การแพทย์แผนไทย ปรับยุทธศาสตร์รับ AEC

การแพทย์แผนไทย

ปรับยุทธศาสตร์รับ AEC

“การแพทย์แผนไทย (Thai Traditional Medicine)” เป็นการแพทย์ที่ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ครอบคลุมทั้งด้านเวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย การผดุงครรภ์ไทย และการนวดไทย ซึ่งถือเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เรียกได้ว่าเป็นการแพทย์ดั้งเดิมของประเทศไทย ในประเทศอาเซียนแต่ละประเทศต่างก็มีการแพทย์ดั้งเดิมของตนเองที่พัฒนามาแต่โบราณและยังใช้อยู่เช่นเดียวกับประเทศไทย มีสมุนไพรที่คล้ายคลึงกันเนื่องจากภูมิอากาศคล้ายกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ ความก้าวหน้าในการผสมผสานการแพทย์ดั้งเดิมเข้าในระบบบริการสุขภาพ

โดยเวียดนามเป็นประเทศที่มีการผสมผสานการแพทย์ดั้งเดิมเข้าในระบบสาธารณสุข และระบบการศึกษาการแพทย์แผนดั้งเดิมในมหาวิทยาลัยก้าวหน้ากว่าประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศอื่น เพราะอยู่ภายใต้สงครามมาอย่างยาวนาน จำเป็นต้องพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพด้วยการแพทย์ดั้งเดิม โดยการแพทย์ดั้งเดิมของเวียดนามได้รับอิทธิพลจากการแพทย์แผนจีน เนื่องจากอยู่ภายใต้การปกครองของจีนนานนับพันปี จากการจัดอันดับขององค์การอนามัยโลกทางด้านระบบบริการและระบบการศึกษาการแพทย์ดั้งเดิมของเวียดนามจัดอยู่ในกลุ่ม A ระดับเดียวกับจีนและเกาหลี

ส่วนพม่าเองก็ต้องพึ่งพาตัวเองเพราะเป็นประเทศปิดมานาน จึงต้องอาศัยการแพทย์ดั้งเดิมของตนเองในการรักษาพยาบาลค่อนข้างมาก ทำให้การผสมผสานการแพทย์ดั้งเดิมเข้าในระบบสาธารณสุข และระบบการเรียนการสอนเพื่อผลิตแพทย์แผนดั้งเดิมพัฒนาไปอย่างมาก ในทางตรงข้าม กัมพูชาและบรูไนเป็นสองประเทศในอาเซียนที่ยังไม่ได้ผสมผสานการแพทย์ดั้งเดิมเข้าในระบบสาธารณสุข ด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันคือ กรณีของกัมพูชา ตำรับตำราการแพทย์ถูกทำลายหมดระหว่างสงคราม มีแพทย์เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เหลือแต่แพทย์พื้นบ้าน ซึ่งยังต้องอบรมพัฒนาความรู้เพิ่มเติม ส่วนบรูไนเป็นประเทศร่ำรวยที่เน้นแต่การแพทย์แผนปัจจุบัน แต่การให้บริการการแพทย์ดั้งเดิมในคลินิกเอกชนโดยแพทย์แผนดั้งเดิมที่ส่วนมากผ่านการอบรมมาจากต่างประเทศสามารถทำได้ อินโดนีเซียมีการแพทย์ดั้งเดิมที่เรียกว่า “จามู” การผสมผสานเข้าในระบบบริการสาธารณสุขต้องอาศัยแพทย์แผนปัจจุบันที่ผ่านการอบรมเรื่องการใช้ยาจามู และการวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลประสิทธิผลของยาจามู ยังไม่มีการเรียนการสอนการแพทย์จามูระดับปริญญาตรี

จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศในอาเซียนมีทั้งความคล้ายคลึงและแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดทางด้านการแพทย์ดั้งเดิม ซึ่งในปี พ.ศ. 2558 ประเทศอาเซียน 10 ประเทศ จะหลอมรวมกลายเป็นหนึ่งเดียวในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในภาคบริการสาธารณสุขเองย่อมได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ด้วยความแตกต่างดังกล่าว การจะทำให้เกิดความร่วมมืออย่างยั่งยืนของทั้ง 10 ประเทศอาเซียนได้นั้น จำเป็นต้องหันมามองตนเองและเพื่อนบ้านอย่างถ่องแท้ เพื่อให้การจับมือกันในครั้งนี้เป็นการจับมือกันอย่างเนิ่นนานและยั่งยืนในอนาคต

