กรมควบคุมโรค ชี้สารรมควันข้าวไม่มีพิษตกค้าง
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวการรมควันข้าวที่เก็บไว้ในโกดัง โดยการใช้สาร 2 ชนิดคือ "เมทิลโบรไมด์" (Methyl bromide) และ "อลูมิเนียมฟอสไฟด์" (Aluminium phosphide) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า "ฟอสฟีน" เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืช รวมถึงการฆ่าแมลง และฆ่าเชื้อราต่าง ๆ นั้น พบว่า การรมควันข้าวที่สมบูรณ์จะต้องเกิดจากกระบวนการของสารรม โดยการบรรจุก๊าซเข้าไปในที่ที่มีการรั่วไหลและสามารถเก็บกักก๊าซนั้น ๆ ไว้ให้ได้ในระยะเวลาที่ต้องการ และเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ส่วนสารรม คือ สารที่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในรูปของไอหรือควัน ซึ่งเมื่ออยู่ในอุณหภูมิและความดันที่เหมาะสมจะอยู่ในสถานะที่เป็นแก๊สและสามารถคงสภาพเป็นแก๊สอยู่ได้ หากความเข้มข้นและเวลาเหมาะสมจะสามารถฆ่าสิ่งมีชีวิตได้
สำหรับสารรมที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันอย่างแพร่หลายคือ เมทิลโบรไมด์ (Methyl bromide) และอลูมิเนียมฟอสไฟด์ (Aluminium phosphide) หรือฟอสฟีน (Phosphine) ส่วนในประเทศไทยก็ใช้สารดังกล่าวมานานมากกว่า 40 ปีแล้ว เมื่อแยกตามชนิดและคุณสมบัติของสารจะพบว่า “เมทิลโบรไมด์” เป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และมีข้อได้เปรียบกว่าสารรมชนิดอื่น ๆ คือ สามารถฆ่าแมลงได้ในทุกระยะของการเจริญเติบโต มีความสามารถในการฟุ้งกระจายและแทรกซึมเข้าไปในสินค้าได้ดี ไม่กัดโลหะเครื่องมือเครื่องใช้ ในขณะเดียวกันก็สามารถระบายสารออกจากกองสินค้าได้เร็วเมื่อสิ้นสุดการรม ที่สำคัญคือ ใช้ระยะเวลาในการรมสั้น และเป็นสารที่ไม่ติดไฟซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงานง่ายขึ้น สามารถสลายตัวภายใน 3 ชั่วโมง ถึง 5 วัน และไม่มีพิษตกค้าง
ส่วน "อลูมิเนียมฟอสไฟด์" หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า "ฟอสฟีน" ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในรูปของสารประกอบฟอสไฟด์ 2 ชนิด คือ อลูมิเนียมฟอสไฟด์ (Aluminium phosphide) และแมกนีเซียมฟอสไฟด์ (Magnesium phosphide) ซึ่งผลิตมาในหลายรูปแบบ สารรมในรูปแบบเม็ดจะสามารถใช้ได้กับการรมผลิตผลเกษตรที่บรรจุกระสอบหรือถุง หรือรมในโรงเก็บ โดยมีลักษณะการกระจายตัวของแก๊สได้อย่างรวดเร็ว ใช้เวลานานในการรมประมาณ 5-7 วัน และทำปฏิกิริยากับโลหะ เช่น ทอง ทองแดง และเงิน เป็นต้น ใช้เวลาในการสลายตัวดีมากประมาณ 5 ชั่วโมง ที่สำคัญคือ ไม่มีพิษตกค้าง