“สารสกัดขมิ้นชัน” สมุนไพรเก่ากับทางเลือกใหม่
สำหรับผู้ป่วยข้อเข่าอักเสบ
ขมิ้นชันสีเหลืองทอง สมุนไพรคู่บ้านคู่เมืองของไทยเรา เปี่ยมล้นไปด้วยคุณประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปรุงรสในตำราอาหาร และการใช้เพื่อดูแลความสวยความงามของผิวพรรณ อีกทั้งยังเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา ช่วยบำรุง ยับยั้ง และบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ เช่น อาการปวดท้อง ท้องอืด จุกเสียด ไอ หืด ช่วยขับน้ำนมสตรีหลังคลอดบุตร เพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย และบรรเทาอาการอักเสบ
ล่าสุด ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์การเภสัชกรรม ได้จัด Luncheon Symposium ในหัวข้อ “สารสกัดขมิ้นชันกับการต้านอาการอักเสบในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม” ตอกย้ำภาพลักษณ์ของสมุนไพรไทยอันทรงประสิทธิภาพที่มากด้วยสรรพคุณทางยาในแบบฉบับของตำรับยาไทย
ภญ.ดร.ชฎา พิศาลพงศ์ ผู้อำนวยการกองผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ฝ่ายเภสัช-เคมีภัณฑ์ กล่าวว่า “การวิจัยสารสกัดจากขมิ้นชันเริ่มจากการหาและคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพดีที่มีสารสำคัญคือ สารเคอร์คูมินอยด์ ในปริมาณมากเพื่อนำมาผลิตเป็นสารสกัด โดยเราต้องเดินทางไปถึงแหล่งที่ปลูกขมิ้นชันเพื่อดูว่ามีวิธีการปลูกอย่างไร มีการใช้สารเคมีในการปลูกหรือไม่ พร้อมทั้งตรวจสารเคมีเจือปน โดยปกติจะใช้หัวขมิ้นชันที่มีคุณภาพดีจะมีอายุประมาณ 9-10 เดือนขึ้นไป ส่วนขมิ้นชันจากแหล่งที่องค์การเภสัชกรรมนำมาใช้คือ ขมิ้นชันจากจังหวัดกาญจนบุรี”
สำหรับการควบคุมคุณภาพนั้นเริ่มตั้งแต่เรื่องของการคัดเลือกวัตถุดิบที่ดีและมีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดนำเข้าสู่กระบวนการสกัดภายใต้อุณหภูมิไม่สูงมากเพื่อไม่ให้สารสำคัญสลายตัว ทำให้ได้สารสกัดเข้มข้นที่มีเคอร์คูมินอยด์ในปริมาณมากและปลอดภัยในการนำไปใช้ สารสกัดที่ได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยด้วยการทดสอบในสัตว์ทดลอง ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากนั้นจึงนำมาทดลองในคนพบว่ามีความปลอดภัยเช่นเดียวกัน จึงนำสารสกัดที่ได้มาผลิตเป็น “แคปซูลสารสกัดขมิ้นชัน”
ภญ.ดร.ชฎา กล่าวอีกว่า “ผงขมิ้นชันบรรจุแคปซูลที่มีขายทั่วไปนั้น ถ้าเป็นแคปซูลขนาด 250 mg จะมีสารเคอร์คูมินอยด์อยู่ประมาณ 5% หรือ 12.5 มิลลิกรัมขึ้นไปซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย แต่สำหรับแคปซูลสารสกัดขมิ้นชันที่องค์การเภสัชกรรมผลิตขึ้นจะมีสารเคอร์คูมินอยด์ในปริมาณ 250 มิลลิกรัม/แคปซูล ซึ่งมากกว่าแคปซูลขมิ้นชันทั่วไปถึงประมาณ 20 เท่า ซึ่งถ้าต้องการผลในการใช้จากสารเคอร์คูมินอยด์ก็ควรใช้แคปซูลสารสกัดขมิ้นชัน นอกจากนี้องค์การเภสัชกรรมยังได้ร่วมมือกับทีมแพทย์และทีมวิจัยจากหลายโรงพยาบาลในการวิจัยสารสกัดแคปซูลขมิ้นชันเพื่อใช้รักษาโรคต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในงานวิจัยที่มีความน่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ เรื่องฤทธิ์การต้านการอักเสบในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม”
ด้าน รศ.พญ.วิไล คุปต์นิรัติศัยกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า “ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาประสิทธิผล รวมทั้งผลข้างเคียงของสารสกัดขมิ้นชันเทียบกับยาต้านการอักเสบไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากพบว่าเมื่อผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมมีอาการปวดหรืออาการอักเสบจะต้องอาศัยยาต้านการอักเสบเพื่อลดการอักเสบและลดอาการปวด แต่ยังมีผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่สามารถรับประทานยาเหล่านี้ได้ เพราะเมื่อรับประทานยาเข้าไปจะมีผลข้างเคียงจนเกิดอาการแสบท้อง มวนท้อง บางรายถึงขั้นเป็นแผลหรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ทั้งนี้เนื่องจากยาไปกัดทางเดินอาหารและกระเพาะอาหาร พอเป็นแผลก็มีเลือดออก ซึ่งเป็นผลข้างเคียงทางด้านกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยจึงกลัวและกังวลกับการรักษาด้วยการรับประทานยาต้านการอักเสบไอบูโปรเฟนเป็นอย่างมาก”
