Zika ไวรัสร้าย ภัยเงียบสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

Zika…ไวรัสร้าย ภัยเงียบสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

            โรคซิกา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika Virus: ZIKV) ไวรัสที่มีสารพันธุกรรมชนิด RNA สายเดี่ยว อยู่ในตระกูลเฟลวิไวรัส (flavivirus) มีลักษณะคล้ายคลึงกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี มียุงลาย (เช่น Ae. Africanus, Ae. Apicoargenteus, Ae. Luteocephalus, Ae. Aegypti เป็นต้น) เป็นพาหะนำโรค ไวรัสซิกาถูกแยกเชื้อครั้งแรกในปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) จากน้ำเหลืองของลิง rhesus ที่ใช้ในการศึกษาไข้เหลืองในป่าชื่อซิกา ประเทศยูกันดา และแยกเชื้อได้จากคนในปี พ.ศ. 2511 (ค.ศ. 1968) ณ ประเทศไนจีเรีย มีระยะฟักตัว 4-7 วัน จากนั้นจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะรุนแรง มีผื่นแบบ maculopapular ที่บริเวณลำตัว แขนขา วิงเวียน เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ปวดข้อ อาจจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง ซึ่งทั่วโลกมีแนวโน้มการระบาดของโรคแพร่กระจายไปยังประเทศใหม่ ๆ เนื่องจากการเดินทางที่สะดวกและรวดเร็ว นอกจากนั้นยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคยังมีการกระจายอยู่ในหลายทวีปทั่วโลก

            สำหรับในประเทศไทยจากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข .คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเต็มที่และสูงสุดต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินมาตรการในพื้นที่มีความเข้มข้น ประกอบกับมีรายงานผู้ป่วยทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่มีฝนตกหนัก ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายเพิ่มสูงในหลายพื้นที่ มีความเสี่ยงต่อการเพิ่มจำนวนของยุงลาย กรมควบคุมโรคจึงได้ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ของกรมควบคุมโรค และหน่วยงานในสังกัดทุกแห่ง [สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) 12 แห่งทั่วประเทศ] โดยให้ยกระดับการปฏิบัติการจากระดับ 1 เป็นระดับ 2 ซึ่งจะมีการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหตุการณ์ และปฏิบัติงานตามโครงสร้างของระบบบัญชาการเหตุการณ์ดังกล่าว ปฏิบัติการฉุกเฉินตามแผนเผชิญเหตุ (Incident Action Plan: IAP) และเพิ่มกำลังคนเข้ามาในระบบบัญชาการเหตุการณ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของกำลังคนของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นในมาตรการต่าง ๆ ทั้งการป้องกัน ตรวจจับเร็ว วินิจฉัยเร็ว การเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง การรักษา/แยกผู้ป่วย รวมถึงจัดระบบปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินเพื่อค้นหาผู้สัมผัสให้ได้ทุกรายโดยเร็ว ซึ่งห้องปฏิบัติการ (Lab) ของประเทศไทยสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสซิกาได้หลายแห่ง นอกจากนี้กรมควบคุมโรคได้มอบให้ สคร. ทุกแห่งสนับสนุนหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเต็มที่

            อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างความรู้และความเข้าใจให้ทุกคนได้ตระหนักถึงภัยอันตรายของไวรัสซิกาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยไม่ตื่นตระหนก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ คลัสเตอร์สุขภาพและการแพทย์ จัดเสวนาเรื่อง “Zika…ไวรัสร้าย ภัยเงียบสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์” โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดการเสวนา

         ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดต่ออุบัติใหม่ สภากาชาดไทย และผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน กล่าวว่า สิ่งที่น่ากลัวสำหรับไวรัสซิกาในหญิงตั้งครรภ์คือ ไม่ว่าจะเป็นช่วงการตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก จนถึงไตรมาสที่ 3 สามารถส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ โดยกลไกที่ทำให้เด็กผิดปกตินั้น กลไกในช่วงไตรมาสแรก ๆ อาจเป็นกลไกที่ไวรัสผ่านเข้าศีรษะโดยตรง และใช้รกกับศีรษะเด็กเป็นที่ซ่องสุมไวรัสโดยที่ไม่ได้ฆ่าเด็กเลย ทั้งนี้ไวรัสจะปล่อยให้เด็กโตไปเรื่อย ๆ โดยค่อย ๆ กัดกินทำลายทีละน้อย ทำให้สมองลีบ (microcephaly) และเริ่มมีการพบว่าไวรัสซิกาก่อให้เกิดอาการคล้าย GBS (Guillain-Barré syndrome) เด็กจะมีอาการตัวเกร็ง ตัวบิด ตัวงอ ซึ่งเด็กจะไม่เสียชีวิต แต่ต้องเลี้ยงไปตลอดชีวิตเหมือนกับเด็กปัญญาอ่อนสิ่งนั้นคือข้อสำคัญ นอกจากนี้ถ้าเจอในผู้ใหญ่ ถึงแม้ว่าผู้ใหญ่จะเกิดโรครุนแรงไม่มาก แต่เมื่อเกิดแล้วโรคนั้นรุนแรง เพราะว่าถ้าเป็นแขนขาอัมพาตจะต้องให้สารสกัดน้ำเหลือง (Intravenous immune globulin) ถือเป็นการรักษาช่วยชีวิต หรือป้องกันการลุกลามของโรค และช่วยทำให้หายเร็วขึ้น แต่ทั้งนี้การรักษาดังกล่าวมีราคาแพง เฉพาะค่ายาที่ยังไม่คิดกำไรราคาประมาณ 224,000 บาท และถ้าผู้ป่วยต้องอยู่ใน ICU ประมาณ 1-2 เดือน ลองคิดดูว่าเราต้องรับภาระเท่าไร และอาจจะเกิดสมองอักเสบในผู้ใหญ่ซึ่งเราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าทำไมผู้ป่วยคนนั้นเป็น คนนี้ไม่เป็น เนื่องจากสามารถเป็นได้ตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กโต จนถึงผู้ใหญ่วัยฉกรรจ์ หนุ่มสาว จนถึงอายุมาก ดังนั้น เราจึงไม่สามารถบอกได้ว่าใครจะเสี่ยงสำหรับเกิดโรครุนแรงในผู้ใหญ่ถึงแม้จะเกิดไม่มากก็ตาม ที่สำคัญคือ ลักษณะอาการของโรคติดเชื้อไวรัสซิกายังคล้ายกับโรคอื่น ๆ ที่เราจะต้องแยกอาการให้ดี เพราะมีไวรัสตัวอื่นที่มีอาการคล้ายกับไวรัสซิกา ดังนั้น เวลาที่เราเจอเคส เราก็จะสับสนมากว่าเป็นไวรัสจากซิกา หรือจากไวรัสอีก 3-4 ตระกูลด้วยกัน เพราะฉะนั้น กว่าที่เราจะตรวจพบว่าเป็นไวรัสชนิดใดก็เสียเวลาและสิ้นเปลือง สิ่งนี้คือความยากของคนที่เจอผู้ป่วยจริง ๆ

         นพ.ปรีดา มาลาสิทธิ์ ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และที่ปรึกษาหน่วยวิจัยโรคไข้เลือดออก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับไวรัสซิกาว่า เรามีบทเรียนจากไข้เลือดออกที่สามารถนำเอาไปใช้กับโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งจากการเรียนรู้ใน 2 ปีที่ผ่านมาพบว่า ไวรัสเดงกีกับไวรัสซิกามี Type ที่ใกล้เคียงกัน จนกล่าวได้ว่าเป็น Type ใหม่ของไข้เลือดออก อีกทั้งการระบาดของไวรัสซิกาที่ประเทศบราซิล ยังพบอีกว่า 80% เกิดในพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้เลือดออกมาก่อน ทำให้ต้องติดตามกันต่อไป โดยปัจจุบันทีมวิจัยในไทยและต่างประเทศเริ่มมองเห็นกลไกของระบบภูมิคุ้มกันที่สามารถฆ่าไวรัสซิกา เดงกี หรือกลไกที่ทำให้ไวรัสซิกา เดงกี เลวลง ขณะนี้เริ่มเห็นความชัดเจนขึ้น ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างวัคซีนในอนาคต หรือสร้างยาฆ่าไวรัสในอนาคตเป็นตัวตั้งต้น ทั้งนี้แม้การวิจัยวัคซีนจะเป็นผลสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม อาจจะไม่ได้ใช้เพราะเราคงมีภูมิคุ้มกันกันแล้ว เนื่องจากไวรัสตัวนี้มีแค่ตัวเดียว เพราะฉะนั้น ก็อาจจะเหมือนกับชิคุนกุนยาที่เข้าประเทศไทยเมื่อ 5 ปีแล้วหายไปเลย

            ด้าน ผศ.ดร.ชรินทร์ โหมดชัง อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงโอกาสที่ไวรัสซิกาจะเกิดการระบาดในประเทศไทยว่า ขณะนี้เราขาดข้อมูลหลายอย่างที่จะบอกว่าจะมีการระบาดใหญ่หรือไม่ ซึ่งในประเทศไทยจากรายงานเราพบเชื้อไวรัสซิกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 และมีรายงานอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2555 แต่จริง ๆ เราพบเชื้อมานานแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 แสดงว่าคนบางคนอาจจะเคยป่วยและมีภูมิต้านทานมาแล้วก็ได้ ทำให้ปัจจุบันจึงมีเคสประปรายแต่อาจจะไม่ระบาดใหญ่ถ้าคนมีภูมิต้านทานมากเพียงพอ ซึ่งตรงนี้เราไม่รู้ จะรู้ได้ด้วยวิธีเดียวคือ การตรวจเลือดว่าแต่ละคนมีภูมิต้านทานกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้ามี 70-80% เราก็มั่นใจได้ว่าไม่เกิดการระบาดแน่นอน เพียงแต่ขณะนี้เรายังไม่รู้ ทั้งนี้ตราบใดที่ยังพบการระบาดอยู่ เราอยากให้ทุกคนโดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ระวังตัวเอง เพราะเราบอกไม่ได้ว่าจะมีการระบาดหรือไม่ เนื่องจากเรามีข้อมูลไม่เพียงพอ แต่เราก็ยังเชื่อว่าปัจจุบันคนไทยน่าจะมีภูมิต้านทานอยู่บ้างแล้ว เพราะว่าเจอเชื้อหมุนเวียนในประเทศไทยมานานแล้ว เหมือนดังเช่นกรณีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่เข้ามาในประเทศไทยปีแรกมีอัตราการระบาดสูงมาก และเกิดติดต่อกันมา 2-3 ครั้งก็หมดแล้ว เนื่องจากคนเริ่มมีภูมิต้านทานจากตรงนี้ เช่นเดียวกับโรคชิคุนกุนยาซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรคได้เกิดการระบาดใหญ่มาครั้งหนึ่ง จากนั้นก็หายไป เนื่องจากโรคพวกนี้มีไวรัสแค่สายพันธุ์เดียว ซึ่งต่างจากไข้เลือดออกที่มีไวรัสอยู่ 4 สายพันธุ์สลับกันไปมา จึงทำให้ไข้เลือดออกมีการระบาดทุกปี ไวรัสซิกามีสายพันธุ์เดียว ถ้าปล่อยให้เกิดการระบาดใหญ่ก็จะจบ ไม่มีอีกแล้วเหมือนกับ French Polynesia และบราซิล มีการระบาดใหญ่และมีคนป่วยประมาณ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ จึงทำให้พวกเขามั่นใจว่าจะไม่เป็นอีกแล้ว เนื่องจากผ่านการระบาดครั้งใหญ่มาแล้ว

            นพ.ยงเจือ เหล่าศิริถาวร นายแพทย์ชำนาญการ ศูนย์สารสนเทศทางระบาดวิทยาและการพยากรณ์โรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงวิธีการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาว่า ไม่แตกต่างจากการควบคุมไข้เลือดออก คือการควบคุมยุง ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด เพียงแต่การควบคุมยุงในเรื่องของไวรัสซิกาเราทำอย่างเข้มข้นและเข้มแข็งมากกว่าไข้เลือดออกมาก เนื่องจากโรคไข้เลือดออกในปัจจุบันเรามีการพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกได้ดีขึ้นมากจนทำให้ผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกมีอัตราการเสียชีวิตน้อยมากถ้าได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม ซึ่งจะต่างจากไวรัสซิกาที่ตัวของโรคเองทำให้เกิดภาวะการเสียชีวิตน้อยกว่าไข้เลือดออก แต่เมื่อเป็นแล้วการรักษายากมาก เช่น เด็กหัวฟีบ เราไม่สามารถรักษาให้เด็กกลับมาเป็นปกติได้ เราจึงไม่อยากเสี่ยงพบเด็กหัวฟีบแล้วไม่สามารถทำอะไรได้ สิ่งนี้คือปัญหาของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาที่ทำไมเราถึงต้องกังวลมากแม้ว่าจะมีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าก็ตาม ด้วยเหตุนี้การป้องกันและควบคุมยุงจึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับ 1 ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขสามารถควบคุมการระบาดได้ แต่ถ้าจะให้กระทรวงสาธารณสุขทำแต่เพียงฝ่ายเดียวคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากบ้านทุกคนมียุงลาย บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขมีเพียง 1% ของประชากรไทย ดังนั้น ในการป้องกันยุงลาย ประชาชนทุกคนควรมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่ 1. เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2. เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 3. เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา