สาวออฟฟิศเสี่ยงเป็นโรคช้ำรั่ว โรคใกล้ตัวกวนใจที่รักษาได้

สาวออฟฟิศเสี่ยงเป็นโรคช้ำรั่ว โรคใกล้ตัวกวนใจที่รักษาได้

         คุณเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่

            - มีอาการแบบฉับพลัน รู้สึกอยากขับปัสสาวะมากจนไม่สามารถรอได้ (คนที่ไม่เป็น OAB จะสามารถกลั้นปัสสาวะและชะลอการขับปัสสาวะได้)

            - มีความถี่ มีความต้องการขับปัสสาวะที่บ่อยกว่าปกติ คือมากกว่า 8 ครั้งต่อวัน (จำนวนครั้งที่แต่ละบุคคลขับปัสสาวะในระหว่างวันอาจแตกต่างกัน แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มีความเห็นว่าการปัสสาวะมากกว่า 8 ครั้งในช่วงเวลาที่ไม่ได้นอนหลับถือว่า “ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ”)

- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีการเล็ดราดของปัสสาวะโดยไม่สามารถควบคุมได้ เกิดจากความรู้สึกปวดปัสสาวะอย่างฉับพลัน (แม้การเล็ดราดของปัสสาวะอาจเป็นอาการอย่างหนึ่งของ OAB แต่ไม่ใช่ทุกคนจะต้องมีอาการนี้)

- ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน มีการตื่นขึ้นมาเพื่อไปปัสสาวะตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปในช่วงกลางคืน (คนส่วนใหญ่สามารถนอนหลับได้ 6-8 ชั่วโมงโดยไม่ต้องปัสสาวะ)

            ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้อย่างน้อยหนึ่งลักษณะเป็นประจำทุกวัน หรืออาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ไม่แน่นอน นั่นแสดงว่าคุณมีอาการทั่วไปของภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (overactive bladder หรือ OAB) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ “โรคช้ำรั่ว”

กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (OAB) หรือ “โรคช้ำรั่ว” สามารถเกิดได้ทั้งกับผู้ชายและผู้หญิง และแม้ส่วนใหญ่จะเกิดในผู้สูงอายุ แต่ก็สามารถเกิดได้กับทุกวัย ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไม่ใช่โรค แต่เป็นชื่อของกลุ่มอาการของระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งถึงแม้ว่า OAB จะไม่ใช่โรคที่คุกคามถึงชีวิต แต่ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตในหลายด้าน ทั้งด้านกิจวัตรที่บ้านและความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว สุขภาพกายและจิตใจ สังคม รวมถึงการประกอบอาชีพ หากไม่ได้รับการรักษา อาการเริ่มต้นที่เป็นเพียงแค่ก่อความรำคาญอาจเลวร้ายลงจนกลายเป็นอาการที่รุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มสาวออฟฟิศที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หรือโรคช้ำรั่ว [overactive bladder (OAB)] พบมากขึ้นถึงกว่า 21.3% ด้วยไลฟ์สไตล์การทำงานที่เปลี่ยนไป มีความเร่งด่วน การจราจรที่ติดขัด ทำให้ไม่มีเวลาที่จะเข้าห้องน้ำ หรือต้องอั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน มีอาการปัสสาวะเล็ด หรือการที่มีปัสสาวะรั่วไหลโดยไม่ได้ตั้งใจทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง และเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนได้

