สปสช.จับมือองค์กรภาคีเครือข่าย รุกงานป้องกันเอชไอวี มุ่งเป้ายุติเอดส์ ปี 2573
ประเทศไทยมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคม สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐ ยกระดับคุณภาพบริการ เน้นการป้องกันโรคมากกว่ารอให้ป่วยแล้วจึงมารักษา ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะช่วยพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งนี้การแก้ปัญหาเอดส์ต้องแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน รวมถึงการมีนโยบายที่ชัดเจนในการยกระดับคุณภาพการบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขอย่างมีส่วนร่วมระหว่างรัฐและประชาชนมาโดยตลอด
นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้แสดงเจตนารมณ์ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยโรคเอดส์เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี พ.ศ. 2573 ประเทศไทยจะไม่มีเด็กติดเชื้อเอชไอวีเมื่อแรกเกิด ผู้ใหญ่ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ต้องมีจำนวนน้อยกว่า 1,000 รายต่อปี ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัส และจะไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลอันเนื่องมาจากการติดเชื้อเอชไอวี เหนือสิ่งอื่นใดทุกคนต้องมีจิตสำนึกในการระวังป้องกันไม่เพียงแค่โรคเอดส์เท่านั้น ยังรวมถึงโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นด้วย โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ ดังนี้ 1. สังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับโรคเอดส์ 2. ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานจากการควบคุมการระบาดของโรคเป็นการยุติปัญหา 3. เติมเต็มช่องว่างการดำเนินงานในปัจจุบันด้วยวิธีการดำเนินงานที่มีประสิทธิผลสูงขึ้น กำหนดชุดบริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มีความเหมาะสมกับบริบทของกลุ่มประชากรเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ และ 4. ผสมผสานเชื่อมโยงการป้องกันกับการดูแลรักษาเข้าด้วยกัน ให้มีความต่อเนื่องตลอดชีวิต
จากการตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมควบคุมโรค สภากาชาดไทย และองค์กรภาคีและเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ร่วมลงนามความร่วมมือในการดำเนินงาน “ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย” มุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เอดส์ชาติ บรรลุเป้า “ยุติปัญหาเอดส์ ปี 2573” พร้อมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยมีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ผู้แทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคเขตทุกแห่ง องค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เอดส์เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ เพื่อยุติการแพร่กระจายโรค ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ 1. ลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เหลือไม่เกิน 1,000 ราย/ปี 2. ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย และ 3. ลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะลงจากเดิมร้อยละ 90
ในส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้สนับสนุนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์มาอย่างต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2562 รัฐบาลจัดสรรงบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์จำนวน 3,046 ล้านบาท เป็นงบบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 200 ล้านบาท แต่การบรรลุเป้าหมายได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน นำมาสู่การลงนาม “ความร่วมมือในการดำเนินงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย” ครั้งนี้ เพื่อผนึกกำลังร่วมกันให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนงานระดับโลกเพื่อทราบสถานการณ์การติดเชื้อของตนเองตามคำขวัญที่ว่า “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์”
ส่วนการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ปีงบประมาณ 2562 เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจแนวทางดำเนินงานปีนี้ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงาน สะท้อนปัญหาและอุปสรรคสู่การปรับปรุงและพัฒนางานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี พร้อมเชื่อมโยงทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน 3 ประการ คือ ไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่มีการเสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ สู่ความสำเร็จในการยุติปัญหาเอดส์ภายในปี พ.ศ. 2573
ด้าน นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งใประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ให้เข้าถึงการรักษา รวมถึงการป้องกันและลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากรายงานสถานการณ์เอชไอวี ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ ปี พ.ศ. 2559 พบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 6,200 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 17 ราย ความสำเร็จนี้เป็นผลของความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยศูนย์วิจัยโรคเอดส์เป็นหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อน และเพื่อให้การควบคุมและป้องกันเอดส์เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ได้กำหนดเป้าหมายลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้เหลือไม่เกิน 1,000 ราย/ปี
ทั้งนี้แม้ว่าปัจจุบันสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ครอบคลุมทั้งการรักษาและการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีแล้ว แต่เป้าหมายยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์จะเกิดขึ้นได้ต้องมีกระบวนการขับเคลื่อนโดยใช้กลไก “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์” เนื่องจากปัจจุบันยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ยังไม่ทราบสถานการณ์การติดเชื้อของตนเอง เพราะผู้ติดเชื้อระยะแรกส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการและทราบได้โดยการตรวจเลือดเท่านั้น ดังนั้น การตรวจเร็วและรักษาเร็วจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดการแพร่กระจายเชื้อและลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่
นพ.ประพันธ์ กล่าวต่อว่า การลงนามความร่วมมือเพื่อดำเนินงานป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยในครั้งนี้ได้แสดงถึงเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นของหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ส่งผลต่อการร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเอดส์อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น ประกอบกับความเสียสละและทุ่มเทแรงกายแรงใจของคนทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน เชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยประสบผลสำเร็จอีกครั้งเพื่อยุติปัญหาเอดส์ภายในปี พ.ศ. 2573
สำหรับการรณรงค์ป้องกันเพื่อยุติปัญหาเอดส์ให้หมดไปจากประเทศไทย ทั้งนี้ประเทศไทยเคยประสบความสำเร็จและแสดงให้ทั่วโลกเห็นแล้วว่าแม้จะเป็นประเทศที่ประสบปัญหาการระบาดของเอชไอวีในช่วงแรก แต่ก็สามารถยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกสำเร็จเป็นประเทศแรกของเอเชียโดยได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ และได้รับการยกย่องในระดับสูงในการประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 และยังได้ร่วมกับอีก 4 ประเทศแรกของโลกในการที่จะให้เด็กเกิดใหม่ปลอดจากการติดเชื้อเอชไอวี โดยประเทศไทยและประเทศเบลารุสได้รับการรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก ส่วนประเทศมอลโดวาผ่านการรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อซิฟิลิส และประเทศแอลเบเนียผ่านการรับรองการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ซึ่งความสำเร็จของการดำเนินงานในประเทศไทยเกิดจากการให้ความสำคัญและมีความมุ่งมั่นของการเมืองในระดับสูง และมีปัจจัยสำคัญ 5 ประการ คือ Innovation, Investment, Intersectoral actions, Intelligence, and Intensive โดยนวัตกรรมที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ การส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย การป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก และการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ทั้งนี้งบประมาณในการดำเนินงานกว่าร้อยละ 90 มาจากภายในประเทศที่ได้สนับสนุนการดำเนินงานจากทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาสังคม โดยมีระบบข้อมูลที่ดีและใช้ความรู้จากการวิจัยช่วยในการดำเนินงาน รวมทั้งการทำงานอย่างเข้มข้นจริงจังต่อเนื่อง