ประโยชน์ของ stem cell จากเลือดสายสะดือและสายสะดือ

ภก.สิกขวัฒน์ นักร้อง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ประโยชน์ของ stem cell จากเลือดสายสะดือและสายสะดือ

ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องสายสะดือเด็กมีมาตั้งแต่โบราณในประเทศต่าง ๆ(1) ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทย เมื่อลูกอายุประมาณ 7-10 วัน สายสะดือก็จะหลุด สมัยก่อนมักโรยขมิ้นแล้วเก็บไว้ในภาชนะเป็นยา บ้างก็ว่าเมื่อมีลูกคนต่อไป ให้นำสายสะดือนี้มาต้มให้เด็ก ๆ ดื่ม พี่น้องจะได้รักกัน หรือเมื่อมีใครป่วยหนัก กินยาอะไรก็ไม่หายสักที จะฝนสายสะดือแห้งที่เก็บเอาไว้เป็นน้ำกระสายกับยา หรือใช้สายสะดือแห้งฝนกับน้ำมะนาวทาแก้พิษแมลงกัดต่อย ในประเทศเยอรมนี พ่อของเด็กจะเก็บสายสะดือที่หลุดแล้วเอาไว้ ยิ่งรักษาได้นานเท่าไร เด็กจะเจริญเติบโต แข็งแรง ส่วนในประเทศอังกฤษ ถือว่าสายสะดือนี้เป็นของขลัง ใครมีติดตัวจะเป็นสิ่งนำโชค เดินทางไปไหนก็ปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ เป็นต้น ต่อมาในปัจจุบันได้มีธุรกิจรูปแบบหนึ่งเกิดขึ้นโดยมุ่งเป้าหมายในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่พอมีกำลังทรัพย์โดยเน้นเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้แต่รักษาให้หายได้ยากหลายชนิด คือธุรกิจการเก็บสเต็มเซลล์ (stem cell) จากเลือดสายสะดือและสายสะดือซึ่งมีราคาสูงมากในขณะนี้ สำหรับผู้ที่มีฐานะปานกลางที่พอจะใช้บริการได้นั้น จะเกิดคำถามในใจขึ้นมาต่าง ๆ กันไปว่าจะลงทุนหรือปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติดี เพราะโรคที่ใช้ stem cell รักษาได้นั้นเป็นโรคร้ายที่น่าสนใจและลงทุนมากทีเดียว

            สเต็มเซลล์ (stem cell)(2-4) คือ เซลล์ต้นกำเนิดที่ยังไม่มีหน้าที่จำเพาะ จะต้องรอการกระตุ้นและสั่งการจากระบบร่างกายในการเป็นเซลล์ที่จำเพาะต่าง ๆ ดังนั้น stem cell จึงสามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่จำเพาะต่าง ๆ ได้ในร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น เซลล์กล้ามเนื้อของหัวใจ เซลล์กระดูก หรือเซลล์ประสาท สเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดทุกชนิดจะมีลักษณะพิเศษที่สำคัญ 3 ประการ

1. สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดสามารถแบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ได้เป็นเวลานาน

2. สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดเป็นเซลล์ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจง

3. สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดมีความสามารถในการเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงได้

 

 

รูปที่ 1 สเต็มเซลล์ที่สามารถเจริญไปเป็นเซลล์ชนิดต่าง ๆ(5)

            การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดได้แพร่หลายออกไปเป็นเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามแยกสเต็มเซลล์จากเอ็มบริโอหรือตัวอ่อนของหนู เพื่อนำมาเลี้ยงในห้องทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งสามารถแยกสเต็มเซลล์ออกมาได้สำเร็จ และสามารถแสดงให้เห็นว่าสเต็มเซลล์ของมนุษย์ที่แยกมาได้ และเลี้ยงในห้องปฏิบัติการสามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ชนิดอื่นได้จริง ในช่วงปี พ.ศ. 2541 นักวิทยาศาสตร์สามารถเพาะสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนมนุษย์และเซลล์สืบพันธุ์ และสามารถสร้างสายพันธุ์ของเซลล์ขึ้นมาได้สำเร็จ ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 สเต็มเซลล์ตัวอ่อนเหล่านี้ถูกนำไปเพาะเป็นเซลล์เม็ดเลือด นับเป็นความก้าวหน้าของงานวิจัยเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ครั้งสำคัญ(4)

เลือดจากสายสะดือ(2) คือ เลือดที่อยู่ในสายสะดือ และรก ก่อนจะมีการค้นพบประโยชน์ของเลือดจากสายสะดือ และรก เลือดเหล่านี้จะถูกกำจัดเป็นขยะทางชีวภาพหลังจากที่คลอดบุตร เนื่องด้วยเรายังไม่ทราบประโยชน์อันมีค่าของเลือดจากสายสะดือนี้ ในปี ค.ศ. 1988 วารสารทางการแพทย์ฉบับแรกได้มีการตีพิมพ์เกี่ยวกับสเต็มเซลล์ของมนุษย์ จนถึงปัจจุบันมีคนไข้มากกว่า 8,000 คนที่ได้รับการรักษาโรคต่าง ๆ ด้วยเลือดจากสายสะดือ

สเต็มเซลล์จากสายสะดือ(2) เป็นอีกชนิดหนึ่งของสเต็มเซลล์ซึ่งเก็บจากส่วนของสายสะดือ (Umbilical cord) โดยตรง ที่เรียกว่า Wharton’s jelly ซึ่งจะผ่านการสกัดโดยเทคนิคชั้นสูงและเก็บแช่แข็งไว้ เมื่อต้องการใช้ในอนาคตก็สามารถนำไปใช้ได้โดยที่ร่างกายผู้รับจะไม่ต่อต้าน จากข้อมูลวิจัยจากต่างประเทศพบว่า มีเซนไคมอล สเต็มเซลล์ ช่วยลดการต่อต้านของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ให้กับผู้รับ อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องตรวจการเข้ากันได้ของรหัสเนื้อเยื่อเม็ดเลือดขาว และสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างมากมายเพื่อใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ

 

จุดเด่นของการใช้สเต็มเซลล์เลือดจากสายสะดือและจากสายสะดือ

  • เป็นเซลล์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเฉพาะกับตัวเด็กและครอบครัว ทำให้มีเนื้อเยื่อเข้ากันได้อย่างสมบูรณ์
  • เป็นเซลล์ที่ยังไม่เคยรับโรคมาก่อน จึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อย
  • กระบวนการเก็บไม่สร้างความเจ็บปวดให้แก่แม่และเด็ก
  • สามารถเก็บรักษาได้ด้วยการแช่แข็งเพื่อหยุดเวลา และป้องกันการเสื่อมสภาพและการติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ ได้ดี

 

ประโยชน์ทางการแพทย์(4-5)

เลือดจากสายสะดือซึ่งเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยเซลล์ต้นกำเนิด คือเลือดที่อยู่ทั้งในสายสะดือและรก ปัจจุบันนี้เซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดสายสะดือสามารถนำไปใช้รักษาโรคต่าง ๆ ได้มากกว่า 80 โรค ซึ่งรวมถึงโรคมะเร็ง โรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเลือด โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันและการเผาผลาญอาหารบกพร่อง ดังนั้น จึงเป็นการสร้างความมั่นใจที่จะเก็บรักษาเลือดจากรกและจากสายสะดือไว้เพื่อลูกน้อยและครอบครัวในอนาคต ซึ่งก่อนหน้านี้การใช้สเต็มเซลล์มักใช้เทคนิคการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่มีข้อเสียสำคัญ ๆ หลายประการ เช่น ไม่มีไขกระดูกที่จับคู่กันได้ ผู้บริจาคไขกระดูกต้องเข้ารับการผ่าตัด และอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เรียกว่า Graft-Versus-Host Disease (GVHD) ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เพราะเหตุนี้การปลูกถ่ายเลือดจากรกและจากสายสะดือจึงมีข้อดีกว่าการปลูกถ่ายไขกระดูก และทั่วโลกได้มีการนำสเต็มเซลล์เลือดจากสายสะดือมาใช้ในการปลูกถ่ายมากขึ้น

สำหรับสเต็มเซลล์จากสายสะดือมี มีเซนไคมอล สเต็มเซลล์ (Mesenchymal stem cell) อยู่ในส่วนที่เรียกว่า Wharton’s jelly ซึ่งจะสามารถเจริญเติบโตกลายเป็นเซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ เช่น เซลล์ไขมัน เซลล์กระดูก เซลล์กระดูกอ่อน เซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์ประสาท เซลล์ตับ เซลล์ตับอ่อนชนิดเบต้า เป็นต้น ดังนั้น จึงถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาที่เป็นการเพิ่มโอกาสในการที่จะช่วยในการซ่อมแซมเซลล์และเนื้อเยื่อใหม่ รวมถึงโรคพาร์กินสัน อาการกระดูกสันหลังได้รับบาดเจ็บ อาการชัก แผลที่เกิดจากไฟไหม้ โรคหัวใจ เบาหวานชนิดที่ 1 โรคข้ออักเสบและบวม โรคกล้ามเนื้ออักเสบ และโรคเกี่ยวกับตับ เป็นต้น และเซลล์ต้นกำเนิดสามารถกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มอัตราการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดให้ประสบผลสำเร็จมากขึ้น และช่วยลดภาวะแทรกซ้อนหรือต่อต้านเนื้อเยื่อ ที่เรียกว่า Graft-Versus-Host Disease (GVHD) ทำให้ลดการปฏิเสธเซลล์ได้อีก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ประสิทธิภาพการปลูกถ่ายประสบความสำเร็จเพิ่มมากขึ้นหากใช้ร่วมกันในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดจากสายสะดือ

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าการเก็บสเต็มเซลล์จากเลือดสายสะดือและจากสายสะดือนั้นเป็นการเก็บเพื่ออนาคตที่เราอาจจะมีการป่วยด้วยโรคร้ายดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ทั้งนี้โรคดังกล่าวก็มีโอกาสในการเกิดไม่ได้สูงมากนักขึ้นกับปัจจัยหลายด้าน เช่น พันธุกรรม การใช้ชีวิต การบริโภคต่าง ๆ ซึ่งในการเลือกใช้อาจต้องพิจารณาปัจจัยทุก ๆด้านเสียก่อนจึงค่อยตัดสินใจ

 

เอกสารอ้างอิง

          1. สายสะดือเด็กแรกเกิดกับความเชื่อ. http://horoscope.thaiza.com/สายสะดือเด็กแรกเกิดกับความเชื่อ/119428/

            2. S. Kiatpongsan, Y. Tannirandorn and P. Virutamasen. Introduction to Stem Cell Medicine. J Med Assoc Thai 2006;89(1):111-7.

          3. Surapol Issaragrisil, Stem Cell: From Bone Marrow Transplantation for the Treatment of Hematological Diseases to Therapy for Other Systemic Disorders. Med J, Volume 58, Number 3, March 2006: 725-7.

          4. ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล. สเต็มเซลล์คืออะไร. http://www.rmutphysics.com/charud/specialnews/5/stem-cell/stem-cell1.htm

5. http://www.thaihealthbaby.com/about-stem-cell-th/faq-th