โรคเกาต์ ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

โรคเกาต์ ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

เนื่องจากปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคเกาต์ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง มีผู้ป่วยจำนวนมากเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานและเป็นอันตรายต่อชีวิต ทางสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทยตระหนักถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคเกาต์เพื่อเป็นแนวทางการป้องกันการปฏิบัติตนและรักษาอย่างถูกวิธี

         ผศ.พญ.กนกรัตน์ นันทิรุจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคเกาต์ (Gout) เป็นโรคข้ออักเสบที่ปวดเรื้อรังชนิดหนึ่งที่รู้จักกันมานาน ถือได้ว่าเป็นโรคที่เก่าแก่ที่สุดโรคหนึ่งในประวัติศาสตร์ และก็ยังพบว่าเป็นปัญหาโรคข้อที่สำคัญในปัจจุบัน ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคเกาต์ที่สูงขึ้นนั้นส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมาตรฐานความเป็นอยู่ อาหาร สภาวะทางโภชนาการที่ดีเกินความพอดีในยุคปัจจุบันทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์มากขึ้น เช่นการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนมาก หรือพืชผักผลไม้ หรือน้ำผลไม้บางชนิด หรือ แอลกอฮอล์ ก็มีส่วนกระตุ้นการสร้างกรดยูริกในร่างกาย ซึ่งหากรับประทานเข้าไปมาก ๆ ก็ทำให้กรดยูริกในร่างกายสูงได้เช่นกัน

            “สาเหตุโรคเกาต์เกิดจากภาวะกรดยูริก (Uric acid) ในเลือดสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยภาวะกรดยูริกสูงหมายถึงระดับกรดยูริกมากกว่า 7 มก./ดล.ในเพศชาย และ 6 มก./ดล.ในเพศหญิง โรคเกาต์พบบ่อยในชายวัยกลางคนขึ้นไป หรือหญิงในวัยหมดประจำเดือน”

การสะสมของกรดยูริกในร่างกายเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดโรคเกาต์ขึ้นได้ โดย เกิดโรคได้ในหลายอวัยวะ ได้แก่ ข้อ ผิวหนัง และไต อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการทางข้อ ได้แก่ ข้ออักเสบเฉียบพลัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดอย่างรุนแรงและฉับพลันทันทีทันใด ข้อที่เป็นจะบวมขึ้น มีสีแดงรอบ ๆ ข้อ หากคลำดูจะพบว่าอุ่นกว่าข้อเดียวกันในข้างตรงข้าม ข้อที่อักเสบในช่วงแรกมักเป็นที่ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า หรือข้อเท้า หากทิ้งไว้นานโดยไม่ได้รับการรักษาอาจมีการอักเสบที่ข้ออื่นได้ด้วย เช่น ข้อเข่า ข้อศอก ข้อมือ เป็นต้น

            พล.ต.หญิง รศ.พญ.ไพจิตต์ อัศวธนบดี ที่ปรึกษาอาวุโส อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติซั่ม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า สิ่งที่น่ากลัวของโรคเกาต์คือ ภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยโรคเกาต์ที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องในระยะแรกจะเข้าสู่ระยะข้ออักเสบเรื้อรังหลายข้อ มีการทำลายข้อเกิดความผิดรูปและพิการ นอกจากนี้ยังพบก้อนโทฟัสที่ผิวหนังซึ่งเกิดจากการรวมตัวของผลึกเกลือยูเรต อาจเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และท้ายที่สุดคือ โรคไตวายเรื้อรัง ดังนั้น การรักษาโรคเกาต์ในระยะข้ออักเสบเฉียบพลันคือ การใช้ยาต้านการอักเสบ จนเมื่อข้ออักเสบหายสนิทแล้วก็จะพิจารณาให้การรักษาระยะยาว ได้แก่ การลดหรือแก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเกาต์และการใช้ยาลดกรดยูริกในเลือด ผู้ป่วยโรคเกาต์มักมีโรคร่วม เช่น ภาวะอ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน ดังนั้น จึงควรได้รับการตรวจหาเพื่อจะได้แก้ไขและให้การรักษาไปพร้อม ๆ กัน ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรมีความรู้ถึงวิธีการปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง รู้จักหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงรวมทั้งชนิดของอาหารที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการกำเริบของโรคเกาต์

สิ่งที่น่าห่วงใยอีกประการหนึ่งคือ การที่ผู้ป่วยซื้อยารักษาตนเอง อาจแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น มีเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร ตับอักเสบ หรือเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน เป็นต้น

สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทยตระหนักถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรคเกาต์เพื่อเป็นแนวทางการป้องกันการปฏิบัติตนและรักษาอย่างถูกวิธี เนื่องจากโรคนี้เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับโรคได้และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจจะร้ายแรง จึงได้จัดงาน “Be Happy Gout เรื่องเกาต์...เราต้องรู้” โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้พร้อมแนวทางการรักษาโรคเกาต์  และเปิดประสบการณ์ตรงเมื่อเกาต์เข้ามาเยือน โดย ตุ๊กกี้ สุดารัตน์ และ อ่ำ อัมรินทร์ และพบกับหลากหลายเมนูสุดยอดที่ดีต่อโรคเกาต์ พร้อมกับฟังธรรมะเดลิเวอรี่ อยู่กับเกาต์อย่างไร...ให้ใจสุข กับพระมหาสมปอง ตาลปุตโต เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2561 ณ บริเวณลานโปรโมชั่น ชั้น 7 เซ็นทรัลพระราม 9 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

