สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) โดยกลุ่มเภสัชกรชำนาญการผู้ป่วยโรคเบาหวาน จัดประชุมวิชาการ 6th Connection to Patient Care
สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) โดยกลุ่มเภสัชกรชำนาญการผู้ป่วยโรคเบาหวาน กำหนดให้มีการจัดงานประชุมวิชาการ Connection to Patient Care ครั้งที่ 6 ขึ้น ระหว่างวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ณ ห้องบอลรูม โรงแรมนารายณ์ ถ.สีลม กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เภสัชกรโรงพยาบาล ผู้ปฏิบัติงานด้านการบริบาลดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและเภสัชกรชุมชน ได้เพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการที่ทันสมัย โดยเฉพาะเรื่องการใช้ยาเบาหวานอย่างเหมาะสม เรียนรู้แนวคิดและวิธีการบริบาลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
หัวข้อการประชุมวิชาการในครั้งนี้ ได้แก่ Diabetes basics: focusing on risk factors and pathophysiology, Pharmacotherapy of diabetes mellitus I, II, III, IV, V และ Diabetes and ramadan: practical guidelines โดย รศ.ดร.ภก.เนติ สุขสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, Pharmacist as diabetes educator โดย ภญ.ปิยวรรณ เหลืองจิรโณทัย โรงพยาบาลศูนย์ลำปาง, Nutrition therapy of diabetes โดย รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Blood glucose monitoring: an overview of techniques โดย ภก.เอนก ทนงหาญ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม, Practical strategies for improving outcomes in diabetic kidney disease โดย อ.ภญ.พนารัตน์ แสงแจ่ม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ Diabetes guidelines โดย ภญ.ราตรีรัตน์ ตั้งใจดีบริสุทธิ์ โรงพยาบาลตากสิน
รศ.ดร.ภก.เนติ สุขสมบูรณ์ ประธานกลุ่มเภสัชกรชำนาญการผู้ป่วยโรคเบาหวาน กล่าวว่า เนื้อหาหลักของการประชุมคือ องค์ความรู้ที่ทันสมัยเกี่ยวกับยา เนื่องจากปัจจุบันมียาเบาหวานจำนวนมากและหลายกลุ่ม อาทิเช่น ยาในกลุ่ม DPP-4 inhibitors ที่มีถึง 5 ตัว ได้แก่ Sitagliptin, Vildagliptin, Saxagliptin, Linagliptin และ Alogliptin เภสัชกรจึงต้องมีความรู้และแยกแยะให้ได้ว่ายาแต่ละตัวแตกต่างกันอย่างไร มีข้อดี ข้อเสีย เหมาะสำหรับผู้ป่วยประเภทใด และมีปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interactions) หรือไม่ หรือมีผลข้างเคียงอย่างไร เพื่อที่จะสามารถให้คำปรึกษาด้านยาแก่ผู้ป่วยและแพทย์ได้ การรักษาด้วยยาหรือเภสัชกรรมบำบัดจึงถือเป็นองค์ความรู้หลักที่เภสัชกรต้องเรียนรู้อยู่เสมอ เพื่อให้ก้าวทันความก้าวหน้าของวิชาการทางการแพทย์
ความรู้ด้านโภชนาการ (Nutrition) หรืออาหารการกิน จัดเป็นอีกหนึ่งหัวข้อสำคัญที่เภสัชกรเริ่มมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากบางโรงพยาบาลอาจไม่มีนักกำหนดอาหารมาคอยสอนผู้ป่วยเบาหวานว่าอาหารประเภทไหนบ้างที่ควรรับประทาน ไม่ควรรับประทาน หรือต้องหลีกเลี่ยง และที่รับประทานได้ควรรับประทานในปริมาณเท่าไร เภสัชกรจึงควรเรียนรู้เพื่อให้คำแนะนำผู้ป่วยร่วมกับการใช้ยา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษามากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อวิเคราะห์อาการผู้ป่วย เช่น เครื่องเจาะน้ำตาลในเลือดแบบเจาะปลายนิ้วที่ผู้ป่วยสามารถใช้ตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง และแนวทางในการจัดการเมื่อระดับน้ำตาลสูงหรือต่ำเกินไป เป็นต้น ตลอดจนการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวานที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในทวีปยุโรปและอเมริกา รวมทั้งประเทศไทย
ทั้งนี้คาดว่าจะมีเภสัชกรโรงพยาบาลและเภสัชกรที่สนใจเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 200 คน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะได้เพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการที่ตอบโจทย์ได้อย่างครบถ้วน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมัครลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ www.thaihp.org ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 หรือจนกว่าจะครบจำนวนที่รับได้ อัตราค่าลงทะเบียน 2,000 บาท สำหรับสมาชิกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) และ 4,000 บาท สำหรับเภสัชกรผู้สนใจ โดยเภสัชกรผู้เข้าร่วมประชุมครบทั้ง 2 วัน สามารถเก็บสะสมหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง (CPE) ได้จำนวน 11 หน่วยกิต
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง โทรศัพท์ 0-2249-9333 โทรสาร 0-2249-9332 หรือทาง E-mail: hp@thaihp.org ในวันและเวลาราชการ