เครือข่ายวิจัยวัณโรคประเทศไทยจัดทำแผนงานวิจัยวัณโรคระดับชาติเพื่อแก้ปัญหาวัณโรคของประเทศไทย

เครือข่ายวิจัยวัณโรคประเทศไทยจัดทำแผนงานวิจัยวัณโรคระดับชาติเพื่อแก้ปัญหาวัณโรคของประเทศไทย

แผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ. 2560-2564 ระบุถึงสถานการณ์วัณโรคที่ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2558 องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรงระดับโลก ทั้งวัณโรคทั่วไป วัณโรคและเอดส์ และวัณโรคดื้อยาหลายขนาน โดยในแต่ละปีคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 120,000 รายต่อปี และมีผู้ป่วยเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 12,000 ราย ขณะที่ปัญหาวัณโรคดื้อยาหลายขนานจะพบประมาณปีละ 2,200 ราย

แม้ว่าประเทศไทยจะมีการดำเนินงานป้องกันและควบคุมวัณโรคอย่างต่อเนื่อง แต่มีปัจจัยบางประการที่ทำให้การดำเนินงานควบคุมป้องกันยากมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น การเคลื่อนย้ายแรงงานเพิ่มขึ้น โดยผลการสำรวจความชุกวัณโรคระดับชาติของกรมควบคุมโรคในปี พ.ศ. 2557 พบว่า ประเทศไทยมีอัตราอุบัติการณ์วัณโรคสูงถึง 171 ต่อประชากรแสนคน และผู้ป่วยวัณโรคเกินกว่าครึ่งหนึ่งไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย จึงไม่มารับการรักษาทำให้มีการแพร่เชื้อติดต่อได้ง่าย

จากสถานการณ์ดังกล่าว สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค และองค์การอนามัยโลก จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแผนงานวิจัยวัณโรคระดับชาติ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานวิจัย หน่วยงานสนับสนุนการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมหาวิทยาลัย มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 70 คน ร่วมกำหนดโจทย์งานวิจัยวัณโรคที่สำคัญและสอดคล้องแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ ระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากรโลกเป็นอย่างมาก โดยประมาณ 1 ใน 3 มีประชากรติดเชื้อวัณโรค แม้จะมีการให้วัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อมากว่า 100 ปี แต่วัคซีนดังกล่าวกลับไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การติดเชื้อวัณโรคได้ จากการสำรวจโดยองค์การอนามัยโลกในปี ค.ศ. 2012 พบว่ามีผู้ติดเชื้อวัณโรคใหม่เพิ่มขึ้นถึง 8.6 ล้านราย และประมาณ 2.5 ล้านรายมาจากทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อวัณโรคประมาณ 1.3 ล้านราย ซึ่งวัณโรคมักเป็นปัญหาของประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจากการควบคุมรักษายังไม่เข้มข้นและครอบคลุมเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเป้าหมายลดอัตราการเกิดของวัณโรคลงร้อยละ 12 ต่อปี จาก 171 ต่อประชากรแสนคน ในปี พ.ศ. 2557 ให้เหลือ 88 ต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2564 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายยุติวัณโรคขององค์การอนามัยโลกนโยบายเร่งรัด โดยต้องปรับปรุงระบบการค้นหาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ให้รวดเร็วและครอบคลุม ตัดวงจรระบาด และต้องมีแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ. 2560-2564 เพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

“ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกจัดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรง แต่ละปีพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 120,000 ราย เสียชีวิตกว่า 13,800 ราย ที่สำคัญมีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานประมาณ 4,500 ราย ต้องใช้งบประมาณในการรักษาสูงถึง 1.2 ล้านบาทต่อรายหากดื้อยารุนแรง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการวินิจฉัยและรักษาเพียงร้อยละ 60 เท่านั้น และรักษาหายยังต่ำเพียงร้อยละ 80 ซึ่งไม่สูงพอที่นำไปสู่การลดโรค ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการตามเสนอ เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.  2560 ที่ผ่านมา ตั้งเป้ายุติวัณโรคให้ได้ภายใน 20 ปี หรือภายในปี พ.ศ. 2578 ด้วย 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ 1. เร่งค้นหาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยวัณโรคให้ครอบคลุม  2. ลดการเสียชีวิตผู้ป่วยวัณโรค  3. พัฒนาศักยภาพบุคลากร  4. สร้างกลไกการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์อย่างยั่งยืน และ 5. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการป้องกัน ดูแลรักษา และควบคุมวัณโรค”

         นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีภารกิจในการศึกษาและวิจัยการพัฒนานวัตกรรมการป้องกันและรักษาวัณโรค จึงได้ร่วมมือระหว่างหน่วยงานในประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อการวิจัย พัฒนา วินิจฉัย ป้องกัน และรักษาวัณโรค ได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จึงได้มีการประชุมหารือเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมทั้งทบทวนและประเมินกิจกรรมการควบคุมวัณโรคผ่านโครงการวิจัย ทำให้ทราบถึงปัญหา จุดอ่อน จุดแข็ง และสิ่งที่จำเป็นสำหรับปรับปรุงในการพัฒนาแผนงานวิจัยวัณโรคระดับชาติ และสามารถจัดทำแผนงานวิจัยด้านวัณโรคระดับชาติเป้าหมายระยะ 1 ปี และ 5 ปี ได้สำเร็จ

“ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยโตเกียวในการวิจัยด้านวัณโรค และได้รับการสนับสนุนการวิจัยจาก Japan International Cooperation Agency (JICA) ประเทศไทย และ Japan Agency for Medical Research and Development (AMED) จนได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ที่สามารถนำมาใช้ประกอบการวินิจฉัยและรักษาวัณโรค ประกอบไปด้วย การตรวจเลือดเพื่อประเมินการแสดงออกของยีนที่ช่วยในการวินิจฉัยการติดเชื้อวัณโรค การถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคเพื่อการประเมินภาวะดื้อต่อยาต้านวัณโรค วิธีตรวจระดับยาต้านวัณโรคเพื่อประเมินขนาดยาต้านวัณโรคให้เหมาะสม และการตรวจพันธุกรรมเพื่อปรับขนาดยาต้านวัณโรคให้เหมาะสมกับลักษณะพันธุกรรมทำให้การวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วขึ้น สามารถเลือกใช้ยาและปรับขนาดยาต้านวัณโรคให้เหมาะสม ส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้น และลดการเกิดผลข้างเคียงจากยาต้านวัณโรค”  

ด้าน ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สำนักจัดการงานวิจัยและประสานโครงการ สวรส. กล่าวบรรยายในหัวข้อกระบวนการพัฒนาโจทย์วิจัยวัณโรคในประเทศไทยว่า สวรส. มีความตระหนักต่อสถานการณ์วัณโรคของประเทศ โดย สวรส. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดรับข้อเสนองานวิจัยเกี่ยวกับวัณโรคตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา และจากการที่ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งมีเป้าหมายลดอัตราอุบัติการณ์ของวัณโรคลงร้อยละ 12.5 ต่อปี จาก 171 ต่อประชากรแสนคน ในปี พ.ศ. 2557 ให้เหลือ 88 ต่อประชากรแสนคน ภายในปี พ.ศ. 2564 และในยุทธศาสตร์ที่ 5 กำหนดให้มีการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการป้องกัน ดูแลรักษา และควบคุมวัณโรค การประชุมในครั้งนี้มีเป้าหมายการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อการวิจัย พัฒนา วินิจฉัย ป้องกัน และรักษาวัณโรค และร่วมกำหนดหัวข้องานวิจัยที่สำคัญที่จะนำไปใช้เป็นกรอบเพื่อประกาศรับข้อเสนอโครงการวิจัยในขั้นถัดไป

ในส่วนของ นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ 5 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ. 2560-2564 ต่อ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มาร่วมเป็นประธานด้วยนั้น โดยเสนอให้ สวรส. เป็นหน่วยงานประสานการสนับสนุนงานวิจัยภายใต้แผนงานวิจัยวัณโรค ตลอดจนติดตามผลการดำเนินงานและเผยแพร่งานวิจัยที่แล้วเสร็จ ทั้งนี้เมื่อกระทรวงสาธารณสุขมีการจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและควบคุมวัณโรคแห่งชาติตามแผนยุทธศาสตร์วัณโรคแห่งชาติแล้ว ขอให้มีการพิจารณาจัดตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่ 5 พร้อมเสนอให้คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวรับหัวข้อวิจัยภายใต้แผนงานวิจัยวัณโรคที่พัฒนาขึ้นนี้เป็นแผนงานหลักของคณะอนุกรรมการต่อไป

สำหรับผลสรุปจากการประชุมพัฒนาแผนงานวิจัยวัณโรคระดับชาติทั้ง 3 วัน เกิดโจทย์วิจัยที่หลากหลายรวมทั้งสิ้น 33 เรื่อง สามารถจัดแบ่งโจทย์วิจัยออกเป็น 5 ด้าน คือ 1. ด้านระบาดวิทยา ที่ประเทศไทยยังต้องการงานวิจัยถึงภาระโรค การกระจายของวัณโรคดื้อยาหลายขนาน การศึกษาผลกระทบจากภาวะโรคร่วม เช่น เบาหวาน ตลอดจนการศึกษาทางระบาดวิทยาร่วมกับการนำเทคนิคของชีววิทยาเชิงโมเลกุล เช่น การหาชนิดของ DNA ไปใช้ติดตามการแพร่ระบาดของเชื้อวัณโรคดื้อยา เป็นต้น  2. ด้านสหสาขาวิชาชีพ ที่ยังต้องมีการศึกษาถึงต้นทุนของความเจ็บป่วยทั้งทางตรงและทางอ้อมในผู้ป่วยวัณโรคทุกกลุ่ม รวมถึงเพื่อหามาตรการที่มีผลช่วยลดการตีตราและเลือกปฏิบัติในผู้ป่วย  3. ด้านการวิจัยเพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ที่ยังมีความท้าทาย โดยเฉพาะการสนับสนุนให้กลุ่มของผู้ป่วยวัณโรคได้มีโอกาสทำงานกับกลุ่มที่ทำงานทางด้านนโยบาย อะไรคือบทเรียนและประสบการณ์ทำงานของภาคประชาสังคมที่จะสามารถนำมาใช้ในการทำงานด้านวัณโรค  4. ด้านวิจัยระบบสาธารณสุข ที่จะเป็นการช่วยเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อวัณโรค การคัดกรอง ตลอดจนการลดอัตราการเสียชีวิต เช่น พัฒนารูปแบบการบริการให้เกิดการเข้าถึงในกลุ่มเสี่ยงและประชากรเปราะบาง และ 5. ด้านชีวการแพทย์ ที่ประเทศไทยยังต้องการนวัตกรรมเพื่อใช้ดำเนินงานวัณโรค เช่น การประเมินผลกระทบของสูตรยาทดลองในผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา เพื่อการปรับขนาดยาให้ได้ผลในการรักษา ตลอดจนมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและชุมชน