป แต่ทันทีที่เกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย เช่น หกล้มแม้ไม่รุนแรง แต่กระดูกที่พรุนอยู่แล้วก็จะหักได้ง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะกระดูกบริเวณสะโพก ซึ่งการนอนพักเพื่อรอให้กระดูกติดกันเองนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการนอนนิ่ง ๆ เป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดแผลกดทับ หรือปอดบวมซึ่งอาจเสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้โรคกระดูกพรุนยังส่งผลต่อโครงสร้างกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง รูปร่างเตี้ยลง หลังโกง ไหล่งุ้มกว่าปกติ ซึ่งการวิเคราะห์หาความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนจะช่วยหาแนวทางป้องกันและรักษาได้ในอนาคต

"ความเชี่ยวชาญของทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีความตระหนักถึงความเปราะบางและความแตกต่างของกระดูกในแต่ละช่วงวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งมีโอกาสเสี่ยงกระดูกแตกหักได้ง่ายกว่าวัยอื่น ดังนั้น การดูแลด้วยโปรแกรมดูแลผู้ป่วยกระดูกหักที่ใส่ใจทุกขั้นตอนการรักษา ร่วมกับเทคนิคเชื่อมกระดูกแบบแผลเล็กแบบรถไฟใต้ดินจะช่วยให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ" นพ.บุณยรักษ์ กล่าว อย่างไรก็ตาม การรักษากระดูกหักนั้น ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ ซึ่งจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดในการรักษาให้ผู้ป่วย และไม่จำเป็นว่ากระดูกหักทุกรายจะต้องผ่าตัดเสมอไป แต่เมื่อมีการบ่งชี้ว่าควรได้รับการผ่าตัด ศัลยแพทย์ต้องเลือกเทคนิคที่ถูกต้องเหมาะสม และได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าเป็นเทคนิคที่ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ในการผ่าตัดที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วยในภายหลัง