การใช้ชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานในยุคโซเชียลมีเดีย

การใช้ชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานในยุคโซเชียลมีเดีย

            ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้เป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกายปี พ.ศ. 2557 ในประชากรตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าเป็นเบาหวานร้อยละ 8.9 หรือคิดเป็น 4.8 ล้านคน นอกจากนี้การรักษาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดบรรลุเป้าหมายเพียงร้อยละ 38.2

            ท่ามกลางการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างมาก ในสภาพสังคมออนไลน์ในปัจจุบันที่สามารถสื่อสารส่งต่อความรู้ได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง จึงนำมาสู่การเสวนาทางวิชาการ “การใช้ชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานในยุคโซเชียลมีเดีย” ของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี พ.ศ. 2560 เพื่อหาคำตอบและแนวทางในการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารและสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อส่งเสริมให้การป้องกันและรักษาโรคเบาหวานในประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย เพื่อลดการเกิดโรคเบาหวานในคนไทยและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน ถือเป็นการสร้างเกราะความรู้ให้ผู้เป็นเบาหวานในยุคโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งเดินหน้าสร้างเครือข่ายชมรมผู้เป็นเบาหวานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ หวังลดการเกิดโรคเบาหวานในคนไทย

         นพ.เพชร รอดอารีย์ เลขาธิการสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์และการใช้เทคโนโลยีในการดูแลโรคเบาหวานมีบทบาทมากขึ้นในการรักษาผู้ป่วย โดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ได้ตระหนักถึงผลกระทบในส่วนนี้มาโดยตลอด และล่าสุดสมาคมฯ ได้มุ่งสร้างเกราะความรู้ความเข้าใจต่อสังคมไทยในรูปแบบ “โครงการสัมมนาเครือข่ายชมรมผู้เป็นเบาหวาน” โดยได้จัดร่วมกับโรงพยาบาลในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อรวมตัวสร้างเป็นเครือข่ายขึ้นระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้เป็นเบาหวาน ซึ่งเป็นการรวมตัวที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลมาก เนื่องด้วยแพทย์จะได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้เป็นเบาหวานและครอบครัวอย่างใกล้ชิด ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ทำให้เข้าใจถึงปัญหาและร่วมกันหาทางออกที่ดี นำไปสู่การพัฒนาการดูแลตนเองและการช่วยเหลือระหว่างผู้ป่วยด้วยกัน โดยที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้จัดไปแล้ว 6 จังหวัด เริ่มจากกรุงเทพฯ อุบลราชธานี สงขลา เชียงใหม่ ระยอง และพิษณุโลก สามารถเข้าถึงผู้นำกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานได้ถึง 400 คน บุคลากรทางการแพทย์ 300 คน จากทั้งหมด 128 โรงพยาบาล และมีแผนดำเนินการขยายสังคมเครือข่ายผู้เป็นเบาหวานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้การรักษาเบาหวานบรรลุเป้าหมายและลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน อันเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเห็นว่าควรมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์สร้างเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้ป่วยและประชาชน

         ศ.นพ.ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ความเห็นว่า ยุคโซเชียลทำให้พฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนไป ชอบค้นหาข้อมูลจากสื่อออนไลน์ด้วยตนเอง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา อาจารย์ได้เปิดเฟซบุ๊คชื่อ Endocrinology by Prof.Chatlert Pongchaiyakul เป็นเพจทางวิชาการ เริ่มแรกตั้งใจจะให้ความรู้ทางวิชาการทางด้านระบบต่อมไร้ท่อและเบาหวานแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก แต่หลังจากเปิดเพจไประยะหนึ่งพบว่ามีผู้ติดตามเพจจำนวนมากที่เป็นประชาชนทั่วไป ทำให้ต้องนำเสนอข้อมูลในวงกว้างสำหรับผู้อ่านทั่วไปให้มีความรู้เกี่ยวกับโรคทางต่อมไร้ท่อและโรคเบาหวานไปด้วย ปัจจุบันเพจนี้มีผู้ติดตามประมาณเกือบสี่หมื่นคน นอกจากเฟซบุ๊คแล้ว อาจารย์ยังได้ทำการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยในการรักษาโดยผ่านโปรแกรม LINE โดยส่งข้อมูลเรื่องการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การปรับยาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมได้ดีขึ้นอีกด้วย

         ด้าน ดร.สุปิยา เจริญศิริวัฒน์ นักวิจัยและหัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยติดตามสุขภาพและรูปแบบการดำเนินชีวิต ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้บรรยายเรื่องการใช้งานของแอพพลิเคชั่นโดยแสดงให้เห็นผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดีขึ้นในประชากรผู้ใหญ่ที่เป็นเบาหวาน ซึ่งส่วนใหญ่การออกแบบแอพพลิเคชั่นสำหรับโรคเบาหวานจะมี 3 หมวดหลัก ๆ ที่สำคัญคือ บันทึกประวัติ (diary for diabetes tracker) ข้อมูลทางโภชนาการ (nutrition) และการดูแลสุขภาพ (wellness and health management) โดยในประเทศไทยมีแอพพลิเคชั่น เช่น “FoodiEat” ถูกออกแบบให้ใช้งานเพื่อช่วยแนะนำการดูแลสุขภาพ ผู้ใช้งานสามารถบันทึกพฤติกรรมการรับประทานอาหาร คำนวณค่าพลังงานที่เผาผลาญจากการออกกำลังกาย ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถนำแอพพลิเคชั่นนี้ไปประยุกต์ใช้งานเพื่อช่วยคำนวณคาร์โบไฮเดรต (หรือเรียกย่อ ๆ ว่า คาร์บ) ที่จะรับประทาน นอกจากนั้น “FoodiEat” ยังสามารถเรียนรู้พฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกาย ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานสามารถสำรวจกิจกรรมในชีวิตประจำวันและประวัติการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายเพื่อดูความสอดคล้องกับระดับน้ำตาลในเลือดของตนเอง โดยมีแหล่งข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทยและผลไม้ จาก สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมอนามัย รวมถึงข้อมูลฉลากโภชนาการจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

            นอกจากนี้ในด้านโรคเบาหวานมีผลงานที่ถูกพัฒนาภายใต้โครงการ “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ซึ่งดำเนินการโดย NECTEC และพันธมิตร เป็นผลงานนักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาแอพพลิเคชั่นเป็นผู้ช่วยบันทึกข้อมูลสุขภาพ ให้คำแนะนำผู้ป่วย รวมถึงแจ้งเตือนผู้ป่วยและญาติหากพบภาวะเสี่ยง เช่น เมื่อผู้ป่วยลืมฉีดยา หรือมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่นวางแผนการรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานจากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ซึ่งช่วยในการประมวลผลสัดส่วนรายการอาหารที่เหมาะสมกับค่าน้ำตาลของผู้ป่วยในการรับประทานอาหารแต่ละมื้อ แต่ข้อจำกัดของแอพพลิเคชั่นวางแผนการรับประทานอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานยังมีความคลาดเคลื่อนในการคำนวณระดับน้ำตาล 

            แอพพลิเคชั่นส่วนใหญ่ที่มีอยู่อาจยังไม่ครอบคลุมสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ ผู้ป่วยที่มีระดับการศึกษาไม่สูงนัก ดังนั้น การพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานให้สามารถใช้งานได้อย่างแท้จริง สิ่งที่ต้องได้รับการพัฒนาในอนาคตสำหรับประเทศไทยคือ แอพพลิเคชั่นที่สามารถนำไปใช้จริงในโรงพยาบาล ง่ายต่อการใช้งาน และแพทย์สามารถแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานนำไปใช้เพื่อเป็นระบบติดตามเฝ้าระวังร่วมกับแพทย์อย่างต่อเนื่อง นอกจากบันทึกการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยเป็นภาษาไทย ควรจะมีระบบการบันทึกและแสดงผลข้อมูลเป็นค่าเฉลี่ยและสถิติเพื่อใช้วิเคราะห์ผลอย่างง่ายสำหรับผู้ป่วยเองและสำหรับแพทย์เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์อาการ เลือกวิธีการรักษา ช่วยคำนวณสัดส่วนรายการอาหารที่เหมาะสมกับค่าน้ำตาลของผู้ป่วยได้ หรือให้คำแนะนำผู้ป่วยเป็นรายบุคคลได้อย่างเหมาะสม สะดวก ไม่สิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่าย ข้อมูลถูกเก็บไว้อย่างเป็นระบบที่เซิร์ฟเวอร์และสามารถสืบค้นข้อมูลผู้ป่วยได้จาก IT ส่วนกลางของโรงพยาบาล

         ผศ.สมิทธิ์ บุญชุติมา ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำแนะนำว่า เพื่อให้การสื่อสารด้วยสื่อสังคมออนไลน์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีคนสนใจ นักสื่อสารจำเป็นต้องมีความรู้และทักษะ 4 ด้าน คือ ความรู้ในเรื่องความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน เทคนิคการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การผลิตภาพกราฟิค และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด สื่อมีทั้งจริงและเท็จปะปนกัน ดังนั้น ประชาชนและผู้ให้บริการทางสาธารณสุขควรใช้วิจารณญาณวิเคราะห์ก่อนจะเชื่อในสื่อใด ควรพิจารณาจากที่มาของข่าวสาร ผู้ให้ข่าวสารและสถาบันที่น่าเชื่อถือ เช่น ข้อมูลมาจากสมาคมวิชาการ หรือสถาบันทางการแพทย์ เป็นต้น

            ทั้งนี้สถานการณ์โรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าในปี พ.ศ. 2552 ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีจำนวน 108 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 422 ล้านคนในปี พ.ศ. 2557 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 1.5 ล้านคน นอกจากนี้ยังพบว่าประชากรทั่วโลกที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปป่วยด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.7 เป็นร้อยละ 8.5 หรือเมื่อเปรียบเทียบแล้วพบว่าปัจจุบันประชากรวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 11 คนป่วยเป็นโรคเบาหวาน ส่วนในประเทศไทยจากรายงานของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราตายด้วยโรคเบาหวานต่อประชากรแสนคน ในภาพรวมของประเทศในปี พ.ศ. 2556-2558 เท่ากับ 14.93, 17.53 และ 17.83 ตามลำดับ เห็นได้ว่าอัตราตายด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นทุกปี และจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกายในประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ครั้งที่ 3, 4 และ 5 (ปี พ.ศ. 2547, 2552 และ 2557) พบว่าความชุกของโรคเบาหวานของครั้งที่ 3 ร้อยละ 7 ใกล้เคียงกับครั้งที่ 4 ร้อยละ 6.9 ส่วนครั้งที่ 5 เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 8.8 (คิดเป็น 4.8 ล้านคน)

            นอกจากนี้ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2551 ยังพบว่าประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกในการรักษาพยาบาลโรคเบาหวานเฉลี่ย 1,172 บาทต่อราย ส่วนผู้ป่วยในมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ย 10,217 บาทต่อราย รวมค่ารักษาพยาบาลทั้งสิ้น 3,984 ล้านบาทต่อปี หากคนไทยป่วยด้วยโรคเบาหวานรวม 3 ล้านคนต่อปี มารับบริการที่สถานพยาบาลจะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลทั้งสิ้นประมาณ 47,596 ล้านบาทต่อปี

            คำแนะนำสำหรับประชาชน โดยวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคเบาหวานคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพดังนี้ 1. การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็มจัด 2. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 150 นาทีต่อสัปดาห์ 3. การงดหรือลดการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 4. ควรรับการตรวจวัดค่าระดับน้ำตาลเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และการทำจิตใจให้เเจ่มใสอยู่เสมอ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเบาหวานได้ที่เว็บไซต์สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ www.dmthai.org หรือ Facebook: สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