โรคเกาต์ (Gout)

         โรคเกาต์ (Gout) เกิดจากภาวะกรดยูริก (Uric acid) ในเลือดสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยภาวะกรดยูริกสูงหมายถึงระดับกรดยูริกมากกว่า 7 มก./ดล.ในเพศชาย และ 6 มก./ดล.ในเพศหญิง โรคเกาต์พบบ่อยในชายวัยกลางคนขึ้นไป หรือหญิงในวัยหมดประจำเดือน
            การสะสมของกรดยูริกในร่างกายเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดโรคเกาต์ขึ้นได้ โดยสามารถเกิดโรคได้ในหลายอวัยวะ ได้แก่ ข้อ ผิวหนัง และไต อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการทางข้อ ได้แก่ ข้ออักเสบเฉียบพลัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดอย่างรุนแรงและฉับพลันทันทีทันใด ข้อที่เป็นจะบวมขึ้น มีสีแดงรอบ ๆ ข้อ หากคลำดูจะพบว่าอุ่นกว่าข้อเดียวกันในข้างตรงข้าม ข้อที่อักเสบในช่วงแรกมักเป็นที่ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า หรือข้อเท้า หากทิ้งไว้นานโดยไม่ได้รับการรักษาอาจมีการอักเสบที่ข้ออื่นได้ด้วย เช่น ข้อเข่า ข้อศอก ข้อมือ เป็นต้น

รูปที่ 1 แสดงข้อโคนหัวแม่เท้าซ้ายอักเสบเฉียบพลันจากโรคเกาต์

            จากรูปที่ 1 จะสังเกตเห็นข้อที่บวมกว่าอีกข้าง และมีสีแดงรอบ ๆ ข้อ หากมีการกดบริเวณข้อ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดอย่างมาก

รูปที่ 2 แสดงข้อเท้าซ้ายอักเสบเฉียบพลันจากโรคเกาต์

         จากรูปที่ 2 จะเห็นว่าข้อเท้าข้างซ้ายบวมเมื่อเทียบกับข้างขวา เนื่องจากมีการอักเสบเฉียบพลันจากโรคเกาต์ ในระยะแรก ๆ ข้ออักเสบเกาต์อาจหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่มีการอักเสบครั้งแรก ๆ มักไปหาซื้อยามารับประทานเอง ทำให้ข้ออักเสบหายเร็วกว่านั้น (ยาแก้ปวด ลดอักเสบที่ผู้ป่วยไปหาซื้อรับประทานเองนั้นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคตับหรือโรคไตได้) หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ต่อมาการอักเสบระยะหลัง ๆ จะเป็นรุนแรงขึ้นและนานขึ้นในแต่ละครั้ง จนอาจกลายเป็นข้ออักเสบเรื้อรัง ไม่หายสนิท ทำให้ยากต่อการรักษา ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีข้ออักเสบทุกรายจึงควรมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง นอกจากอาการทางข้อแล้ว หากโรคเกาต์ถูกละเลยอยู่นานอาจเกิดการสะสมของกรดยูริกที่บริเวณผิวหนัง เรียกว่าก้อนโทฟัส ดังรูปที่ 3

รูปที่ 3 แสดงก้อนโทฟัสซึ่งเกิดจากการสะสมของกรดยูริกเป็นระยะเวลานานที่บริเวณโคนนิ้วกลางข้างซ้าย

         จากรูปที่ 3 จะเห็นก้อนซึ่งเกิดจากการสะสมของกรดยูริกในร่างกายเป็นระยะเวลานาน ที่บริเวณโคนนิ้วกลางข้างซ้าย เรียกว่าก้อนโทฟัส

            โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหากผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องก็คือ โรคไต ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างในผู้ป่วยโรคเกาต์ที่อาจทำให้เกิดโรคไต เช่น การซื้อยาแก้ปวดรับประทานเองโดยไม่เคยตรวจค่าการทำงานของไต, นิ่วในทางเดินปัสสาวะซึ่งอาจเกิดจากการรวมตัวกันของกรดยูริก, ภาวะไตวายเฉียบพลันจากกรดยูริกจำนวนมากที่ถูกขับออกทางไต (มักพบในผู้ป่วยมะเร็งบางชนิดที่ได้รับยาเคมีบำบัด) และท้ายที่สุดคือ โรคไตวายเรื้อรังจากการสะสมของกรดยูริกในเนื้อไต นอกจากนี้โรคที่พบร่วมได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเกาต์ เช่น ภาวะอ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือเบาหวาน ก็อาจเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดโรคไตได้เช่นกัน ดังนั้น ภาวะเหล่านี้ควรได้รับการตรวจหาและรักษาไปพร้อมกันในผู้ป่วยโรคเกาต์

