สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล จัดประชุมวิชาการ “Acute Care Pharmacy Practice: Collaboration Practice for Patient Safety”

 สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล จัดประชุมวิชาการ
“Acute Care Pharmacy Practice: Collaboration Practice for Patient Safety”

สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) จัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2562 และงานประชุมวิชาการภายใต้หัวข้อ “Acute Care Pharmacy Practice: Collaboration Practice for Patient Safety” (งานเภสัชกรรมบนหอผู้ป่วย เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา) ระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ ห้องบอลรูม โรงแรมโกลเด้นทิวลิป ซอฟเฟอริน ถ.พระรามเก้า กรุงเทพฯ

            การปฏิบัติงานทางเภสัชกรรมเพื่อการดูแลผู้ป่วยใน หรือการบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยในเป็นกระบวนการดำเนินงานที่ต้องอาศัยรูปแบบการทำงานของทีมสหวิชาชีพ มีการประสานงานระหว่างวิชาชีพโดยอาศัยกระบวนการสื่อสารเพื่อส่งต่อข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพตลอดระยะเวลาของการดูแลผู้ป่วย เป็นการทำงานในลักษณะ interprofessional collaboration หรือ team-based practice เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยาบนพื้นฐานของความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามปรัชญาและแนวคิดของการให้บริบาลทางเภสัชกรรม

เพื่อให้แนวทางการปฏิบัติงานของเภสัชกรโรงพยาบาลบนหอผู้ป่วยในการดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพ สอดคล้องกับบริบทของโรงพยาบาลในประเทศไทย เนื้อหางานประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ในปีนี้ จึงนำเสนอ Position Statement งาน  Acute Care และแนวทางการเริ่มดำเนินการสำหรับโรงพยาบาลที่มีแผนเปิดงานบริการด้านนี้ รวมถึงกระบวนการที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของการบริบาลทางเภสัชกรรม เพื่อให้เภสัชกรโรงพยาบาลได้เรียนรู้ทำความเข้าใจ และนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) จึงได้จัดงานประชุมวิชาการครั้งนี้ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เภสัชกรโรงพยาบาลได้เรียนรู้ Position Statement งาน Acute Care ที่สอดคล้องกับบริบทประเทศไทย แนวทางการเริ่มดำเนินการสำหรับโรงพยาบาลที่มีแผนเปิดงานบริการด้านนี้ และกระบวนการต่าง ๆ ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของการบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยใน อันได้แก่ การประสานรายการยา (medication reconciliation), การค้นหาปัญหาจากการใช้ยา (drug related problems), การประเมินอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา, การติดตามระดับยาในเลือด และการให้คำแนะนำการใช้ยาก่อนกลับบ้าน นอกจากนี้ยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้มีการนำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเภสัชกรโรงพยาบาลในสังกัดต่าง ๆ ด้วย

 ทั้งนี้ภายในงานประชุมวิชาการ “Acute Care Pharmacy Practice: Collaboration Practice for Patient Safety” ประกอบด้วยหัวข้อย่อยที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่

1. Keynote Lecture เรื่อง Thai HP Statement on Pharmaceutical Care: Acute Care Setting ซึ่งได้รับเกียรติจาก รศ.ภญ.ธิดา นิงสานนท์ กรรมการที่ปรึกษาของสมาคมฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) มานำเสนอบทบาทและกิจกรรมการปฏิบัติงานบริบาลทางเภสัชกรรมที่ควรจะเป็นของเภสัชกรบนหอผู้ป่วย สถานการณ์จริงที่พบในปัจจุบัน จุดอ่อน และโอกาสพัฒนา    

2. Common Medication Errors & Drug-related Problems in Patient’s Ward ที่จะนำเสนอความผิดพลาดทางยาและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับยา ซึ่งพบได้บ่อยในหอผู้ป่วยและส่งผลให้การรักษาแย่ลง เพื่อชี้ให้ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นว่า เภสัชกรโรงพยาบาลควรมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยร่วมกับสหวิชาชีพบนหอผู้ป่วย ถ่ายทอดประสบการณ์โดยกรรมการฝ่ายวิชาชีพของสมาคมฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน คือ ภญ.วิชชุนี พิตรากูล ผู้เยี่ยมสำรวจระบบยาของสมาคมฯ และ ภก.จตุพร ทองอิ่ม ประธานกลุ่มเภสัชกรครอบครัว

