สธ. ประกาศความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนวัคซีนโปลิโอของไทย

สธ.ประกาศความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนวัคซีนโปลิโอของไทย

กระทรวงสาธารณสุข ประกาศความสำเร็จการปรับเปลี่ยนวัคซีนโปลิโอของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2559 ตามเป้าหมายองค์การอนามัยโลก โดยให้วัคซีนชนิดหยอด (OPV) 2 สายพันธุ์คือ เซบิน 1 และ 3 ร่วมกับวัคซีนชนิดฉีด (IPV) แก่เด็กไทยตามช่วงวัย พร้อมเก็บวัคซีนเก่าชนิดหยอด 3 สายพันธุ์ทั้งหมดเผาทำลายรวม 1.95 ล้านโด๊ส เพื่อกำจัดไวรัสโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนชนิดที่ 2 ให้หมดไปจากประเทศ 

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค, นพ.ริชาร์ด บราวน์ (Dr.Richard Brown) ผู้แทนสำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และนายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว “ความสำเร็จการปรับเปลี่ยนวัคซีนโปลิโอของประเทศไทย” ซึ่งเปลี่ยนจากวัคซีนโปลิโอชนิดหยอด 3 สายพันธุ์ เป็นวัคซีนโปลิโอชนิดหยอด 2 สายพันธุ์ ร่วมกับวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด 

            นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยได้ร่วมกับนานาประเทศทั่วโลกกวาดล้างโรคโปลิโอซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ทำให้เด็กเสียชีวิต หรือเกิดความพิการของร่างกายมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 โดยรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดหยอดรวม 3 สายพันธุ์คือ เซบิน 1, 2 และ 3 ฟรีแก่เด็กทุกคนตามช่วงวัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้นำประเทศ หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน จนประสบความสำเร็จ พบผู้ป่วยรายสุดท้ายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2540 ทำให้ประเทศไทยปลอดโรคโปลิโอมานานกว่า 19 ปี และได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ตามนโยบายฉากสุดท้ายของการกวาดล้างโปลิโอ พ.ศ. 2556-2561 ขององค์การอนามัยโลก ในการกวาดล้างโรคโปลิโอให้หมดไปจากโลกภายในปี พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดเป้าหมายปี พ.ศ. 2558-2559 ทุกประเทศกำจัดไวรัสโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนชนิดที่ 2 เป็นลำดับแรก เนื่องจากพบว่ามีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์สูงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ อีกทั้งไม่พบผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโปลิโอตามธรรมชาติชนิดที่ 2 มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เหลือเพียงเชื้อไวรัสที่อยู่ในวัคซีนเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนที่มีเชื้อไวรัสโปลิโอชนิดที่ 2 เป็นส่วนประกอบอีกต่อไป

            นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับเปลี่ยนการให้วัคซีนโปลิโอของประเทศไทยแบบใหม่ เป็นการฉีดวัคซีนโปลิโอชนิดเชื้อตาย (IPV) ร่วมกับหยอดวัคซีนโปลิโอชนิดเชื้อเป็น (OPV) 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์เซบิน 1 และ 3 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโปลิโอทั้ง 3 ชนิด ทดแทนการให้วัคซีนเดิมซึ่งเป็นชนิดหยอดรวม 3 สายพันธุ์ เพื่อให้ประเทศไทยไม่มีเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนชนิดที่ 2 หลงเหลืออยู่ ดำเนินการเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้มาจากความร่วมมือและการสนับสนุนจากผู้นำประเทศ สถาบัน องค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานบริการทุกแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน อาสาสมัครและประชาชนคนไทย การดำเนินการของไทยในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยโลกให้กวาดล้างโปลิโอสำเร็จในอนาคต  

            ด้าน นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการปรับเปลี่ยนวัคซีนโปลิโอของไทย ได้ให้สถานบริการเริ่มให้วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด ร่วมกับวัคซีนโปลิโอชนิดหยอด 3 สายพันธุ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโปลิโอทั้ง 3 ชนิด ขณะเดียวกันได้เรียกเก็บวัคซีนโปลิโอเก่าชนิดหยอดที่มี 3 สายพันธุ์ จากหน่วยบริการภาครัฐและเอกชน 76 จังหวัดทั่วประเทศ และกรุงเทพมหานคร กลับมาเผาทำลายทั้งหมด รวม 1,950,425 โด๊ส เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา จากนั้นตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2559 ได้ใช้วัคซีนชนิดหยอดที่มี 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์เซบิน 1 และ 3 แทนการใช้วัคซีนโปลิโอแบบหยอด 3 สายพันธุ์ ร่วมกับวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด พร้อมทั้งสุ่มประเมินสถานบริการและคลังวัคซีนทุกแห่งจนมั่นใจว่าไม่มีวัคซีนโปลิโอชนิดหยอด 3 สายพันธุ์ที่มีเชื้อไวรัสโปลิโอชนิดที่ 2 หลงเหลืออยู่ในระบบบริการสาธารณสุขไทยแล้ว

