HUG THERAPY: HIGH-TOUCH HEALING IN A HIGH-TECH WORLD
“อุ่นใด ๆ โลกนี้มิมีเทียบเทียม อุ่นอกอ้อมแขน อ้อมกอดแม่ตระกอง รักเจ้าจึงปลูก รักลูกแม่ย่อมห่วงใย ไม่อยากจากไปไกล แม้เพียงครึ่งวัน ให้กายเราใกล้กัน ให้ดวงตาใกล้ตา ให้ดวงใจเราสองเชื่อมโยงผูกพัน - เพลงอิ่มอุ่น ของศิลปิน ศุ บุญเลี้ยง บทเพลงที่สะท้อนถึงความผูกพันระหว่างแม่กับลูกได้เป็นอย่างดี”
แต่รู้หรือไม่ว่า...มีเด็กบางกลุ่มที่แม้พ่อแม่จะรักแค่ไหน...ก็ยังกอดลูกไม่ได้ เพราะพวกเขาต้องนอนในโรงพยาบาล มีสายน้ำเกลือห้อยระโยงระยาง...พร้อมเครื่องช่วยหายใจ...ชีวิตเล็ก ๆ ต้องการส่งความอบอุ่นจากอ้อมกอดนี้
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า กว่า 60 ปี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีเป็นโรงพยาบาลของรัฐแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาโรคเด็กที่ยุ่งยากซับซ้อน เด็กป่วยถูกส่งต่อมาจากทั่วประเทศ พร้อมทั้งวางพันธกิจหลักในการเป็นเสาหลักของประเทศในการดูแลทารกและเด็กพิการแต่กำเนิด รวมทั้งทารกคลอดก่อนกำหนดครบวงจร เพื่อลดอัตราการตายและพิการของทารกแรกเกิดให้น้อยลง โดยปัจจุบันสถานการณ์เด็กพิการแต่กำเนิดในประเทศไทยยังพบว่าประเทศไทยมีทารกแรกเกิดประมาณ 700,000 รายต่อปี เป็นเด็กที่เกิดมาพร้อมกับความพิการประมาณ 24,000- 40,000 ราย ซึ่งความพิการแต่กำเนิดหรือความผิดปกติแต่กำเนิด (Birth Defects) ถือเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติและเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะการที่มีผู้พิการในครอบครัวย่อมส่งผลกระทบทางจิตใจของผู้ที่เป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ทั้งก่อให้เกิดภาระในด้านสุขภาพต่อผู้ป่วย รวมถึงส่งผลกระทบต่อครอบครัว สังคม จนถึงระดับประเทศที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา และที่สำคัญความพิการแต่กำเนิดยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กทารกมากถึงร้อยละ 20-30 ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่สูงมากและมีจำนวนสะสมขึ้นทุกปี ทั้งนี้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติได้ดำเนินการรักษาและดูแลเด็กมากกว่าปีละ 400,000 รายต่อปี มีผู้ป่วยเด็กที่ต้องนอนรับการรักษาเฉลี่ย 16,500 รายต่อปี พวกเขาต้องเจาะเลือด ต่อสายน้ำเกลือ และการให้ยาเพื่อรักษาและบรรเทาความเจ็บป่วย หรือในบางกรณีต้องทำการผ่าตัดตั้งแต่ยังเล็กเพราะมีความผิดปกติแต่กำเนิด ทำให้เด็กน้อยไม่สามารถได้รับความรักผ่านอ้อมกอดของพ่อแม่ได้ มีเพียงแค่สายตาที่จับจ้องอย่างเป็นห่วงและปลอบประโลมลูกน้อยอยู่ไกล ๆ
ผศ.พญ.ปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า อ้อมกอดนับเป็นยามหัศจรรย์ที่ช่วยให้คนเราอบอุ่น ปลอดภัย ส่งต่อความรักและความผูกพันระหว่างกัน การกอดยังช่วยกระตุ้นพัฒนาการให้แก่ลูกน้อยในแต่ละช่วงวัย นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาความทุกข์ร้อนได้หลากหลาย ทั้งคลายความกังวล บรรเทาความเจ็บป่วย
Hugs for Health
จากการศึกษาของนักจิตวิทยา Karen Grewen, Ph.D. University of North Carolina ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Psychosomatic Medicine พบว่าในระหว่างที่ให้คู่รักกอดกันสามารถกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความสุข (oxytocin) ได้อย่างชัดเจน และลดฤทธิ์ของฮอร์โมนแห่งความเครียด (cortisol) ได้อย่างดี นอกจากนี้ยังพบว่าคนที่ไม่ได้รับการกอดจะมีความดันโลหิตและจังหวะการเต้นของหัวใจสูงกว่าคนที่ได้รับการกอดอย่างชัดเจน ซึ่งภาวะดังกล่าวนับว่าไม่ดีต่อสุขภาพ การกอดช่วยเยียวยา ปลอบโยน ลดความกังวล ความวิตกกังวล ซึมเศร้า และความเหงาโดดเดี่ยว เป็นพลังจากการสัมผัสเนื่องจากทำให้คนเรามีโอกาสได้ฝึกปฏิสัมพันธ์กันภายใต้ความไว้วางใจ ความเชื่อใจ
จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of Psychological Sciences ซึ่งรวบรวมการศึกษาประโยชน์ของการกอดจากหลายสถาบันพบว่า การกอดมีประโยชน์มากมายดังนี้
