สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล จัดงานประชุมวิชาการและประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 “Installation the Role of Hospital Pharmacist in Ambulatory Care Services”
สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) จัดการประชุมวิชาการและประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2561 ภายใต้หัวข้อ Installation the Role of Hospital Pharmacist in Ambulatory Care Services ระหว่างวันที่ 23-25 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ณ ห้องบอลรูม โรงแรมโกลเด้นทิวลิป ซอฟเฟอริน ถ.พระรามเก้า กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลระดับต่าง ๆ เพื่อสรุปแนวทางการดำเนินงานบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะใช้เป็นมาตรฐานของ Ambulatory Care Service ที่ปฏิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้มีการนำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเภสัชกรโรงพยาบาลในสังกัดต่าง ๆ ด้วย
ภก.อำนวย พฤกษ์ภาคภูมิ นายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) กล่าวถึงที่มาของการจัดงานประชุมวิชาการประจำปี พ.ศ. 2561 ว่า “นับตั้งแต่มาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรมโรงพยาบาลได้มีการเริ่มประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2540 โดยขั้นต้นมีการระบุให้เภสัชกรโรงพยาบาลต้องเป็นผู้ส่งมอบยาพร้อมให้คำแนะนำการใช้ยาแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะในงานบริการผู้ป่วยนอก (outpatient service) รวมทั้งมีการให้คำปรึกษาด้านยาแก่ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ทำให้บทบาทของเภสัชกรเป็นที่ยอมรับในการช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วยเฉพาะราย และทำให้การรักษาด้วยยามีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ปัจจุบันงานบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก หรือที่เรียกว่า Ambulatory Care มีการเปิดงานมากขึ้นในโรงพยาบาลหลายแห่ง โดยเภสัชกรเข้าร่วมในหน่วยบริการที่เป็นคลินิกเฉพาะโรค แผนกผู้ป่วยนอก แต่เนื่องจากแนวทางการดำเนินการของแต่ละโรงพยาบาลมีความแตกต่างกันไปตามสมรรถนะของเภสัชกร ความร่วมมือของทีมสหสาขาวิชาชีพ และการสนับสนุนจากผู้บริหาร ทำให้ผลลัพธ์ของงานบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกในภาพรวมไม่มีความชัดเจน สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ในนามองค์กรวิชาชีพจึงเห็นความสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง และสรุปแนวทางการปฏิบัติงาน Ambulatory Care Service ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดเพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการดำเนินงานที่เป็นแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ
สำหรับการจัดงานประชุมวิชาการและประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลฯ มีขึ้นอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี โดยมุ่งหวังที่จะนำเสนอเนื้อหาทางวิชาการและการปฏิบัติงานวิชาชีพที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบทบาทของเภสัชกรโรงพยาบาลให้เป็นที่ยอมรับ สอดคล้องกับนโยบายระดับประเทศ และบริบทในปัจจุบัน รวมทั้งมีการประกวดผลงานวิชาการที่นำเสนอในงานประชุมด้วย ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าผลงานวิชาการแต่ละปีมีจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ และมีความก้าวหน้าทั้งในเรื่องคุณภาพของผลงานและรูปแบบการนำเสนอ รวมทั้งเป็นโอกาสให้มีการเผยแพร่นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เอื้อให้การปฏิบัติงานวิชาชีพมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยในปีนี้ได้จัดขึ้นภายใต้ธีม Installation the Role of Hospital Pharmacist in Ambulatory Care Services เพื่อสรุปแนวทางการดำเนินงานบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะใช้เป็นมาตรฐานของ Ambulatory Care Service ที่ปฏิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ ซึ่งมีหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย เช่น
1. หัวข้อ Roadblock of Initiation of Ambulatory Care Services in Hospital: Personal Skills, Workload, Evaluation, Career Promotion, KPI Monitoring, Presentation โดยเภสัชกรโรงพยาบาลสังกัดต่าง ๆ ผู้เยี่ยมสำรวจระบบยา และผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข ร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่พบในการเริ่มดำเนินงานให้การบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกของสถานพยาบาลในประเด็นต่าง ๆ เช่น ทักษะที่จำเป็น ภาระงาน การประเมินผลงาน ความก้าวหน้า รวมถึงแนวทางการติดตามประสิทธิผลของการทำงาน และการนำเสนอให้ผู้บริหารรับทราบ
2. การนำเสนอ Position Statement for Ambulatory Care Services & Standard Procedure for Setting Ambulatory Care Service โดยนายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) และอุปนายกสมาคมฯ ฝ่ายวิชาชีพ ซึ่งมีความแตกต่างจากงาน counseling รวมทั้งสนับสนุนให้เภสัชกรเขียน pharmacist note ในเวชระเบียน เพื่อส่งต่อข้อมูลที่เภสัชกรประเมินได้หรือตรวจพบให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบ
นอกจากนี้จะมีการนำเสนอตัวอย่างคลินิกเฉพาะทางที่เภสัชกรให้การบริบาลทางเภสัชกรรมในวันที่ 3 ของการประชุม เพื่อให้เห็นบทบาทของเภสัชกรในการดำเนินงาน Ambulatory Care
3. หัวข้อสุดท้ายของการประชุมที่พลาดไม่ได้คือ Pitfalls in Ambulatory Care Clinic บรรยายโดย รศ.ภญ.ธิดา นิงสานนท์ กรรมการที่ปรึกษาของสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) และประธานอนุกรรมการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลของ สรพ. เพื่อสรุปแนวทางการเริ่มงาน Ambulatory Care ว่าต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง และทำอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย
“คาดว่าการประชุมวิชาการและประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2561 ภายใต้ธีม Installation the Role of Hospital Pharmacist in Ambulatory Care Services จะมีเภสัชกรโรงพยาบาลและเภสัชกรผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 400 คน ซึ่งเภสัชกรผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านจะได้รับทราบถึง Position Statement ของการดำเนินงาน Ambulatory Care Service และแนวทางการดำเนินงานบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และใช้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ” ภก.อำนวย กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจเข้าร่วมงานประชุมสามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561 ได้ที่ www.thaihp.org หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2249-9333 หรือ E-mail: hp@thaihp.org