ลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำโรคที่คนรู้จักน้อย แต่เสี่ยงให้เกิดภาวะทุพพลภาพเรื้อรัง
โรคลิ่มเลือดอุดตัน (Thrombosis) เกิดจากลิ่มเลือดขัดขวางการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดง (Arterial Thrombosis) หรือหลอดเลือดดำ (Venous Thrombosis) การจับตัวกันเป็นลิ่มเลือดจะขัดขวางการไหลเวียนของเลือดอย่างช้า ๆ หากลิ่มเลือดส่วนหนึ่งส่วนใดหลุดออกจากผนังหลอดเลือดแล้วลอยไปตามกระแสเลือดจะเรียกว่า เอ็มโบไล (emboli) แม้ว่าโรคหลอดเลือดอุดตันจะสามารถป้องกันได้ แต่มักจะพบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ และภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จากผลการสำรวจการรับรู้ถึงอันตรายของโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ พบว่าคนไทยมีความเข้าใจถึงอันตรายของโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำในระดับที่ต่ำมาก ด้วยเหตุนี้สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และสภากาชาดไทย จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “ลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ: ป้องกันก่อนจะเกิดอันตราย” เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการรณรงค์วันหลอดเลือดอุดตันโลก
ศ.นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี หนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการวันหลอดเลือดอุดตันโลก กล่าวว่า แม้ว่าโรคหลอดเลือดอุดตันและภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ (VTE) จะสามารถป้องกันได้ แต่ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิต จากรายงานพบว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน รวมถึงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases) ภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำเกิดขึ้นในระหว่างหรือภายหลังการนอนโรงพยาบาลเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและทุพพลภาพที่พบในทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือพัฒนาแล้วก็ตาม นอกจากนี้จากผลสำรวจที่จัดทำโดยองค์กรนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดอุดตัน หรือ ISTH ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 องค์กรนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดอุดตันจดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร โดยสนับสนุนส่งเสริม และการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ การป้องกัน การวินิจฉัยโรค และวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดอุดตันและภาวะเลือดออกผิดปกติ องค์กรนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดอุดตันมีสมาชิกจากหลายประเทศเข้าร่วม ประกอบด้วยบุคลากรการแพทย์ นักวิจัย และนักวิชาการ จำนวนมากกว่า 4,000 คน โดยทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในกว่า 94 ประเทศทั่วโลก องค์กรนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดอุดตันได้จัดโครงการและกิจกรรมมากมาย ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง อาทิเช่น โครงการด้านการศึกษาและมาตรฐานปฏิบัติ กิจกรรมด้านการวิจัย การประชุมและการพบปะพูดคุย การเผยแพร่เอกสารตีพิมพ์ ซึ่งได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญและการจัดตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงจัดกิจกรรมรณรงค์ “วันหลอดเลือดอุดตันโลก” ซึ่งตรงกับวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี
จากผลสำรวจจัดทำโดยองค์กรนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดอุดตัน หรือ ISTH ทำการสำรวจความคิดเห็นประชากรวัยผู้ใหญ่ (อายุ 40 ปีขึ้นไป) ใน 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อาร์เจนตินา สหราชอาณาจักร เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อูกันดา รวมถึงประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการสำรวจระดับนานาชาติครั้งใหญ่ที่สุดในบรรดาการสำรวจในลักษณะเดียวกัน พบว่าคนไทย (ร้อยละ 64) เข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดอุดตัน แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขาอุดตัน หรือ DVT (ร้อยละ 26) และภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด หรือ PE (ร้อยละ 30) อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก และยังพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมีความตระหนักถึงอันตรายของโรคอื่น ๆ ในกลุ่มของโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ หัวใจล้มเหลว (ร้อยละ 72), เส้นเลือดในสมองตีบ (ร้อยละ 65) สำหรับโรคอื่น ๆ อาทิ โรคเบาหวาน (ร้อยละ 84), มะเร็งต่อมลูกหมาก (ร้อยละ 73), ความดันโลหิตสูง (ร้อยละ 77), มะเร็งเต้านม (ร้อยละ 78), และภูมิคุ้มกันบกพร่อง (ร้อยละ 80) โดยจะเห็นได้ว่าการตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงที่อันตรายของภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก
“จากผลการสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงสาเหตุและผลของการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันนี้ สำหรับประเทศไทยเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขาอุดตัน หรือ DVT (ร้อยละ 26) และภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด หรือ PE (ร้อยละ 30) เราหวังว่าการรณรงค์วันหลอดเลือดอุดตันโลกจะทำให้คนรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายจากโรคดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ (VTE) สามารถรักษาให้หายขาดได้หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแรก และมีการรักษาให้เหมาะสม ทั้งนี้ยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายของสมัชชาอนามัยโลกในการลดจำนวนการเสียชีวิตจากโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังลงให้ได้ร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ. 2568”
ศ.นพ.พันธุ์เทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ (VTE) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตและทุพพลภาพมากที่สุดทั่วโลก ปัจจัยความเสี่ยง อาทิเช่น การนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานาน การผ่าตัด มะเร็งบางชนิด พันธุกรรม ยาบางชนิด (อาทิ ยาคุมกำเนิด) การตั้งครรภ์ หรือหลังการคลอด จากผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลกพบว่า สาเหตุการเสียชีวิต หรือภาวะทุพพลภาพ (ร้อยละ 60) เกิดจากการที่ผู้ป่วยมานอนรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยนอนอยู่กับเตียงเป็นเวลานาน ขยับขาไม่ได้ ลุกเดินไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องตรวจสอบกับแพทย์ถึงความเสี่ยงในการเกิดโรค
ทั้งนี้อาการที่เกิดจากหลอดเลือดดำส่วนลึกที่ขาอุดตัน (DVT) ตัวบ่งชี้ภาวะดังกล่าวประกอบด้วย อาการกดเจ็บ หรืออาการบวมซึ่งมักเริ่มที่น่อง รอยแดง หรือสีผิวที่ขาเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด มีอาการร้อนที่ขา สำหรับภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (PE) ตัวบ่งชี้ภาวะดังกล่าวประกอบด้วย อาการหายใจไม่ทั่วปอด หรือหายใจเร็วโดยหาสาเหตุไม่ได้ อาการเจ็บหน้าอก (บางครั้งเจ็บมากขึ้นเมื่อหายใจเข้าลึก ๆ) หัวใจเต้นเร็ว อาจมีอาการวิงเวียนคล้ายจะเป็นลม หรือหมดสติ แม้อาการดังกล่าวอาจไม่ได้บ่งชี้ถึงภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำเสมอไป บุคลากรทางการแพทย์ก็ควรประเมินผู้ป่วยในทันที ที่สำคัญภาวะลิ่มเลือดอุดตันของหลอดเลือดดำ หรือ VTE หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแรกและมีการรักษาให้เหมาะสมในช่วง 3-6 เดือนแรก จะสามารถรักษาให้หายขาดได้
สำหรับการลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกอุดตัน ศ.นพ.พันธุ์เทพ กล่าวว่า ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน แพทย์สามารถจะให้คำแนะนำเพื่อที่จะลดโอกาสเสี่ยงนี้ เช่น การเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติตัวในกิจวัตรประจำวันหรือการรับประทานยา ถ้าเคยมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดดำอุดตันมาก่อนควรที่จะบอกแพทย์ผู้รักษาเมื่อได้รับการผ่าตัดใหญ่ ได้รับอุบัติเหตุกระดูกหัก ได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรคทางอายุรกรรมบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ได้รับคำแนะนำให้ต้องนอนพักอยู่กับเตียงเป็นเวลานาน หรือตั้งครรภ์
นอกจากนี้ ศ.นพ.พันธุ์เทพ ยังให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ต้องเดินทางไกลและอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตันด้วยว่า สำหรับผู้ต้องเดินทางไกลควรลุกขึ้นยืนหรือเดินเป็นครั้งคราว (ถ้าเป็นไปได้) ขณะนั่งอยู่ก็ควรจะมีการบริหารขา เช่น การเหยียดขาขยับปลายเท้าขึ้นลง หรือบีบนวดกล้ามเนื้อน่องเป็นระยะ ๆ ควรหลีกเลี่ยงการนั่งไขว้ขา หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดแคบ เนื่องจากอาจจะจำกัดการไหลเวียนของเลือดที่ขาหรือแขนได้
ถ้าแพทย์คิดว่าท่านมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน และจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดใหญ่ หรือมีภาวะตั้งครรภ์เกิดขึ้น แพทย์อาจให้คำแนะนำถึงวิธีป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตันที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น แนะนำให้ลุกเดินแต่เนิ่น ๆ ภายหลังการผ่าตัด ในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้สูงอาจแนะนำให้ใส่ถุงน่อง (elastic stockings) หรือการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด