สมาคมเภสัชฯ จับมือ สปสช.ตั้ง ‘ร้านขายยา’ ด่านหน้าคัดกรองโรค ช่วยประชาชนเข้าถึงบริการ

สมาคมเภสัชฯ จับมือ สปสช.ตั้ง ‘ร้านขายยา’ ด่านหน้าคัดกรองโรค ช่วยประชาชนเข้าถึงบริการ

“ร้านยาชุมชนอบอุ่นจะมีบทบาทคัดกรองโรคตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยตามกลุ่มโรค ซึ่งหากพบว่าผู้ใดมีความเสี่ยงก็จะเสนอแนะให้ไปรับบริการต่อที่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสุขภาพ จากนั้นเภสัชกรก็จะทำหน้าที่ติดตามผู้ป่วยว่าเข้าถึงการบริการหรือไม่ และหากถูกวินิจฉัยจากโรงพยาบาลว่าเป็นผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังจริง เภสัชกรก็จะติดตามการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง”

สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) จับมือ “สปสช.” เปิดโครงการ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” เสริมบทบาทร้านขายยาช่วยคัดกรองโรค นายกสมาคมฯ เชื่อ ช่วยประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่ายและครอบคลุม

ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) กล่าวถึงโครงการร้านยาชุมชนอบอุ่นว่า สมาคมเภสัชกรรมชุมชนดูแลสมาชิกที่เป็นร้านยาและเภสัชกรที่ปฏิบัติหน้าที่ในร้านยา ซึ่งโดยปกติแล้วร้านยาจะให้บริการประชาชนอยู่แล้ว จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเปิดบทบาทให้ร้านยาเป็นหน่วยบริการสนับสนุนงานด้านสาธารณสุขในเรื่องของการบริการคัดกรองโรคเรื้อรังกลุ่มภาวะเมตาบอลิก อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง ตามโครงการ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น”

            ภญ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าวว่า ร้านยาชุมชนอบอุ่นจะมีบทบาทคัดกรองโรคตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยตามกลุ่มโรค ซึ่งหากพบว่าผู้ใดมีความเสี่ยงก็จะเสนอแนะให้ไปรับบริการต่อที่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสุขภาพ จากนั้นเภสัชกรก็จะทำหน้าที่ติดตามผู้ป่วยว่าเข้าถึงการบริการหรือไม่ และหากถูกวินิจฉัยจากโรงพยาบาลว่าเป็นผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังจริง เภสัชกรก็จะติดตามการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง

            นอกจากนี้ร้านยาชุมชนอบอุ่นจะให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น ความรู้ในการบริโภคที่ถูกต้องของประชาชนทุกกลุ่มโรค ให้ความรู้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคติดต่อที่อาจมีการแพร่กระจายในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง รวมถึงการให้ความรู้ การปฏิบัติตัว และติดตามผู้เสพติดบุหรี่ ตลอดจนการออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยในบางกลุ่มโรคด้วย

            “การให้บริการคัดกรองโรค และการให้ความรู้ต่าง ๆ จะให้บริการกับประชาชนที่ร้านยา คือร้านยาจะทำหน้าที่สนับสนุนระบบสาธารณสุข เป็นจุดเสริมแก่ภาครัฐ นั่นเพราะร้านยากระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของชุมชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการทางสาธารณสุขเพิ่มขึ้นได้มากขึ้น เรียกได้ว่าเป็นด่านหน้าที่สะดวก เนื่องจากร้านยาจะเปิดตั้งแต่เช้าและปิดค่ำ เช่น 08.00-20.00 น. หมายความว่าประชาชนสะดวกเมื่อใดก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้” ภญ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้การทำงานของร้านยาไม่ได้ทำอย่างโดด ๆ หากแต่มีการเชื่อมโยงข้อมูลและส่งต่อข้อมูลระหว่างหน่วยบริการตามสิทธิที่ประชาชนใช้บริการอยู่ ซึ่งระยะแรกจะใช้รูปแบบการเขียนข้อมูลทางเอกสารแล้วให้ประชาชนถือกลับไป แต่ในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยอยู่ติดตัวผู้ป่วยไปทุกที่

