แอนโธไซยานิน สารพฤกษเคมีเพื่อสุขภาพดวงตา

แอนโธไซยานิน : สารพฤกษเคมีเพื่อสุขภาพดวงตา

ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ ประธานฝ่ายวิชาการ ชมรมโภชนวิทยามหิดล

            การรับประทานผักและผลไม้หลากหลายสีพบว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมากมาย ทั้งนี้เนื่องมาจากองค์ประกอบในผักและผลไม้ที่มีสารพฤกษเคมี หรือที่เรียกว่าไฟโตเคมีคอล (Phytochemical) ซึ่งก็คือสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่พบเฉพาะในพืช มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายมนุษย์ อาจช่วยต่อต้านหรือป้องกันโรคบางชนิด นอกจากสารอาหารหลัก เช่น วิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ แล้ว สารพฤกษเคมีจากผักและผลไม้ก็เป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นที่รู้จักและนิยมนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ได้แก่ แคโรทีนอยด์ (Carotenoids), โพลีฟินอล (Polyphenols) เช่น แอนโธไซยานิน (Anthocyanins), ไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogens), ซาโปนินส์ (Saponins) และไฟโตสเตอรอล (Phytosterol) เป็นต้น(1)

ปัจจุบันด้วยกระแสสังคมออนไลน์ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราต่างไปจากอดีต ผู้คนส่วนใหญ่มักใช้เวลาไม่ว่าจะทำงานหรือพักผ่อน ดูหนัง ฟังเพลงอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นประจำ โดยเฉพาะในกลุ่มวัย Gen Y มีสถิติว่ามีการใช้อินเตอร์เน็ตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับคนช่วงอายุอื่น ๆ โดยใช้เวลาเฉลี่ยถึง 7.6 ชั่วโมงต่อวัน(2) การที่ใช้ดวงตาเพ่งหน้าจอเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดอาการตาล้า ตาเบลอ หรือตาแห้ง และเสี่ยงต่อโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ เนื่องจากถ้ายิ่งใช้สายตาเพ่งหน้าจอนานขึ้น ดวงตาจะได้รับแสงพลังงานสูงอย่างต่อเนื่อง บวกกับการสั่นกะพริบของหน้าจอ ส่งผลให้กล้ามเนื้อลูกตาทำงานหนักในการจับภาพ มีการกะพริบตาลดน้อยลงจากปกติที่ควรจะกะพริบตา 10-15 ครั้งต่อนาที ผลก็คือทำให้เกิดน้ำตาระเหยออกไปมาก ทำให้เกิดอาการตาแห้ง และอาการที่แสดงออกจะยิ่งมากขึ้นคือ ปวดตา แสบตา เห็นภาพซ้อน รวมทั้งปวดคอ ไหล่ ร่วมด้วย(3,4) หากมีพฤติกรรมติดจอต้องเจอกับแสงจ้าเป็นประจำเป็นเวลานาน ๆ ในระยะยาวจะเร่งการเสื่อมของดวงตา อาจทำให้เกิดภาวะกระจกตาอักเสบเป็นแผล กระจกตาขุ่น และยังพบอีกว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม นอกจากปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ ได้แก่ อายุ การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ และกรรมพันธุ์ เป็นต้น(4,6)

คนเรามีดวงตาเพียงคู่เดียว โดยเฉพาะจอประสาทตาซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการมองเห็น และการแพทย์ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมให้หายขาดได้ การดูแลและปกป้องดวงตาและจอประสาทตาเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญตั้งแต่เนิ่น ๆ การดูแลสุขภาพดวงตานั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การปรับพฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อาจมีผลต่อดวงตา เช่น การเล่นหรือทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ให้อยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสม พักสายตาเป็นระยะ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อย่างไรก็ตาม จากความจำเป็นของพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ทำให้การเลี่ยงพฤติกรรมการติดจอเป็นเรื่องยาก ดังนั้น เราจึงควรดูแลดวงตาและจอประสาทตาเป็นพิเศษเพิ่มเติมจากการพักผ่อน และการบริโภคผักและผลไม้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการรับประทานผักและผลไม้ที่ให้สารพฤกษเคมีที่มีประโยชน์เพื่อการดูแลดวงตาโดยเฉพาะ และควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอเพื่อเป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตา ลดอาการตาแห้งอีกด้วย(5)

สารพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ต่อดวงตา ได้แก่ แคโรทีนอยด์ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ (โปรวิตามินเอ) พบได้ในผักและผลไม้ที่มีสีเหลืองและสีส้ม เช่น แครอท ฟักทอง มะละกอสุก และแอนโธไซยานิน ซึ่งจะพบได้ในผลไม้ที่มีสีม่วงและแดง จำพวกผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เช่น สตรอเบอร์รี่ บิลเบอร์รี่ แบลคเคอร์แรนต์ แครนเบอร์รี่ มัลเบอร์รี่ เป็นต้น(7)

ประโยชน์ของวิตามินเอและแคโรทีนอยด์

            แหล่งของแคโรทีนอยด์ตามธรรมชาติส่วนใหญ่จะอยู่ในผักและผลไม้ที่มีสีส้มหรือสีเหลือง ได้แก่ แครอท มะม่วง มะละกอ ฟักทอง ส้ม ขนุน ส่วนสารเบต้าแคโรทีนพบได้ในผักและผลไม้สีเข้มแทบทุกชนิด เช่น พริกแดง มะเขือเทศ ตำลึง เป็นต้น แคโรทีนอยด์เป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ (โปรวิตามินเอ) เมื่อเรารับประทานเข้าไป ร่างกายจะทำหน้าที่เปลี่ยนให้กลายเป็นวิตามินเอที่มีส่วนช่วยในการมองเห็น โดยเฉพาะการมองเห็นในที่มืด เนื่องจากวิตามินเอเป็นองค์ประกอบสำคัญของโรดอปซิน (Rhodopsin) ซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญที่อยู่ที่จุดรับแสงเรตินาในดวงตา ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของเยื่อบุตา และกระจกตา(8)

 

ประโยชน์ของแอนโธไซยานินต่อสุขภาพดวงตา

แหล่งของแอนโธไซยานินพบได้จากผลไม้ที่มีสีม่วงอมน้ำเงินและแดง พบมากในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ แอนโธไซยานิน เป็นสารสำคัญเพื่อการดูแลดวงตา เพราะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูงเมื่อเทียบกับผักและผลไม้อื่น ๆ มีฤทธิ์ที่ทำงานโดยตรงต่อดวงตา โดยปริมาณของแอนโธไซยานินจะสัมพันธ์กับสีม่วงแดง ยิ่งเบอร์รี่มีสีม่วงแดงจนไปถึงน้ำเงินเข้ม ยิ่งแสดงว่ามีปริมาณแอนโธไซยานินอยู่สูง(9,10) แอนโธไซยานินจะถูกดูดซึมไปยังเซลล์ตาในรูปของมาลวิดิน ไกลโคไซด์ (Mulvidin glycosides) ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่พบในผลเบอร์รี่ การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า หลังจากรับประทานแอนโธไซยานินเสริมจะสามารถตรวจพบแอนโธไซยานินได้ที่ส่วนของกระจกตา เลนส์ตา จอประสาทตา(11) จึงเป็นการพิสูจน์ว่า เมื่อรับประทานผลไม้ตระกูลเบอร์รี่จึงให้ประโยชน์โดยตรงในการปกป้องดวงตา งานวิจัยของแอนโธไซยานินด้านต่าง ๆ มีดังนี้