            “โปลิโอเป็นโรคติดต่อร้ายแรง เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ มี 3 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์ 1, 2 และ 3 ในอดีตพบผู้ป่วยทั่วโลกปีละหลายแสนคน ปัจจุบันสถานการณ์ผู้ป่วยทั่วโลกลดลงเป็นจำนวนมาก โดยในปี พ.ศ. 2558 พบการระบาดผู้ป่วยโรคโปลิโอเพียง 2 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน และปากีสถาน สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยรายสุดท้ายในเดือนเมษายน พ.ศ. 2540 และอยู่ในสถานะปลอดโรคโปลิโอจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันทั่วโลกไม่พบเชื้อไวรัสโปลิโอก่อโรคที่มีอยู่ตามธรรมชาติชนิดที่ 2 แล้วก็ตาม แต่ปัญหาคือ ยังพบเชื้อไวรัสโปลิโอที่มีในวัคซีนเกิดการกลายพันธุ์ในบางประเทศ ซึ่งมีสาเหตุจากความครอบคลุมของวัคซีนโปลิโอต่ำ ทั้งนี้จากการติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคระหว่างปี พ.ศ. 2558 ถึงปัจจุบัน พบว่ามีรายงานผู้ป่วยโรคโปลิโอจากการกลายพันธุ์ของวัคซีนแบบหยอดในประเทศเพื่อนบ้านของไทย 13 ราย” นพ.อำนวย กล่าว

นพ.อำนวย กล่าวอีกว่า การกวาดล้างเชื้อไวรัสโปลิโอชนิดที่ 2 ที่มีอยู่ในวัคซีนให้หมดไปจากโลก องค์การอนามัยโลกได้กำหนดมาตรการสับเปลี่ยนการใช้วัคซีนโปลิโอแบบรับประทานที่ประกอบด้วยเชื้อไวรัสโปลิโอ 3 ชนิดคือ ชนิดที่ 1, 2 และ 3 (trivalent OPV) เป็น 2 ชนิดคือ ชนิดที่ 1 และ 3 (bivalent OPV) เนื่องจากทั่วโลกสามารถกวาดล้างเชื้อดังกล่าวได้เป็นผลสำเร็จแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนที่มีเชื้อไวรัสโปลิโอชนิดที่ 2 เป็นส่วนประกอบ โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดกรอบเวลาให้ประเทศต่าง ๆ ทำลายวัคซีนโปลิโอแบบหยอดชนิดที่ 2 ให้หมดไป ไม่มีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โดยการเผาทำลายตามมาตรฐานขยะติดเชื้อ กิจกรรมนี้นับเป็นกิจกรรมประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะร่วมมือกับนานาประเทศทั่วโลก

            ทั้งนี้สถานการณ์โรคโปลิโอในระดับนานาชาติมีแนวโน้มดีขึ้นมาก จากการที่นานาประเทศร่วมมือกันกวาดล้างโรคโปลิโอ พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อโปลิโอตามธรรมชาติจำนวนลดลงกว่าในอดีตมาก ในปี พ.ศ. 2559 มีผู้ป่วยโปลิโอจากเชื้อโปลิโอตามธรรมชาติซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ 1 เพียง 12 ราย ใน 2 ประเทศคือ ปากีสถานและอัฟกานิสถาน แต่กลับพบผู้ป่วยโปลิโอจากการกลายพันธุ์ของเชื้อที่อยู่ในวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความครอบคลุมการได้รับวัคซีนต่ำกว่าร้อยละ 40 ส่วนใหญ่เป็นการกลายพันธุ์ของเชื้อโปลิโอสายพันธุ์วัคซีนชนิดที่ 2 ทั้งที่ไม่พบผู้ป่วยโปลิโอจากเชื้อไวรัสโปลิโอตามธรรมชาติชนิดที่ 2 มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 และไม่พบสายพันธุ์ที่ 3 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 

            ด้าน นพ.ริชาร์ด บราวน์ ผู้แทนสำนักงานองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ให้ความเห็นว่า การดำเนินการปรับเปลี่ยนการใช้วัคซีนโปลิโอในครั้งนี้นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญในความพยายามของนานาประเทศทั่วโลกที่จะกวาดล้างเชื้อไวรัสโปลิโอให้หมดไป ในช่วงเวลาอันสำคัญนี้องค์การอนามัยโลกได้ให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ แก่ประเทศสมาชิก และได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันควบคุมโรคโปลิโอมาสังเกตการณ์วิธีการปรับเปลี่ยนวัคซีนโปลิโอของประเทศไทย ซึ่งพบว่าประเทศไทยสามารถดำเนินงานได้อย่างดีเยี่ยม เป็นไปตามหลักเกณฑ์และกรอบเวลาที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้