สำหรับกลุ่มผู้ที่เข้าร่วมงานวิจัยคือ ผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมที่มีอาการปวด 50% ขึ้นไป คือเมื่อวัดจากคะแนนความปวด 0-10 กลุ่มที่เข้าร่วมวิจัยมีคะแนนความปวดอยู่ที่ 5 ขึ้นไป เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มที่คะแนนน้อยกว่านี้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาต้านการอักเสบ โดยผู้ป่วยจะได้รับสารสกัดแคปซูลขมิ้นชันวันละ 8 เม็ด (2 เม็ด 4 เวลา) เฉลี่ยวันละ 2,000 มิลลิกรัม เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาต้านการอักเสบไอบูโปรเฟนวันละ 800 มิลลิกรัมติดต่อกันนาน 6 สัปดาห์ (มีการติดตามผลทุก ๆ 2 สัปดาห์) ซึ่งใช้การศึกษาเป็นระยะเวลานานกว่า 1 ปี รวมแล้วมีผู้ป่วยที่เข้าร่วมงานวิจัยกว่า 100 ราย
จากการศึกษาวิจัยพบว่าเมื่อมีการวัดคะแนนความปวดของคนไข้ทั้ง 2 กลุ่ม โดยวัดจากการเดิน และการขึ้น-ลงบันได เมื่อเวลาผ่านไป 6 สัปดาห์ ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม มีคะแนนความปวดลดลงทั้งคู่เมื่อเปรียบเทียบกับตอนก่อนเข้าร่วมวิจัย ซึ่งก็หมายถึงว่ายาทั้งสองตัวนี้ให้ผลในการลดอาการปวดเหมือนกัน รวมถึงช่วยให้การใช้งานข้อดีขึ้น โดยวัดจากการเดินในแนวราบเป็นระยะทาง 100 เมตร แต่เมื่อมาเปรียบเทียบว่าระหว่างสารสกัดแคปซูลขมิ้นชันกับยาไอบูโปรเฟนตัวไหนช่วยลดอาการปวดและการอักเสบได้มากกว่ากัน ได้แนวโน้มที่ดูเสมือนว่าสารสกัดแคปซูลขมิ้นชันให้ผลดีกว่าไอบูโปรเฟนเล็กน้อย แต่ในทางสถิตินั้นถือว่าไม่มีความแตกต่างแต่อย่างใด
รศ.พญ.วิไล กล่าวต่อว่า “แม้จากการวิจัยจะใช้ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม แต่ถ้าผู้ป่วยมาด้วยอาการปวดหรือการอักเสบที่ข้อต่ออื่น ๆ ของร่างกาย ก็ดูเสมือนว่าน่าจะใช้สารสกัดแคปซูลขมิ้นชันนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ในวงการแพทย์สำหรับยาใหม่ต้องมีหลักฐานเฉพาะโรคก่อนว่ารักษาโรคนั้น ๆ ได้ แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสารสกัดแคปซูลขมิ้นชันอาจใช้เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมที่ต้องการยาต้านการอักเสบ และเป็นกลุ่มที่เกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร ไม่เกี่ยวกับการลดความเสี่ยงต่อการเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยมองว่าจะเริ่มรับประทานสารสกัดแคปซูลขมิ้นชันนี้ตั้งแต่เริ่มมีอาการปวดข้อหรือการอักเสบเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อถือเป็นความคิดที่ผิด เพราะเมื่อเป็นโรคข้อเสื่อมขั้นรุนแรงที่รักษาด้วยการใช้ยาไม่ได้ผล ผู้ป่วยก็ต้องเข้ารับการผ่าตัดอยู่ดี แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยคนไหนสมควรกินหรือไม่ มีข้อห้ามหรือไม่ ควรรับประทานขนาดเท่าไร และรับประทานนานแค่ไหนเพื่อความปลอดภัยก่อนเริ่มรับประทาน ควรปรึกษาแพทย์เสียก่อน เพราะบางครั้งอาการปวดที่ไม่มากนัก การใช้ยากลุ่มต้านการอักเสบทั้งหลายก็อาจไม่จำเป็น”
สารสกัดจากขมิ้นชัน นอกจากจะช่วยต้านอาการอักเสบในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมได้แล้ว ยังมีผลการวิจัยของ ผศ.พญ.สมลักษณ์ จึงสมาน ที่เป็นหลักฐานยืนยันว่าสารสกัดขมิ้นชันสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยารักษา) ได้อีกด้วย ซึ่งจากการศึกษาประสิทธิผลของแคปซูล สารสกัดขมิ้นชันต่อการลดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวและการควบคุมภาวะเมตาบอลิกในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 พบว่าผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับ curcuminoids capsule วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 แคปซูล เป็นเวลา 6 เดือน สามารถลดภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือด และภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับ curcuminoids capsule อย่างชัดเจน