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์
            1. หากมีอาการข้ออักเสบ กล่าวคือ ปวดและบวมที่ข้อควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง แพทย์อาจสั่งตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือเจาะเอาน้ำในข้อที่อักเสบมาตรวจตามแต่กรณี เนื่องจากมีโรคข้ออักเสบบางชนิดที่แสดงอาการคล้าย ๆ กันกับโรคเกาต์ แต่ต้องได้รับการรักษาที่แตกต่างออกไป
            2. เมื่อแพทย์ได้บอกการวินิจฉัยโรคว่าเป็นโรคเกาต์แล้ว ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด กรณีที่แพทย์สั่งยาประจำให้ ห้ามหยุดยาเองเนื่องจากยาบางชนิดยังต้องรับประทานอยู่แม้ว่าหายปวดแล้ว เพราะโรคเกาต์เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูงมาเป็นเวลานานหลายปีก่อนเกิดอาการ จัดเป็นภาวะเรื้อรัง ดังนั้น การรักษาที่จะได้ผลดีจึงต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง
            3. ปรับทัศนคติเกี่ยวกับแนวทางการรักษาโรคเกาต์ให้ถูกต้อง เช่น มีความเชื่อที่ว่าการควบคุมอาหารทำให้หายจากโรคเกาต์โดยไม่ต้องใช้ยา ซึ่งแท้จริงแล้วกระบวนการในการเกิดโรคเกาต์นั้นซับซ้อนมาก จริงอยู่ที่ว่าโรคเกาต์ในรายที่ไม่รุนแรง มีการกำเริบไม่บ่อย และระดับกรดยูริกในเลือดไม่สูงมากนัก การควบคุมอาหารและหยุดสุราอาจเพียงพอ แต่พบว่าในผู้ป่วยโรคเกาต์ส่วนใหญ่การควบคุมอาหารเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการรักษา จึงจำเป็นต้องใช้ยาลดกรดยูริกร่วมด้วย การที่จะรักษาโรคเกาต์ให้ได้ผลดีนั้นต้องลดระดับกรดยูริกในเลือดให้อยู่ในระดับต่ำติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้น การรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการรักษา

            4. ปรับทัศนคติเกี่ยวกับยาให้ถูกต้อง เนื่องจากมีความเชื่อผิด ๆ จำนวนมาก เช่น “รับประทานยานาน ๆ แล้วยาจะไปสะสมที่ตับ ไต” ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ยาที่แพทย์สั่งให้รับประทานอย่างต่อเนื่องนั้นมักจะปลอดภัยต่อตับแตะไต อีกทั้งแพทย์ยังมีการตรวจค่าการทำงานของตับและไตเป็นระยะให้ด้วย ในทางตรงกันข้ามยาที่รับประทานแล้วทำให้เกิดตับอักเสบหรือไตวายนั้นมักเป็นยาแก้ปวดที่ผู้ป่วยซื้อมารับประทานเองมากกว่า
         5. หยุดบุหรี่และสุรา (หากไม่สามารถหยุดสุราได้อาจดื่มไวน์ได้ไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน)
         6. ดื่มน้ำให้มาก (มากกว่า 2 ลิตรต่อวัน) ยกเว้นในกรณีที่แพทย์สั่งไม่ให้ดื่มน้ำมากในบางโรค เช่น โรคหัวใจวาย
         7. หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มหวานจัด/อาหารเค็มจัด/เครื่องในสัตว์/อาหารทะเลบางชนิด เช่น ปลาซาร์ดีน กุ้ง หอย และปลาหมึก/เนื้อแดง (หมายความถึงสัตว์ปีก เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแพะ เนื้อแกะ)
         8. ดื่มผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำให้มากขึ้น (Low-fat or non-fat dairy products) รับประทานผักให้มากขึ้น (ความเชื่อที่ว่าผักบางชนิด เช่น หน่อไม้ ควรงดในผู้ป่วยโรคเกาต์นั้น ไม่ได้มีการพิสูจน์ทางการแพทย์ที่ชัดเจน และไม่ได้มีคำแนะนำจากสมาคมทางการแพทย์ใด ๆ ว่าให้งดผักเหล่านั้นในผู้ป่วยโรคเกาต์)
         9. รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ด้วยการจำกัดอาหารแคลอรีสูง และออกกำลังกาย
         10. มาตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ตรวจเลือดเป็นระยะตามที่แพทย์สั่งเพื่อดูประสิทธิภาพของยา และเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยา รวมถึงตรวจหาโรคร่วมที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคเกาต์ ได้แก่ โรคอ้วนลงพุง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคไขมันเกาะตับ และโรคไต
 

โดย นพ.สิทธิ์ หงษ์ทรงเกียรติ
อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม (Rheumatologist)
จัดทำเมื่อเดือนพฤศจิกายน .ศ. 2557

ที่มา: http://www.thairheumatology.org