กระท่อม กัญชา คือพืชยา ไม่ควรเป็นยาเสพติด
พืชกระท่อมและกัญชาถูกจัดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แต่ก่อนหน้านั้น การใช้ใบกระท่อมและกัญชาเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของคนไทย เป็นทั้งอาหารและยาในการบำบัดโรคและดูแลรักษาคนเจ็บไข้ด้วยภูมิปัญญาไทยและการแพทย์แผนไทย ซึ่งฝังรากลึกลงในขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม การใช้แรงงานเพื่อทำเกษตรกรรมและการประมง ข้อมูลสำรวจครัวเรือนทั่วประเทศในปี พ.ศ. 25541 พบว่า มีกลุ่มผู้ใช้หรือผู้เคยใช้กระท่อมมากถึง 1.23 ล้านคนทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2550 ที่มีจำนวนราว 1.07 ล้านคน ผู้ใช้หรือผู้เคยใช้มีอยู่ทุกภูมิภาค ส่วนใหญ่เป็นผู้อยู่ในภาคใต้ รวมทั้งมีการใช้ใบกระท่อมเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่ม 4x100 ในกลุ่มวัยรุ่นบางกลุ่ม เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนมีความเชื่อว่า เครื่องดื่มดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม และปัญหาสังคม
รายงานข้อมูลการดำเนินคดียาเสพติดของศาลยุติธรรม ประจำปี พ.ศ. 25582 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับปริมาณคดีเกี่ยวกับยาเสพติดที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักรคือ เมทแอมเฟตามีน มีการกระทำความผิดมากที่สุด รวมทั้งสิ้นจำนวน 192,953 คดี รองลงมาคือ คดียาเสพติดประเภทพืชกระท่อม มีจำนวนทั้งสิ้น 55,004 คดี และถัดมาคือ คดียาเสพติดประเภทกัญชา มีจำนวนทั้งสิ้น 20,709 คดี เมื่อจำแนกคดียาเสพติดตามลักษณะของการกระทำความผิด ส่วนใหญ่จะเป็นความผิดมียาเสพติดไว้ในครอบครอง จำนวน 92,680 คดี รองลงมาคือ ความผิดมียาเสพติดไว้เพื่อเสพ จำนวน 87,471 คดี และถัดมาคือ ความผิดมียาเสพติดไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 54,877 คดี ความผิดฐานเป็นผู้ผลิต จำนวน 11,399 คดี ตามลำดับ ข้อมูลสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์คดี พระราชบัญญัติยาเสพติดทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2559)3 มีจำนวน 227,668 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 70.14 ของผู้ต้องขังทั้งหมด จนเกิดปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากนโยบายและกฎหมายยาเสพติดที่มีความรุนแรงเกินจำเป็น
ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติและหลายประเทศตระหนักดีว่า นโยบายยาเสพติดที่มุ่งเน้นมาตรการปราบปรามยาเสพติด นโยบายสงครามยาเสพติด (Drug War Policy) ประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหายาเสพติด ดังเช่นกรณีประเทศไทยที่ยาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ผลการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก ค.ศ. 2016 (United Nation General Assembly Special Session on Drug (UNGASS 2016) เมื่อวันที่ 19-21 เมษายน พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมานั้น เน้นเป้าหมายการสร้าง “สังคมที่ปลอดจากการใช้สารเสพติดในทางที่ผิด (A society free of drug abuse)” ให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยในด้านสุขภาพ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงการพิจารณาเรื่องการนำพืชเสพติดมาใช้ประโยชน์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมและการรักษาสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก พิจารณาทบทวนหรือปฏิรูปกฎหมายยาเสพติด โดยให้ความสำคัญต่อการนำหลักการใหม่มาใช้แทน เช่น หลักการลดทอนฐานความผิดอาญา (Decriminalisation) หรือการลดความรุนแรงของบทลงโทษ (Depenalisation) การลงโทษที่ได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำผิด หรือการใช้มาตรการลงโทษอื่นแทนโทษอาญา
พืชเสพติดโดยเฉพาะพืชกระท่อมและกัญชาเป็นพืชที่วงการสุขภาพยังให้ความสนใจในการศึกษาวิจัยทางการแพทย์เพื่อการรักษาผู้ป่วย ทั้งจากภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพราะมีคุณประโยชน์หลายประการ แต่มีข้อขัดข้องทางกฎหมายเป็นอย่างมาก