.นพ.วชิร คชการ หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบภาวะโรคกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (OAB) หรือที่เรียกว่าโรคช้ำรั่ว เป็นอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แบบปัจจุบันทันด่วนเพิ่มมากขึ้นถึง 21.3% โดยส่วนใหญ่จะพบโรคนี้กับผู้สูงอายุที่มากขึ้น มากกว่าร้อยละ 30 พบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และสตรีเคยมีประวัติคลอดบุตรหลายคน แต่ปัจจุบันพบในผู้หญิงวัยทำงานอายุ 30-40 ปี เพิ่มมากขึ้น ด้วยไลฟ์สไตล์และยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพราะมีการแข่งขันสูง มีการทำงานต่อเนื่องกันหลายชั่วโมง ไหนจะออกนอกสถานที่ ไหนจะต้องเผชิญกับภาวะรถติด ใช้เวลาบนท้องถนนนานเป็นพิเศษตามวิถีของคนเมือง บ้างไม่มีเวลาที่จะเข้าห้องน้ำ หรือต้องอั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน อาจประสบปัญหาเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินปัสสาวะ มีอาการปัสสาวะเล็ด หรือการที่มีปัสสาวะรั่วไหลโดยไม่ได้ตั้งใจ

สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของอวัยวะที่มีส่วนในการควบคุมการปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ระบบหูรูด กล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน ระบบประสาทที่ควบคุมการกลั้นและขับปัสสาวะ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงบางอย่าง เช่น การดื่มน้ำน้อย กลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานทำให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการบีบตัวผิดปกติจนกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ นอกจากนั้นคนที่เคยผ่าตัดมดลูกมาก่อนอาจมีการเสื่อมของหูรูด และการหย่อนยานของผนังช่องคลอดรวมทั้งบริเวณคอกระเพาะปัสสาวะ ทำให้บริเวณคอกระเพาะปัสสาวะปิดไม่สนิทจึงเกิดอาการปัสสาวะรั่วออกมา และในวัยสูงอายุและประจำเดือนหมดแล้ว ฮอร์โมนเพศหญิงจะลดลงทำให้เยื่อบุในท่อปัสสาวะขาดความยืดหยุ่น ระบบการปิดกั้นของท่อปัสสาวะลดลง ทำให้ปัสสาวะรั่วซึมได้เช่นกัน รวมถึงการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ภาวะอื่น ๆ ที่พบได้น้อยกว่าแต่รุนแรงกว่าซึ่งจะลดคุณภาพของสัญญาณประสาทจากสมองไปยังกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้เกิดการเล็ดราดของปัสสาวะ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis: MS) การบาดเจ็บของไขสันหลัง และการเคยได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมากหรืออุ้งเชิงกรานมาก่อน

            อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ปัญหาของโรคนี้คือ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าตนเองเป็น เพราะมักจะเข้าใจผิดไปเองว่าอาการปัสสาวะบ่อยนั้นเกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น จึงไม่ไปตรวจที่โรงพยาบาล ทำให้อาการเริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ อาจทำให้เป็นปัญหาในการเข้าสังคม หรือเป็นปัญหาทางสุขภาพและอนามัย แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นช้ำรั่วหรือไม่

            วิธีสังเกตอาการที่เสี่ยงต่อภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

1. อาการปวดราด คือปวดปัสสาวะรุนแรงจนเล็ดราดออกมา ไม่สามารถรอไปเข้าห้องน้ำได้ทัน ลักษณะสำคัญของโรคนี้คือ จะรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยมากกว่า 8 ครั้งขึ้นไปต่อวัน

2. ปัสสาวะเล็ดจากการไอ จาม หรือหัวเราะ อาการลักษณะนี้มักพบในผู้หญิงที่เริ่มมีอายุมากขึ้น น้ำหนักตัวมาก เคยมีประวัติคลอดบุตรหลายคนไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธีธรรมชาติ หรือผ่าตัด เคยมีการผ่าตัดบริเวณรอบท่อปัสสาวะ หรือเคยรับการฉายรังสีรักษาบริเวณนั้นมาก่อน

3. ปัสสาวะราด คือเมื่อปวด ปัสสาวะก็ไหลออกมาเลย โดยไม่สามารถกลั้นได้

            โรคช้ำรั่วไม่ใช่โรคร้ายที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความรำคาญ มีผลต่อสุขภาพจิต และการดำเนินชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความมั่นใจที่จะเข้าสังคม ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงได้ เนื่องจากคนที่เป็น OAB มักมีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต โดยมักจะวนเวียนอยู่บริเวณห้องน้ำ วางแผนประจำวันเรื่องการเข้าห้องน้ำ และรู้สึกเสี่ยงเกินไปที่จะออกจากบ้านไปทำธุระหรือออกกำลังกาย เพราะกังวลกับการต้องหาห้องน้ำให้ทันเวลา ภาวะ OAB ยังอาจทำให้การทำงานลำบากขึ้น การตื่นนอนในตอนกลางคืนบ่อย ๆ ทำให้ประสิทธิผลของการทำงานลดลง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางอารมณ์ เนื่องจากการจำกัดกิจกรรมของตนเองอาจส่งผลต่อสุขภาพทางกายไปด้วย อาจทำให้รู้สึกวิตกกังวล กระอักกระอ่วน มีความนับถือตัวเองลดลง และรู้สึกโดดเดี่ยว ต้องทนทุกข์กับความวุ่นวายในชีวิตประจำวันจาก OAB หรือพยายามซ่อนเร้นอาการ อาจต้องหลบเลี่ยงการเข้าสังคม หรือกระทั่งหลีกหนีจากเพื่อนฝูงและครอบครัวซึ่งอาจทำให้พลาดโอกาสสำคัญที่เป็นส่วนสำคัญในชีวิต ผู้ที่เคยกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของ OAB อาจกลัวว่าคนอื่นจะได้กลิ่นของปัสสาวะ หรือกังวลว่าจะปัสสาวะเลอะเสื้อผ้าหรือเฟอร์นิเจอร์ การหกล้มและส่งผลให้กระดูกหักมักเกิดขึ้นในขณะที่รีบไปเข้าห้องน้ำกลางดึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ บางครั้งความจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อรักษากระดูกหักในผู้สูงอายุอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์ หรืออาจทำให้เกิดผื่นผิวหนังและการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเกิดขึ้นได้เนื่องจากมีการเปียกปัสสาวะบ่อยโดยบังเอิญ และการชำระล้างที่มากเกินไปด้วยน้ำและสบู่เพื่อป้องกันกลิ่น (ทำให้เกราะปกป้องผิวตามธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย)

อย่างไรก็ตาม ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหรือน่าอับอาย เพราะโรคนี้สามารถรักษาให้หายหรือทำให้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้ ซึ่งการรักษามีหลายวิธี ตั้งแต่

การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต ควรดื่มเครื่องดื่มอย่างน้อย 1-1.5 ลิตรต่อวัน แต่ดื่มให้น้อยลงทั้งก่อนและระหว่างการเดินทางที่ใช้เวลานาน ดื่มให้น้อยลงในตอนเย็นเพื่อหลีกเลี่ยงการต้องตื่นเพื่อลุกไปปัสสาวะในตอนกลางคืน ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เนื่องจากจะเพิ่มการผลิตปัสสาวะและระคายเคืองต่อกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงอาหารบางชนิดอาจระคายเคืองต่อกระเพาะปัสสาวะและทำให้อาการของ OAB แย่ลง การลดสารให้ความหวานเทียม อาหารรสเผ็ด ผลไม้และน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวในอาหารอาจช่วยให้อาการดีขึ้น รักษาระดับน้ำหนักตัวให้เหมาะสมด้วยการลดน้ำหนักตัวอาจทำให้อาการปัสสาวะเล็ดราดทุเลาได้ รวมถึงการสวมใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับผู้ใหญ่ก็จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

            การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอาจอ่อนแอลงตามอายุ การขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่เรียกว่า การบริหารแบบ “Kegel” สามารถช่วยระงับความต้องการปัสสาวะอย่างเร่งด่วน และทำให้กล้ามเนื้อกลับมาคงความแข็งแรง