1. ลดความรู้สึกกลัวตาย (กอดช่วยชีวิต) พบว่าแม้แต่การกอดตุ๊กตาหมีก็ยังช่วยลดความกลัวตายได้ หากได้กอดคนที่ยังมีชีวิตยิ่งทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น ในปี ค.ศ. 1995 ในสหรัฐอเมริกามีคู่แฝดคลอดก่อนกำหนดที่น้ำหนักน้อย แฝดคนหนึ่งสุขภาพดี ส่วนอีกคนมีแนวโน้มจะเสียชีวิต หลังจากทดลองนำมานอนในตู้อบเดียวกัน ให้สัมผัสซึ่งกันและกัน พบว่าแฝดอีกคนสามารถมีชีวิตรอดได้อย่างอัศจรรย์
2. ลดความรู้สึกโดดเดี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนสูงอายุหรือคนป่วยที่มีความเปราะบางเรื่องสุขภาพ ทำให้หลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมามาก และยิ่งทำลายระบบภูมิคุ้มกันทำให้สุขภาพย่ำแย่มากขึ้น
3. ช่วยให้เด็กเจริญเติบโตและพัฒนาการดีขึ้น มีการศึกษาในยุโรปพบว่าเด็กในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามักมีการเจริญเติบโตทางร่างกายและสติปัญญาไม่ดี (Frank DA, Klass PE, Earls F, Eisenberg L) แต่หลังจากทำการกระตุ้นโดยการสัมผัส การกอดวันละ 20 นาที นาน 10 สัปดาห์ เด็กกลุ่มนี้มีการพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (Casler, Lawrence) สำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนดหรือเด็กอ่อน ในปัจจุบันมีการกระตุ้นให้แม่ลูกได้สัมผัสกันและกันโดยการอุ้มแบบจิงโจ้ (Kangaroo care) พบว่ามีผลดีต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพเด็กอย่างมาก
4. กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข (oxytocin) ช่วยลดความวิตกกังวลและความเครียดได้ เช่น ในเวลาที่แม่คลอดบุตรจะมี oxytocin หลั่งออกมาอย่างมากจนทำให้แม่ลืมความเจ็บปวดทั้งหมดจากการคลอดบุตรได้ และยังเรียกได้ว่าเป็นฮอร์โมนของความผูกพัน การมีกันและกัน ช่วยทำให้นอนหลับฝันดี สำหรับเพศชายฮอร์โมนตัวนี้ยังช่วยทำให้ผู้ชายมีทักษะการสร้างความผูกพันและแสดงความรักใคร่ได้ดีขึ้น ความหวานในชีวิตคู่จะมีอย่างต่อเนื่องหากคนเราได้กอดกัน
5. ลดความเครียด ทำให้ควบคุมอารมณ์และแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ดี มีการศึกษาพบว่าเด็กที่ได้รับการกอดตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิตจะมีทักษะการจัดการความเครียดได้ดี การกอดช่วยลดความเครียดให้เด็ก ทำให้เด็กอาละวาดน้อยลง
6. กระตุ้นสารสื่อประสาทหลายชนิดที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายดี เช่น โดปามีน (Dopamine) ทำให้คนเรารู้สึกดี (Serotonin) ช่วยลดความเจ็บปวดและอารมณ์ดี และ Oxytocin ที่ทำให้คนเราเกิดความพึงพอใจ
ประโยชน์ของการกอดเด็กแต่ละช่วงวัย
Physical touch is one of the most important stimulation that can facilitate healthy child development (The importance of touch in development. By Evan L Ardiel, MSc and Catharine H Rankin, Ph.D.)
การกอดเพื่อเยียวยาที่มีประสิทธิภาพจะต้องไม่ต่ำกว่าครั้งละ 20 วินาที การสัมผัสจะทำให้โครงข่ายกระแสประสาทนับล้านส่งสัญญาณไปยังสมองกระตุ้นสารสื่อประสาทหรือฮอร์โมนต่าง ๆ ให้ทำงานอย่างสมดุล การกอดทำให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย เราสามารถสังเกตประสิทธิผลได้จากความชุ่มชื้นและความยืดหยุ่นของผิว เรียกได้ว่ากอดลูกบ่อย ๆ แล้วเหมือนคุณพ่อคุณแม่ได้ทำเบบี้เฟซหรือทำสปาผิวจนหน้าและผิวตึงกันทั้งคู่เลยค่ะ กอดลูกแล้วทำให้พ่อแม่หน้าเด็กลง
การ “กอด” นับเป็นยาวิเศษที่หาง่ายได้ทุกที่ทุกเวลา ดังนั้น เราควรใส่ใจและหันมากอดลูกตั้งแต่วันนี้ เพราะมีส่วนช่วยในทุกด้านของพัฒนาการทั้งร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ส่งผลให้ลูกเป็นคนดีและเข้าถึงจิตใจและเห็นใจคนอื่นได้ในอนาคต ดังนั้น ในวันนี้เราควรจะเริ่มกอดกันและกัน ไม่ต้องรอเทศกาลใด ๆ เพราะเราสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา