ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช

ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช
ทุกความสำเร็จของชีวิตเกิดจากการวางแผนที่ดี

            ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นด้วยความสนใจด้านการตลาดจึงศึกษาเพิ่มเติมระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยศรีปทุม อีกทั้งได้รับประกาศนียบัตรด้านเศรษฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประกาศนียบัตร Business Management Development Program จาก Singapore Management University (SMU) นอกจากนี้เพื่อเพิ่มพูนความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะจึงเข้าศึกษาที่สถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การบริหารเศรษฐกิจสาธารณะสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 9 และหลักสูตรประกาศนียบัตร
ธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 6 แพทยสภา อีกทั้งได้รับเลือกให้เป็น “เภสัชกรการตลาดดีเด่น” ของสมาคมเภสัชกรการตลาด (ประเทศไทย) ในปี พ.ศ. 2554 และได้รับเลือกเป็น “เภสัชกรดีเด่นสาขาการตลาด” ของเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี พ.ศ. 2558 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการบริหาร กรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เทคโนเมดิคัล จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย (THAIMED)

จาก “ผู้แทนยา” สู่ “เภสัชกรเครื่องมือแพทย์”

            “ในช่วงรอยต่อระหว่างที่เรียนปี 4 ขึ้นปี 5 จะเริ่มมีการฝึกงาน ตอนนั้นผมได้ไปฝึกงานที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลศิริราช และร้านขายยา ระหว่างนั้นก็สำรวจตัวเองตลอดเพื่อเป็นทางเลือกว่างานด้านนี้เหมาะสมกับตัวเราหรือไม่ ขณะเดียวกันบริษัทยาเริ่มมีนโยบายเปิดโอกาสให้นักศึกษาเภสัชกรที่กำลังศึกษาอยู่เป็นตัวแทนในการลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของคลินิก ซึ่งตอนนั้นผมใช้เวลาช่วงเย็นหลังเลิกเรียนในการลงพื้นที่ทำงาน ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมันตอบโจทย์ทางเลือกที่เหมาะสมกับสิ่งที่เราชอบ” ภก.ปรีชา เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเลือกสายงาน

            “เภสัชศาสตร์” มาจากคำว่า “เภสัช” ซึ่งแปลว่า ยา และ “ศาสตร์” ซึ่งแปลว่า ความรู้ ดังนั้น จึงหมายถึงความรู้ในเรื่องยาหรือการศึกษาเกี่ยวกับยา ปัจจุบันขอบเขตของการศึกษาเภสัชศาสตร์นั้นครอบคลุมทั้งเรื่องยา เครื่องสำอาง อาหารเสริม สารพิษ สารเสพติด และสารออกฤทธิ์ต่าง ๆ ที่มีผลต่อร่างกายของมนุษย์ สาขาของเภสัชศาสตร์ประกอบด้วย 1. กลุ่มวิชาบริบาลเภสัชกรรม (Pharmaceutical Care) ได้แก่ สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิกและเภสัชกรรมโรงพยาบาล สาขาวิชาเภสัชกรรมชุมชน สาขาวิชาเภสัชสาธารณสุข  2. กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม (Pharmaceutical Science) ได้แก่ สาขาวิชาเภสัชเวท สาขาวิชาเภสัชเคมี สาขาวิชาเภสัชวิเคราะห์ สาขาวิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม  3. กลุ่มวิชาเภสัชกรรมสังคม (Social Pharmacy) ได้แก่ สาขาวิชาการบริหารเภสัชกิจ สาขาวิชานิติเภสัชศาสตร์ และ 4. กลุ่มวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยา (Pharmacology and Toxicology) ได้แก่ เภสัชวิทยา พิษวิทยา ชีวเภสัชศาสตร์

            ภก.ปรีชา เล่าถึงประสบการณ์การทำงานด้านผู้แทนยาว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2529 หลังจากเรียนจบก็เลือกสมัครงานตำแหน่ง “ผู้แทนยา” ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลด้านยาแก่แพทย์เพื่อประกอบการสั่งใช้ยา โดยเป็นตัวแทนจากบริษัทยา ซึ่งตอนนั้นมีบริษัทยาเปิดรับเภสัชกรจบใหม่เข้าร่วมงานพร้อม ๆ กันทั้งหมด 4 บริษัท และถือเป็นโชคดีที่มีโอกาสได้เลือกบริษัทยาด้วยตนเอง ตอนนั้นเลือกเข้าทำงานครั้งแรกที่บริษัท แอสตร้า ไทยแลนด์ (ชื่อบริษัทขณะนั้น) ซึ่งตัดสินใจเลือกเป็นผู้แทนยาในพื้นที่เขตต่างจังหวัด โดยเริ่มตั้งแต่รับผิดชอบพื้นที่เขตภาคอีสานใต้ และขยายพื้นที่เขตการทำงานไปเรื่อย ๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ เติบโตในสายงานตั้งแต่ผู้แทนยา Sale Supervisor และ Sale Manager พื้นที่เขตต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ

            “การทำงานเป็นผู้แทนยาในพื้นที่เขตต่างจังหวัดทำให้ผมเกิดการเรียนรู้การใช้ชีวิตและการดูแลตัวเอง รู้จักการวางแผนการทำงานเพื่อแข่งขันกับเวลา การวางเป้าหมายในการทำงานแต่ละวัน แต่ละเดือน และเป้าหมายของปีนั้น ๆ การทำงานต่างจังหวัดต้องวางแผนแข่งกับเวลา ระยะทางระหว่างจังหวัด มีการนัดหมาย มีการเยี่ยมเยือนลูกค้า ทุก ๆ วันต้องมีการวางแผน”

            จนกระทั่งภาครัฐเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการกำหนดราคากลางสำหรับการสั่งซื้อยา อัตราการแข่งขันระหว่างบริษัทยาเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในขณะเดียวกันก็เริ่มสังเกตเห็นว่าตลาดของอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ต่าง ๆ เช่น น้ำยาตรวจเอดส์ อุปกรณ์ตรวจการตั้งครรภ์ เครื่องวัดความดัน ยังสามารถเติบโตได้โดยไม่ได้รับผลกระทบ จึงเริ่มจุดประกายให้เกิดความท้าทายในการเริ่มทำงานด้านเครื่องมือแพทย์ โดยเภสัชกรเครื่องมือแพทย์จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่เรียนรู้และอบรมการใช้งาน การอ่านค่าตลอดจนการแปลผลของอุปกรณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ชิ้นนั้น ๆ

            “ร้านขายยานั้นมีอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์อยู่มากมาย เช่น ถุงยางอนามัย ชุดตรวจการตั้งครรภ์ อุปกรณ์ซัพพอร์ตและพยุงกล้ามเนื้อ รถเข็น ไม้เท้า ไม้พยุง ที่รองปัสสาวะ ปรอทวัดไข้ ถังออกซิเจน ฯลฯ เภสัชกรจึงมีความจำเป็นต้องเรียนรู้การใช้งาน การอ่านค่า การแปลผล เพื่อให้ประชาชนได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งาน”

“เภสัชกรไทย” ผู้ประสบความสำเร็จใน “บริษัทข้ามชาติ”

         “เหนื่อย ท้อ กลัว เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับทุกคน ย้อนกลับมามองข้อเท็จจริง ถ้าเราไม่ผัดวันประกันพรุ่ง วางแผนการทำงานเป็นระบบ ทุกเรื่องย่อมประสบความสำเร็จ...”

ปี พ.ศ. 2543 เป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมงานกับ Multinational Company คือ Edwards Lifesciences Corp ซึ่งเป็นบริษัทด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา เป็นผู้สร้างเทคโนโลยีนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์สำหรับการรักษาโรคหัวใจ โดยเริ่มตั้งแต่ตำแหน่ง Thailand Country Manager ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับโอกาสทั้งด้านการบริหาร ด้านการพัฒนาการตลาด ดูแลตั้งแต่ภายในประเทศไทยจนได้รับความไว้วางใจให้ดูแลด้านการตลาดเพิ่มมาอีก 5 ประเทศ คือ กลุ่ม Indo-China ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ได้ร่วมงานกับ Edwards Lifesciences Corp จนสามารถก้าวขึ้นถึงตำแหน่ง South East Asia Country Manager ดูแลครอบคลุมพื้นที่ 11 ประเทศในอาเซียนและเกาะกวม ซึ่งมีโรงงานและสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ การทำงานทุกอย่างเป็นไปได้ดีตามการวางแผนที่ได้คาดการณ์ไว้ โดยระหว่างที่ทำงานนั้น บริษัทได้มีการแข่งขันระหว่างสาขาต่าง ๆ ทั่วโลก ผลปรากฏว่าประเทศไทยมีผลงานดียอดเยี่ยมตามเป้าหมาย Financial Management มีผลกำไรตามเป้าหมายที่มีการแข่งกัน ตอนนั้นก็ได้รับรางวัล World Cup Awards ด้านการตลาด

