ดึง 19 หน่วยงานร่วมมือขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573

ดึง 19 หน่วยงานร่วมมือขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573

ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 เพื่อให้ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ทั้งในส่วนกลาง และภูมิภาค รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ มีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อยุติปัญหาเอดส์ในปี พ.ศ. 2573 โดยร่วมกับ 19 หน่วยงาน ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การยุติปัญหาเอดส์ร่วมกัน

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ เป็นประธานเปิดการปฐมนิทัศน์ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ และเป็นสักขีพยานการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการยุติปัญหาเอดส์ โดยมี นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า ความสำเร็จในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในประเทศไทยกว่า 30 ปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการกำหนดยุทธศาสตร์อันแสดงถึงความมุ่งมั่นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลเห็นความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินการอย่างเต็มที่ มีการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ ที่สำคัญคือ ความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในรูปแบบประชารัฐ ซึ่งทำให้อัตราการแพร่ระบาดของการติดเชื้อเอชไอวีลดลงอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ส่วนคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ที่ผ่านมา ได้ประกาศนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันแก้ไขปัญหาเอดส์ ทั้งนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการรักษา ได้แก่ การให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ติดเชื้อทุกรายโดยไม่คำนึงถึงระดับเม็ดเลือดขาว นโยบายลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ ได้แก่ การไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้มีเชื้อเอชไอวีในการสมัคร การคัดเลือกและการเรียนหรือศึกษาต่อในสถานศึกษา การประกาศแนวปฏิบัติแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและจัดการด้านเอดส์ในสถานที่ทำงาน เป็นต้น

สำหรับยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 หรืออีก 13 ปีข้างหน้า เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ตามยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว หากดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุขเพียงกระทรวงเดียวคงทำได้ยาก จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากกระทรวงอื่น ภาคธุรกิจ เอกชน ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม เครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อเป็นแรงผลักดันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดไว้ว่า “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยได้ลงนามในพันธสัญญาร่วมกับนานาประเทศในการประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติระดับสูง เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 รวมทั้งได้เห็นชอบกับเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 ที่จะยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขขอแสดงเจตนารมณ์อีกครั้งว่า ประเทศไทยจะยุติปัญหาเอดส์ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 ตามเป้าหมาย 3 ประการ คือ 1. ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้เหลือปีละไม่เกิน 1,000 ราย  2. ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย  3. ลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวี และเพศภาวะลงจากเดิมร้อยละ 90

ทั้งนี้ประเทศไทยจะยุติปัญหาเอดส์ได้ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ ทุกคนต้องมีเป้าหมายร่วมกันและใช้แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ใช้หลักการพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ 1. การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำและไม่มีกลุ่มประชากรใดที่ถูกละเลยไว้ข้างหลัง  2. การเคารพ ปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชน และความเสมอภาคทางเพศ และ 3. การเป็นเจ้าของ และร่วมรับผิดชอบของภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ นอกจากต้องดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์อย่างเร่งรัด 5 ปีแรกต่อจากนี้ ซึ่งเป็นจุดคานงัดที่สำคัญที่จะส่งผลต่อเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ของประเทศได้ ดังนั้น การทำงานต้องทำอย่างเร่งรัด ทำแบบ Fast Track หรือ ACT NOW to Ending AIDS

นอกจากนี้ยังมีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การยุติปัญหาเอดส์ของ 19 หน่วยงาน ดังนี้ 1. สำนักนายกรัฐมนตรี  2. กระทรวงกลาโหม  3. กระทรวงการต่างประเทศ  4. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  5. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  6. กระทรวงมหาดไทย  7. กระทรวงยุติธรรม  8. กระทรวงแรงงาน  9. กระทรวงวัฒนธรรม  10. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  11. กระทรวงศึกษาธิการ  12. กระทรวงสาธารณสุข  13. กรมประชาสัมพันธ์  14. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  15. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  16. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  17. สำนักงานอัยการสูงสุด  18. คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ และ 19. เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ซึ่งทุกหน่วยงานร่วมดำเนินงานยุติปัญหาเอดส์ตามยุทธศาสตร์ฯ โดยเน้นการมีส่วนร่วมรับผิดชอบของภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น