30 ข้อควรรู้...สำหรับคุณแม่มือใหม่
พญ.ธาริณี ลำลึก สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลพญาไท 2 (สนามเป้า) เผยเคล็ดไม่ลับฉบับคุณแม่ควรรู้จากคุณหมอสูตินรีเวช ว่าที่คุณแม่มือใหม่จะได้รู้และเข้าใจร่างกายตนเองเพื่อใช้ชีวิตระหว่างตั้งครรภ์ได้อย่างไร้กังวล
1. หากคุณแม่สงสัยว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์หรือเปล่า สามารถสังเกตได้จากอาการเหล่านี้ นั่นคือ ประจำเดือนไม่มาตามกำหนด ปัสสาวะบ่อย เวียนศีรษะหรือคลื่นไส้ บางคนอาจมีอาการเหนื่อยหรือง่วง
2. ควรฝากครรภ์ทันทีที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ เพื่อตรวจเช็กร่างกายอย่างละเอียด ทำให้การตั้งครรภ์ปลอดภัย หากมีโรคแทรกซ้อนจะได้รักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ หากคุณแม่มีโรคประจำตัวควรแจ้งคุณหมอตั้งแต่ตอนฝากครรภ์ เพื่อประเมินอาการและควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
3. คุณแม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติเหมือนก่อนตั้งครรภ์ โดยมีหลักการง่าย ๆ คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และช่วงตั้งแต่เดือนที่ 3 อาจเน้นอาหารประเภทโปรตีน แคลเซียม และธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นกับทารกในครรภ์ เสริมวิตามินและเกลือแร่ให้มากขึ้น เพื่อให้ได้รับสารอาหารเพียงพอทั้งคุณแม่และลูก
4. ไม่ควรรับประทานอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมันมากเกินไป เพราะช่วงตั้งครรภ์ร่างกายไม่ต้องการสารอาหารประเภทนี้มาก เพราะไม่ได้ใช้ในการพัฒนาการหรือเพิ่มขนาดอวัยวะทารกในครรภ์ แต่คาร์โบไฮเดรตและไขมันจะสะสมที่ร่างกายแม่แทน ทำให้หลังคลอดจะมีน้ำหนักอยู่ที่ตัวคุณแม่มากเกินไป
5. คุณแม่ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้ว เพราะน้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการสร้างน้ำคร่ำที่หล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการท้องผูก ทำให้ขับถ่ายได้สะดวกมากขึ้น หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
6. สำหรับคุณแม่ที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ควรเลือกรับประทานอาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยง่าย หรือเครื่องดื่มที่มีรสหวานที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่น หลีกเลี่ยงอาหารมัน รสจัด อาจแบ่งรับประทานเป็นมื้อเล็ก ๆ วันละ 4-6 มื้อ รับประทานเท่าที่อิ่ม เพื่อไม่ให้คุณแม่เครียดจนเกินไป
7. หากคุณแม่อยากเช็กว่าร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอหรือไม่ สามารถดูได้จากน้ำหนักของคุณแม่ในแต่ละช่วง ควรให้ได้น้ำหนักตามเกณฑ์ในแต่ละเดือน (สามารถดูเกณฑ์น้ำหนักที่ควรขึ้นได้ที่ข้อ 18)
8. หากคุณแม่ป่วยระหว่างตั้งครรภ์ควรปรึกษาคุณหมอในการใช้ยารักษาโรค หากอาการไม่หนักมาก อาจใช้วิธีแบบธรรมชาติช่วย เช่น มีเสมหะ ให้ดื่มน้ำอุ่นผสมน้ำมะนาว, คัดจมูก มีน้ำมูก ให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือหรือดมน้ำมันหอมระเหย, เป็นหวัด ให้ดื่มน้ำมาก ๆ เป็นต้น
9. หากคุณแม่มีอาการแพ้ท้องมาก ๆ อาจรับประทานวิตามินบี 6 และยาไดเมนโฮดริเนตเพื่อช่วยลดอาการแพ้ท้อง ทั้ง 2 ตัวนี้เป็นยาปลอดภัยกับทารกในครรภ์ แต่ถ้ามีอาการไม่มากอยากให้เลี่ยงการใช้ยาดีกว่า
10. ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถทำงานได้ปกติ ถ้าไม่ใช่งานที่ต้องใช้กำลังหรือยกของหนัก อาจพักผ่อนระหว่างวัน เพราะร่างกายอาจอ่อนเพลียได้ง่าย คุณแม่ควรพักผ่อนอย่างน้อย 10 ชั่วโมงต่อวัน คือ กลางคืน 8 ชั่วโมง และกลางวัน 2 ชั่วโมง
11. สำหรับสายสปอร์ตก็ยังออกกำลังกายได้ เพราะช่วยให้คุณแม่ได้ยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ ลดอาการปวดและอาการบวมต่าง ๆ ระหว่างตั้งครรภ์ อาจปรึกษากับคุณหมอเรื่องประเภทกีฬาและวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมในแต่ละช่วงการตั้งครรภ์เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์
12. อีกหนึ่งเรื่องที่คุณแม่มือใหม่หลาย ๆ คนกังวลคือ การเดินทาง เพราะกลัวว่าจะกระทบกระเทือนกับทารกในครรภ์ช่วง 3 เดือนแรก สามารถเดินทางได้ปกติ แต่อาจมีการเตรียมอุปกรณ์สำหรับหนุนท้องเพื่อให้นั่งได้สบายตัว ถ้าเดินทางไกลอาจเตรียมอาหารและน้ำติดตัวไว้ หลังจากอายุครรภ์ตั้งแต่ 3 เดือนเป็นต้นไป หากต้องเดินทางไกลควรปรึกษาคุณหมอเป็นกรณี
13. สำหรับเรื่องกุ๊กกิ๊กกับคุณสามีก็ยังมีได้ตามปกติในช่วงอายุครรภ์ 3-6 เดือน แต่ควรระวังการใช้ท่าที่เป็นอันตราย หรือต้องกระแทกกับท้องโดยตรง ในบางกรณีอาจงดมีเพศสัมพันธ์เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์ โดยควรงดช่วง 3 เดือนก่อนคลอด ในรายที่มีเลือดออกทางช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์ และคุณแม่ที่มีประวัติการแท้ง
14. ข้อนี้อาจเป็นข้อมูลทั่วไปที่คุณแม่ทราบอยู่แล้ว นั่นคือควรงดสูบบุหรี่และใช้สารเสพติด เพราะอาจมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนหรือภาวะครรภ์เสี่ยงได้
15. คุณแม่จะปัสสาวะบ่อยขึ้น เพราะมดลูกขยายตัวไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ อาจใช้วิธีการจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำที่เพียงพอ และไม่ต้องลุกเข้าห้องน้ำบ่อย
16. ในช่วง 2-3 เดือนแรก อาจมีการคัดตึงที่หน้าอก คล้าย ๆ ช่วงก่อนมีประจำเดือน เป็นการปรับสภาพของต่อมน้ำนมให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ อาการจะค่อย ๆ หายไปเอง
17. อาการแพ้ท้องของคุณแม่แต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน จะเกิดในช่วง 2-3 เดือนแรกหรือมากกว่านั้น และมักมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลมร่วมด้วย หากมีอาการแพ้ท้องมากควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อลดความกังวล และใช้วิธีการที่ถูกต้องปลอดภัยในการช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้อง
18. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เพราะกำลังมีอีกหนึ่งชีวิตค่อย ๆ เติบโตในท้องของคุณแม่ โดยเฉลี่ยตลอดการตั้งครรภ์ควรขึ้น 10-14 กิโลกรัม เดือนที่ 1-3 ควรขึ้นประมาณ 1-2 กิโลกรัม, เดือนที่ 4-5 ควรขึ้นประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม และตั้งแต่เดือนที่ 6 เป็นต้นไป ควรขึ้นเดือนละ 1.5-2 กิโลกรัม
19. อารมณ์ของคนที่ตั้งครรภ์อาจแปรปรวนมากกว่าปกติ เพราะผลจากฮอร์โมนและความกังวลในเรื่องต่าง ๆ จากการตั้งครรภ์ เช่น เรื่องพัฒนาการของลูก รูปร่างของตนเองที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้คุณแม่หงุดหงิดและเครียดง่าย เพื่อนที่ดีที่สุดของคุณแม่นั่นคือ สามีหรือคุณพ่อนั่นเอง การให้กำลังใจ ปลอบใจ และดูแลด้วยความอบอุ่นจะช่วยคุณแม่ได้มาก
20. ในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่บางคนอาจมีฝ้าหรือสีผิวคล้ำลงบริเวณหน้า คอ รักแร้ เส้นกลางท้อง ลานนม หรือหัวนม ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่กระตุ้นเซลล์เม็ดสีใต้ผิวหนัง คุณแม่ควรทำจิตใจให้สบาย เพราะอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปเองในช่วงหลังคลอด 3-6 เดือน ส่วนการแตกลายของผิวหนังขึ้นอยู่ความยืดหยุ่นของผิวแต่ละคน วิธีการดูแลผิวระหว่างตั้งครรภ์คือ การบำรุงผิวตามปกติ อาจนำสกินแคร์ที่ใช้ไปปรึกษาคุณหมอเพื่อความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์