            “เมื่อเราประสบความสำเร็จทางธุรกิจ การคืนกำไรสู่สังคมถือเป็นเรื่องสำคัญ ผมมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ Multinational Company และริเริ่มทำโครงการเพื่อการศึกษาโดยการก่อตั้ง Rajavithi Edwards Lifesciences Perfusionist Training Center”

            Rajavithi Edwards Lifesciences Perfusionist Training Center ซึ่งจะเห็นข้อความบนตึกสะอาดได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นตึกทางฝั่งโรงพยาบาลราชวิถี สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากมุมของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลราชวิถี ได้จัดตั้งขึ้น ที่นี่เป็นสถานที่นักปฏิบัติการเครื่องหัวใจและปอดเทียม (Perfusionist) สำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุขแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เป็นที่สำหรับเรียนรู้การผ่าตัดหัวใจด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย มีผู้เข้าร่วมอบรมจากต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานในด้านความรู้ทางด้านการผ่าตัดหัวใจ ยกระดับความรู้ให้บุคลากรทางการแพทย์ไทย การเรียนการสอนนี้ได้รับการรับรองมาตรฐานเดียวกับสหรัฐอเมริกา โดยจำลองสถานการณ์ผ่าตัดจริง ให้ผู้เข้าอบรมได้ฝึกทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งต่อมาก่อนเปลี่ยนมาอบรม ทางด้าน Critical Care ให้แก่พยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยในภาวะวิกฤติ และเปลี่ยนชื่อเป็น Rajavithi- Edwards Lifesciences Critical Care Training Center ที่สำคัญอีกผลงานก็คือ การจัดหลักสูตรถ่ายทอดเทคโนโลยีการผ่าตัดหัวใจของสถาบันโรคทรวงอก ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านศัลยแพทย์ทรวงอกในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ยังฝึกการซ่อมแซมลิ้นหัวใจ (Valve Repair) โดยใช้หัวใจหมูมาทดลอง เป็นที่น่าเสียดายหลังจากหมดยุคที่ผมบริหารแล้ว Training Center ปัจจุบันก็ปิดตัวลง สำหรับเรื่องที่มีความภูมิใจมากที่สุดก็คือ การที่โรงพยาบาลศิริราชสามารถใส่ลิ้นหัวใจเทียมผ่านสายโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่เป็นครั้งแรกของไทย ภก.ปรีชา เล่าถึงประสบการณ์การทำงานในบริษัทข้ามชาติและความภาคภูมิใจในการได้ทำประโยชน์เพื่อประเทศไทย

            “สำหรับเภสัชกรรุ่นน้องทุก ๆ คนที่อยากเติบโตในสายงานนี้ หรืออยากร่วมงานกับบริษัท Multinational สิ่งสำคัญที่ต้องมี คือ 1. ความตรงต่อเวลา  2. ความรับผิดชอบ  3. การให้เกียรติซึ่งกันและกัน”

            ฝากถึงเภสัชกรรุ่นน้องทุก ๆ คน ในชีวิตคนเรานั้นย่อมมีจุดวิกฤติทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่ามองว่าทุกเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอุปสรรคของชีวิต เพราะคนเรานั้นย่อมมีโอกาสที่ดีซ่อนอยู่ในวิกฤตินั้นเสมอ การทำงานใด ๆ ก็ตาม เราต้องรู้จักฝึกฝนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนการทำงาน รับฟังความคิดเห็นประกอบกับข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อการตัดสินใจที่ดี การทำงานเกี่ยวกับ “เภสัชกรเครื่องมือแพทย์” น้อง ๆ จำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นอกจากความทุ่มเทในการฝึกอบรมแล้ว การเรียนรู้เพิ่มเติมถือเป็นเรื่องสำคัญ เช่น การศึกษาคู่มือการใช้งานเพิ่มเติมและการศึกษาตำราต่าง ๆ ที่ต้องนำอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ชิ้นนั้นไปใช้ในงานที่เกี่ยวข้อง เพราะการทำงานของเรานั้นมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชีวิตของผู้ป่วย