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนมีการแพทย์ดั้งเดิมของตนเองที่พัฒนามาแต่โบราณและยังใช้กันอยู่ มีสมุนไพรที่คล้ายคลึงกัน เพราะภูมิอากาศคล้ายกัน แต่อาจกล่าวได้ว่าความก้าวหน้าในการผสมผสานการแพทย์ดั้งเดิมเข้าในระบบบริการสุขภาพยังมีความแตกต่างกันมากระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน สำหรับประเทศไทย ระบบบริการและระบบการศึกษาการแพทย์ดั้งเดิมของไทยจัดอยู่กลุ่ม B โดยในทัศนะของประเทศสมาชิกอื่นมองว่าไทยเป็นผู้นำของกลุ่ม B ปัจจุบันการแพทย์แผนไทยได้รับการบรรจุในสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปี พ.ศ. 2550 เริ่มจัดตั้งกองทุนพัฒนาบริการการแพทย์แผนไทย เพื่อกระตุ้นให้มีบริการการแพทย์แผนไทย โดยจัดสรรเงินกระตุ้นจัดบริการ (ปี พ.ศ. 2555 จำนวน 7.20 บาท/คน สำหรับผู้ถือสิทธิ 48 ล้านคน) ครอบคลุมบริการ 1. การรักษาและวินิจฉัยโรคด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนไทยประยุกต์ และ 2. การรักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายด้วยยาสมุนไพรหรือตำรับยาแผนไทย, การนวดรักษา, การอบสมุนไพร, การใช้ลูกประคบ และการทับหม้อเกลือ

            โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการรักษาด้วยการแพทย์แผนไทย 2 ช่องทาง โดยอาจพบแพทย์แผนปัจจุบัน หรือพบ (นักการ) แพทย์แผนไทยโดยตรงที่แผนกการแพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลทุกระดับ รวมถึงในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งในปี พ.ศ. 2555 มีสถานบริการสาธารณสุขของรัฐที่ให้บริการการแพทย์แผนไทยจำนวนทั้งสิ้น 10,695 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) 95 แห่ง, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 733 แห่ง และ รพ.สต. 9,864 แห่ง ปัจจุบันพบว่าคนไทยที่มีหลักประกันสุขภาพเข้ารับบริการการแพทย์แผนไทยราวร้อยละ 10 ของผู้รับบริการทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2554 คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติได้เพิ่มรายการยาสมุนไพร โดยประกาศบัญชียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ประกอบด้วยยา 2 กลุ่ม จำนวน 71 รายการ (จากเดิม 19 รายการ) คือ 1. กลุ่มยาแผนไทยหรือยาแผนโบราณ 50 รายการ 2. กลุ่มยาพัฒนาจากสมุนไพร 21 รายการ โดยระบุสูตรตำรับ ข้อบ่งใช้ ขนาดวิธีใช้ รวมทั้งข้อห้ามหรือข้อควรระวัง

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายผสมผสาน (integrate) เข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นบริการการแพทย์แผนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เพื่อยกระดับ สร้างศักยภาพและความโดดเด่นของการแพทย์แผนไทย ใน พ.ศ. 2554 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยนำร่องขึ้น 9 แห่ง คือ โรงพยาบาลพระปกเกล้า จ.จันทบุรี, โรงพยาบาลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี, โรงพยาบาลวังน้ำเย็น และโรงพยาบาลวัฒนานคร จ.สระแก้ว, โรงพยาบาลขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ, โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเด่นชัย จ.แพร่, โรงพยาบาลท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี, โรงพยาบาลเทิง จ.เชียงราย และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยอีก 4 แห่ง สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ คือมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (วิทยาเขตสกลนคร), มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (สมุทรสงคราม) และกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดตั้งโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กรุงเทพฯ เพื่อเป็นศูนย์อภิบาลผู้ป่วยเรื้อรังครบวงจร โดยบูรณาการการให้บริการสอดคล้องกับการแพทย์ระบบอื่น ๆ เช่น การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือก การแพทย์แผนปัจจุบัน

นอกจากนี้เพื่อสร้างความมั่นใจและคุ้มครองผู้ป่วยในการใช้บริการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง และพัฒนาคุณภาพการบริการ เช่น สนับสนุนให้มีตำแหน่งและอัตรานักการแพทย์แผนไทย, ผู้ช่วยแพทย์แผนไทยในสถานบริการทุกระดับ จัดทำและสนับสนุนการใช้บัญชียาแผนไทย, รหัสโรคและหัตถการแผนไทย (ICD-10-TM), แนวเวชปฏิบัติการแพทย์แผนไทย (CPG-TM), รหัสยาแผนไทย, มาตรฐานบริการในสถานบริการ การร่วมจัดทำราคากลาง/ราคาอ้างอิงยาแผนไทย และการจัดทำหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในระบบ DRG