         1. ผลต่อการมองเห็นในที่มืด หรือที่มีแสงน้อย

            มีข้อมูลพบว่า เบอร์รี่เป็นผลไม้ใช้เพื่อบำรุงดวงตามาตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากนักบินของอังกฤษสังเกตว่าการรับประทานบิลเบอร์รี่ทำให้ความสามารถในการมองเห็นในเวลากลางคืนดีขึ้น ทำให้อาการเมื่อยล้าของดวงตาจากการใช้งานนาน ๆ ลดน้อยลง(9,10) หลังจากนั้นจึงมีการศึกษาถึงประโยชน์ด้านนี้เพิ่มมากขึ้น งานวิจัยทางคลินิกในกลุ่มอาสาสมัครสุขภาพดีโดยให้รับประทานสารสกัดแอนโธไซยานินจากแบลคเคอร์แรนต์เสริมที่ปริมาณแตกต่างกันคือ 12.5, 20 และ 50 มิลลิกรัม เทียบกับกลุ่มควบคุมและทำการวัดค่าดัชนีการมองเห็นในที่มืดก่อนและหลังจากการรับประทานเสริม 2 ชั่วโมง ผลการทดลองพบว่า หลังจากการรับประทาน 30 นาที กลุ่มที่เสริมด้วยแอนโธไซยานินจากแบลคเคอร์แรนต์ที่ 50 มิลลิกรัม มีผลช่วยให้ความสามารถในการมองเห็นในที่มืดดีขึ้น โดยแอนโธไซยานินจะช่วยในการเร่งคืนสภาพของโรดอปซิน ซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญที่ไวต่อการรับแสงที่เซลล์รับแสงรูปแท่งในจอประสาทตาได้ดี จึงช่วยให้ดวงตาสามารถรับภาพในที่มืดเวลากลางคืนได้ชัดเจนมากขึ้น(12)  Lee J และคณะ (2005) ได้ทำการศึกษาทางคลินิกถึงผลของการรับประทานสารสกัดบริสุทธิ์ของแอนโธไซยานินในปริมาณสูงต่อความสามารถในการมองเห็นในเวลากลางคืน โดยทำการวิจัยในผู้ที่มีอาการตาล้าและสายตาผิดปกติ จำนวน 60 คน ให้รับประทานสารสกัดบริสุทธิ์ของแอนโธไซยานินต่อเนื่องเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่า 73.3% มีการมองเห็นที่ดีขึ้น(13) นอกจากนี้ยังพบอีกว่า แอนโธไซยานินมีผลช่วยคลายความเหนื่อยล้าของดวงตาในกลุ่มที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ เนื่องจากช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของเส้นเลือดฝอย และเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดฝอยที่ตา ทำให้ดวงตาได้รับสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงได้ดีขึ้น(12,14)

         2. ผลช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดต้อกระจก

            ต้อกระจกเกิดจากการที่ตาต้องเจอกับแสงจ้า ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นที่เซลล์ของดวงตา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนในเนื้อเลนส์ มีการเพิ่มขึ้นของโปรตีนชนิดที่ไม่ละลายน้ำ ทำให้เลนส์แก้วตาแข็งและทึบแสงมากขึ้น จากการศึกษาทางคลินิกโดยให้อาสาสมัครที่มีต้อกระจกจำนวน 50 คน รับประทานสารสกัดจากบิลเบอร์รี่ที่มีปริมาณแอนโธไซยานิน 25% 180 มิลลิกรัม ร่วมกับวิตามินอี 100 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 4 เดือน พบว่ากลุ่มที่รับประทานบิลเบอร์รี่สกัดเสริมสามารถยับยั้งการเกิดต้อกระจกเพิ่มได้ถึง 96% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่เห็นผลการยับยั้งที่ 76%(15) จึงกล่าวได้ว่าแอนโธไซยานินช่วยลดอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นที่เซลล์ของดวงตา และช่วยป้องกันเลนส์ตาจากการถูกทำลายได้

