ศิริราชจับมือกรมวิทย์ วิจัยใช้สเต็มเซลล์
ในผู้ป่วยจอตาเสื่อมชนิด RP หวังผลการรักษาในอนาคต
โรคจอตาเสื่อมชนิด RP เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยการดำเนินของโรคจะค่อย ๆ ทำลายจอตาอย่างช้า ๆ จนตาบอดในที่สุด พบได้ทั้งหญิงและชายตั้งแต่แรกเกิด อุบัติการณ์ของโรค 1 ต่อ 3,000 คน ซึ่งโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงถึงการเสื่อมสภาพของเซลล์รับแสงของจอตาที่เรียกว่า Rod และ Cone ซึ่งเป็นเซลล์ที่อยู่ชั้นล่างสุดของจอตา ทั้งนี้การรักษาปัจจุบันจากการพบสาเหตุของความผิดปกติของสารพันธุกรรม หรือยีนอย่างน้อย 60 ชนิด เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค RP จึงมีผู้ทำการวิจัยด้วยวิธียีนบำบัด (gene therapy) โดยนำยีนที่ปกติเข้าไปทดแทนยีนที่บกพร่อง ซึ่งก็พบว่าช่วยให้ผู้ป่วยโรค RP มีการมองเห็นดีขึ้นได้เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม วิธีนี้จะต้องทราบว่ายีนใดผิดปกติในผู้ป่วยแต่ละรายเสียก่อน ซึ่งการตรวจหาความผิดปกติของยีนอาจไม่พบในผู้ป่วยทุกราย
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ได้คิดค้นแยกสเต็มเซลล์บริสุทธิ์จากน้ำคร่ำและดำเนินการวิจัยต่อยอด เพื่อใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคแรก ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้นำเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์มาใช้ในการศึกษาวิจัยทางคลินิกแก่ผู้ป่วยโรคจอตาเสื่อมชนิด RP โดยร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งนี้ ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานในงานแถลงข่าว “ศิริราช จับมือกรมวิทย์ ครั้งแรกของไทย วิจัยใช้สเต็มเซลล์ในผู้ป่วยจอตาเสื่อมชนิด RP หวังผลการรักษาในอนาคต” ร่วมกับ นพ.สมชาย แสงกิจพร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รศ.พญ.จุฑาไล ตันฑเทอดธรรม หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา ศ.พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาสเต็มเซลล์ ภาควิชาจักษุวิทยา และ รศ.นพ.ปรีชา สุนทรานันท์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม
นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิดนับเป็นหนึ่งในสาขาที่มีความก้าวหน้าที่สุดทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากคุณสมบัติของเซลล์ต้นกำเนิดในการสร้างเซลล์ทดแทนตนเอง โดยคงสภาพความเป็นเซลล์ต้นกำเนิด และสามารถเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์จำเพาะชนิดต่าง ๆ ได้ในสภาวะที่เหมาะสม นำไปสู่ความหวังที่จะนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้ประโยชน์ในการรักษาหรือซ่อมแซมเนื้อเยื่อและอวัยวะที่ผิดปกติจากการเป็นโรค ความเสื่อม ความสูงอายุ และจากสาเหตุอื่น ๆ ทำให้เกิดศาสตร์สาขาใหม่ที่เรียกว่า เวชศาสตร์การฟื้นฟูสภาวะเสื่อม หรือ Regenerative Medicine
จากแนวโน้มความสำคัญของเซลล์ต้นกำเนิด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้เริ่มดำเนินการวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิดในปี พ.ศ. 2549 โดยมีวัตถุประสงค์ในการวิจัยและพัฒนางานด้านเซลล์ต้นกำเนิดอย่างครบวงจร นับตั้งแต่การจัดเตรียมและเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิด การตรวจสอบคุณภาพของเซลล์ต้นกำเนิด และการนำเซลล์ต้นกำเนิดไปใช้ในการศึกษาวิจัยทางคลินิก โดยได้จัดตั้งอาคารปฏิบัติการเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งมีความพร้อมในการจัดเตรียมและเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice: GMP) ตามมาตรฐานสากล
สำหรับความร่วมมือในการพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์รักษาโรคจอตาเสื่อมชนิด RP ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่สามารถรักษาให้หายได้ ทำได้เพียงชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาเท่านั้น ด้วยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2555 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการวิจัยพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์เพื่อนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาจอตาเสื่อมในอนาคต โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับหน้าที่ในการเตรียมเซลล์ต้นกำเนิดชนิด DMSc Stem Pro เพื่อให้ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นำเซลล์ต้นกำเนิดไปใช้ในการพัฒนาวิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาจอตาเสื่อมชนิด RP ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการวิจัยทางคลินิก
การดำเนินงานด้านเซลล์ต้นกำเนิดนับเป็นอีกหนึ่งภารกิจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการนำองค์ความรู้จากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งเราหวังว่าในอนาคตวงการแพทย์ไทยจะสามารถพัฒนาศักยภาพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น ที่สำคัญคือ นโยบายของรัฐบาล “Medical Hub” ซึ่งจะผลักดันให้มีการพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศให้เจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการรักษาพยาบาล
ด้าน นพ.สมชาย แสงกิจพร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงห้องปฏิบัติการเซลล์ต้นกำเนิดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า ในกระบวนการเตรียมเซลล์นั้น ดำเนินการในห้องสะอาดระดับ Class 100 ที่มีการตรวจสอบและบำรุงรักษาอย่างดี มีการติดตามระดับความสะอาดทั้งทางด้านกายภาพและชีวภาพตลอดระยะเวลาดำเนินการ ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถพัฒนานวัตกรรมเซลล์ต้นกำเนิดทางห้องปฏิบัติการได้ 2 ชนิด คือ DMSc Stem Plus เป็นเซลล์ต้นกำเนิดชนิด Mononuclear Cell และ DMSc Stem Pro เป็นเซลล์ต้นกำเนิดชนิด Mesenchymal Stem Cell (MSC) ซึ่งมาจากไขกระดูกทั้ง 2 ชนิด ทั้งนี้เซลล์ต้นกำเนิดดังกล่าวมีศักยภาพสูงในการพัฒนาวิธีการรักษาโรคและฟื้นฟูสภาวะเสื่อมในผู้ป่วยโรคจอตาเสื่อมชนิด RP จะเป็นเซลล์ต้นกำเนิด DMSc Stem Pro ซึ่งเป็นเซลล์ต้นกำเนิดชนิด Mesenchymal Stem Cell ที่เพาะเลี้ยงจากไขกระดูกของผู้ป่วยเอง พบว่าเซลล์ต้นกำเนิดที่เตรียมได้มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดสากล ISCT (International Society for Cellular Therapy) ทั้งในด้านลักษณะรูปร่าง การเจริญเติบโตยึดเกาะพื้นผิวพลาสติกภาชนะเลี้ยงเซลล์ การแสดงออกของแอนติเจนบนผิวเซลล์ และความสามารถในการเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์ไขมัน เซลล์กระดูก และเซลล์กระดูกอ่อน รวมถึงความสะอาดปราศจากการปนเปื้อน Endotoxin และจุลชีพ จากนั้นนำเซลล์ที่ได้มาพิสูจน์เอกลักษณ์และตรวจสอบการปนเปื้อน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ แล้วจึงนำไปบรรจุหลอด และส่งต่อให้จักษุแพทย์ฉีดเข้าในวุ้นตาของผู้ป่วย
ด้าน ศ.พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาสเต็มเซลล์เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาจอตาเสื่อมชนิด RP กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการทดลองในขั้นตอนที่ 1 ซึ่งเป็นขั้นตอนของการทดสอบในเรื่องของความปลอดภัย ผลการฉีดเซลล์ต้นกำเนิดเข้าวุ้นตาแก่ผู้ป่วย 2 ราย รายแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 และรายที่ 2 วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556 ไม่พบภาวะแทรกซ้อนแต่ประการใด การดำเนินการวิจัยทางคลินิกทุกขั้นตอนปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกที่ดี (Good Clinical Practice) และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และปฏิบัติตามข้อบังคับของแพทยสภาอย่างเคร่งครัด และจะมีการทดสอบในผู้ป่วยอาสาสมัครอีก 3 รายให้ครบ 5 ราย ภายใน 6 เดือนนี้ หากผลการทดสอบในผู้ป่วยอาสาสมัครทั้ง 5 รายไม่พบความผิดปกติหรืออันตรายจากกระบวนการ ทางคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนก็จะอนุญาตให้ทดสอบในขั้นที่ 2 กับผู้ป่วยอาสาสมัครอีก 10 ราย เพื่อดูประสิทธิผลของการรักษา หากผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกครั้งนี้ได้ผลดี คาดว่าภายใน 3-5 ปีนี้จะสามารถนำมาพัฒนาการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคจอตาเสื่อมชนิด RP ซึ่งยังไม่สูญเสียการมองเห็นอย่างมาก เพื่อช่วยชะลอความเสื่อมของจอตา และผู้ป่วยสามารถใช้สายตาในชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่ได้มีการประยุกต์นำเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์มาใช้ในการรักษาโรคจอตาเสื่อมชนิด RP
โดยในการวิจัยขั้นแรก ผู้ที่เข้าข่ายการวิจัยจะต้องได้รับการวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์ว่าเป็นโรค RP และมีคุณสมบัติดังนี้ 1. อายุระหว่าง 18-65 ปี 2. ระดับสายตาต่ำกว่าหรือเท่ากับ 6/60 โดยการตรวจด้วยแผ่นวัดสายตา Snellen 3. ลานสายตาตรงกลางแคบกว่าหรือเท่ากับ 20 องศา และ 4. ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าจอตาไม่สามารถวัดคลื่นได้ หรือมีความสูงของคลื่นต่ำกว่าร้อยละ 25 ของค่าปกติ
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า สำหรับโครงการวิจัยพัฒนาสเต็มเซลล์เป็นโครงการที่สอดคล้องกับพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข และค้นคว้าวิจัย เพื่อสร้างและพัฒนาองค์ความรู้และวิทยาการอย่างต่อเนื่อง โดยยึดประโยชน์สุขของประชาชนทุกระดับเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด ซึ่งเราต่างมุ่งมั่นที่จะทำให้การวิจัยนี้ประสบผลสำเร็จ