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันหลายประเทศกำลังเร่งพัฒนาระบบการแพทย์แผนดั้งเดิมของตนเองอย่างมาก เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานของการให้บริการ การจัดทำ Guideline ของการรักษาพยาบาลด้วยการแพทย์ดั้งเดิมหรือการแพทย์ทางเลือกสำหรับเป็นคู่มือการปฏิบัติงานของหน่วยบริการ การศึกษาวิจัยอย่างครบวงจรตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงการวิจัยทางคลินิก เพื่อหาหลักฐานเชิงประจักษ์ประกอบการพิจารณาคัดเลือกยาหรือศาสตร์การแพทย์ดั้งเดิมหรือการแพทย์เสริมใด ๆ เข้าในระบบสาธารณสุข

นพ.ปราโมทย์ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ดั้งเดิมสู่ประชาคมอาเซียนว่า การดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ดั้งเดิมสู่ประชาคมอาเซียนมีการดำเนินงานใน 2 เสาหลัก ได้แก่ เสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งความร่วมมือในเสานี้ ประเทศสมาชิกได้รวมตัวกันตั้งเป็น ASEAN Task Force on Traditional Medicine (ATFTM) โดยมีความร่วมมือด้านการบริการ การศึกษา การทำฐานข้อมูล การส่งเสริมการใช้ในสาธารณสุขมูลฐาน และการวิจัย และเสาหลักด้านเศรษฐกิจ (AEC) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้ดูแลเรื่องการบรรสานกฎระเบียบต่าง ๆ ของอาเซียน (ASEAN harmonization) ที่ใช้ในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ และมาตรฐานการผลิตและการควบคุมคุณภาพยาแผนดั้งเดิมในอาเซียนหรือที่พระราชบัญญัติยาของไทยเรียกว่า “ยาแผนโบราณ”

การดำเนินงานของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกภายใต้เสาหลักด้านเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายต่าง ๆ ดำเนินงานและมีแผนงานที่จะช่วยพัฒนามาตรฐานของการผลิตยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง รวมทั้งผลิตภัณฑ์ชุมชนจากสมุนไพร (OTOP) ที่ไม่ใช่ยาหลายมาตรการ ได้แก่ 1. การพัฒนากระบวนการผลิตยาแผนไทยสู่มาตรฐานสากล เช่น การทำ Good Agricultural and Collection Practice (GACP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของวัตถุดิบสมุนไพร 2. การเร่งรัดพัฒนามาตรฐานการผลิตยาจากสมุนไพรของโรงพยาบาลของรัฐเข้าสู่มาตรฐาน GMP อย่างน้อยทุกเครือข่ายบริการละ 1 แห่ง โดยการสนับสนุนงบประมาณ การฝึกอบรมการควบคุมคุณภาพของยาจากสมุนไพร และให้เป็นพี่เลี้ยงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร OTOP ในพื้นที่ 3. การจัดตั้ง “ตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพร” ที่เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี (ปทุมธานี อุบลราชธานี มหาสารคาม) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบสมุนไพร และพัฒนาคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร 4. การพัฒนาศักยภาพของศูนย์พัฒนายาไทยและสมุนไพร จ.ปทุมธานี และการเตรียมการจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพร” เพื่อพัฒนาการผลิตยาจากสมุนไพรในรูปของสารสกัดให้มากขึ้น 5. การพัฒนาและอนุรักษ์ “สวนป่าสมุนไพรชุมชน” เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน 6. จัดทำร่าง “แผนยุทธศาสตร์พัฒนาสมุนไพรไทย: สมุนไพรไทย-สินค้าโลก (พ.ศ. 2556-2560) การพัฒนาสมุนไพรไทยสู่ผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย” (Thailand Champion Herbal Products: TCHP) โดยมีกลยุทธ์/มาตรการในการพัฒนาสมุนไพรครบวงจร ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

            ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้พัฒนาระบบบริการการแพทย์แผนไทยในหลายด้าน อาทิ การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือต่าง ๆ การสนับสนุนให้มีตำแหน่ง และอัตราแพทย์แผนไทย, ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย (ด้านเวชปฏิบัติแผนไทย/ด้านการนวดไทย) ในสถานบริการทุกระดับ การพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์หลักเกณฑ์แนวทางการให้บริการการแพทย์แผนไทย สนับสนุนการจัดบริการการแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล การพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมของโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 10 แห่ง และสังกัดมหาวิทยาลัย 4 แห่ง การพัฒนาจังหวัดต้นแบบการแพทย์แผนไทยครบวงจร 4 แห่ง ในจังหวัดเชียงราย สกลนคร มหาสารคาม และสุราษฎร์ธานี ในปี พ.ศ. 2556 ทางกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกยังได้พัฒนาเกณฑ์มาตรฐานบริการการแพทย์แผนไทย เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและพัฒนาการให้บริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 14 โดยจัดทำมาตรฐานโรงพยาบาล ส่งเสริมและสนับสนุนการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (รพ.สส.พท.) รวมทั้งยังมีความร่วมมือกับ อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการพัฒนาและผลักดันให้มีการใช้ยาจากสมุนไพรเพิ่มขึ้น โดยเร่งรัดให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อผลักดันยาจากสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติเพิ่มขึ้นอีก 15 รายการภายใน 3 ปี และเร่งพัฒนาและสร้างมาตรฐานการให้บริการนวดไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น การ Rebranding นวดไทย โดยกำหนดเกณฑ์มาตรฐานและโลโก้นวดไทย การสร้างระบบการประเมินและรับรองมาตรฐานการนวดไทยโดยจัดตั้งองค์กรรับรองมาตรฐาน (Certifying body)

สำหรับด้านการศึกษาการแพทย์แผนไทย ปัจจุบันระบบการเรียนการสอนของการแพทย์แผนไทยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระบบ ได้แก่ ระบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย เป็นการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปด้านการแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ปัจจุบัน (พ.ศ. 2555) มีมหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาตรีด้านการแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คือ 1. สาขาการแพทย์แผนไทย มีจำนวน 13 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (วิทยาเขตสกลนคร), มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี, วิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขกาญจนาภิเษก สถาบันพระบรมราชชนก (สถาบันสมทบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร) และวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.พิษณุโลก (สถาบันสมทบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร) 2. สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ 8 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (วิทยาเขตปทุมธานี), มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา รวมทั้งยังมีมหาวิทยาลัยบางแห่งเริ่มมีการเรียนการสอนระดับปริญญาโทและปริญญาเอกทางการแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์แผนไทยประยุกต์แล้ว เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ปริญญาโท), มหาวิทยาลัยรังสิต (ปริญญาโท), มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (ปริญญาโท) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปริญญาโทและเอก)

ระบบฝากตัวเป็นศิษย์ ผู้มีความประสงค์จะศึกษาการแพทย์แผนไทยจะต้องมอบตัวเป็นศิษย์เพื่อเข้ารับการอบรมศึกษาจากครูผู้มีความรู้ความสามารถและทักษะในการประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยในประเภทที่ได้ขึ้นทะเบียน และรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยว่าได้ผ่านการอบรมความรู้การเป็นครูผู้รับมอบตัวศิษย์สาขาการแพทย์แผนไทยแล้ว นอกจากนี้ผู้เรียนต้องผ่านการอบรมหรือถ่ายทอดความรู้จากครูผู้รับมอบตัวศิษย์ในสถาบันหรือสถานพยาบาลที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยรับรองตามประเภทและระยะเวลาที่กำหนดต่อไปนี้ 1. ประเภทเวชกรรมไทย ไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยครูผู้รับมอบตัวศิษย์สาขาการแพทย์แผนไทยประเภทเวชกรรมไทย 2. ประเภทเภสัชกรรมไทย ไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยครูผู้รับมอบตัวศิษย์สาขาการแพทย์แผนไทยประเภทเภสัชกรรมไทย 3. ประเภทการผดุงครรภ์ไทย ไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยครูผู้รับมอบตัวศิษย์สาขาการแพทย์แผนไทยประเภทการผดุงครรภ์ไทย และ 4. ประเภทการนวดไทย ไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยครูผู้รับมอบตัวศิษย์สาขาการแพทย์แผนไทยประเภทการนวดไทย