3. How to Identify DRPs for Promoting Patient Safety? โดย ภญ.จันทิมา โยธาพิทักษ์ กรรมการฝ่ายวิชาชีพผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ร่วมงาน จะมานำเสนอถึงการแบ่งประเภท DRPs กลยุทธ์ในการค้นหา DRPs อย่างเป็นระบบ ครบถ้วน เพื่อให้การป้องกัน และ/หรือแก้ไขปัญหาจากการใช้ยาที่พบ ซึ่งจะส่งผลให้การใช้ยาเกิดความปลอดภัยสูงสุด

4. Prescription Analysis (การวิเคราะห์คำสั่งแพทย์) โดยแยกบรรยายเป็นหลายหัวข้อ ทั้งกรณีการสั่งใช้ยาที่ต้องบริหารทางหลอดเลือดดำ การค้นหา Drug interaction (DI) พร้อมตัวอย่างที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยกลุ่มโรคต่าง ๆ การค้นหาคำสั่งใช้ยาในขนาดที่ไม่เหมาะสม โดยสร้างเครื่องมือหรือใช้ IT มาช่วยค้นหาปัญหา เน้นผู้ป่วยกลุ่มโรคสำคัญ เช่น ผู้ป่วยไตเสื่อม ผู้ป่วยเด็กเล็กที่ต้องใช้ยาขนาดน้อย ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาที่มีการคำนวณขนาดตามพื้นที่ผิว เป็นต้น

5. หัวข้อสุดท้ายของการประชุมคือ ความคาดหวังของทีมสหวิชาชีพต่อการปฏิบัติงานของเภสัชกรบนหอผู้ป่วยที่นำเสนอในรูปแบบเสวนาจากผู้บริหารที่พร้อมสนับสนุนให้เภสัชกรขึ้นไปปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วย รวมถึงมุมมองและความคาดหวังจากแพทย์ พยาบาล และทีมสหวิชาชีพต่อการปฏิบัติงานของเภสัชกรบนหอผู้ป่วย

            สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลคาดว่าจะมีเภสัชกรโรงพยาบาลและเภสัชกรผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ  500 คน ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมงานประชุมครบทั้ง 3 วัน จะได้รับหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องจำนวน 12.50 หน่วยกิต (CPE 12.50 Credits) โดยเภสัชกรผู้เข้าร่วมงานประชุมจะได้รับทราบถึงแนวทางการปฏิบัติงานของเภสัชกรโรงพยาบาลบนหอผู้ป่วยที่เป็นมาตรฐานเดียวกันตามบริบทของประเทศไทย ได้เรียนรู้ถึงแนวทางการเริ่มดำเนินการสำหรับโรงพยาบาลที่มีแผนเปิดงานบริการด้านนี้ และกระบวนการสำคัญของการบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยใน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยาบนพื้นฐานของความปลอดภัย และเกิดประสิทธิผลในการรักษา

         “ในปีนี้ สมาคมฯ จัดให้มีการคัดเลือกเภสัชกรโรงพยาบาลและทีมงานเภสัชกรรมดีเด่น ผู้ปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่น และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม ด้านงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ ด้านการผลิต และด้านการบริหารจัดการ รวมถึงเภสัชกรรุ่นเยาว์ที่มีอายุไม่เกิน 35 ปีที่ปฏิบัติงานด้วยความอุตสาหะ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนางานเภสัชกรรมอย่างต่อเนื่อง เข้ารับโล่รางวัลเชิดชูเกียรติในพิธีเปิดงานประชุม”

         ผู้สนใจลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ www.thaihp.org/extend.php?option=seminar_annualform&seminar=170

(ปิดรับลงทะเบียนวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562) อัตราค่าลงทะเบียน สำหรับสมาชิกสมาคมฯ: ประชุมวิชาการ 3,300 บาท ผู้นำเสนอผลงาน 2,200 บาท สำหรับเภสัชกรผู้สนใจที่ไม่ใช่สมาชิกสมาคมฯ: ประชุมวิชาการ 5,300 บาท ผู้นำเสนอผลงาน 4,200 บาท หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 0-2249-9333 E-mail: hp@thaihp.org หรือ www.thaihp.org