“ถ้าถามว่าภาระงานของเภสัชกรจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ จริง ๆ แล้วเภสัชกรก็ให้บริการประชาชนอยู่แล้ว แต่ยังขาดการเชื่อมต่อกับหน่วยงานรัฐ โครงการร้านยาชุมชนอบอุ่นจึงถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่จะนำภาคเอกชนมาสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ ดังนั้น ภาระงานจะไม่ได้เพิ่มขึ้นอะไรมากมาย ส่วนงบประมาณการทำงาน ทาง สปสช. ได้ช่วยเหลือค่าบริการบางส่วนแก่ร้านยา เช่น ครั้งละ 50-100 บาท เนื่องจากร้านยาก็มีต้นทุนของอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก” ภญ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าว

ภญ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าวว่า ในต่างประเทศจะใช้ร้านยาเป็นฐานในการส่งเสริมและป้องกันโรคทั้งหมด ยกตัวอย่าง ประเทศออสเตรเลียให้ร้านยาเป็นจุดบริการในการดูแลจัดการโรคเบาหวาน โดยร้านยาจะทำหน้าที่ติดตามการบริโภคยาและอาหารของผู้ป่วย หรืออย่างสหรัฐอเมริกาก็ให้เภสัชกรในร้านยาเป็นผู้ให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และในโซนพื้นที่ต่าง ๆ ก็ให้ร้านยาทำหน้าที่โทรศัพท์ถามบริษัทที่มีพนักงาน 50 คนขึ้นไป และให้เภสัชกรร้านยาไปให้บริการที่บริษัทด้วย

“ในประเทศไทยอาจยังไม่ต้องถึงขนาดนั้น เพราะเรามีพยาบาลวิชาชีพที่สามารถช่วยได้ แต่ร้านยาจะเป็นหน่วยที่เฝ้าระวังโรคได้ ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการรณรงค์ เช่น ช่วงที่โรคมือเท้าปากระบาด ไข้เลือดออก ก็จะให้ร้านยาเป็นผู้แจ้งข่าวแก่สำนักอนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อดำเนินการให้ทันต่อสถานการณ์” ภญ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าว

อนึ่ง เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2562 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบกำหนดให้ร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่นที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติมตามมาตรา 3 พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยให้นำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ สปสช. เขต 13 กทม. จึงได้รับสมัครร้านขายยาเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบบัตรทอง ภายใต้ชื่อ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ผ่านโปรแกรม https://bkk.nhso.go.th/BKKregister/ ของ สปสช. เขต 13 กทม. เฉพาะพื้นที่ดำเนินการคลินิกหมอครอบครัว 11 เขต ได้แก่ เขตจอมทอง เขตบางกอกน้อย เขตลาดพร้าว เขตดอนเมือง เขตคันนายาว เขตบางแค เขตบางคอแหลม เขตบางขุนเทียน เขตจตุจักร เขตดุสิต เขตสวนหลวง และ โอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ปัจจุบันร้านขายยา (ข.ย.1) ทั่วประเทศมีจำนวน 15,359 แห่ง และ กทม. จำนวน 4,895 แห่ง ที่ผ่านมามีร้านขายยาที่สนใจและสมัครร่วมเป็นร้านยาชุมชนอบอุ่นแล้วประมาณ 46 แห่ง การประชุมชี้แจงที่ผ่านมาเป็นการชี้แจงแนวทางการดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้าใจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งได้เริ่มจัดบริการในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา นับเป็นการยกระดับบริการร้านขายยาในประเทศ และหลังจากนี้ร้านขายยาใดที่สนใจสามารถสมัครเพิ่มเติมได้