โรคงูสวัดป้องกันได้ด้วยวัค โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อได้ง่ายเหมือนโรคสุกใส แต่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพื่อกระตุ้นภูมิต้านทาน
นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคงูสวัดประมาณ 0.26 รายต่อประชากร 1,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้พบว่าร้อยละ 53.6 ของผู้ป่วยมีอายุมากกว่า 45 ปี โรคงูสวัดเป็นโรคที่มีการติดต่อทางการหายใจเอาเชื้อไวรัส หรือสัมผัสสะเก็ดน้ำเหลืองที่แผล เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายเหมือนโรคสุกใส แต่ผู้ที่เคยเป็นโรคสุกใสแล้วจะมีภูมิต้านทานต่อโรคงูสวัดเพราะเป็นเชื้อไวรัสตัวเดียวกัน การได้รับเชื้อไวรัสเพิ่มเติมเป็นการกระตุ้นภูมิต้านทานเทียบได้กับการได้รับวัคซีนโรคงูสวัด เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนซึ่งสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานในผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ ให้สูงขึ้นเหมือนกับภูมิต้านทานที่สูงขึ้นภายหลังการป่วยเป็นโรคงูสวัด ทั้งนี้มีการวิจัยประสิทธิภาพของวัคซีนโรคงูสวัดในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่ามีประสิทธิภาพลดการป่วยเป็นงูสวัดร้อยละ 51.3 และลดอุบัติการณ์ของอาการปวดหลังจากผื่นงูสวัดหายแล้วร้อยละ 66.5
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคงูสวัดเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ถ้าติดเชื้อครั้งแรกจะทำให้เป็นโรคสุกใส ส่วนมากเกิดในเด็กหลังจากโรคสุกใสหายแล้ว ไวรัสจะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาท และภายหลังหากภูมิต้านทานต่อไวรัสลดลง ไวรัสจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนทำให้เกิดผื่นเป็นตุ่มน้ำพองตามแนวเส้นประสาท นอกจากนี้ยังพบอาการแทรกซ้อนของงูสวัดคือ ปวดเส้นประสาท ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนและระหว่างที่ยังมีผื่น หรือหลังจากผื่นหายแล้ว อาการปวดมักรุนแรงและมีหลายลักษณะ เช่น ปวดแสบร้อน ปวดเหมือนเข็มแทง ปวดเหมือนถูกมีดกรีด เป็นต้น โดยระดับความรุนแรงของอาการปวดมีความสัมพันธ์กับอายุของผู้ป่วยคือ ผู้ป่วยยิ่งอายุมากขึ้นโดยเฉพาะอายุมากกว่า 60 ปี ยิ่งเสี่ยงต่อการปวดรุนแรงและอาจมีผลต่อคุณภาพชีวิต สำหรับการรักษาประกอบด้วยยาต้านไวรัสและยาแก้ปวดปลายเส้นประสาท เพื่อป้องกันและลดความทุกข์ทรมานจากโรคงูสวัดนอกเหนือจากการฉีดวัคซีนซึ่งเป็นการป้องกัน