มือเท้าปาก โรคใกล้ตัวเด็กเล็กวัยเรียน
เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน นอกจากโรคหวัดแล้ว โรคยอดฮิตของเด็ก ๆ ในช่วงนี้ที่สร้างความกังวลใจให้คุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อยคือ โรคมือเท้าปาก (Hand, Foot and Mouth Disease) ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ทำให้มีตุ่มผื่นหรือแผลที่ผิวหนังบริเวณมือ เท้า หรือมีแผลภายในปาก ทำให้เด็ก ๆ เจ็บปากจนรับประทานไม่ได้ นอกจากนี้อาจจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไอ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย ในประเทศไทยพบมากในช่วงฤดูฝน และพบบ่อยในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แต่สามารถเกิดกับเด็กโตและผู้ใหญ่ได้เช่นกัน ส่วนใหญ่โรคนี้สามารถหายได้เอง โดยมักจะมีอาการดีขึ้นและหายป่วยภายในเวลาประมาณ 7-10 วัน
พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน แพทย์โรคระบบทางเดินหายใจเด็ก โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า สถานการณ์โรคมือเท้าปากในประเทศไทย อ้างอิงข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี พ.ศ. 2560 พบผู้ป่วย 68,084 ราย เสียชีวิต 3 ราย การพยากรณ์โรคปี พ.ศ. 2561 คาดว่าจะมีผู้ป่วยประมาณ 94,000 ราย โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน อาจมีผู้ป่วย 8,000-23,000 รายต่อเดือน และสาเหตุของการเกิดโรคมือเท้าปากมาจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์ค็อกซากี้ เอ16 (Coxsackie A16 Virus) และบางส่วนอาจเกิดจากเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) และอาจเกิดจากเชื้อไวรัสอื่น ๆ ได้ โดยเชื้อไวรัสสามารถติดต่อกันได้ผ่านการไอหรือจาม น้ำมูก การสัมผัสตุ่มน้ำตามผิวหนัง น้ำลายหรืออุจจาระที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยโรคมือเท้าปากมีระยะฟักตัว 3-6 วัน และหลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ต่ำ ๆ เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย หลังจากมีไข้ 1-2 วันจะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบที่ผิวหนังบริเวณมือ เท้า และมีแผลในปาก เช่น ที่กระพุ้งแก้ม เพดาน ลิ้น รวมถึงริมฝีปาก ส่วนใหญ่แล้วผู้ปกครองหรือคุณครูที่โรงเรียนสามารถสังเกตอาการของเด็กในเบื้องต้นได้ เช่น มีไข้ ตุ่มหรือผื่นตามมือ เท้า และแผลในปาก การวินิจฉัยโรคมือเท้าปาก คุณหมอจะตรวจร่างกายดูผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนัง และแผลในปาก ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจนำตัวอย่างของเหลวภายในลำคอ หรืออุจจาระส่งตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของอาการป่วยต่อไป ซึ่งโดยทั่วไปแล้วโรคมือเท้าปากนั้น อาการจะดีขึ้นและหายป่วยเองภายในเวลา 7-10 วัน เนื่องจากปัจจุบันโรคมือเท้าปากไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดในทันที หากป่วยด้วยโรคนี้ควรให้ลูกพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ดูแลอาการหรือรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการป่วย เช่น รับประทานยาพาราเซตามอลเมื่อมีไข้ หยอดยาชาในปากเพื่อบรรเทาอาการเจ็บแผลในปาก แล้วรอจนกว่าอาการเหล่านั้นจะหายไป เด็กส่วนใหญ่มักจะไม่ยอมรับประทานอาหารเนื่องจากเจ็บแผลในปากมาก คุณพ่อคุณแม่อาจให้อาหารที่เป็นของเหลวที่มีความเย็น เช่น นมแช่เย็น น้ำเต้าหู้แช่เย็น น้ำหวาน ไอศกรีม เจลลี่ น้ำเกลือแร่ จะทำให้เจ็บแผลในปากน้อยลง รวมถึงเน้นให้ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อลดอาการขาดน้ำ หากลูกไม่สามารถรับประทานอะไรได้เลยควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อให้น้ำเกลือโดยด่วน ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ที่พบได้บ่อยคือ ภาวะขาดน้ำจากแผลอักเสบภายในปากและลำคอ ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกเจ็บขณะกลืนน้ำหรืออาหาร ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่มีโอกาสพบได้น้อยมาก ได้แก่ ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบและภาวะสมองอักเสบ โดยภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุดคือ ก้านสมองอักเสบ ทำให้เกิดภาวะหายใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวซึ่งอาจถึงแก่ชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เด็กที่มีปัญหาแทรกซ้อนรุนแรงหรือสมองอักเสบจะมีสัญญาณอันตราย ได้แก่ ซึม อ่อนแรง ชักกระตุก มือสั่น เดินเซ หอบ อาเจียน ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้จะต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
พญ.นงนภัส กล่าวเสริมว่า ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากได้ แต่มีแนวทางปฏิบัติเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อที่จะทำให้เกิดโรค รวมถึงป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้ เช่น รักษาความสะอาดของร่างกาย หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และไม่ใช้สิ่งของหรือภาชนะร่วมกัน เช็ดทำความสะอาดของเล่นบ่อย ๆ หากมีเด็กในโรงเรียนป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ต้องแยกเด็กที่ป่วยออก ให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน และพักอยู่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ รวมถึงควรปิดโรงเรียนเพื่อทำความสะอาดหากพบเด็กติดเชื้อมือเท้าปากพร้อมกันหลายคน และเมื่อรู้จักโรคมือเท้าปากมากขึ้นแล้ว หวังว่าจะช่วยทำให้คุณพ่อคุณแม่มีความกังวลลดลง สามารถดูแลลูก ๆ เบื้องต้น และช่วยกันป้องกันโรคมือเท้าปากให้ห่างไกลจากลูกหลานของเราได้