สภาเภสัชกรรม ผนึกเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม จัดสัปดาห์เภสัชกรรม 2561 รณรงค์ “ฉลาดใช้ยาและสมุนไพรสมเหตุผล ยุค 4.0 ปรึกษาเภสัชกร”
ในสมัยโบราณที่ไม่มียาแผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทยก็จะนำสมุนไพรพื้นบ้านมาปรุงเป็นยารักษาโรคต่าง ๆ ได้มากมาย แต่เมื่อวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้า มีการคิดค้น ผลิต สังเคราะห์ยาขึ้นมามากมาย จึงทำให้ประชาชนหันมาสนใจในการรักษาสุขภาพด้วยยาแผนปัจจุบันกันมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาการใช้ยาเกินความจำเป็น และนำมาสู่ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผล ซึ่งในประเทศไทย การใช้ยาไม่สมเหตุผลเป็นปัญหาระดับชาติมานานแล้ว มีเกิดขึ้นทั้งในสถานพยาบาลและชุมชน ที่นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาตามมาอีกด้วย
จากการตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ สภาเภสัชกรรม ผนึกองค์กรเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม นำทีมโดย ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม, พล.ท.ภก.อนุมนตรี วัฒนศิริ ประธานจัดงานและกรรมการสภาเภสัชกรรม, ภญ.จันทิมา โยธาพิทักษ์ ผู้ช่วยนายกสภาเภสัชกรรม, ภญ.เพ็ญทิพา แก้วเกตุทอง ผู้จัดการสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนโอสถศาลา, นายจักร โกศัลยวัตร นายกสมาคมเฮลท์เทคแห่งประเทศไทย และ ผศ.(พิเศษ) ดร.ภก.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์ เลขาธิการสภาเภสัชกรรม จัดกิจกรรม “สัปดาห์เภสัชกรรม ประจำปี พ.ศ. 2561” ชูบทบาทเภสัชกรยุค 4.0 ในการรณรงค์ให้ประชาชนไทยมีความรู้ ความเข้าใจ และทัศนคติที่ถูกต้องในการใช้ยาและสมุนไพรอย่างปลอดภัยและสมเหตุผล ลดผลกระทบต่อสุขภาพ ปัญหาเชื้อดื้อยา และสิ้นเปลืองงบประมาณด้านยาของประเทศ ภายใต้คำขวัญ “ฉลาดใช้ยาและสมุนไพรสมเหตุผล ยุค 4.0... ปรึกษาเภสัชกร” โดยจะจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องยาและสมุนไพรในโรงพยาบาล ร้านยาและหน่วยงานบริการสาธารณสุขพร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 23-29 มิถุนายน พ.ศ. 2561 เชิญชวนประชาชนผู้ใช้ยาขอรับคำปรึกษากับเภสัชกรที่สถานพยาบาล หรือร้านยาใกล้บ้าน
ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า การใช้ยาไม่สมเหตุผลเป็นปัญหาระดับชาติมายาวนาน ส่งผลเสียทั้งทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการบริโภคยาเกินจำเป็น และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยในทางที่แย่ลง นำไปสู่การรักษาการป่วยครั้งต่อไปที่ยุ่งยากและสิ้นเปลืองมากขึ้น และอาจทำให้เกิดโรคใหม่จากการใช้ยา ทำให้ต้องรักษาเพิ่มขึ้น เช่น ผู้ป่วยที่รับประทานยาชุดแก้ปวด แก้อักเสบบ่อย ๆ เกินความจำเป็น ก็จะเกิดกระเพาะทะลุ หรือการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินความจำเป็นจนสร้างปัญหาเชื้อดื้อยา ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากติดเชื้อดื้อยา ต้องให้การรักษาด้วยยาที่แพงขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยามากขึ้นทุกปี ปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการใช้ยาของผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจเกิดจากระบบสาธารณสุขและการให้บริการทางเภสัชกรรมที่ทำได้ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะโรงพยาบาลในต่างจังหวัด เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังมีปัญหาขาดแคลนอัตรากำลังของเภสัชกรประจำโรงพยาบาลอยู่มาก
ทั้งนี้มีข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าการบริโภคยาของคนไทยมีมูลค่าสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่ใช้ยาเกินจำเป็นถึงกว่า 2,000 ล้านบาท และการใช้ยาที่สงสัยต่อประสิทธิภาพถึง 4,000 ล้านบาท และกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้การใช้ยาสมเหตุผลเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พัฒนาโรงพยาบาลทุกแห่งให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุผลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559
“การใช้ยาสมเหตุผล หมายถึง การใช้ยาที่เหมาะสมกับโรค ในขนาดและระยะเวลาการใช้ที่ถูกต้อง และเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด แต่ปัจจุบันยังมีคนไทยอีกจำนวนมากใช้ยาไม่สมเหตุผล ซึ่งเป็นความเข้าใจของประชาชนในทางที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ยา อาจมีที่มาจากการสำคัญผิดเอง จากการบอกเล่า หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีการติดต่อสื่อสารและให้ข้อมูลกันผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น หรือการสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต หากไม่พิจารณาแหล่งที่มาให้ดีก็อาจจะได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง บิดเบือนไปจากความเป็นจริง หรือเป็นจริงแต่เพียงบางส่วน รวมทั้งการโฆษณาชวนเชื่อ ทั้งยาแผนโบราณและยาแผนปัจจุบัน อาหารเสริม หรือเครื่องสำอาง เพื่อผลการรักษาสุขภาพลดน้ำหนัก ลดความอ้วน อันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อีกทั้งเจตนาการเสพยาสมุนไพร ยาแผนโบราณที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมปรุงแต่งในปริมาณมากเกินควรจนเกิดอาการมึนเมา ส่งผลให้มีจำนวนตัวยาสะสมสูงจนเกิดเป็นพิษต่อร่างกายได้ เป็นต้น”
พล.ท.ภก.อนุมนตรี วัฒนศิริ ประธานจัดงานสัปดาห์เภสัชกรรม ประจำปี พ.ศ. 2561 กล่าวว่า เพื่อร่วมรณรงค์ให้ประชาชนคนไทยมีการใช้ยาและสมุนไพรอย่างสมเหตุผล สภาเภสัชกรรมได้ร่วมกับ องค์กรเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม จัดกิจกรรม “สัปดาห์เภสัชกรรม ประจำปี พ.ศ. 2561” ภายใต้คำขวัญ “ฉลาดใช้ยาและสมุนไพรสมเหตุผล ยุค 4.0 ... ปรึกษาเภสัชกร” เพื่อร่วมกันแสดงบทบาทของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมต่อประชาชน มีการให้ความรู้ คำแนะนำในการใช้ยาและสมุนไพร เป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพ ให้คำแนะนำ ตัดสินใจ คัดกรอง ส่งต่อ และรักษา ป้องกันโรคพื้นฐานด้วยการใช้ยาและไม่ใช้ยาให้แก่ประชาชน กรณีที่ประชาชนจำเป็นต้องใช้ยาและสมุนไพรต้องทำให้ประชาชนได้รับยาและสมุนไพรได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ปลอดภัย และสมเหตุผล เหมาะสมกับโรค ในขนาดและระยะเวลาการใช้ที่ถูกต้อง และเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด โดยจะจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องยาและสมุนไพรในโรงพยาบาล ร้านยาและหน่วยงานบริการสาธารณสุขพร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 23-29 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ให้ประชาชนผู้ใช้ยาขอรับคำปรึกษากับเภสัชกร พร้อมทั้งขอรับเอกสารให้ความรู้เรื่อง “ฉลาดใช้ยาและสมุนไพรสมเหตุผล ยุค 4.0 ... ปรึกษาเภสัชกร” ในสถานพยาบาลหรือร้านยาใกล้บ้าน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
“ทั้งนี้หลักการใช้ยาให้สมเหตุผลควรยึดหลัก 5 ถูกของการใช้ยาคือ ถูกคน ถูกโรค ถูกขนาด ถูกวิธี และถูกเวลา และเพื่อให้ใช้ยาถูกต้อง 5 ถูก การซื้อยามารับประทานเองควรเลือกร้านที่มีเภสัชกร ไม่ควรซื้อยาจากผู้ที่ไม่มีความรู้ ไม่นำยาผู้อื่นมาใช้ อ่านฉลากก่อนใช้ยา และใช้ยาตามที่ระบุไว้ในฉลาก ทั้งขนาด วิธีใช้ และเวลาที่ใช้ นอกจากนี้ในกรณีได้รับข้อมูลทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อโซเชียลต่าง ๆ ควรพิจารณาถึงชื่อ แหล่งที่มาของข้อมูลอ้างอิงอย่างถูกต้องชัดเจนจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และควรเป็นข้อมูลที่ทันสมัยด้วย และหากต้องการสืบค้นข้อมูลจากทางอินเตอร์เน็ต ควรเลือกเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ เช่น เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย หรือของราชการ นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันที่ให้ความรู้เรื่องยาต่าง ๆ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนยุค 4.0 สามารถเข้าถึงข้อมูลเรื่องยาได้ง่ายขึ้น และเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำหรับผู้ป่วยในการยาได้อย่างปลอดภัยและสมเหตุผล”
ด้าน ภญ.จันทิมา โยธาพิทักษ์ ผู้ช่วยนายกสภาเภสัชกรรม ได้ยกตัวอย่างพฤติกรรมการใช้ยาไม่สมเหตุผลของคนไทยที่พบบ่อย ได้แก่ การใช้ยาเกินความจำเป็น โดยเฉพาะการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการหวัดทั้งที่ยังไม่ได้มีการติดเชื้อใด ๆ ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อปริมาณมากก็จะกระตุ้นให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา เมื่อมีการติดเชื้อจริงจะรักษาไม่หาย ต้องใช้ยาที่ครอบคลุมเชื้อดื้อยา ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านยาสูงเกินจำเป็น รวมถึงอาการท้องเสียที่ไม่ได้มีการติดเชื้อก็ใช้ยาปฏิชีวนะทั้งที่อาจรักษาได้เพียงการรับประทานเครื่องดื่มเกลือแร่ก็เพียงพอ การใช้ยาฆ่าเชื้อในบาดแผลสะอาด นอกจากนี้การไปซื้อยารับประทานเองจากร้านยาที่ไม่มีเภสัชกร เช่น ร้านชำ ร้านยาที่ไม่มีเภสัชกร ได้ยาชุดจำนวนมากเกินความจำเป็น เช่น แค่มีอาการปวดเมื่อยไปซื้อยาชุดรับประทาน 1 ชุด มียาถึง 5 รายการ ซึ่งบางครั้งเป็นยาประเภทเดียวกันซ้ำซ้อน ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงจากยาเหล่านั้น เช่น มีเลือดออกในกระเพาะอาหารจากยาแก้ปวด แก้อักเสบที่มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยบางรายต้องกลับมารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยกระเพาะอาหารทะลุ หรือบางครั้งในยาชุดเหล่านั้นจะมียาสเตียรอยด์ร่วมด้วย ทำให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายจากการใช้ยา พบได้ทั้งกระดูกพรุน ติดเชื้อราจากการกดภูมิของยาสเตียรอยด์ เป็นต้น การใช้ยาที่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันถึงประสิทธิภาพ เช่น ยาละลายเสมหะบางชนิด ยาลดอาการบวม การใช้ยาอันตรายที่มีการถอนทะเบียนไปแล้ว ทำให้นอกจากโรคเดิมไม่หายอาจเกิดโรคใหม่จากการใช้ยาได้
“สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมการใช้ยาไม่สมเหตุผลนั้น มีทั้งจากตัวผู้ป่วยเองที่นิยมหาซื้อยามาบริโภคเอง โดยไม่มีความรู้ ความเข้าใจ และใช้ยาจากความเชื่อ เชื่อว่ายาฉีดแรงกว่ายารับประทาน ต้องฉีดยาเท่านั้นจึงจะหาย หรือซื้อยาจากคำแนะนำของคนรอบข้าง รวมถึงการไปซื้อยาจากผู้ที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์ ทั้งนี้นอกจากตัวผู้ป่วยเอง สาเหตุการใช้ยาไม่สมเหตุผลอาจเกิดในสถานพยาบาลทุกระดับ การสั่งใช้ยาที่เกินความจำเป็นทั้งของแพทย์และเภสัชกรร้านยา ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากความวิตกกังวลที่จะให้ผู้ป่วยหายโดยเร็ว ประเด็นสาเหตุนี้จึงเป็นที่มาให้กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์การใช้ยาสมเหตุผลในสถานพยาบาล ปัจจุบันมีโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้เข้าร่วมโครงการกว่า 200 แห่ง ปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการใช้ยาของผู้ป่วยอาจเกิดจากระบบสาธารณสุขและการให้บริการทางเภสัชกรรมที่ทำได้ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในโรงพยาบาลต่างจังหวัด เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังมีปัญหาขาดแคลนอัตรากำลังของเภสัชกรประจำโรงพยาบาลอยู่มาก”
ภญ.เพ็ญทิพา แก้วเกตุทอง ผู้จัดการสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนโอสถศาลา กล่าวถึง พฤติกรรมการใช้ยาไม่สมเหตุผลของคนไทยที่พบบ่อยในร้านยาว่า ผู้บริโภคมักใช้ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตมาหาซื้อยาที่ต้องการ เมื่อเจ็บคอ เป็นหวัด ไอ จะมาขอซื้อยาปฏิชีวนะ รวมถึงมาหาซื้ออาหารเสริม เพราะขาดการรับประทานอาหารที่ครบหมู่ ขาดการออกกำลังกาย นอนดึก ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตในเมือง ใช้ยาสมุนไพรที่ไม่รู้แหล่งผลิต ไม่มี อย. หรือ ปลอม อย. ส่วนใหญ่ได้จากเพื่อน มีคนบอก จึงมาหาซื้อที่ร้านยา นอกจากนี้โรคที่พบบ่อยที่คนไทยมาซื้อยาไม่สมเหตุผล เช่น เจ็บคอ เป็นหวัด มาขอยาแก้อักเสบ ปวดเมื่อยจากการใช้แรงงานที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่ลุกไปไหน เช่น เย็บผ้า ทำให้เกิดอาการปวดหลัง แต่คิดว่าเพราะไตไม่สะอาดจึงมาซื้อยาล้างไต ซึ่งเป็นการใช้ยาผิดประเภท หรือในบางรายเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่รับประทานยาไม่ครบคอร์ส ทำให้กลับมาเป็นซ้ำ จึงมาขอซื้อยาเดิมซ้ำ ๆ
“ผลเสียจากการใช้ยาไม่สมเหตุผล มีผลเสียต่อตัวเอง ได้แก่ สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาการโรครุนแรงขึ้นถ้าใช้ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ผลเสียในภาพรวมทำให้เกิดการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล เชื้อดื้อยา สุดท้ายค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ข้อแนะนำในการใช้ยาให้สมเหตุผล เมื่อต้องซื้อยามารับประทานเอง อันดับแรกควรปรึกษาเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง การใช้ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตควรเลือกเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ เช่น มหาวิทยาลัย เว็บไซต์ของราชการ นอกจากนี้การใช้สมุนไพร ควรมีความระมัดระวัง สังเกต และควรตรวจสอบเบื้องต้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ ที่สำคัญเมื่อเข้าร้านยา หากมีปัญหาเรื่องยา เรื่องสมุนไพรที่จะใช้ ให้ปรึกษาเภสัชกร ซึ่งเป็นผู้ที่รู้เรื่องยาและสมุนไพรดีที่สุด และเภสัชกรที่อยู่ใกล้ประชาชนมากที่สุดคือ เภสัชกรที่อยู่ร้านยาใกล้บ้านใกล้ใจ โดยดูเครื่องหมายร้านยาคุณภาพ หรือดูตราสภาเภสัชกรรมบนเสื้อกาวน์เภสัชกร และทุกครั้งที่เข้าร้านยาให้ถามหาเภสัชกร”
ด้าน นายจักร โกศัลยวัตร นายกสมาคมเฮลท์เทคแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความปลอดภัยในการให้บริการด้านยาให้แก่ผู้ป่วยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพส่วนบุคคลมีบทบาทอย่างมากในวงการสาธารณสุขทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องมือที่ใช้ช่วยป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิด (preventive solution) ซึ่งคนทั่วไปสามารถใช้เครื่องมือหลักในการดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเอง ช่วยลดภาระของบริการสาธารณสุขของสังคมโดยรวม ยกตัวอย่างเช่น การใช้ยาให้ปลอดภัย แอปพลิเคชันบนมือถือ PharmaSafe (www.pharmasafe.com) ซึ่งเป็นระบบผู้ช่วยการใช้ยาอัตโนมัติให้แก่ผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีข้อมูลยาที่ได้รับจ่ายจากโรงพยาบาลอย่างครบถ้วน มีคำแนะนำการใช้ มีการเตือนเวลาการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอัตโนมัติ มีระบบเตือนความเสี่ยงของการแพ้ยา DI และ ADR อัตโนมัติแบบข้ามโรงพยาบาล ตลอดจนระบบ Multi hospital medication reconciliation แอปพลิเคชันบนมือถือที่ช่วยเตือนเวลารับประทานยา ซึ่งเป็นระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลของการจ่ายยาแต่ละแหล่งที่เชื่อมต่อกัน