         3. ผลช่วยลดความเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อม

Wang Y และคณะ(16) ศึกษาผลของความสัมพันธ์ของการได้รับแสงที่มากเกินควรต่อเซลล์รับแสงของจอประสาทตาซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งทำการศึกษาในหลอดทดลอง โดยใช้เซลล์ตาของสัตว์ทดลองทดสอบกับแอนโธไซยานินที่สกัดมาจากบิลเบอร์รี่ในปริมาณเข้มข้นที่ 250 และ 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน และให้รับแสงพลังงานสูงเป็นเวลาต่อเนื่องนาน 2 ชั่วโมง ติดตามผลเป็นเวลา 7 วัน ผลการศึกษาพบว่า แอนโธไซยานินสามารถยับยั้งการตายของเซลล์จอประสาทตาได้โดยเพิ่มระดับของเอนไซม์ Superoxide dismutase, Glutathione peroxidase และ Catalase ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งกระบวนการ Lipid peroxidation โดย Jang YP และคณะ ทำการศึกษาพบว่า แอนโธไซยานินที่สกัดมาจากบิลเบอร์รี่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ สามารถยับยั้งการออกซิเดชั่นของสารรงควัตถุ A2E ที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยแสงและสะสมที่เซลล์รับแสงของจอประสาทตา Retinal pigment epithelium (RPE) ทำให้เกิดความผิดปกติของจอประสาทตา เช่น โรคจอประสาทตาเสื่อมได้ การศึกษานี้ทำในหลอดทดลอง(17) นอกจากนี้การศึกษาของ Liu Y และคณะ(18) ที่ทำการศึกษาผลของเซลล์รับแสงของจอประสาทตา Retinal pigment epithelium (RPE) เมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสงในช่วงความยาวคลื่นของอัลตราไวโอเลตช่วงคลื่น 100-380 นาโนเมตร และแสงที่มองเห็นได้ในช่วง 380-760 นาโนเมตร ในหลอดทดลองพบว่าสารสกัดจากบิลเบอร์รี่ช่วยยับยั้งการตายของเซลล์รับแสงของจอประสาทตาที่ถูกกระตุ้นด้วยแสงจ้าเป็นเวลานานได้ จึงอาจกล่าวได้ว่าแอนโธไซยานินจากเบอร์รี่สามารถช่วยป้องกันความเสื่อมของจอประสาทตาได้(17) สำหรับอาการของโรค ผู้ที่เป็นโรคนี้ในระยะเริ่มแรกจะยากต่อการสังเกตอาการ อาจเริ่มมีเพียงแค่การมองเห็นภาพเบลอ ๆ มัว ๆ ไม่ชัด ซึ่งอาการมักจะเห็นผิดปกติชัดเจนคือ เห็นภาพบิดเบี้ยวไป และไม่สามารถเห็นตรงกลางภาพได้ก็ต่อเมื่อเป็นในระยะที่เริ่มรุนแรงแล้ว หากไม่ได้รับการรักษา จุดดำตรงกลางภาพจะขยายขนาดมากขึ้น จนทำให้ตาบอดได้ในที่สุด ซึ่งมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมคือ อายุที่เพิ่มมากขึ้น การสูบบุหรี่ พันธุกรรม เชื้อชาติ ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ พฤติกรรมการติดจอ เนื่องจากแสงจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น จากจอคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟน จะไปกระตุ้นให้เกิดการสะสมของอนุมูลอิสระทำให้เกิด Lipofuscin ที่ทำลายเซลล์รับภาพในจอประสาทตา(18) ได้แก่ การช่วยให้มองเห็นในเวลากลางคืนดีขึ้นโดยเร่งกลับคืนสู่สภาพของสารโรดอปซิน (Rhodopsin) ทั้งนี้เนื่องจากสารแอนโธไซยานินอาจมีผลต่อเอนไซม์เรตินีน-ไอโซเมอเรส (Retinene-isomerase) และแลคเตท ดีไฮโดรจีเนส (Lactate dehydrogenase) ช่วยให้การปรับสายตาดีขึ้น ช่วยป้องกันการเกิดต้อกระจก (Cataracts) ช่วยป้องกันเอนโดทีเลียล เซลล์ (Endothelial cell) และเซลล์เม็ดเลือดแดงให้มีความยืดหยุ่น จึงช่วยให้เส้นเลือดฝอย (Capillaries) เกิดความยืดหยุ่นยืดขยายได้ดีขึ้น เพิ่มการไหลเวียนโลหิต จึงทำให้สามารถนำพาสารอาหารและออกซิเจนผ่านเส้นเลือดฝอยไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น เรตินาของตาได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันความเสื่อมของเรตินาที่เกิดจากโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันความเสื่อมของจุดทางออกของเส้นประสาทตา (Macula degeneration) สารสกัดแอนโธไซยานินจากบิลเบอร์รี่ยังมีฤทธิ์ต้านการเกาะกันของเกล็ดเลือด ซึ่งช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในระดับเซลล์ และการไหลเวียนโลหิตที่ขาเพิ่มขึ้น 

จากงานวิจัยข้างต้นอาจกล่าวได้ว่าบิลเบอร์รี่และสารสกัดแอนโธไซยานินจากบิลเบอร์รี่ให้สรรพคุณในการส่งเสริมสุขภาพของดวงตาและป้องกันดวงตาจากความผิดปกติต่าง ๆ รวมทั้งช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น จึงนับเป็นคุณประโยชน์ของสารไฟโตเคมีคอลจากพืชที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระเพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยของมนุษย์ได้อีกทางหนึ่ง