จากเหตุผลดังกล่าว ด้วยเหตุนี้งานวิชาการ กองทุนศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “กระท่อม กัญชา คือพืชยา ไม่ควรเป็นยาเสพติด” โดยมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช, ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ภญ.นัยนา พัชรไพศาล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, ดร.ภก.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก คณะกรรมการสภาการแพทย์แผนไทย, ดร.ภญ.อัญชลี จูฑะพุทธิ ผู้ช่วยอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก, รศ.สมสมร ชิตตระการ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, นายพิภพ ชำนิวิกัยพงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และนายไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ โดยมี ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.) และ ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ทั้งนี้จากการประชุม ที่ประชุมส่วนใหญ่มีความเห็นว่า รัฐบาลไทยควรส่งเสริมให้มีมาตรการจัดการพืชกระท่อมและกัญชา ตาม 1. ร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับผ่านประชามติ วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559) มาตรา 55 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด” 2. ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559 (มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559) หมวด 4.5 “การส่งเสริม สนับสนุน การใช้และการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกอื่น” และ 3. แผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 (มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559) บัญญัติใน “ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษาโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ” เพื่อเพิ่มการใช้สมุนไพรในระบบสุขภาพในการรักษาโรคและเสริมสร้างสุขภาพ และเสริมสร้างพื้นฐานการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพของประเทศในระยะยาว ทั้งนี้เพื่อการพึ่งตนเองด้านยาและสุขภาพ
นอกจากนี้ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559 มีเนื้อหาปรับปรุงกฎหมายยาเสพติดปัจจุบันในประเด็นสำคัญบางเรื่อง แต่เนื้อหาของร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดยังขาดความสมบูรณ์และมิได้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญที่เกี่ยวกับการจัดการพืชเสพติด โดยเฉพาะพืชกระท่อมและกัญชา กล่าวคือ การนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ยังทำได้ยาก รวมถึงยังมีบทบัญญัติที่กำหนดความผิดอาญาที่ล้าสมัย เช่น การกำหนดบทลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำความผิด ละเลยวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น
ข้อสำคัญคือ ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดยังคงไม่อนุญาตให้บุคคลเสพ หรือใช้ใบกระท่อมในเกือบทุกกรณี ยกเว้นเฉพาะการใช้เพื่อรักษาโรคตามคำสั่งแพทย์หรือผู้ประกอบการวิชาชีพทันตกรรม จึงเป็นร่างกฎหมายที่ไม่ส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย หรือการนำใบกระท่อมมาเคี้ยวเพื่อให้ทำงานได้นานขึ้นหรือมีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม
บทบัญญัติในร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดยังคงเป็นอุปสรรคในการศึกษาวิจัยและการใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ อาจทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการศึกษาวิจัยเพื่อต่อยอดความรู้หรือภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมยาจากพืชสมุนไพร เพราะการควบคุมอย่างเข้มงวดไม่สอดคล้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย เช่น มาตรา 6 การกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชเสพติด การผลิต ทดสอบ หรือทดลองวิจัยเกี่ยวกับยาเสพติดโดยมุ่งเน้นบริบทในเชิงพื้นที่ หรือการกำหนดอายุใบอนุญาตไม่เกิน 1 ปี ไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของนานาประเทศที่จะเน้นให้มีระบบการออกใบอนุญาตที่มุ่งกำกับดูแลมากกว่าการควบคุม
การจัดทำหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เป็นพระราชกฤษฎีกาเป็นแนวคิดที่ล้าสมัย ไม่ควรนำมาใช้กับพืชเสพติดโดยเฉพาะพืชกระท่อม อีกทั้งกระบวนการเสนอหรือแก้ไขพระราชกฤษฎีกามีขั้นตอนและใช้เวลามาก ไม่ทันต่อสถานการณ์ ควรจัดทำหลักเกณฑ์การศึกษาวิจัยหรือทดลองเพาะปลูกพืชกระท่อมเป็นประกาศคณะกรรมการจะเหมาะกว่า ซึ่งในอนาคตควรมีการพิจารณาข้อเสนอทางเลือกอื่นในเรื่องพืชกระท่อม คือการเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับพืชกระท่อม กัญชา เนื่องจากเป็นกรณีที่ต้องมีระบบการควบคุม หรือจัดการรูปแบบใหม่ การจัดทำร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดอาจใช้ระยะเวลานานหลายปี อีกทั้งยังควรพิจารณาปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานควบคุมยาเสพติดของไทยที่ใช้มานานกว่า 40 ปี เพราะไม่สามารถป้องกันหรือแก้ปัญหายาเสพติดอย่างได้ผลเท่าที่ควร มีผู้กระทำผิดเพิ่มสูงขึ้นจนล้นเรือนจำ ต้องใช้งบประมาณมหาศาลแทนที่จะนำไปใช้พัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ
ทั้งนี้ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยายังไม่มีการเสนอให้มีการถอดกัญชาจากบัญชียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 และยังไม่มีการรับรองให้ใช้กัญชาหรือรับขึ้นทะเบียนยาจากกัญชาแต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยทางวิชาการในคนเพียงพอที่จะยืนยันว่าสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ แม้ว่าในต่างประเทศจะมีการใช้ยาที่ได้จากสารสกัดของกัญชาและที่เป็นสารสังเคราะห์ โดยมีข้อบ่งใช้ของยา ได้แก่ เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน ที่เกิดจากการใช้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยโรคเอดส์ รักษาภาวะปวดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง รักษาอาการปวดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป็นต้น แต่ข้อมูลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนำกัญชามาใช้ในการรักษาโรค ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย เช่น การศึกษาวิจัยในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่าง ๆ เป็นต้น และในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ก็ยังไม่มีการรับรองให้มีการนำพืชกัญชามาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิกในคนเพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัย ซึ่งอันที่จริงแล้วการควบคุมพืชกระท่อมในประเทศต่าง ๆ ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติยังมิได้มีการประกาศควบคุมพืชกระท่อมตามอนุสัญญาฯ ระหว่างประเทศ แต่ได้ขอให้ประเทศสมาชิกเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การใช้พืชกระท่อมด้วย จากการสืบค้นพบว่า ประเทศต่าง ๆ เช่น เดนมาร์ก ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย สวีเดน มีการควบคุมพืชกระท่อม และสารไมทราไจนีน (Mitragynine) และเซเว่นไฮดรอกซีไมทราไจนีน (7-Hydroxymitragynine) สำหรับประเทศออสเตรเลีย พม่าและมาเลเซีย ก็มีการควบคุมพืชกระท่อมเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ต้องการทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกระท่อมและกัญชา ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกมายืนยันว่า ทาง อย.ยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนายาที่ดี มีประสิทธิภาพในการรักษา และกฎหมายฉบับนี้ไม่เคยปิดกั้นความก้าวหน้าทางวิชาการแต่อย่างใด เนื่องจากกฎหมายได้เปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่จะศึกษาวิจัยสามารถส่งโครงการศึกษาวิจัย (Proposal) มายังกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษพิจารณา หากคณะกรรมการเห็นชอบโครงการศึกษาวิจัยดังกล่าว จะนำเสนอเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาอนุญาตเห็นชอบเป็นราย ๆ ไป เพื่อให้ผู้วิจัยสามารถดำเนินการวิจัยเรื่องกัญชาได้ต่อไป ดังนั้น หากหน่วยงานหรือผู้วิจัยใดมีความประสงค์ในการศึกษาวิจัย โดยใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ก็สามารถใช้ช่องทางดังกล่าวได้ นอกจากนี้การที่จะเปิดให้สามารถนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้นั้น อย.ได้มีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายในประมวลกฎหมายยาเสพติดให้โทษ โดยแก้ไขเป็นห้ามมิให้ผู้ใดเสพพืชกระท่อม เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะประกาศกำหนดตำรับยาที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยสาขาเวชกรรมไทยหรือผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ซึ่งผลจากการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เมื่อร่างประมวลกฎหมายฯ มีผลบังคับใช้ พืชกระท่อมก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ หรือนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาวิจัยในมนุษย์ก็สามารถทำได้ตามกฎหมาย แต่เนื่องจากการที่ใบกระท่อมมีปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นและนักเรียน การถอนพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษควรคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสาธารณสุขและสังคมร่วมด้วย
เอกสารอ้างอิง
เอกสารอ้างอิง
“สถานการณ์พืชกระท่อมปี 2556” จัดทำโดย สำนักยุทธศาสตร์ สำนักงาน ป.ป.ส. (กันยายน พ.ศ. 2556).
รายงานสรุปผลการดำเนินงานด้านคดีของศาลยุติธรรมทั่วราชอาณาจักร ประจำปี พ.ศ. 2558 (สำนักงานศาลยุติธรรม)