ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์

ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ 
จริงจัง จริงใจ เพื่อพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมไทยให้ก้าวหน้าต่อไป

       เภสัชกร คือผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านสุขภาพ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่หลายด้าน ทั้งในเรื่องการจ่ายยา การให้คำปรึกษาแนะนำการใช้ยา การติดตามการแก้ปัญหาการใช้ยาในผู้ป่วย การผลิตและประกันคุณภาพยา การตลาดยา และการคุ้มครองผู้บริโภค เภสัชกรจึงเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และประกอบวิชาชีพหลายสาขา ทั้งทางด้านเภสัชกรโรงพยาบาล เภสัชกรชุมชน เภสัชกรอุตสาหกรรม เภสัชกรการตลาด เป็นต้น เพราะฉะนั้นสภาเภสัชกรรมจึงมีบทบาทสำคัญในการควบคุม กำกับ และกำหนดทิศทางการพัฒนาวิชาชีพให้พัฒนาก้าวหน้าเป็นที่รู้จักและยอมรับในสังคม ทั้งนี้ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเภสัชกรกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากสมาชิกทุกคน เหมือนดังที่ ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม มุ่งหวังให้วิชาชีพเภสัชกรรมมีความเข้มแข็งโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกคน

            ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นไปทำงานที่โรงพยาบาลราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ในปี พ.ศ. 2522 ประมาณ 6 ปี ซึ่งถือเป็นรุ่นแรก ๆ ที่เภสัชกรออกไปทำงานในระดับอำเภอ โดย ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ ได้เล่าถึงประสบการณ์ช่วงที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนให้ฟังว่า ในช่วงที่ผมทำงานอยู่โรงพยาบาลราษีไศล ได้มีโอกาสทำทุกอย่าง round ward ร่วมกับแพทย์ทุกเช้า จ่ายยา ผลิตยา ออกไปเยี่ยมบ้านคนไข้ ออกไปอบรม อสม. จัดตั้งกองทุนยา เป็นต้น ทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์ เห็นวิถีชีวิตของชนบทจริง ๆ สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้เข้าใจประชาชน เข้าใจงานของเภสัชกร เข้าใจว่าเป้าหมายเราต้องทำเพื่ออะไร ซึ่งเป็นผลดีกับความคิดของตัวเองในการทำงานเพื่อสังคม เนื่องจากมุมมองที่เกี่ยวกับวิชาชีพเภสัชกรรมตอนสมัยเรียนเป็นการเรียนเพื่อให้สามารถไปทำงานในทุกส่วนทำให้ต้องเรียนหลายด้าน ทุกคนก็มุ่งมั่นเคร่งเครียดกับการเรียนการสอบเพื่อให้สอบผ่าน แต่เมื่อจบออกมาแล้วจะเห็นว่าสิ่งที่เรียนมาเมื่อมาทำงานเฉพาะด้าน เราก็ยังไม่มีความรู้ในเชิงลึก อีกทั้งเวลาเรียนจะมีเครื่องไม้เครื่องมือ มีความพร้อมทุกอย่าง แต่เมื่อทำงานจริงจะไม่ได้มีความพร้อมตามแบบที่เรียน เราจึงต้องประยุกต์เองทุกอย่าง การเรียนสมัยก่อนจะเน้นการเรียนแบบทฤษฎี ไม่ได้สัมพันธ์กับการปฏิบัติมากนัก ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันจึงมีการปรับปรุงหลักสูตรที่เน้นให้มีทักษะการปฏิบัติมากขึ้น และเกิดความเข้าใจในการทำงานมากขึ้น

            ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวถึงหน้าที่ความรับผิดชอบในวิชาชีพเภสัชกรรมว่า เป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยา เพราะฉะนั้นเป้าหมายของวิชาชีพคือ ทำอย่างไรให้ได้ยาดีมีคุณภาพ ผู้ป่วยใช้แล้วเกิดความปลอดภัย เนื่องจากต้องยอมรับว่าประชาชนรู้เรื่องยาน้อย และรู้ตามความเชื่อที่ต่อ ๆ กันมา เภสัชกรจึงมีหน้าที่ให้ความรู้ ความเข้าใจ สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนว่า เมื่อไรที่เขาใช้ยา เภสัชกรจะให้หลักประกันแก่เขาว่าจะเกิดความปลอดภัย หรือเกิดปัญหาจากการใช้ยาน้อยที่สุด และยาที่ใช้ต้องมีคุณภาพดี อันนี้ถือเป็นภารกิจและเป็นเรื่องที่เภสัชกรต้องดูแล เวลาที่คนเจ็บป่วยจะเน้นไปหาแพทย์เพื่อทำการรักษา แต่อย่าลืมว่าถ้าเมื่อไรที่มีการใช้ยาก็อาจจะมีปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยาเกิดขึ้นตามมา และปัญหาจากการใช้ยาอาจจะมีความรุนแรง บางกรณีถึงแก่ชีวิตได้ ในส่วนนี้ที่ผ่านมายังไม่มีใครดูแลอย่างจริงจัง และหลายคนอาจคิดว่าที่ผู้ป่วยอาการไม่ดีเกิดจากพยาธิสภาพของโรค เป็นปัญหาจากโรค แต่จริง ๆ แล้วอาจเป็นปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาก็ได้ ซึ่งถ้าเภสัชกรเราช่วยกันดูแลจริงจังก็จะช่วยลดปัญหาในส่วนนี้ได้มาก และผู้ป่วยก็จะใช้ยาได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัยมากขึ้น มีประสิทธิภาพตามที่แพทย์ต้องการมากขึ้น สิ่งนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของเภสัชกรจะต้องทำให้สำเร็จ เพื่อจะได้ช่วยผู้ป่วยร่วมกับวิชาชีพอื่น ๆ

            สำหรับสาเหตุที่ตัดสินใจสมัครเข้ามาทำงานในสภาเภสัชกรรมนั้น ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวว่า เนื่องจากส่วนหนึ่งมองเห็นว่าวิชาชีพยังมีปัญหามาก มีอะไรต้องทำอีกมาก หากเราช่วยอะไรได้ก็คงต้องเข้ามาช่วยกัน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนของเภสัชกร เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะออกไปทำงานหลากหลายสาขามาก การที่ทุกคนจะมีจุดร่วมเดียวกันจึงค่อนข้างยาก ผมจึงอยากมาทำในเรื่องเหล่านี้ให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการสร้างความเข้าใจชัดเจนในจุดร่วมของเภสัชกร โดยผมจะบอกกับสมาชิกเสมอว่า การที่เภสัชกรทำงานได้หลายด้านมากไปอาจเป็นจุดอ่อนอันหนึ่งทำให้เราขาดความเชี่ยวชาญ แต่ทั้งนี้เราก็มีจุดแข็งคือ เภสัชกรเราเรียนครอบคลุมและได้ทำงานในเกือบทุกส่วนของระบบยา ถ้าเภสัชกรแต่ละสาขาแต่ละระดับทำงานประสานร่วมกันได้ดีทั้งสาย ความเข้มแข็งของวิชาชีพก็จะชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะสามารถช่วยเสริมกันได้ ถ้าทุกคนมีวิสัยทัศน์ของความเป็นวิชาชีพร่วมกันว่าเป้าหมายอยู่ตรงไหน คือถ้าอยู่ที่ประชาชนต้องปลอดภัยจากการใช้ยา ทุกคนก็จะมุ่งไปที่ทิศทางเดียวกัน

            “ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะปัจจุบันเรื่องยาเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับทุกคน และจะเกิดปัญหากับใครเมื่อไรก็ไม่ทราบได้ แม้ว่าจะเป็นยาชนิดเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเกิดปัญหากับทุกคน ดังนั้น จึงต้องมีความเข้าใจ และทำงานร่วมกัน จากตรงจุดนี้ทำให้ผมมองว่าถ้าผมสามารถช่วยวิชาชีพอะไรได้บ้างก็ควรเข้าไปช่วย ไม่ใช่อยู่เฉย ๆ แล้วคอยวิจารณ์ จริง ๆ หากผมอยู่เฉย ๆ ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอาจจะสบายกว่า แต่ผมก็ตัดสินใจสมัครเข้ามาทำงาน และผมก็ยอมรับว่าสมาชิกคงคาดหวังกับสภาเภสัชกรรมมาก ซึ่งก็คงต้องพยายามตอบสนองตามความคาดหวังอย่างเต็มที่ตามข้อเท็จจริงเท่าที่จะทำได้”

            ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวถึงความตั้งใจที่อยากทำให้เกิดขึ้นเป็นอันดับแรกด้วยว่า เนื่องจากวิชาชีพเภสัชกรรมสามารถทำงานได้ในหลายส่วนและเราก็มีหลายองค์กรวิชาชีพ ผมต้องการประสานกลุ่มสมาคม องค์กรวิชาชีพทั้งหมดให้มีความเข้าใจร่วมกันว่าภาพใหญ่ของวิชาชีพทั้งหมดควรเป็นอย่างไร ใครจะมีบทบาทหลักในเรื่องไหน คือไม่ใช่ทุกเรื่องต้องเป็นหน้าที่สภาเภสัชกรรม เพราะจริง ๆ ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรมนั้น กฎหมายต้องการให้จัดตั้งสภาเภสัชกรรมเพื่อกำกับการประกอบวิชาชีพเท่านั้น ไม่ได้ต้องการให้สภาเภสัชกรรมต้องเป็นผู้นำทุกเรื่อง เราจึงต้องร่วมมือกันเพื่อแบ่งปันหน้าที่ เช่น ในเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพของแต่ละสาขา สมาคมจะเป็นผู้ดูแลได้หรือไม่ โดยสภาเภสัชกรรมจะเป็นผู้ดูแลในภาพใหญ่ แต่ถ้าเป็นในเรื่องของการศึกษาก็ให้สถาบันการศึกษาเป็นตัวหลัก ไม่ใช่สภาเภสัชกรรมเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงองค์กรเดียว ทั้งนี้เนื่องจากการทำงาน สภาเภสัชกรรมเป็นระบบหมุนเวียนตามวาระ ผมจึงอยากให้ทุกองค์กรสมาคมวิชาชีพมีความเข้มแข็งและทำงานไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่าสภาเภสัชกรรมต้องเป็นผู้นำอย่างเดียว ควรจะนำร่วมกัน ผมมองว่าวิชาชีพจะไปได้ถ้าทุกองค์กรสมาคมร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในการพัฒนาตัวเองในทุกองค์กร แล้วมันก็จะมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงภาพรวมของวิชาชีพ โดยมีเป้าหมายว่าวิชาชีพต้องสร้างประโยชน์ให้สังคม ประชาชน อยากให้มีความชัดเจนตรงนี้ร่วมกัน

            “จริง ๆ แล้วภารกิจหลักตามพระราชบัญญัติเน้นให้เราเป็นองค์กรที่ต้อง “กำกับดูแลการประกอบวิชาชีพเพื่อความปลอดภัยของประชาชน” ดังนั้น สภาเภสัชกรรมจึงมีหน้าที่ดูแลการประกอบวิชาชีพว่ามีปัญหาอะไร อย่างไรหรือไม่ เมื่อมีคนร้องเรียนเภสัชกรว่าทำไม่ถูกต้องเข้ามา เราก็ต้องพิจารณาตรงนี้ สภาเภสัชกรรมอาจจะมีการชี้นำในบางเรื่อง เช่น เรื่องมาตรฐานหรือสมรรถนะผู้ประกอบวิชาชีพควรเป็นเช่นไร แต่ภายใต้การพัฒนาต้องการความร่วมมือจากทางองค์กร สมาคมวิชาชีพที่จะต้องช่วยพัฒนาสมาชิกของตนให้มีความเข้มแข็ง มีมาตรฐานและจริยธรรมตามที่กำหนดด้วย”

            ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวต่อว่า นอกจากการสร้างความเข้มแข็งโดยการทำงานร่วมกัน ขณะนี้เรากำลังมีการปรับกระบวนการในการจัดการศึกษาเภสัชศาสตร์ ทั้งนี้เราได้พูดคุยกับคณะเภสัชศาสตร์แต่ละสถาบันว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในสมรรถนะของเภสัชกร เนื่องจากเป้าหมายใหม่เราต้องการเน้นให้เภสัชกรที่มีสมรรถนะและทักษะที่ชัดเจน ทั้งนี้ก็เพราะในหลักสูตรเดิมหลักสูตร 5 ปี ต้องยอมรับว่าเรายังฝึกทักษะได้ไม่เพียงพอทำให้ต้องขยายเพิ่มอีกหนึ่งปี และปรับให้มีความชำนาญเฉพาะสาขามากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการปรับหลักสูตรการศึกษา ปรับกระบวนการเรียนการสอน เพื่อมุ่งเน้นที่ทักษะของเภสัชกรในแต่ละสาขาที่ชัดเจนมากขึ้น และจะต้องจัดระบบว่าทำอย่างไรที่จะมั่นใจได้ว่านิสิต นักศึกษามีทักษะจริง เป็นประเด็นสำคัญเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเด็กที่จบจากคณะเภสัชศาสตร์แล้ว มีทักษะสามารถทำงานได้อย่างที่คาดหวัง

            “สิ่งที่ยากที่สุดของสภาเภสัชกรรมขณะนี้คือ การสร้างความเข้าใจของทุกสาขาให้ตรงกัน ซึ่งตอนนี้เราก็พยายามรณรงค์เรื่องการสร้างวิสัยทัศน์วิชาชีพ โดยในปีนี้เป็นวาระครบรอบ 100 ปีของวิชาชีพพอดี ตอนนี้เรามีคณะทำงานที่จะวางวิสัยทัศน์ทำยุทธศาสตร์ของวิชาชีพใน 100 ปี ต่อไปว่าจะเดินไปอย่างไรในภาพรวม โดยมองความเป็นวิชาชีพไม่ใช่แค่เฉพาะในประเด็นของสาขาตัวเอง ซึ่งคาดว่าในปลายปีนี้จะมีการจัดงานสมัชชาครบ 100 ปี ของวิชาชีพเภสัชกรรม”

            อย่างไรก็ตาม การที่ต้องดูแลรับผิดชอบภาพรวมของสมาชิกในหมู่กว้าง ถ้าจะถาม ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ ว่า เคยคิดถอดใจหรือไม่ ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวว่าผมไม่เคยคิดถอดใจ เนื่องจากโดยส่วนตัวผมเป็นคนชอบแก้ปัญหา เพราะผมเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างสามารถหาทางออกที่เหมาะสมได้ แต่สิ่งที่อาจจะทำให้รู้สึกเบื่อบ้างก็จะเป็นเรื่องที่บางครั้งสมาชิกหรือแม้แต่กรรมการเองในบางครั้งนำเสนอประเด็นตามอารมณ์ความรู้สึก ตามความต้องการของตนเอง โดยไม่ได้ศึกษาหรือทราบข้อเท็จจริงที่ถ่องแท้ ก็จะเป็นประเด็นที่อาจถกเถียงกันให้เสร็จสิ้นได้ยาก เพราะถ้าทุกอย่างมีกระบวนการคิดที่มีเหตุผล ผมเชื่อว่าทุกปัญหามีทางออก ดังนั้น เวลาที่เจอปัญหา ผมจะคิดเสมอว่าทุกปัญหาต้องมีทางออกที่เราต้องหา โดยต้องหาเหตุผลที่ชัดเจน พิจารณาให้รอบด้าน หาข้อสรุปให้ได้ เพราะถ้ามีปัญหาแล้วหาข้อสรุปไม่ได้ แสดงว่าเราถึงทางตัน แม้บางครั้งข้อเสนอที่ได้จะดีหรือไม่ แต่ถ้าเราพยายามพิจารณาอย่างรอบด้านที่สุดแล้ว ก็ต้องยอมรับว่าน่าจะเป็นทางออกที่คิดว่าดีที่สุดในสถานการณ์นั้น ๆ หากสถานการณ์เปลี่ยนไปทางออกก็อาจมีมากขึ้น อันนี้ผมถือว่าถ้าได้ทำเต็มที่ตามหน้าที่ ส่วนผลที่ออกมาจะสำเร็จหรือไม่เพียงใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องช่วยกันปรับแก้ต่อไป เนื่องจากในข้อเท็จจริงเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้ทั้งหมด และหลายเรื่องที่เป็นเรื่องการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมก็มีกฎหมายอื่น ๆ กำหนดทิศทางและแนวทางไว้ หรือบางอย่างปฏิบัติกันมาจนเป็นบรรทัดฐานแม้ไม่ถูกต้อง ประกอบกับในส่วนของแวดวงสาธารณสุขก็มีสายวิชาชีพอื่นด้วย เราจึงต้องเข้าใจสถานการณ์ของปัญหาว่าปัญหาคืออะไร และหาสาเหตุจริง ๆ มาจากไหน ข้อจำกัดที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจสภาเภสัชกรรมมีอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น หลายคนคิดว่าทำไมวิชาชีพเภสัชกรรมจึงยังไม่โดดเด่น ก็ต้องมาดูสาเหตุว่าเพราะอะไร ถ้าเราคิดว่าทำงานมากจริง แต่ทำไมคนอื่นไม่เห็น ไม่เข้าใจ ก็อาจมีสาเหตุมาจากเราไม่สื่อสาร ไม่แสดงออก หรือไม่เป็นมาตรฐานหรือไม่ เราก็ต้องมาช่วยกันปรับปรุงเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจน ไม่ใช่เอาแต่เรียกร้องให้คนอื่นยอมรับโดยที่เขาไม่เข้าใจ มันไม่ใช่เรื่องง่าย และถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วก็จะไม่มีทางออก ไม่มีทางบรรลุสิ่งที่เราคาดหวังได้

ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ ยังกล่าวถึงมุมมองปัญหาเกี่ยวกับวิชาชีพเภสัชกรรมว่า สำหรับประเทศไทยปัญหาที่ค่อนข้างชัดเจนจะเป็นเรื่องของเภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในร้านยาตามที่กำหนด หรือที่เภสัชกรเรียกกันว่าปัญหาแขวนป้าย ประเด็นนี้ผมถือว่าเป็นเรื่องรุนแรงของวิชาชีพ เพราะสังคมก็คงคาดหวังให้ว่าจะมีเภสัชกรคอยให้บริการและให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับเรื่องยาอยู่ประจำร้าน ซึ่งถ้าเภสัชกรไม่อยู่ก็เหมือนกับเป็นความไม่รับผิดชอบในการประกอบวิชาชีพตามหน้าที่ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รุนแรงที่สุด เพราะสิ่งที่กฎหมายและสังคมยอมรับคือ เภสัชกรรมเป็นการประกอบวิชาชีพ แล้วตัวเราหากไม่รับผิดชอบต่อการประกอบวิชาชีพแล้ว สังคมจะได้อะไรจากตัวเภสัชกร และเราก็เกิดภาพตรงนี้มาก ก็เป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้สังคมยังไม่เห็นความสำคัญของวิชาชีพเภสัชกรรมเท่าที่ควร ทั้งนี้สภาเภสัชกรรมเองก็มีความเข้มงวดในเรื่องนี้ แต่เราก็ไม่สามารถไปตามตรวจทุกร้านได้ เพราะสภาเภสัชกรรมมีข้อจำกัดเรื่องกำลังเจ้าหน้าที่ และร้านยาเองก็มี 2 ส่วน ตัวสถานประกอบการร้านยาถือเป็นความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ไม่ใช่ของสภาเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรมรับผิดชอบเฉพาะในส่วนของตัวผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม บางครั้งสมาชิกไม่เข้าใจ โดยในส่วนของสภาเภสัชกรรมเองได้มีการรณรงค์หรือมีการกระตุ้นในเรื่องนี้ เราก็ทำเรื่องนี้มานาน โดยพยายามกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกในการประกอบวิชาชีพ นอกจากนี้เราก็ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเกี่ยวกับการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ด้วยการเชิญสมาคม องค์กรวิชาชีพทุกแห่ง เพื่อหารือและทำความตกลงร่วมกันเพื่อดูแลสมาชิกของตนและร่วมแก้ไขปัญหานี้ เนื่องจากเราอยากให้เภสัชกรอยู่ประจำร้านยาเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และรับประโยชน์จากการดูแลของเภสัชกรอย่างเต็มที่ เรามีการรณรงค์ในส่วนนี้ รวมถึงมีการลงโทษด้วยมาตรการที่รุนแรงด้วยการพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วย สำหรับมุมมองของเภสัชกรที่มีต่อสภาเภสัชกรรมนั้น ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวว่า มีทั้งบวกและลบ แต่ส่วนใหญ่คิดว่าคงค่อนไปทางลบ เนื่องจากวิชาชีพมีปัญหามาก สมาชิกก็จะมีความคาดหวังต่อสภาเภสัชกรรมมาก สิ่งนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนสามารถมีความคิดและความคาดหวังนี้ได้ แต่ก็ต้องพร้อมที่จะร่วมมือกับสภาเภสัชกรรมด้วยในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากปัญหาสมาชิกไม่ได้รับข่าวสารความเคลื่อนไหวที่ถูกต้องจากสภาเภสัชกรรมด้วย ขณะนี้สภาเภสัชกรรมก็จะเพิ่มความพยายามที่จะสื่อสารกับสมาชิกให้มากขึ้น ซึ่งทุกคนสามารถวิจารณ์สภาเภสัชกรรมได้ แต่ขณะที่วิจารณ์ก็อยากให้ช่วยมองด้วยว่าตัวเองจะช่วยทำอะไรบ้าง ถ้ามัวแต่เรียกร้องโดยไม่ทำอะไรเลย ก็ไม่มีคุณค่าอะไร เพราะไม่เกิดการปฏิบัติอะไรขึ้นมา หรือไม่เช่นนั้นเขาควรเข้ามาทำด้วยตัวเอง จะได้ทราบข้อเท็จจริง เพราะสิ่งที่สภาเภสัชกรรมทำอยู่ก็ไม่ใช่ว่ามีคนอยากเข้ามาทำมากมาย อาจดูว่าได้เป็นกรรมการสภาเภสัชกรรมมีเกียรติ มีอำนาจ มีเงินเดือน แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่อย่างนั้น หากเราเข้ามาเป็นกรรมการจะทราบว่าเป็นงานจิตอาสา ไม่ได้มีเงินเดือนค่าตอบแทนการเป็นกรรมการใด ๆ นอกจากค่าเบี้ยประชุมครั้งละ 800 บาทเท่านั้น ไม่ได้เป็นหมื่นเป็นแสนเหมือนองค์กรอิสระทั้งหลายที่แย่งกันเข้าไปเป็นกรรมการ แต่เราต้องแบกภาระความคาดหวังของสมาชิก ซึ่งบางอย่างอาจจะเป็นการคาดหวังที่เกินบทบาทภารกิจและอำนาจของสภาเภสัชกรรม ยกตัวอย่างเช่น สภาเภสัชกรรมเคยเข้าไปตรวจสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พบว่ามีการปลอม และได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ แต่ทางตำรวจบอกว่าสภาเภสัชกรรมไม่ใช่ผู้เสียหาย ในกรณีนี้ไม่ยอมรับคำร้องทุกข์ หรืออย่างเช่นสมาชิกตั้งคำถามเสมอว่า ทำไมสภาเภสัชกรรมไม่ดำเนินการตรวจจับร้านยาที่ไม่มีเภสัชกร แทนที่จะมัวแต่เพ่งเล็งร้านยาของเภสัชกร ข้อเท็จจริงตามกฎหมายเรื่องร้านยาที่เป็นสถานประกอบการเป็นอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สภาเภสัชกรรมเรามีอำนาจเฉพาะตัวผู้ประกอบวิชาชีพว่ามาปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนด และทำตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ อย่างไร เท่านั้น ไม่มีอำนาจไปจัดการร้านยาหรือคนอื่นที่ไม่ใช่เภสัชกร เป็นต้น แต่เรื่องเหล่านี้สภาเภสัชกรรมก็พยายามประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อยู่ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจอะไร ในส่วนนี้บางครั้งสมาชิกไม่เข้าใจก็จะมองว่าสภาเภสัชกรรมไม่ทำอะไร เมื่อถูกว่ามาก ๆ บางครั้งกรรมการก็จะรู้สึกเบื่อ และอยากให้มาลองเป็นกรรมการทำกันเองบ้าง เพราะในบางครั้งถ้าหากเราทำเกินบทบาท อำนาจหน้าที่ก็จะถูกฟ้องร้องกลับได้เช่นกัน ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่พยายามสร้างความเข้าใจกับสมาชิกว่าส่วนใดสภาเภสัชกรรมทำได้แต่ไม่ทำ ส่วนใดที่สภาเภสัชกรรมไม่มีอำนาจแต่กลับทำ อยากให้พวกเรามีข้อเสนออย่างสร้างสรรค์  โดยต้องเข้าใจข้อเท็จจริงก่อน เพราะทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์ ความรู้สึก และมีงานประจำของตนเองที่ต้องแบกรับอยู่ตลอดเวลาอยู่ด้วย ไม่ได้มาทำงานเฉพาะในฐานะกรรมการสภาเภสัชกรรม เพียงแต่เรามีประสบการณ์ อยู่ในจุดที่ต้องรับรู้และแก้ปัญหามากกว่า ซึ่งเราก็คาดหวังว่าถ้าสมาชิกของเราทุกคนรับรู้ประเด็นข้อกฎหมายเหมือนกันปัญหาก็อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง หรืออาจจะมีทิศทางที่ดีขึ้นที่จะช่วยกันนำเสนอจุดอ่อนและจุดแข็งของวิชาชีพได้ชัดเจนมากขึ้น

“จริง ๆ แล้วผมไม่ได้คิดอยากเป็นนายกสภาเภสัชกรรมเลย เพราะผมรู้ว่าตัวผมเองถนัดในแง่ที่จะเป็นคนช่วยเหลือสนับสนุน และชอบที่จะคิดวางแผนการแก้ปัญหามากกว่าที่จะต้องคอยมาเป็นผู้นำสูงสุด จะเห็นได้จากการที่ผมอยู่ในสภาเภสัชกรรมมาทุกสมัยรวม 20 ปี ผมพอใจกับการที่รับตำแหน่งรองเลขาธิการ เลขาธิการ และอุปนายกสภาเภสัชกรรมมากกว่า แต่เมื่อคณะกรรมการไว้วางใจก็ต้องช่วยทำ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่ากรรมการสภาเภสัชกรรมทุกคนต่างมีงานประจำของตัวเอง งานที่ทำในสภาเภสัชกรรมนี้เป็นงานอาสา ทุกคนไม่ได้รับผลประโยชน์อะไร บางครั้งเมื่อทำงานออกมาสำเร็จอาจจะมีสมาชิกที่ไม่พอใจ เพราะต้องการมากกว่านั้น บางครั้งงานประจำรัดตัวก็ให้เวลากับสภาเภสัชกรรมน้อย แต่เชื่อมั่นว่ากรรมการทุกท่านตั้งใจมาช่วยงานของวิชาชีพ  ซึ่งถ้าสมาชิกเข้าใจก็จะทำให้สภาเภสัชกรรมและสมาชิกเดินไปด้วยกันได้ดีขึ้น ไม่ใช่ต้านกันอย่างเดียว เพราะถ้าต้านอย่างเดียวก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องปล่อยไป ไม่เช่นนั้นแล้วกรรมการก็จะหมดกำลังใจในการทำงานกันไปเหมือนกัน”

            ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวถึงคติในการทำงานให้ฟังว่า คติการทำงานของผมคือ จริงจังกับจริงใจ โดยทุกเรื่องเราต้องจริงจังกับมัน และจริงใจที่จะทำ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เปิดกว้างไม่มีอะไรแอบแฝง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผมพยายามให้ทุกคนมาช่วยกันทำ เนื่องจากผมมองว่าวิชาชีพเป็นเรื่องของทุกคน ดังนั้น จะพยายามให้กรรมการทุกคนได้ช่วยกันรับผิดชอบอนุกรรมการแต่ละคณะ เพียงแต่ทุกท่านจะมีเวลามากน้อยเพียงใดในการช่วยทำงานของสภานี้ และในเชิงวิชาชีพหากผู้ประกอบวิชาชีพไม่เข้มแข็ง กรรมการสภาเภสัชกรรมก็คงไม่สามารถทำให้วิชาชีพเข้มแข็งได้ฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นในส่วนของวิชาชีพ ถ้าบอกว่าทุกอย่างอยู่ที่กรรมการแสดงว่าวิชาชีพนั้นไม่เข้มแข็ง ผู้ประกอบวิชาชีพไม่สามารถสร้างให้สังคมยอมรับจึงมุ่งหวังในการประกอบวิชาชีพ ก็เป็นไปไม่ได้ที่กรรมการจะบอกแล้วประชาชนทุกคนจะยอมรับในวิชาชีพเราเลย สิ่งนี้เป็นประเด็นที่ทุกคนต้องเข้าใจถึงที่มาที่ไปให้ได้ถึงจะช่วยกันแก้ปัญหาได้ถูกต้อง

            สุดท้ายนี้ ภก.รศ.(พิเศษ) กิตติ กล่าวฝากถึงเภสัชกรทุกคนว่า ผมมองว่าช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวิชาชีพที่จะต้องพยายามแสดงบทบาทว่าเราให้ประโยชน์อะไรกับสังคม กับทุกสาขาวิชาชีพให้ชัดเจน และถ้าทำได้ชัดเจน สิ่งที่เราคาดหวังว่าทุกคนจะยอมรับวิชาชีพเราก็จะเป็นไปได้ในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะวิชาชีพเภสัชกรรมเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญโดยพื้นฐานอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องทำให้สังคมได้ตระหนักชัดถึงบทบาทหน้าที่ของเภสัชกร เนื่องจากที่ผ่านมาต้องยอมรับว่างานทางด้านเภสัชกรรมจะชอบทำอยู่เบื้องหลังตลอด ทำให้คนอื่นไม่เข้าใจ ไม่เห็นความสำคัญ จากจุดพวกนี้ถ้าเราสามารถแสดงหรือทำอะไรที่แสดงผลลัพธ์ของประชาชนและสังคม ผมเชื่อว่าวิชาชีพเภสัชกรรมเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญและโดดเด่นได้ ก็คงต้องขอความร่วมมือจากสมาชิกสภาเภสัชกรรมทุกท่านร่วมกันผลักดันและพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมกันต่อไปนะครับ