นอกจากนี้ผู้มีความประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทยประเภทการนวดไทยต้องได้รับการอบรมการนวดไทยมาไม่น้อยกว่า 2 ปี (800 ชั่วโมง) จากสถาบันที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทย ส่วนผู้ประสงค์จะเป็นผู้ช่วยแพทย์แผนไทยต้องผ่านการฝึกอบรมผู้ช่วยแพทย์แผนไทย 330 ชั่วโมงจากสถาบันที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยเช่นเดียวกัน จึงจะสามารถให้บริการแพทย์แผนไทยในหน่วยบริการสุขภาพ โดยมีผู้ที่ได้รับใบประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน หรือแผนไทยประยุกต์ หรือแผนไทยประเภทเวชกรรมไทยและนวดไทย เป็นผู้ควบคุมดูแลการให้บริการอีกทีหนึ่ง

ส่วนการพัฒนาการศึกษาการแพทย์แผนไทยที่ผ่านมา กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับหน่วยงานการศึกษาและเครือข่าย ได้ดำเนินการพัฒนาการศึกษาและบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทย โดยการอบรมและผลิตบัณฑิตด้านการแพทย์แผนไทยรองรับการจัดบริการ ร่วมมือกับสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ การเตรียมจัดทำแผนกำลังคนและแผนการฝึกปฏิบัติงานของสถาบันการศึกษาเสนอ ครม. เป็นความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกับเครือข่ายสถาบันการศึกษา การอบรมพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ของนักการแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุข ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และหน่วยงานพื้นที่ การอบรมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสอบใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทเวชกรรมไทย และสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ จัดการอบรมภาษาอังกฤษให้แก่หมอนวดไทย และแพทย์แผนไทย และจะจัดการอบรมภาษาอื่น ๆ ที่ใช้ในอาเซียน เช่น ภาษาจีน เวียดนาม มาเลเซีย ในอนาคต รวมทั้งยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นต้น จัดให้มีทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการแพทย์แผนไทยให้แก่นักศึกษาจากประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อมาศึกษาการแพทย์แผนไทย

สำหรับในแผนงบประมาณปี พ.ศ. 2557 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้จัดทำคำของบประมาณเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ แผนยุทธศาสตร์ประเทศ (country strategy) และแผนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จำนวน 4 โครงการ ดังนี้ 1. โครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนด้านการปลูกและแปรรูปสมุนไพรตามมาตรฐาน GAP ให้เพียงพอและเหมาะสม (สำหรับโรงพยาบาลและผู้ประกอบการมาตรฐาน GMP) รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 2. โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรสู่ champion products 3. โครงการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาขาการแพทย์แผนไทย 4. โครงการพัฒนาการนวดไทย มรดกไทย สู่มรดกโลก และยุทธศาสตร์ Medical Hub มี 1 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประกอบด้วยแผนพัฒนา 3 ด้าน คือ การพัฒนาการผลิตยาจากสมุนไพรตามมาตรฐาน GMP การพัฒนาโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย และการพัฒนาศูนย์เรียนรู้การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน

  • .ปราโมทย์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การเข้าสู่ AEC การแพทย์แผนไทยอาจจะได้รับผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน เช่น อาจมีผู้ผลิตยาจากสมุนไพรบางรายที่รับภาระต้นทุนในการพัฒนามาตรฐานการผลิตไม่ไหวจนอาจต้องเลิกกิจการไป การค้าขายระหว่างประเทศสมาชิกสะดวกขึ้น อาจทำให้มีทั้งวัตถุดิบสมุนไพร และยาจากสมุนไพรจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาแข่งขันมากขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยาจากสมุนไพรของไทยจึงต้องเร่งปรับตัวให้ยามีความทันสมัย ใช้สะดวกขึ้น เช่น พัฒนาเป็นสารสกัดสมุนไพร เพื่อไม่ต้องรับประทานยาจำนวนหลาย ๆ เม็ด และพัฒนามาตรฐานการผลิตสู่ระดับ GMP และอาจมีคู่แข่งเรื่องแรงงานนวดไทยเป็นคนต่างชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งหมอนวดไทยจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตนเองสู่ระดับวิชาชีพ และพัฒนาความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ ในอาเซียนด้วย

            “เชื่อว่าคนไทยจะได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่ AEC จากการพัฒนามาตรฐานการบริการการแพทย์แผนไทย มาตรฐานการศึกษาที่ทำให้แพทย์ที่เรียนจบแพทย์แผนไทยมีคุณภาพมากขึ้น และยาจากสมุนไพรที่ผลิตได้มาตรฐาน GMP รวมทั้งคนไทยจะมีทางเลือกในการใช้การแพทย์ดั้งเดิม หรือการแพทย์ทางเลือกศาสตร์อื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นเพื่อดูแลสุขภาพและบำบัดโรค” นพ.ปราโมทย์ กล่าวทิ้งท้าย