รอบรู้เรื่องสิว และสิวที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน
สิว ถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นที่มักจะประสบพบเจอกับเจ้าตัวปัญหานี้ ส่วนใหญ่แล้วอาการของสิวจะไม่รุนแรงนัก แต่สำหรับบางคนอาจจะรุนแรงและอักเสบมาก ที่สำคัญคือ บางคนเมื่อสิวหายไปแล้วก็ยังคงทิ้งรอย กลายเป็นแผลเป็น รอยดำ รอยบุ๋ม หรือรอยนูนไว้ให้รำคาญใจ
การเกิดสิวมีอยู่หลายประการ โดยเฉพาะช่วงเข้าสู่วัยรุ่น เพราะเนื่องจากร่างกายมีการสร้างฮอร์โมนเพศมากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนนี้จะไปกระตุ้นต่อมไขมันให้มีขนาดโตและผลิตไขมันได้มากขึ้น และจะทำให้ใบหน้าและหนังศีรษะเกิดความมันมาก อีกทั้งยังมีแบคทีเรียที่ชื่อว่า P. acne เพิ่มมากขึ้นในบริเวณรูขุมขน และในต่อมไขมันที่มีขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้รูขุมขนบริเวณที่มีสิวสร้างเคราตินที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการอุดตันที่บริเวณรูขุมขนนั้น และยังเป็นตัวกระตุ้นให้สิวอักเสบมากขึ้นได้
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้สิวกำเริบ เช่น ความเครียดจะกระตุ้นให้ต่อมไขมันทำงานมากขึ้น การนวด ขัด ถู ใบหน้าแรง ๆ การล้างหน้าด้วยสบู่บ่อยเกินไป การใช้ยาทาบางอย่าง เช่น สเตียรอยด์ เครื่องสำอาง และสารเคมีบางอย่างอาจจะกระตุ้นให้เกิดสิวได้ หรือกลุ่มคนที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสกับอากาศร้อน เหงื่อออกมาก หรือทำงานในโรงงานที่ต้องสัมผัสกับน้ำมัน ก็ล้วนทำให้เป็นสิวได้มากขึ้นเช่นกัน
รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรักษาสิวเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถือว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อย ซึ่งการเป็นสิวก็ต้องแยกก่อนว่าเกิดจากอะไร เพราะบางครั้งสิวไม่ได้เกิดแค่เฉพาะฮอร์โมนเพียงอย่างเดียว อาจเกิดจากการสะสมจากการล้างเครื่องสำอางออกไม่หมด เกิดจากการใช้ยาสเตียรอยด์ต่าง ๆ และเกิดจากเชื้อรา โดยการวินิจฉัยโรคจะแยกโรคจากรูขุมขนอักเสบและที่เกิดจากสเตียรอยด์ เพราะจะมีลักษณะเป็นตุ่มแดง ๆ บริเวณรูขุมขน และจะเกิดหลังจากการใช้สารสเตียรอยด์ประมาณ 2 สัปดาห์
โดยลักษณะอาการทั่วไปของคนที่เป็นสิว สิวอุดตัน มีลักษณะเป็นตุ่มนูนบนผิวซึ่งเป็นลักษณะของสิวหัวปิด แต่หากพบเป็นจุดดำที่ยอดของตุ่มก็จะเป็นลักษณะของสิวหัวเปิด ซึ่งปกติจะพบคละ ๆ กัน สิวอักเสบมีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีแดง ตุ่มหนอง หรืออักเสบมากคล้ายถุงซีสต์ และบริเวณที่พบสิวมากคือ ใบหน้า หน้าอก และหลัง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่เป็นจำนวนมาก
ในส่วนการดูแลรักษาไม่ให้เกิดสิว ส่วนใหญ่จะใช้ยาทาและยารับประทานในการรักษา ซึ่งยาทาที่นิยมใช้มีอยู่ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มยาปฏิชีวนะ เช่น อิริโทรมัยซิน (erythromycin), คลินดามัยซิน (clindamycin) นอกจากจะเป็นกลุ่มที่ช่วยลดปริมาณของ P. acne ที่รูขุมขนแล้ว ยังช่วยลดการอักเสบด้วย กลุ่มเบนซอยล์ เปอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide) ก็ช่วยลดปริมาณของ P. acne ที่รูขุมขนและช่วยลดการอักเสบ กลุ่มยาทากลุ่มกรดวิตามินเอจะช่วยละลายหัวสิว ใช้ได้ดีในสิวชนิดไม่อักเสบ ยาแต่ละชนิดมีหลายความเข้มข้น ความเข้มข้นที่สูงจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย หากทายาต่อเนื่อง 2-4 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรใช้ยารับประทานร่วมด้วย
สำหรับยารับประทานจะเป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มเตตร้าไซคลิน (tetracycline) หรือด็อกซีไซคลิน (doxycycline) หรือถ้าเป็นสิวเรื้อรัง รุนแรง ควรใช้ยาในกลุ่มกรดวิตามินเอ (13-cis retinoic acid) ซึ่งควรจะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง เนื่องจากยาชนิดนี้จะมีผลต่อการตั้งครรภ์ การทำงานของตับ และไขมันในเลือด โดยสิวที่มีอาการไม่รุนแรงจะสามารถหายได้เอง หรือเมื่อรักษาต่อเนื่อง อาการจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะเวลาเพียง 2-4 สัปดาห์ หากเป็นสิวที่รุนแรงมักใช้เวลาหลายเดือน อาการอักเสบจึงจะทุเลาลง นอกจากการรักษาด้วยวิธีการรับประทานยา และทายาแล้ว การใช้แสงเลเซอร์ การฉายแสงสีฟ้าและแสงสีแดงจะช่วยเสริมผลการรักษาสิวให้หายเร็วขึ้นด้วย
ในการรักษาสิว ไม่ใช่แค่เฉพาะการรักษาบนใบหน้าเท่านั้น แต่ต้องดูแลทั้งร่างกาย โดยเฉพาะเรื่องฮอร์โมน ซึ่งในต่างประเทศจะมีการวิเคราะห์ว่า สิวที่เกิดจากฮอร์โมนจะมีความแตกต่างจากสิววัยรุ่น โดยสิวจะมีการกระจายขึ้นรอบคาง รอบปาก และเกิดจากเครื่องสำอาง อาทิ คลีนซิ่ง ซันครีม ไนท์ครีม เซรั่ม มากกว่าพวกที่ทำให้เกิดสิวบนใบหน้าต่าง ๆ ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดสิวด้วย ไม่ว่าจะเป็นการล้างและถูหน้าแรง ๆ หรือนวดหน้า รวมถึงการบีบและแกะสิว ภาวะความเครียด และการนอนดึก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สามารถทำให้เกิดสิวได้ทั้งสิ้น