คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล จัดประชุมวิชาการ Pharmacy Review and Update Series 2016: Pharmacotherapy of Neurological Disorder
วิทยาการด้านยาในปัจจุบันต้องอาศัยการบูรณาการความรู้ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงการนำไปใช้ นอกจากนี้ความก้าวหน้าในด้านดังกล่าวยังเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น บุคลากรทางสาธารณสุขจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนความรู้ในเชิงบูรณาการและติดตามความก้าวหน้าของวิทยาการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้พัฒนาความสามารถของการทำงานในวิชาชีพของตนเองในทุกภาคส่วน เพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและสังคมต่อไป
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย มีความประสงค์ที่จะนำเสนอการประชุมวิชาการในรูปแบบที่มุ่งเน้นการบูรณาการความรู้ด้านเภสัชศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับความรู้และเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งในด้านการรักษาด้วยยา และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 และได้ดำเนินการจัดประชุมวิชาการในลักษณะดังกล่าวนี้เป็นรายปี ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยในแต่ละปีจะมีปรัชญาการประชุมที่เหมือนกันคือ เน้นการบูรณาการ แต่เนื้อหาการประชุมอาจจะแตกต่างกันออกไปตามศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ภก.ธนรัตน์ สรวลเสน่ห์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะกรรมการจัดการประชุมวิชาการ กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2559 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดให้มี การประชุมวิชาการ Pharmacy Review and Update Series 2016 ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับ Pharmacotherapy of Neurological Disorder ระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ณ ห้องประชุม 302 อาคารเทพรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมเข้าใจพื้นฐานการออกฤทธิ์ของยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางที่ใช้บ่อย รวมถึงคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาที่สำคัญและบอกความแตกต่างของยาแต่ละชนิดได้ รวมถึงเข้าใจและอธิบายบทบาทของการรักษาด้วยยาในโรคระบบประสาทที่พบบ่อย โดยอ้างอิงตามหลักฐานทางวิชาการที่ทันสมัย และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการประเมินความเหมาะสมของการใช้ยา การวางแผนการติดตามประสิทธิภาพและความปลอดภัย และให้คำแนะนำปรึกษาเรื่องยาแก่ผู้ป่วย เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เนื้อหาการประชุมครอบคลุมโรคระบบประสาทที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติและการใช้ยาในโรคระบบประสาท ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปวดศีรษะไมเกรน โรคมะเร็งสมอง โรคติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลาง โรคลมชัก โรคปวดเหตุพยาธิระบบประสาท กลุ่มอาการปวดเรื้อรังระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองของระบบประสาท โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ รวมถึงการใช้ยาจิตเวชเพื่อรักษาอาการผิดปกติของพฤติกรรมและอารมณ์ในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่เภสัชกรในการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบประสาทและต้องได้รับการรักษาด้วยยาชนิดต่าง ๆ ร่วมกับทีมบุคลากรสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยจากการใช้ยาสูงสุดต่อไป
“ยาที่ใช้ในโรคระบบประสาทส่วนกลาง ถ้าแบ่งตามกลุ่มยาแล้วมีจำนวนไม่มาก แต่ยาแต่ละชนิดจะมีความซับซ้อนในกลไกการออกฤทธิ์ ทำให้การได้ประโยชน์หรือโทษจากการใช้ยาแต่ละชนิดในกลุ่มเดียวกัน ก็อาจมีความแตกต่างกันได้ ดังนั้น หลักในการเลือกใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางจึงต้องพิจารณาจากทั้งตัวผู้ป่วย อาการผู้ป่วย โอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ปฏิกิริยาระหว่างยา รวมถึงการตอบสนองที่อาจจะคาดเดาได้ค่อนข้างลำบาก เพราะถ้าหากเลือกใช้ยาที่ไม่เหมาะสมจะทำให้การตอบสนองหรือการรักษาโรคนั้นได้ประสิทธิภาพไม่เต็มที่ หรือมีอาการไม่พึงประสงค์จากยาเกิดขึ้น ดังนั้น การเลือกใช้ยาจึงต้องพยายามใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในองค์ความรู้เรื่องยามาประกอบกัน ทำให้ต้องมีองค์ความรู้ดังกล่าวนี้อย่างละเอียด และมีความเข้าใจในระดับหนึ่ง” ภก.ธนรัตน์ กล่าว
ในส่วนของไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้ในการประชุมครั้งนี้ ภก.ธนรัตน์ กล่าวว่า เป้าหมายที่คณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการต้องการจะสื่อสารไปถึงผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ เภสัชกร แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางสาธารณสุขที่มีความจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้ทั้งหมด คือเข้าใจในความแตกต่างของยาแต่ละชนิดว่ายาแต่ละชนิดนั้นมีจุดเด่น จุดด้อย และข้อควรระวังในการเลือกใช้อย่างไร รวมถึงจะใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการเลือกยาอย่างไรให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5-10 ปีมานี้ ยาที่นำมาใช้รักษาโรคหรือความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางมีองค์ความรู้ในด้านพยาธิสรีรวิทยาและเป้าหมายการออกฤทธิ์ของยาที่ก้าวหน้าไปมาก ทั้งยาที่เป็นโมเลกุลใหม่และยาโมเลกุลเก่าที่มีจำหน่ายอยู่แล้ว แต่พบว่ามีกลไกการออกฤทธิ์เพิ่มเติมจากที่ทราบ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีการติดตามความก้าวหน้าในองค์ความรู้เหล่านี้ก็จะก้าวตามไม่ทัน และไม่รู้ว่าจะให้คำแนะนำการใช้ยากลุ่มนี้ได้อย่างถูกต้องอย่างไร ประกอบกับอุบัติการณ์ของโรคระบบประสาทที่เพิ่มสูงขึ้นในประชากร 2 กลุ่มคือ กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มวัยผู้สูงอายุ ก็ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยเฉพาะประชากรผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต ส่งผลให้โรคทางระบบประสาทบางประเภท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งสมอง โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่น่าจะมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เมื่อเห็นแนวโน้มเช่นนี้แล้วจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักโรค รู้จักยาเหล่านี้ให้มากขึ้น
ด้านวิทยากรที่ให้เกียรติมาบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นอาจารย์เภสัชกรของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยในแต่ละด้านของการใช้ยาอย่างแท้จริง โดยเนื้อหาการบรรยายจะมุ่งเน้นไปที่หลักการรักษาโดยใช้ยาเป็นสำคัญ
ทั้งนี้คาดว่าการประชุมวิชาการครั้งนี้จะได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนไม่น้อยกว่า 350 คน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับประโยชน์ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยโรคระบบประสาทได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย และสามารถนำองค์ความรู้ไปกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ กระจายยา การบริบาลทางเภสัชกรรม และการติดตามดูแลผู้ป่วยที่ได้รับยาในผู้ป่วยโรคระบบประสาทได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการครั้งนี้ที่เป็นเภสัชกรจะได้รับหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์จำนวน 15.75 หน่วยกิต และเหมือนดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำหนังสือประกอบการประชุมวิชาการที่มีความสมบูรณ์ระดับหนึ่ง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการนำกลับไปศึกษาได้ด้วยตนเอง และท้ายที่สุดหวังว่าการประชุมวิชาการ Pharmacy Review and Update Series 2016: Pharmacotherapy of Neurological Disorder ในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านที่เข้ามาร่วมประชุม
“ต้องยอมรับว่าความรู้ในเรื่องยาที่ใช้ในโรคระบบประสาทส่วนกลางเป็นองค์ความรู้ที่มีความซับซ้อนและยากต่อการเข้าใจ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นโรคที่ไม่ได้พบบ่อยในชีวิตประจำวัน แต่เนื่องจากยาที่ใช้ในโรคทางระบบประสาทส่วนกลางในปัจจุบันถูกนำไปใช้กับโรคอื่นหรือข้อบ่งใช้อื่นค่อนข้างมาก ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในโรคระบบประสาทเท่านั้น ดังนั้น ถ้าหากว่าเภสัชกรทราบว่าข้อดี ข้อเสีย อาการไม่พึงประสงค์จากยา และโอกาสเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่พบบ่อยของยาแต่ละชนิดก็จะทำให้สามารถให้ข้อมูลการใช้ยาที่เหมาะสม และทำให้ผู้ป่วยเกิดความปลอดภัยในการใช้ยาเพิ่มขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นที่โรงพยาบาลที่แผนกผู้ป่วยนอก หรือแผนกผู้ป่วยใน รวมถึงในร้านยาด้วย” ภก.ธนรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ งานวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โทรศัพท์ 0-2644-8679-81 ต่อ 3110 โทรสาร 0-2354-4326 หน่วยกิจกรรมวิชาการ โทรศัพท์ 0-2644-8679-81 ต่อ 1414 โทรสาร 0-2644-4536 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.pharmacy.mahidol.ac.th/conference