21. คุณแม่อาจมีตกขาวเป็นเรื่องปกติระหว่างตั้งครรภ์ ลักษณะตกขาวที่ปกติคือ สีขาวขุ่น ไม่มีกลิ่นหรืออาการคัน เกิดจากฮอร์โมนกระตุ้นให้ร่างกายสร้างมูกในช่องคลอด โดยจะมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงช่วงคลอด หากตกขาวมีสีเหลือง-เขียว มีกลิ่นเหม็นหรืออาการคันควรรีบปรึกษาคุณหมอ
22. อีกหนึ่งอาการยอดฮิตที่คุณแม่ต้องพบคือ การปวดหลัง เพราะคุณแม่ต้องแบกรับน้ำหนักของทารกที่ใหญ่ขึ้นทุก ๆ เดือน สามารถลดอาการได้ด้วยการนั่งให้ถูกท่าและฝึกบริหารร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักและสวมรองเท้าส้นสูง
23. สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งตั้งครรภ์อ่อน ๆ อาจมีอาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อยหลายครั้งต่อวัน เนื่องจากการเกร็งตัวของมดลูกเล็กน้อย หากปวดหน่วงบ่อยและมากกว่า 5 ครั้งติดต่อกันหลายชั่วโมงอาจเสี่ยงต่อการแท้ง หรือการคลอดก่อนกำหนด ควรรีบปรึกษาคุณหมอ
24. คุณแม่อาจเป็นตะคริวที่น่อง เกิดจากการยืนหรือนั่งนานเกินไป ร่วมกับการที่ระดับแคลเซียมในเลือดลดลง เพราะนำไปใช้สร้างกระดูกของทารกในครรภ์ ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้มาก และนวดบริเวณน่องหลังจากที่เดินมาก ๆ
25. ในช่วง 3-4 เดือนก่อนคลอด คุณแม่อาจมีอาการบวมบริเวณขาและเท้า หากเป็นเพียงเล็กน้อยให้นั่งเหยียดขา หรือหนุนเท้าให้สูงขึ้นเวลานอน หากมีอาการบวมมาก เวลาที่ใช้นิ้วมือกด ผิวหนังเป็นรอยบุ๋มลึกมาก อาจแสดงถึงภาวะผิดปกติบางอย่าง เช่น ครรภ์เป็นพิษหรือโรคไตบางชนิด ควรรีบปรึกษาคุณหมอ
26. หากพบอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น เลือดออกทางช่องคลอดในปริมาณมาก ปวดท้อง ทารกไม่ดิ้นหรือดิ้นน้อยลง ตาพร่ามัว เป็นต้น ควรไปพบคุณหมอทันที โดยไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดนัดพบ
27. เมื่อใกล้ถึงกำหนดวันคลอดอาจมีอาการเจ็บท้องน้อยบริเวณมดลูก เป็น ๆ หาย ๆ ไม่ถี่มาก เรียกว่า การเจ็บท้องเตือน เมื่อนอนพักก็จะหายไปเอง
28. สัญญาณที่บอกว่าคุณแม่จะคลอดจริง ๆ มีดังนี้ อาการเจ็บท้องจริง จะปวดเกร็งบริเวณหน้าท้อง หรือปวดร้าวบริเวณก้นกบ จะปวดทุก 4-5 นาที เกิดจากที่มดลูกบีบตัวและคลายตัว “น้ำเดิน” อาการที่ของเหลวใสไหลออกมาจากช่องคลอดในปริมาณมากเกิดจากน้ำคร่ำรอบตัวทารกแตกหรือรั่ว มีเลือดปนมูกไหลออกมาจากช่องคลอด ควรรีบมาพบคุณหมอทันที
29. วิธีกระตุ้นการผลิตนมแม่ที่ดีที่สุดคือ การให้ลูกมาดูดกระตุ้นบ่อย ๆ เพื่อบอกให้ร่างกายผลิตน้ำนมมากขึ้น คุณแม่จะได้มีน้ำนมสม่ำเสมอ โดยน้ำนมในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอดจะเป็นสีเหลืองใสและมีน้อย ซึ่งเป็นน้ำนมที่มีคุณค่าทางอาหาร เพียงพอต่อทารกแรกคลอด ช่วยขับขี้เทาและป้องกันอาการตัวเหลือง ส่วนน้ำนมปกติจะเริ่มผลิตภายใน 4-5 วันหลังจากคลอด
30. คุณแม่ควรให้นมแม่เพียงอย่างเดียว 4-6 เดือน โดยไม่ต้องให้น้ำหรืออาหารเสริมอื่น ๆ เพราะในนมแม่มีสารอาหารครบถ้วน และเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของเจ้าตัวเล็กอยู่แล้ว แถมยังช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและช่วยป้องกันโรคในทารกอีกด้วย
อ่านจบ 30 ข้อ ว่าที่คุณแม่มือใหม่ทุกท่านคงเข้าใจร่างกายของตัวเองมากขึ้น รู้ถึงวิธีปฏิบัติและการดูแลตัวเองต่าง ๆ หากยังมีความกังวล แนะนำให้คุณแม่เชื่อในสัญชาตญาณความเป็นแม่ และอาจปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและคุณย่า คุณยาย ผู้ที่มีประสบการณ์ตรงดูค่ะ รับรองว่าได้เทคนิคหรือคำแนะนำดี ๆ แน่นอนค่ะ