สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) จัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2560 “Transforming of Hospital Pharmacy to the Era of 4.0”

สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) จัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2560 “Transforming of Hospital Pharmacy to the Era of 4.0”

            สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) จัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2560 และงานประชุมวิชาการเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงของงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลเข้าสู่ยุค 4.0” (Transforming of Hospital Pharmacy to the Era of 4.0) ระหว่างวันที่ 24-26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน ถ.พระราม 9 กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เภสัชกรโรงพยาบาลในฐานะบุคลากรสาธารณสุขที่รับผิดชอบดูแลระบบยาและการใช้ยาได้มีการเตรียมพร้อม พัฒนา ปรับตัว และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับนวัตกรรมต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นสำหรับการปฏิบัติงานในยุคไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล โดยยังคงไว้ซึ่งบทบาทของเภสัชกรโรงพยาบาลในการดูแลเรื่องยาให้เกิดการใช้ยาอย่างมีประสิทธิผลและปลอดภัยแก่ผู้ป่วย ยิ่งไปกว่านั้นในยุคไทยแลนด์ 4.0 นี้ รัฐบาลยังได้ให้นโยบายที่จะพัฒนาการใช้สมุนไพรเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการป้องกันและรักษาโรค เภสัชกรโรงพยาบาลจึงต้องประยุกต์องค์ความรู้ด้านสมุนไพรเข้ากับการดูแลผู้ป่วยเพื่อช่วยให้มีการใช้สมุนไพรได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และปลอดภัย

         รศ.ดร.ภญ.บุษบา จินดาวิจักษณ์ อุปนายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์เชิงนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ไทยแลนด์ 4.0” ส่งผลให้มีการพัฒนานวัตกรรมและการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในงานด้านต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงระบบยาของโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เภสัชกรโรงพยาบาลซึ่งมีบทบาททางวิชาชีพในการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องยาไปแนะนำหรือให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขจึงต้องมีการเตรียมตัว ปรับตัว เรียนรู้ และสามารถใช้งานนวัตกรรมต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานดูแลเรื่องยา ตลอดจนประเมินความถูกต้องของรายการยาที่ผู้ป่วยได้รับ ซึ่งแตกต่างจากยุค 1.0 ที่เภสัชกรทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาให้มียาไว้ใช้ในโรงพยาบาล และทำการจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยตามใบสั่งยาของแพทย์ เรียกได้ว่าเภสัชกรโรงพยาบาลยุค 1.0 เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรักษาพยาบาล จนมาสู่ยุค 2.0 ที่เภสัชกรโรงพยาบาลมีการพัฒนาบทบาทและก้าวเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยมากขึ้น มีการส่งมอบยาซึ่งเป็นการจ่ายยาพร้อมกับให้คำแนะนำและปรึกษาการใช้ยา ให้การบริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วย และปรึกษากับทีมสหวิชาชีพเมื่อพบปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม หรือมีปฏิกิริยาต่อกัน เรียกได้ว่าเภสัชกรโรงพยาบาลยุค 2.0 ได้ก้าวออกมาอยู่ในทีมสหวิชาชีพในการรักษาพยาบาล

            นอกเหนือจากความหลากหลายในการปฏิบัติงานในยุค 2.0 แล้ว การปฏิบัติงานของเภสัชกรโรงพยาบาลยังต้องได้รับการรับรองคุณภาพตามระบบมาตรฐาน ซึ่งนับเป็นยุค 3.0 เภสัชกรโรงพยาบาลจำเป็นต้องมีการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานเพื่อให้สอดคล้องกับการรับรองคุณภาพและมาตรฐานระหว่างประเทศที่ทั่วโลกให้การยอมรับ อาทิ ISO, HA (Hospital Accreditation), JCI (Joint Commission International) 

            สำหรับปัจจุบันเมื่อก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 เภสัชกรโรงพยาบาลจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อม ต้องปรับตัว และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานคุณภาพการปฏิบัติงานและดูแลผู้ป่วยให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด เช่น เมื่อมีการนำเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติมาจ่ายยาแทนคน ก็จะช่วยลดเวลาในการรอรับยา ข้อผิดพลาดในการจ่ายยาก็น้อยลงเนื่องจากเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติใช้ระบบยิงบาร์โค้ด แต่เภสัชกรโรงพยาบาลก็ยังต้องตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดทางยาตั้งแต่ก่อนนำยาเข้าเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ และตรวจสอบอีกครั้งเมื่อยาออกจากเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ ว่าชื่อของยาที่ระบุอยู่บนซองนั้นถูกต้องตรงกับยาที่บรรจุอยู่ภายในหรือไม่ แล้วจึงทำการส่งมอบยาพร้อมให้คำแนะนำและปรึกษาวิธีการใช้ยาที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วยต่อไป นอกจากนี้ก็ยังมีโปรแกรมและฐานข้อมูลที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการปฏิบัติงานบริบาลทางเภสัชกรรม เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตรวจจับคู่ยาที่มีปฏิกิริยาต่อกัน โปรแกรมคอมพิวเตอร์เตือนหากมีการสั่งใช้ขนาดยาที่สูงเกินไป เป็นต้น

            “สำหรับการเปลี่ยนแปลงของงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลเข้าสู่ยุค 4.0 นอกจากการเปลี่ยนแปลงบทบาทวิชาชีพที่มุ่งเน้นตามการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ แล้วนั้น รัฐบาลยังได้กำหนดนโยบายแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย (ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564) โดยส่งเสริมให้มีการพัฒนาการปลูก การแปรรูป และการทำอุตสาหกรรมสมุนไพร รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษาโรคและสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเภสัชกรโรงพยาบาลจะต้องพัฒนาบทบาทในด้านนี้เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยทราบถึงประโยชน์และโทษของสมุนไพรที่จะนำไปใช้ในการป้องกันและรักษาโรค ตลอดจนการส่งเสริมการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้องเหมาะสม”

            สำหรับรูปแบบของการประชุมในครั้งนี้ได้จัดขึ้น 3 วัน โดยมีทั้งการบรรยาย อภิปราย การนำเสนอ ผลงานทางวิชาการทั้งแบบนำเสนอบนเวทีและแบบโปสเตอร์ ซึ่งทางสมาคมฯ ได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละด้านมาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถนำกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยที่มารับการบริการ

            ส่วนหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจและไม่ควรพลาดในครั้งนี้ ได้แก่

            - Hospital Pharmacist: Past, Present, and Future โดย รศ.ภญ.ธิดา นิงสานนท์ กรรมการที่ปรึกษาสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) หัวข้อนี้จะเป็นการเล่าบทบาทของเภสัชกรโรงพยาบาลในประเทศไทย ตั้งแต่อดีตที่ควรรับรู้เรื่องราวเป็นรากฐาน บทบาทในปัจจุบันที่เป็นอยู่และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และบทบาทในอนาคตที่คาดหวัง

            - Digital Hospital: Thought and Shared from Srinagarind Hospital โดย รศ.นพ.ชลธิป พงศ์สกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายสารสนเทศ และ ภญ.รัชฎาพร สุนทรภาส จากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งวิทยากรจะบรรยายเกี่ยวกับตัวอย่างของโรงพยาบาลดิจิตอลที่ได้มีการนำเอาระบบ Paperless เข้ามาใช้งานเพื่อลดการใช้กระดาษให้ใช้น้อยที่สุดและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

            - แนวทางการใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพ โดย ศ.เกียรติคุณ ดร.ภญ.นันทวัน บุณยะประภัศร ที่ปรึกษาโครงการสมุนไพรเพื่อชีวิต กองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว. ซึ่งวิทยากรจะบรรยายให้มุมมองเกี่ยวกับการนำเอาสมุนไพร ตลอดจนการรับประทานผัก ผลไม้ เพื่อการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพของตนเอง เช่น กล้วย มะเขือเทศ แต่ละชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทย สามารถให้สารอาหารหรือสารที่มีสรรพคุณทางการรักษาแตกต่างกันไป

            ทั้งนี้คาดว่าจะมีเภสัชกรโรงพยาบาลและเภสัชกรผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 400 คน ทางคณะกรรมการจัดการประชุมของสมาคมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเภสัชกรโรงพยาบาลผู้เข้าร่วมงานประชุมจะได้เพิ่มพูนองค์ความรู้ในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งมีโอกาสศึกษาผลงานทางวิชาการและงานวิจัยจากเภสัชกรทั่วประเทศที่ได้ทำการวิจัย อีกทั้งได้เรียนรู้ตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ในการช่วยลดความผิดพลาดทางยา ลดระยะเวลาการรอยาของผู้ป่วย ตลอดจนเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยชนิดต่าง ๆ เพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย

            “ขอเชิญชวนเภสัชกรโรงพยาบาล ไม่ว่าท่านจะคิดว่าท่านเป็นเภสัชกรในยุคไหน ก็เข้าร่วมงานประชุมครั้งนี้ได้ เพื่อที่เราจะสามารถก้าวเข้าสู่การเป็นเภสัชกรยุค 4.0 เราจะก้าวไปด้วยกันทั้งในด้านองค์ความรู้และการนำวิชาการเข้าสู่การบริบาลผู้ป่วย โดยประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นร่วมกับการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเภสัชกรผู้เข้าร่วมประชุมครบทั้ง 3 วัน สามารถเก็บสะสมหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง (CPE) ได้จำนวน 13 หน่วยกิต” รศ.ดร.ภญ.บุษบา กล่าวทิ้งท้าย

            ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaihp.org หรือ E-mail: hp@thaihp.org หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทางโทรศัพท์ 0-2249-9333

 

 

 

 

 

https://kiralikbahissitesi4.combahis sayfası kiralama

 

รายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่