 

สรุป

การดูแลและถนอมสายตาเพื่อชะลอความเสื่อมของสุขภาพตาไม่ให้เกิดการเสื่อมขึ้นเร็วกว่าวัยอันควร ทำได้โดยการเลี่ยงปัจจัยและพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ รับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น แอนโธไซยานิน และวิตามินเอ เป็นต้น จากงานวิจัยบางส่วนที่ผ่านมา ได้มีการศึกษาถึงบทบาทที่น่าสนใจของสารแอนโธไซยานินในด้านต่าง ๆ เช่น ผลต่อการมองเห็นในที่มืดหรือที่ที่มีแสงน้อย ผลช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดต้อกระจก และผลช่วยลดความเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคุณประโยชน์จากสารพฤกษเคมีในผักและผลไม้ที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยและดูแลสุขภาพของคนเราได้อีกทางหนึ่งด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน. เอกสารประกอบการบรรยาย "โภชนาการพื้นฐานเพื่อการมีสุขภาพสมบูรณ์สูงสุด" พ.ศ. 2550.
  2. รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยปี พ.ศ. 2559. สำนักยุทธศาสตร์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที). สิงหาคม พ.ศ. 2559
  3. Moschos MM, Chatziralli IP, Siasou G, Papazisis L. Visual problems in young adults due to computer use. Klin Monbl Augenheilkd. 2012;229(4):379-81.
  4. Blehm C, et al. Computer vision syndrome: A review. Survey of Ophthalmology. 2005;50(3):253-262.
  5. Loh KY. and Reddy SC. Understanding and preventing computer vision syndrome. Malaysian Family Physician. 2008;3(3):1-4.
  6. Thierry V. Blue light hazard: New knowledge, new approaches to maintaining ocular health report of a roundtable. New York city, USA. 2013.
  7. Brown NA, et al. Nutrition supplements and the eye. Eye (Lond). 1998;12(1):127-33.
  8. Smith J. and Steinemann TL. Vitamin A Deficiency and the Eye. International Ophthalmology Clinics. 2000:83-91.
  9. Antal DS, et al. The Anthocyanins: Biologically-active substances of food and pharmaceutic interest. The Annals of the University Dunarea de jos of Galati Fascicle VI-Food technology 2003.
  10. Maarit Rein. Copigmentation reactions and color stability of berry anthocyanins. University of Helsinki, 2005.
  11. Michael Rhone and Arpita Basu. Phytochemicals and age-related eye diseases. Nutrition Reviews®. 2008;66(8):465-472.
  12. Nakaishi H, et al. Effects of blackcurrant anthocyanoside intake on dark adaptation and VDT work-induced transient refractive alteration in healthy humans. Altern Med Rev. 2000;5(6):553-6.
  13. Lee J, Lee HK, Kim CY, Hong YJ, Choe CM, You TW, Seong GJ. Purified high-dose anthocyanoside oligomer administration improves nocturnal vision and clinical symptoms in myopia subjects. Br J Nutr. 2005;93:895-899.
  14. Ghosh D. and Konishi T. Anthocyanins and anthocyanin-rich extracts: role in diabetes and eye function. Asia Pac J Clin Nutr. 2007;16(2):200-208.
  15. Head KA. Natural therapies for ocular disorders, part two: cataracts and glaucoma. Altern Med Rev. 2001;6(2):141-66.
  16. Wang Y, et al. Retinoprotective effects of bilberry anthocyanins via antioxidant, anti-inflammatory, and anti-apoptotic mechanisms in a visible light-induced retinal degeneration model in pigmented rabbits. Molecules. 2015;20:22395-22410.
  17. Jang YP, Zhou J, Nakanishi K, Sparrow JR. Anthocyanins protect against A2E photooxidation and membrane permeabilization in retinal pigment epithelial cells. Photochem Photobiol. 2005;81:529-536.
  18. Liu Y, et al. Blueberry anthocyanins: protection against ageing and light-induced damage in retinal pigment epithelial cells. British Journal of Nutrition. 2012;108:16-27.