การใช้ยารักษา OAB การฉีดยาเข้ากระเพาะปัสสาวะ สาร botulinum ปริมาณต่าง ๆ สามารถหยุดการบีบตัวที่มากเกินไปของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะโดยค่อย ๆ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง การวิจัยทางคลินิกแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ในภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่อย่างรุนแรง ซึ่งมีฤทธิ์ชั่วคราวโดยทั่วไปนาน 5 เดือน หรือมากกว่านั้น แต่อาจจำเป็นต้องฉีดซ้ำ แพทย์จะคอยติดตามอาการของคุณเพื่อให้แน่ใจว่าคุณไม่ได้กลั้นปัสสาวะในปริมาณที่มากเกินไป หากการระบายปัสสาวะของคุณไม่ดีอาจต้องใส่สายสวนปัสสาวะชั่วคราว

การกระตุ้นประสาทการรักษาวิธีนี้จะต้องทำการฝังเครื่องส่งสัญญาณขนาดเล็กไว้ใต้ผิวหนังบริเวณหลังส่วนล่าง เครื่องส่งสัญญาณจะส่งกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ ผ่านเส้นลวดบาง ๆ ไปยังเส้นประสาทที่นำไปสู่กระเพาะปัสสาวะ กระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ ที่ไม่ทำให้เจ็บปวดจะขัดขวางการสื่อสารที่กระตุ้นให้เกิดการหดตัวที่ไม่พึงประสงค์ของกระเพาะปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะของคุณจะไม่ได้รับสัญญาณให้บีบตัวจนกว่าจะมีปริมาณของปัสสาวะที่เหมาะสม)

การผ่าตัด การผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินสงวนไว้เป็นวิธีรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงซึ่งไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงความสามารถในการเก็บปัสสาวะของกระเพาะปัสสาวะ และลดแรงบีบในกระเพาะปัสสาวะ

            ศ.นพ.วชิร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันปัญหาที่ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นส่วนหนึ่งคือ ผู้ป่วยมีอาการแล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคนี้ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี คุณภาพชีวิตทั้งความเป็นอยู่ การทำงานแย่ลง สูญเสียความมั่นใจ และสิ้นเปลืองกับการซื้อผ้าอ้อม

นอกจากกลุ่มสาวออฟฟิศที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หรือโรคช้ำรั่ว (OAB) ที่พบมากขึ้นแล้ว หนุ่มสาววัยทำงานยุคปัจจุบันยังเสี่ยงต่อโรคออฟฟิศซินโดรมเพิ่มขึ้นด้วย โดยสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการทำงานคือ มีอิริยาบถในการทำงานไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน อาทิ การนั่งหลังค่อม การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ และยังส่งผลให้เกิดความเครียดสะสม สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และปวดเมื่อยตามอวัยวะต่าง ๆ อาทิ หลัง ไหล่ บ่า แขน ข้อมือ และสายตา นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคกระเพาะ เบาหวาน และความดัน เป็นต้น

สำหรับแนวทางการป้องกันการเกิดออฟฟิศซินโดรมนั้น นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ควรใช้เวลาทำงานกับเวลาพักผ่อนให้สมดุลกัน และควรมีการผ่อนคลายในระหว่างการทำงาน โดยพนักงานออฟฟิศควรขยับและปรับอิริยาบถการทำงานอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ได้แก่ 1. ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถจากการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ โดยการขยับร่างกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อระหว่างวัน  2. ผ่อนคลาย ลดความเครียด เพราะความเครียดนำมาซึ่งอาการยึดตึงของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อได้ทุกส่วน  3. ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำงาน เช่น จัดโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบ สะดวกต่อการหยิบสิ่งของ เลือกเก้าอี้ที่เหมาะสม มีพนักพิงที่รองรับแผ่นหลังอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งปรับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้เหมาะสมกับสรีระของร่างกาย  4. รับประทานอาหารให้ตรงมื้อและครบคุณค่าทางโภชนาการ  5. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และ 6. ควรออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 วัน วันละ 30 นาที เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีห่างไกลโรค และส่งผลให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